Skip to main content
sharethis

แม้ว่าการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราจะไม่ได้ยมโฉมนกยูง (โง่ๆ) เลยสักตัว แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐควรใส่ใจมากกว่าว่าป่านี้จะมีนกยูง (โง่หรือไม่โง่) อยู่สักกี่ตัว ก็คือราษฎร (ที่ไม่โง่) ซึ่งพร้อมจะลุกขึ้นมาใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมากกว่า...มิใช่หรือ

 

ย่ำรุ่ง... รถไฟสายเหนือวิ่งตรงจากหัวลำโพงมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ ส่งพวกเราถึงจุดหมายที่สถานีเด่นชัย ก่อนที่จะต้องเดินทางอีกกว่า 105 กม.ไปยังบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

ปลายทางของการเดินทางในครั้งนี้ คือการลงพื้นที่ดูผืนป่าสักทองธรรมชาติที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ หากมีการก่อสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ตามดำริของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ที่จะ "สร้างเขื่อนลดโลกร้อน" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก!!!

 

แม้ว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สร้างความตื่นเต้นให้เราหลายๆ คน แต่สำหรับชาวบ้านมันคงเป็นการต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวหลังจากที่ภัยพิบัติของชุมชนถูกปลุกกระแสขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า

 

แผนที่เป้าหมายการเดินทาง

...............

 

เดิมที แนวคิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีขึ้นราวปี 2523 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่าน"ภายใต้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่เมื่อมีการศึกษาพบว่า ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์หากจะสร้างเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า กฟผ.จึงโอนโครงการไปให้กรมชลประทานรับลูกต่อเมื่อปี 2528 โดยปรับเป็นโครงการชลประทานเพื่อการเกษตร

 

ต่อมาแนวทางการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นรูปเป็นร่างและเปิดเผยมากขึ้น ในยุคที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ.2532) เพราะมีการเสนอโครงการฯ ในประชุม ครม.ภูมิภาคที่เชียงใหม่ แต่ก็ต้องถูกดับฝันจากกระแสต่อต้านอย่างเข้มข้นของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

โครงการดังกล่าวจึงจำต้องย้อนกลับไปทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และหลังจากนั้นก็ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ของหลากหลายหน่วยงานตามมา ซึ่งผลการศึกษาหนึ่งในนั้นก็ทำให้ในปี 2537 ทางธนาคารโลก (World Bank) ไม่ยอมอนุมัติเงินกู้ให้รัฐบาลไทย เพราะพบว่าโครงการจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมหาศาล

 

หลายหน่วยงานระบุ "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ไม่แก้ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท้วม

      

       1.ผลการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ปี 2533 ระบุเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

      

       2.ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ปี 2540 สรุปการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

      

       3.ผลการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก แต่การเก็บผืนป่าแม่ยมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศและชุมชนมากกว่า

      

       4.ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่าพื้นที่โครงการฯ เป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายที่มีคุณค่าสูงทั้งในด้านความหลากหลายและมุมมองทางเศรษฐกิจ จึงควรเก็บรักษาไว้

      

       5.ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เหตุผลการจัดการน้ำว่ามีทางเลือกอื่นอีกมากในการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน

      

       6.ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน

      

       7.ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแพร่ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา

      

       8.ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ปี 2550 การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีมูลค่าสูงและมีผลกระทบด้านต่างๆ ทั้งที่ยังมีทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน

      

อ้างอิงจาก: รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2550

 

 

.................

 

อย่างไรก็ตาม แทบทุกรัฐบาลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจมักมีความพยายามรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาทุกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือเหตุผลเพื่อการพัฒนาพื้นที่โดยการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่จะตามมาด้วยเม็ดเงินงบประมาณมหาศาล แต่ที่แน่ๆ ผืนป่าแห่งนี้ก็เป็นแหล่งรวมผลประโยชน์จากไม้สักทองมูลค่าหลายพันล้านบาท... มีหรือที่ใครจะไม่อยากแบ่งชิ้นเนื้อ

 


เดินทางโดยจักรยานยนต์สู่พื้นที่ป่าสักทอง

 

เส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านดอนชัยสักทอง เล่าถึงประวัติศาสตร์การทำไม้* ในพื้นที่ว่า นับตั้งแต่ปี 2513 ที่มีถนนจาก อ.สองไปยัง อ.เชียงง่วน ทำให้มีการตัดไม้เป็นจำนวนมากในพื้นที่ โดยเห็นได้จากมีนายทุนค้าไม้ขนไม้ออกสู่ถนนวันละกว่า 100 คันรถ ต่อมาการทำไม้เถื่อนได้เปลี่ยนเป็นธุรกิจสัมปทานทำไม้ ก่อให้เกิดการประกอบธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนกระทั่งมีการยกเลิกสัมปทานทั่วประเทศในปี 2531 แต่การลักลอบทำไม้ในพื้นที่ก็ยังมีอยู่ และชาวสะเอียบก็เป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น

 

ด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่มากมาย ทำให้คนมุ่งเข้ามาหาผลประโยชน์ แม้แต่ข้าราชการก็อยากมาทำงานในพื้นที่นี้ถึงขั้นไม่เอาเงินเดือน แล้วหันมาทำไม้แทน แต่เมื่อชาวบ้านเริ่มหันมาการจัดการดูแลป่าอย่างเข้มแข็ง แรงดึงดูดเหล่านี้ก็หมดลง จนปัจจุบันผู้ใหญ่เส็งบอกว่าแทบไม่มีข้าราชการคนไหนอยากเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้

 

ผู้ใหญ่เส็งเล่าถึงจุดพลิกผันที่เกิดขึ้นราว 20 ปีก่อนว่า ตอนนั้นมีนายตำรวจใหญ่คนหนึ่งเข้ามาจับกุมชาวบ้านที่ตัดไม้ปลูกบ้าน 25 หลัง ในขณะที่มีพวกขนไม้ออกไปเป็นคันรถกลับไม่มีใครจับ เหตุการณ์นั้นทำให้ชาวบ้านรู้ว่ากฎหมายไม่ได้เท่าเทียมและได้เอื้อให้นายทุนรุกล้ำเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจวางเลื่อย วางขวาน ช้างนับร้อยเชือกที่ใช้ขนลากไม้ก็ถูกขายไปเพื่อยุติอาชีพทำไม้อย่างเด็ดขาด

 

"กลุ่มราษฎรรักป่า" คือผลพวงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยชาวบ้านหันมาร่วมกันรักษาป่าและวางกติกาอย่างเคร่งครัด คอยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จัดชุดลาดตระเวน และส่งข่าวให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เวลาพบเห็นพวกลักลอบตัดไม้ ยิ่งภายหลังมีข่าวการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น

 

"ตามกฎหมายของกรมป่าไม้กำหนดอายุให้ไม้สัก 5 ปีขายได้ ส่วนไม้กระยาเลยอายุ 3 ปีขายได้ แต่ต้นไม้ในป่านี้ ต้นหนึ่งมีอายุเป็นร้อยๆ ปี เมื่อตัดโค่นไปแล้วการปลูกทดแทนแบบกรมป่าไม้มันแทนกันไม่ได้" ผู้ใหญ่เส็งกล่าว

 

ดังนั้น ทุกวันนี้ชาวบ้านสะเอียบจึงมีกฎร่วมกันว่าห้ามตัดไม้ ห้ามชักนำนายทุนเข้ามาในพื้นที่ และห้ามขายบ้านเก่า หรือนำไม้ที่ปลูกสร้างบ้านแล้วออกไปนอกพื้นที่ เพราะบ้านที่นี่แทบทุกหลังล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตจากผืนป่า ที่ชาวบ้านยืนยันว่าจะรักษามันด้วยชีวิต...

 

 

...............

 


"ชาวบ้านที่อยู่ตรงนี้ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน"

 

คำบอกเล่าจากชาวบ้านแทบทุกคนที่เราได้ร่วมพูดคุย รวมทั้ง สมาน สร้อยเงิน หนึ่งในแกนนำชาวบ้าน ต.สะเอียบ ซึ่งทำหน้าที่พาเราเข้าไปชม "ดงสักงาม" ป่าสักผืนใหญ่ที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ หลังจากที่เสร็จพิธีกรรมในการบวชป่าและสืบชะตาลำน้ำยม

 

บนเส้นทางที่เรานำผ้าเหลืองผืนยาว ไปห่มให้ต้นสักในดงสักงาม ตามความเชื่อที่ว่าหากมีการตัดต้นไม้ที่ทำการบวช (ห่มผ้าเหลือง) ก็จะบาปเหมือนฆ่าพระ ระหว่างนั้นพ่อสมานก็จะเดินไปเรื่อยๆ พร้อมกับคอยเล่าเรื่องราวของป่าสัก รวมทั้งตอบคำถามต่างๆ ผ่านทางโทรโข่งตัวเล็กๆ

 


ห่มสักด้วยผ้าเหลือง

 

พ่อสมานมัคคุเทศก์ของเรา

 

พ่อสมานบอกกับเราว่า หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผืนป่าซึ่งมีต้นสักขนาดใหญ่เกินหนึ่งคนโอบยืนต้นอยู่เป็นระยะ ในบริเวณที่เรายืนอยู่จะต้องจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนพื้นที่ที่เป็นเนินก็จะโผล่เป็นเกาะกลางน้ำ และต้นสักเหล่านี้ก็จะถูกนำออกจากป่าเพื่อสร้างมูลค่ามหาศาล

 

ป่านี้นอกเหนือจากต้นสักที่ยิ่งเดินลึกเข้าไปเท่าไหร่ก็จะเห็นต้นสักต้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พ่อสมานยังชี้ชวนให้เราดูต้นไม้ต่างๆ ทั้งผักติ้วขาว กวาวเครือ ต้นบุก หน่อไม้ ฯลฯ ที่ชาวบ้านสามารถเก็บหาเอาไปทำกินได้ และบอกว่า หากเรามีเวลามากๆ แกอยากชวนไปเดินให้เห็นต้นสักใหญ่อายุหลายร้อยปี แต่ก็คงต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมกว่านี้เพราะต้องค้างคืนกันในป่า

 

บนเส้นทางกลับออกจากป่า ก่อนที่จะเดินแยกจากกัน เราถามพ่อสมานว่าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างนี้ไม่กลัวอิทธิพล ไม่กลัวตายหรือ พ่อสมานบอกกับเราว่าลูกสะใภ้แกก็เคยถาม

 

"ตายครั้งเดียว ไม่กลัว" คือคำตอบที่ได้รับพร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนด้วยรอยยิ้ม

 

...............

 


ผืนป่ากว่า 20,000 ไร่ที่ต้องสูญเสียไปหากมีการสร้างเขื่อน

 

บนจุดชมวิวทะเลหมอกในอุทยานแห่งชาติแม่ยม เรายืนอยู่บนหน้าผาสูงมองเห็นป่าสักทองผืนใหญ่ และ "ดงสักงาม" ที่ได้ลงไปเดินสำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ของผืนป่าสักทองธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแห่งนี้

 

ศุภชัย วรรณวงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยมบอกกับเราว่า ไม้สักในบริเวณที่เห็นนั้นมูลค่าหลายพันล้าน และการจะปลูกสร้างขึ้นมาใหม่เป็นสวนป่าจะทำได้ไม่สมบูรณ์เท่า เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าสักธรรมชาติ มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง ทั้งสภาพป่า พันธุ์ไม้ อีกทั้งอายุเฉลี่ยของต้นสักอยู่ที่ 80-90 ปี และที่มีอายุมากสุดก็อยู่มานานกว่าการตั้งชุมชนใน ต.สะเอียบ คือ มีอายุมากกว่า 200 ปีแล้ว

      

ศุภชัยให้ข้อมูลต่อว่า หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่ทั้งหมดจะถูกน้ำท่วม คือพื้นที่ป่าราว 73 ตร.กม.ของอุทยานฯ จะต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำเหนือเขื่อน โดยพื้นที่ดังกล่าวแบ่งเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณประมาณ 52 ตร.กม.และอีกราว 11 ตร.กม.เป็นพื้นที่ป่าเต็งรัง

 

ทั้งนี้แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องขนาดความสูงของเขื่อน แต่พื้นที่ซึ่งต้องถูกน้ำท่วมดังกล่าวก็ได้รวมผืนป่าสักทองธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเอาไว้ด้วยแล้ว

 

...............

 

เมื่อมีคนถามเรื่องนกยูงในผืนป่าแม่ยม

      

"นกยูงจะกระจายอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่ตำบลสะเอียบ ส่วนมากจะอยู่ในป่าเต็งรัง ของเราจะติดกับอุทยานแห่งชาติภูนาง โซนของมันจะติดกับป่าเต็งรังที่เป็นรอยต่อระหว่าง 2 อุทยาน ตอนนี้เห็นได้ชัดขึ้นคือกระจายมาแถวหาดทะลุซึ่งอยู่ตรงดงสัก เป็นหาดทรายที่นกยูงใช้เป็นพื้นที่ในการเกี้ยวพาราสี เคยเห็นสูงสุดฝูงหนึ่งประมาณ 12 ตัว เมื่อซัก 2 อาทิตย์ที่แล้วก็เจอ แต่ปกติจะมาประมาณ 5-6 ตัว มีเยอะครับ เดี๋ยวนี้จะเห็นถี่ขึ้น" หัวหน้าศุภชัยให้คำตอบกับเรา

      

คำพูดนี้คงบอกอะไรได้มากมายโดยไม่ต้องอธิบาย แม้ว่าการลงพื้นที่ของเราในครั้งนี้จะไม่ได้ยมโฉมนกยูง (โง่ๆ) เลยสักตัว แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐควรใส่ใจมากกว่าว่าป่านี้จะมีนกยูง (โง่หรือไม่โง่) อยู่สักกี่ตัว ก็คือราษฎร (ที่ไม่โง่) ซึ่งพร้อมจะลุกขึ้นมาใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมากกว่า...มิใช่หรือ

 

...............

 


ลำน้ำยม

 

กว่า 18 ปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ทำให้ชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน (บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว และบ้านแม่เต้น) ใน ต.สะเอียบ กว่า 1,000 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง แถมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอีก 11 หมู่บ้านของ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ต้องนอนหลับไม่เต็มตื่น เพราะต้องเผชิญกับความหวาดผวาของความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ประชาชนในเขตลุ่มน้ำยมตอนล่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม มาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

 


หาญณรงค์ กำลังชี้ให้ดูพื้นที่หมู่บ้านใน อ.เชียงม่วนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

 

หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าว่า การผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นในสมัยนายกฯ สมัคร และรัฐบาลทุกรัฐบาลยังคิดแบบเดิม คือ คิดตามความเชื่อที่ว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ป้องกันภัยแล้งได้ ไม่ได้คิดตามข้อเท็จจริงว่ามันแก้ได้จริงหรือเปล่า นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐอย่างกรมชลประทาน หรือกรมน้ำก็ยังคงมีความคิด ความเชื่อในแบบเดียวกัน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการทำงาน หาญณรงค์ กล่าวว่างานเฉพาะหน้าในขณะนี้ คือ ต้องเปิดเผยความจริงจากสิ่งที่รัฐบาล พยายามกล่าวอ้างเพื่อที่คนในสังคมจะได้ช่วยกันคิดว่ามันได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ทั้งในเรื่องความสมบูรณ์ของป่าและนกยูง ส่วนในระยะยาวมองว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเขื่อนแก่งเสือเต้นที่มีอยู่ทำมาเกินกว่า 10 ปี ถือเป็นข้อมูลที่ล้าสมัย ดังนั้นจึงควรมีกระบวนการศึกษาใหม่ทั้งหมด หากจะมีการเริ่มโครงการใหม่ โดยจะต้องเปิดให้ชุมชนมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบ รวมทั้งในส่วนของยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำยม ก็ต้องมีการศึกษาใหม่ในเรื่องผลกระทบต่อชุมชน และต่อระบบนิเวศ

 

แต่ละลุ่มน้ำควรมีการจัดการน้ำในรูปแบบของตนเอง กรมทรัพยากรน้ำไม่ควรคิดว่าแม่น้ำอื่นเขามีเขื่อนหมดแล้ว แต่แม่น้ำยมยังไม่มี จึงควรต้องมีการสร้างเขื่อน ทั้งที่การจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอาจจะแตกต่างกันไป การแก้ปัญหาต้องมองเป็นจุดๆ อยากใช้น้ำก็สร้างฝาย ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ละอำเภอก็หามาตรการที่เหมาะสมของตัวเอง ที่ผ่านมา หลายคนในจังหวัดแพร่ก็บอกว่าขาดโอกาสในการจัดการน้ำ ซึ่งก็เป็นเพราะเรามองอยู่แค่โครงการเดียวคือแก่งเสือเต้น

...............

 

จากการต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นของชาวบ้านสะเอียบ ที่ผู้ใหญ่เส็งเรียกว่าเหมือนมวยวัด ไม่ไว้ใจใคร ใช้วิธีการที่ค่อนข้างรุนแรง ตั้งแต่ไล่ทุบรถธนาคารโลก ขับไล่คนที่มาหาผลประโยชน์โดยเข้ามาซื้อที่ดินปลูกต้นไม้เพื่อหวังค่าชดเชย จับนักวิชาการมายึดเอกสาร แต่เมื่อต่อสู้มานานวันก็ได้เรียนรู้ มีการพัฒนากระบวนการต่อสู้ เมื่อการใช้ท่าทีแข็งกร้าวเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล จึงเริ่มมีการประสานและเปลี่ยนข้อมูลกับนักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ เผยแพร่ข้อมูลในพื้นที่ออกสู่วงกว้างผ่านทางสื่อ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดจิตสำนึกรักชุมชนไปยังเยาวชนในหมู่บ้าน ผ่านทาง "กลุ่มตะกอนยม"

 

น้องไอซ์ วรเมธ ชัยมงคล หนุ่มน้อยวัย 15 ปี ลูกชายคนกลางของบ้านที่เราไปอาศัยชายคาหลับนอนก็เป็นหนึ่งในเยาวชนตะกอนยม ถึงแม้ว่าจะยังเด็ก แต่เขาก็มีความคิดดีๆ ไม่ต่างจากผู้ใหญ่

 

น้องไอซ์บอกกับเราว่า ผืนแผ่นดินที่เขาอยู่นี้เป็นผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ มีความเป็นมา ซึ่งหากมองในมุมการศึกษาปัจจุบันก็จะเห็นว่า ป่ามีความสำคัญกับระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร แต่การสร้างเขื่อนไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรแก่ชุมชนของเขา และที่สำคัญที่นี่คือบ้านคือที่อยู่ ที่กิน ที่นอน ที่ทำให้เขาโตมาได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้นหากเขาจะตายก็ขอให้เถ้ากระดูกได้ฝังลงใต้แผ่นดินนี้

 

ที่ผ่านมา แม้การเข้าไปเรียนในตัวอำเภอสอง จะทำให้น้องไอซ์ต้องตกอยู่ในสภาวะของความขัดแย้งเรื่องการต่อต้านและสนับสนุนเขื่อน และถูกจับจ้องมองในฐานะที่เป็นคนสะเอียบที่ต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มข้น ในขณะที่ใครหลายคนไม่เข้าใจถึงเหตุว่าทำไมต้องต้านเขื่อน แต่เขาก็ยืดอกบอกทุกคนได้อย่างเต็มภาคภูมิว่าเขาเป็นคนสะเอียบ และเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นเดียวกับพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และบรรพบุรุษของเขา

 

"ถึงจะเป็นเด็กแต่ก็ไม่นั่งรอให้หายนะเกิดขึ้นแบบให้มันเป็นไป เพราะเรามีเลือดรักบ้านอยู่ในหัวใจ จะให้ตายแทนก็ยังได้" คำพูดของน้องไอซ์ทำให้เราแอบยิ้มด้วยความชื่นชม และหวังว่าเขาจะเป็นพลังการในการต่อสู้เพื่อชุมชนของเขาต่อไป

...............

 

 

 

บนเส้นทางหลวงขากลับ... รถเคลื่อนที่ออกจากสะเอียบมาได้ไม่ไกลนัก ทิวทัศน์สองข้างทางปรากฏเป็นภาพของภาพภูเขาที่เต็มไปด้วยต้นไม้ค่อยๆ ถูกรุกไล่ให้เตียนโล่ง โดยมีไร่ข้าวโพดอยู่เบื้องหน้า ทำให้นึกย้อนไปถึงคำพูดของผู้ใหญ่เส็งที่ว่า

 

"ชาวบ้านก็ต้องยืนอยู่บนขาของตัวเอง ชาวบ้านยืนยันว่าเราจะยอมตายอยู่ตรงนี้ เราจะฟื้นฟูสภาพป่าผืนนี้ให้อยู่กับเราให้จงได้ เพราะฉะนั้นอย่าได้หวังเลยว่าแผนการต่างๆ ที่จะเข้ามาทำป่าให้หมดเพื่อสร้างเขื่อน เลิกคิดได้เลย"

 

ภาพของเกษตรอุตสากรรมและสิ่งที่เรียกว่าความเจริญได้ไล่รุกความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แม้สิ่งที่เห็นอาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่สะเอียบ แต่แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะรุกเข้าสู่สะเอียบในสักวัน ไม่เร็ว ก็ช้า...

 

และป่าสักทองของพวกเขาคงจะถูกเร่งเร้าให้แปรสภาพ ด้วยความจำเป็นอีกนานัปการ 

 

 

 

*หมายเหตุจากผู้เขียน: การทำป่าไม้ ในที่นี้หมายถึงกระบวนการโค่นต้นไม้ ตัดเป็นท่อน และชักลากออกจากป่าจนถึงโรงงานแปรรูป หรือตลาด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net