Skip to main content
sharethis


1. สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


1.1 นิตยสารพม่าเปิดเผยว่า ราคาเกลือในประเทศเพิ่มเป็น 3 เท่า หลังถูกพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่ม


 


นิตยสารวอยซ์ซึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ของพม่ารายงานเมื่อวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ว่า พายุไซโคลนนาร์กีสได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมาไม่หยุดหย่อน ทำให้ราคาเกลือในประเทศพม่าพุ่งขึ้นถึง 3 เท่าตัว นับตั้งแต่พม่าเผชิญภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน โดยพายุลูกนี้พัดทำลายพื้นที่ทำนาเกลือและนาข้าวได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนทำให้ราคาของเกลือขนาด 1.6 กิโลกรัม พุ่งขึ้นไปสูงถึง 1,300 จ๊าด (ราว 36 บาท) หรือสูงขึ้น 6 เท่าจากราคาเกลือในช่วงก่อนเกิดพายุไซโคลนซึ่งอยู่ที่ 200 จ๊าด (ราว 6 บาท) เท่านั้น


 


ส่วนราคาในตลาดหลายแห่งในนครย่างกุ้งที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้ลดลงมาอยู่ที่ 700 จ๊าด (ราว 20 บาท) ในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังพายุไซโคลน


 


นิตยสารฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า พื้นที่กว่า 2,500 ไร่ ของรัฐบาลที่ใช้ทำนาเกลือ และอีกกว่า 5.8 หมื่นไร่ ที่เป็นของเอกชน ได้รับความเสียหายจากพายุไซโคลนนาร์กีส ทั้งนี้เป็นเพราะการทำนาเกลือส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีอันเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากพายุไซโคลนนาร์กีสเมื่อวันที่ 2-3 พฤษภาคม รวมถึงรัฐมอญ ตะยินตายี และยะไข่ โดยราคาเกลือที่รัฐยะไข่เพิ่มจาก 100 จ๊าด เป็น 400 จ๊าดแล้ว ขณะที่ปริมาณเกลือสำรองที่มีอยู่ก็เริ่มจะร่อยหรอลงไปมาก และเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค รัฐยะไข่จะเพิ่มการผลิตเกลือในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนนี้


 


ทั้งนี้พายุไซโคลนนาร์กีสทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูก และทำเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ รวมถึงพื้นที่ในย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 84,537 คน และสูญหาย 23,836 คน ตามตัวเลขของทางการ


(คมชัดลึก วันที่ 01/07/2551)


 


1.2        อังกฤษเป็นประเทศที่ลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน-ก๊าซในพม่ามากที่สุด


รัฐบาลพม่าเปิดเผยรายงานว่า ชาติตะวันตกได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันมากกว่า 90% ของการลงทุนในพม่าทั้งหมดของเมื่อปีที่แล้ว


 


รายงานของกระทรวงวางแผนและการพัฒนาแห่งชาติพม่าระบุว่า ปริมาณเงินลงทุนจากต่างชาติในพม่าเมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 504.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งในจำนวนนี้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีมูลค่ามากถึง 474.3 ล้าน เหรียญสหรัฐ (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท)


อังกฤษเป็นผู้ลงทุนมากที่สุดในอุตสาหกรรมดังกล่าว คิดเป็นมูลค่า 187 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วย อินเดีย และสิงคโปร์ ขณะที่ไทยเมื่อปีที่แล้วมีปริมาณการลงทุนด้านน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพม่าอยู่ที่ 16.22 ล้านเหรียญสหรัฐ


 


ขณะที่ทางด้านเยอรมนี มีการลงทุนในพม่าในภาคการผลิตอยู่ที่ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเกาหลีใต้ มีปริมาณการลงทุนในอุตสาหกรรมประมงอยู่ที่ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ


 


พม่าระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ปรากฏการลงทุนใหม่ๆในหลายภาคส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมเหมืองแร่, อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และการท่องเที่ยว รวมไปถึงภาคการขนส่ง, ไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรม


 


นอกจากนี้ พม่าเปิดเผยด้วยว่า การลงทุนจากอังกฤษที่ระบุในรายงาน ครอบคลุมถึงการลงทุนจากหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอร์แลนด์ หมู่เกาะเบอร์มิวดา ซึ่งบริษัทน้ำมันหลายแห่งจดทะเบียนที่หมู่เกาะเหล่านี้และลักลอบลงทุนในพม่า เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป


(โพสต์ทูเดย์ วันที่ 01/07/2551)


 


1.3 องค์กรช่วยเหลือประชาชนในพม่าขอร้อง อย่านำความช่วยเหลือไปเกี่ยวกับการเมืองพม่า


องค์กรเซฟ เดอะ ชิลเดรน ระบุว่า ผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือพื้นฐานต่างๆเกือบจะครบถ้วนแล้ว แต่การฟื้นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านเงินบริจาคจากประชาคมโลกอีกจำนวนมาก ประชาคมโลกจึงไม่ควรนำเงินบริจาคมาเกี่ยวข้องกับความพยายามดำเนินการทางการเมืองต่อพม่า เพราะอาจส่งผลให้เงินบริจาค ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก ไปไม่ถึงมือผู้ประสบภัย และว่าที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานชี้ว่า รัฐบาลทหารพม่านำเงินบริจาคที่ได้รับจากต่างชาติไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม


 


อย่างไรก็ดีเซฟ เดอะ ชิลเดรน บอกว่า องค์กรบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ ยังได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพม่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินบริจาคที่ประชาคมโลกให้คำมั่นว่าจะมอบให้จำนวน 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


(สำนักข่าวไทย วันที่ 28/06/2551)


 


1.4องค์การสื่อสารไร้พรมแดนของสหประชาชาติถอนเจ้าหน้าที่ออกจากพม่า หลังถูกกักไว้ที่ย่างกุ้งนานกว่าหนึ่งเดือน  


คณะผู้ทำงานบรรเทาทุกข์จากต่างประเทศ ซึ่งทำงานซ่อมบำรุงด้านการสื่อสารฉุกเฉินในพื้นที่ประสบภัยพิบัติในพม่า ได้รับคำสั่งให้เดินทางออกจากพื้นที่ หลังจากที่มีองค์กรบรรเทาทุกข์และอาสาสมัครจากต่างประเทศหลายกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพม่าได้ สืบเนื่องจากการที่นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางเยือน


 


แต่โฆษกขององค์การสื่อสารไร้พรมแดน หรือ ทีเอสเอฟ องค์กรพิเศษของสหประชาชาติ แจ้งว่า ต้องให้เจ้าหน้าที่เดินทางกลับเมื่อความพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงพื้นที่ที่ประสบพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ไม่เป็นผล ทั้งนี้ทีเอสเอฟได้รับวีซ่าให้เข้าพม่าได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน หลังการรอคอยวีซ่านานนับเดือน แต่การปฏิบัติงานในพื้นที่สามเหลี่ยมอิระวดี กลับต้องได้รับอนุญาตจากทางการอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งได้สร้างความสับสนให้แก่สมาชิก เพราะพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยได้ และต้องรอในลักษณะที่เหมือนกับการถูกกักตัวให้อยู่ในนครย่างกุ้งเท่านั้น ซึ่งทีเอสเอฟเชื่อว่าสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ถูกกักตัวไว้ที่ย่างกุ้ง ก็เพราะลักษณะงานของทีเอสเอฟและอุปกรณ์เครื่องมือนั่นเอง เพราะในขณะเดียวกันยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครต่างชาติหลายคนถูกยึดอุปกรณ์สื่อสารที่ด่านชายแดน ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆที่เข้าสู่พื้นที่ประสบภัยต้องดำเนินการผ่านยูนิเซฟกับโครงการอาหารโลกเป็นหลัก


(ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 26/06/2551)


 


1.5 พม่าตกลงกู้เงินมูลค่า 84 ล้านดอลลาร์จากอินเดีย


หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานว่า พม่าตัดสินใจเซ็นข้อตกลงกู้เงินมูลค่า 84 ล้านดอลลาร์ จากอินเดีย ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความร่วมมือที่ขยายตัวมากขึ้นระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ข้อตกลงฉบับดังกล่าวได้รับการลงนามขั้นสุดท้ายระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอินเดียระหว่างเดินทางเยือนพม่า โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือในหัวข้อการค้าทวิภาคีและโครงการพลังงานไฟฟ้า


ธนาคารเพื่อการค้าต่างประเทศพม่า และเอ็กซิมแบงก์ของอินเดียเห็นพ้องในการอุดหนุนเงินทุน 20 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตอะลูมิเนียม ขณะเดียวกันก็ให้ทุนอีก 64 ล้านดอลลาร์ สำหรับการ เดินสายไฟขนาด 230 กิโลวัตต์ จำนวน 3 สาย


 


ผู้ลงนามในข้อตกลง ได้แก่ นายโซ ทา รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนของพม่า และนายศรี ชัยราม


เรเมศ รัฐมนตรีพาณิชย์ของอินเดีย ที่กรุงเนปิดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่า


 


อินเดียเป็นชาติที่สนับสนุน นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2533 แต่หลังจากนั้นอินเดียก็หันมาผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร เนื่องจากมองเห็นความสำคัญของพม่าในฐานะ แหล่งพลังงานสำคัญซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตรวดเร็วขึ้น


 


พม่าและอินเดีย มีพรมแดนติดต่อกันยาว 1,300 กิโลเมตร กระทรวงต่างประเทศอินเดีย ระบุว่า การค้าระหว่าง 2 ชาติ มีมูลค่า 590 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2548-2549


 


อย่างไรก็ดี ข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศ เกิดขึ้นในขณะที่มีเสียงเรียกร้องในระดับนานาชาติ เพื่อกดดันพม่าให้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งเสียงวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากไซโคลนนาร์กิส


(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26/06/2551)


 


1.6 นายพลระดับสูงในรัฐบาลทหารพม่า 5 คนประกาศเกษียณตัวเองโดยอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ


แหล่งข่าวในกองทัพพม่าเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย. ว่าทหารระดับนายพลอย่างน้อย 5 นายได้เกษียณตัวเองจากตำแหน่งในรัฐบาล เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ที่ผ่านมาด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ท่ามกลางสัญญาณว่าพลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารต้องการจะรวบอำนาจภายในกองทัพมาไว้ในมือ โดยทหารกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ พล.ท.อ่อง ทเว พล.ท.ขิ่น เมือง ธาน พล.ท.จ่อ วิน พล.ท.เมือง โบ และพล.ท.เย มินท์ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกระดับสูงของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) ทั้งหมด


 


ทหารทั้ง 5 นายมีอายุอยู่ในช่วงปลาย 60 ถึง 70 ปีแล้ว และดำรงตำแหน่งสมาชิกสำนักงานปฏิบัติการพิเศษ โดยผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนนายทหารกลุ่มนี้เป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาที่มีอายุน้อยกว่า


 


การเคลื่อนไหวครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากนายอ่อง ซอว์ เย มินท์ บุตรชายวัย 29 ปีของพล.ท.เย มินท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการพิเศษ ถูกจับกุมตัวในข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม


 นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ายังได้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี 3 ตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ที่ผ่านมาโดยถอดพล.ต.เมือง เมือง ส่วย จากตำแหน่งรัฐมนตรีผู้อพยพและตั้งถิ่นฐาน เพื่อให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคมและกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและผู้อพยพเพียงกระทรวงเดียว ในช่วงที่เขากำลังวุ่นอยู่กับการช่วยผู้ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส


 


แม้อาจมองได้ว่าการปรับพล.ต.หม่อง หม่อง ส่วย จะทำให้เขามีเวลาเพื่อช่วยผู้ประสบภัยได้มากขึ้น แต่นักวิเคราะห์การเมืองเห็นว่า การกระทำครั้งนี้เป็นเหมือนการมองข้ามพล.อ.หม่อง เอ ผู้บัญชาการกองทัพและมีตำแหน่งใหญ่เป็นอันดับ 2


 


รัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองคนใหม่ ได้แก่ พล.ต.ซอว์ วิน อดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ขณะที่พล.ท.โซ เทียน อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ จะเข้ามาคุมกระทรวงอุตสาหกรรมแทน ทั้งนี้ พล.ท.โซ เทียนเป็นคนสนิทของพล.ท.ส่วย มาน ซึ่งได้รับการคาดหมายให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพล.อ.ตัน ฉ่วย


 


ทางด้านนายวิน มิน อาจารย์ประจำวิชากิจการพม่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า พล.อ.ตัน ฉ่วย มีอำนาจในมือเพิ่มขึ้นจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ และเขาก็อาศัยการจับกุมบุตรชายของพล.ท.เย มินท์ เพื่อเร่งให้ทหารกลุ่มดังกล่าวเกษียณเร็วขึ้น เพื่อส่งคนของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน


(คมชัดลึก วันที่ 25/06/2551)


 


 


2.การค้าชายแดน


 


2.1 เตือนนายทุนอย่ากว้านซื้อที่ดินบ้านพุน้ำร้อน หวังเก็งกำไรรับโครงการถนนกาญจน์-เมืองทวาย เพราะเป็นที่ราชพัสดุ ไม่มีเอกสารสิทธิ


นายสมภพ ธีระสานต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า โครงการทางหลวงระหว่างประเทศสายพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี สู่เมืองทวาย สหภาพพม่า ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีผลักดันมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 7 ปี ล่าสุดได้มีการตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศแล้ว


 


การก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวเป็นลักษณะ toll way หรือเรียกเก็บค่าผ่านทาง มีความยาว 130 กิโลเมตร ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำกัดได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับรัฐบาลพม่าเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ซึ่งภายหลังจากสิ้นฤดูฝนนี้คงมีการสำรวจออกแบบก่อนลงมือก่อสร้างประมาณต้นปี 2552 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี


 


การก่อสร้างจะใช้งบประมาณราว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เส้นทางดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ในการขนส่งระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียนที่จะขนส่งสินค้าไปยังอินเดียและยุโรป โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ช่วยลดระยะเวลาลงได้ 6 วัน หรือลดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 20 รวมทั้งช่วยลดปัญหาการลักลอบของแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ เนื่องจากจะมีการตั้งโรงงานที่เป็นลักษณะ pre-industries คือใช้แรงงานฝั่งพม่าในการผลิตเบื้องต้นก่อนส่งเข้ามาป้อนโรงงานแม่ในประเทศไทย


 


สำหรับบริเวณบ้านพุน้ำร้อนนั้นจะปรับปรุงภูมิทัศน์ที่เคยเป็นเหมืองแร่เดิมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และตลาดการค้าชายแดนซึ่งพาณิชย์จังหวัดดำเนินการออกแบบอยู่ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้มีการ นำเข้าสินค้าจากพม่าทุกวันศุกร์เท่านั้น


 


ทั้งนี้เมื่อข่าวเรื่องการเปิดด่านพุน้ำร้อนแพร่หลายออกไป ปรากฏว่ามีนักลงทุนจำนวนมากที่เล็งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นทำเลทอง จึงเข้ามาเจรจาต่อรองเตรียมกว้านซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าวแล้ว ทำให้ราคาที่ดินขยับตัวสูงขึ้นมาก ล่าสุดมีการซื้อขายกันในราคาถึงไร่ละ 20,000-30,000 บาท แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณใกล้กับชายแดนดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูแลของกองทัพภายใต้การกำหนดเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2481 ซึ่งได้มีการผ่อนผันจัดแบ่งให้กับราษฎรใช้ทำกินเพื่อการยังชีพ ที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เพียงใบ ภบท.เท่านั้น


 


อย่างไรก็ตามทางโยธาธิการจังหวัดได้ออกแบบเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้กันพื้นที่ไว้เป็นศูนย์ราชการและที่ทำการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจังหวัดมีโครงการให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเช่าที่จากทหารเพื่อวางผังและให้เอกชนเช่าทำคลังสินค้าชายแดน


 


ผู้ที่ไปจับจองซื้อที่ดินในขณะนี้จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกเวนคืน จึงขอเตือนนักลงทุนว่าอย่าไปหลงเชื่อซื้อที่ดินโดยมิได้ตรวจสอบเรื่องเอกสารสิทธิแล ผังที่ดินกับทางราชการก่อน เพราะจะทำให้เสียประโยชน์และสูญเงินจำนวนมาก


 


เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2551 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและสหภาพพม่า เรื่องการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเส้นทางเชื่อมโยงสู่กรุงเทพฯตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยให้ภาคเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินโครงการ และฝ่ายพม่าจะเป็นผู้ก่อสร้างและจัดหาแรงงานให้โดยมีผลผูกพันระยะ 5 ปี


(ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26/07/2551)


 


2.2ไทยซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า 20 ปี เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน


การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 24 มิ.ย.51 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่าจากการเยือนสหภาพพม่าของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างไทย-พม่า ทำให้ไทยสามารถเพิ่มการซื้อก๊าซจากพม่า จากเดิมบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ไปลงทุนในพม่าโดยได้ซื้อก๊าซจากพม่าในปี 2550 อัตราเฉลี่ย 1,150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


 


แต่ปัจจุบันไทยมีการใช้ก๊าซในปริมาณค่อนข้างสูง คือ 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าในปี 2555 จะมีความต้องการใช้ก๊าซเพิ่มเป็น 5,350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มเป็นสูงกว่า 7,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2564 ซึ่งเกินกว่าปริมาณก๊าซที่ ปตท.มีสัญญาซื้อขายกับแหล่งก๊าซต่าง ๆ ขณะที่แหล่ง M9 ของพม่า สามารถผลิตได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยพม่าจะขายให้ไทย 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็นะระยะเวลา 20 ปี จึงทำให้รถยนต์ที่จะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีก๊าซเติม รวมทั้งจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าป้อนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาดใหญ่ 2 โรง กำลังการผลิตรวม 1,600 เมกะวัตต์


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 25/07/2551)


 


 


3.แรงงานข้ามชาติ


 


3.1 ผู้ว่าราชการจังหวัดตากสั่งสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่รายงานข้อมูลเท็จ


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 51 นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่า มีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและประธานชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแม่สอด บางหมู่บ้านและชุมชนบางแห่งที่กำลังเปิดดำเนินโครงการขึ้นทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร และเร่งรัดให้สถานะตามกฎหมายกับบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเวลานานเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลที่ยังไม่ชัดเจนเพื่อให้เป็นระบบ ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 โดยมีการเรียกรับผลประโยชน์เงินทองเพื่อให้รับรองการออกสถานะบุคคล


 


ล่าสุดตนเองได้สั่งการให้มีการสอบสวนไปแล้วหลายรายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงก็จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้เกี่ยวข้องในการเรียกรับผลประโยชน์โดยจะดำเนินทางอาญาที่มีโทษจำคุกถึง 10 ปี เช่นรับรองสถานะอันเป็นเท็จ-หลอกลวงและรายงานข้อมูลเท็จกับฝ่ายปกครองจังหวัดตาก ฯลฯ ตอนนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องร้องเรียนแล้ว


 


เจ้าหน้าที่ NGO องค์กรเอกชนนานาชาติที่ทำงานใน อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า มีชาวพม่าและกะเหรี่ยงจำนวนมากมาร้องเรียนกับองค์กรเอกชนนานาชาติที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชน และร้องเรียนไปยังสำนักงาน UN แม่สอด ว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับการรับขึ้นทะเบียนเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ไปขอขึ้นทะเบียนบุคคลไร้สถานะ โดยบุคคลต่างด้าวที่ดำเนินการถูกต้องตามเอกสารหลักฐานและอยู่ในเมืองไทยเกิน 10 ปี กลับไม่ได้รับการปฎิบัติที่ถูกต้องและถูกเรียกรับเงิน ในขณะที่บุลคลที่เพิ่งเข้ามาจากฝั่งพม่าเมื่อมีการเสียเงินทองก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ ทางผู้เสียหายจึงขอให้ทางสำนักงานทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังฝ่ายปกครองจังหวัดตากและรัฐบาลไทยต่อไป


 


ขณะนี้ได้มีชาวกะเหรี่ยง-พม่า ในฝั่งพม่าเดินทางเข้ามาเพื่อมาขอขึ้นทะเบียนตามโครงการดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งผิดวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการให้บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเกิน 10 ปี โดยชาวพม่าที่เดินทางมาจากฝั่งพม่ายินยอมที่จะเสียเงินตั้งแต่หลักร้อยบาท-พันบาท-จนถึงหมื่นบาท โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับรองออกสถานะบางแห่งได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการผิดกฎหมายที่ระบุว่าโรงการดังกล่าวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แต่จะต้องเป็นบุคคลที่อาศัยในหมู่บ้านและชุมชนจริงมากกว่า 10 ปี มีพยานเอกสารหลักฐานชัดเจน ถึงจะรับรองสถานะได้ แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากมีชาวพม่าที่เพิ่งเข้ามาได้เสียเงินทองให้ผู้ดำเนินการรับรองและสามารถดำเนินการได้ ส่วนคนที่อพยพมาอยู่จริงมีเอกสาร แต่กลับยังไม่ได้รับการดำเนินการเพราะมีการเรียกร้องผลประโยชน์เงินทอง


(สยามรัฐ วันที่ 27/06/2551)


 


3.2 แรงงานข้ามชาติต่ออายุใบอนุญาตวันสุดท้าย อาชีพ "สาวใช้" สูงสุด


30 มิ.ย. เป็นวันสุดท้ายในรอบปีที่กระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งตลอดทั้งวันมีผู้เดินทางมาต่ออายุใบอนุญาตมากเป็นพิเศษ โดยในกรุงเทพฯ มีผู้มาใช้บริการมากที่สุดในเขตบางนา ราษฎร์บูรณะ และบางแค อาชีพที่แรงงานต่างด้าวมาต่ออายุใบอนุญาตมากที่สุด คือ คนรับใช้ในบ้าน รองลงมา คือ คนงานทั่วไป และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ


 


ที่สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ 8 ริมถนนบางนา มีผู้มาต่ออายุใบอนุญาตมากถึงร้อยละ 90 หรือประมาณ 20,000 คน จนทางเขตต้องขยายเวลาต่ออายุใบอนุญาตออกไปอีก 7 วัน


 


นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน คาดการณ์ว่า จะมีแรงงานต่างด้าวมาต่ออายุประมาณร้อยละ 70 น้อยกว่าปีที่แล้วที่มาต่อประมาณร้อยละ 80 ส่วนแรงงานต่างด้าวอีกประมาณ 1 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตกำลังอยู่ระหว่างการหารือผลักดันให้เข้าสู่ระบบตามมติคณะรัฐมนตรี


(ผู้จัดการ วันที่ 30/06/2551)


 


 


4. ผู้ลี้ภัย


 


4.1ชาวพม่าประท้วงเจ้าหน้าที่ UNHCR เนื่องจากได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในสถานภาพผู้ลี้ภัยเมื่อปี พ.ศ.2548 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 มิถุนายน ชาวพม่าจำนวน 23 คน เดินทางไปที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์.) บริเวณถนนสายแม่สอด-แม่ตาว เขตเทศบาลเมืองแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์. เนื่องจากได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในสถานภาพผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่ผู้ลี้ภัยสงครามส่วนหนึ่งสามารถเดินทางไปยังประเทศที่ 3 จำนวนมากแล้ว แต่พวกตนเองพร้อมด้วยครอบครัวราว 50 คน ไม่สามารถเดินทางไปยังต่างประเทศได้ ขณะที่มีการถือป้ายชุมนุมประท้วงนั้น เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์.ได้เชิญตัวแทนของชาวพม่าที่ลี้ภัยเข้าไปคุยด้านใน


(มติชน วันที่ 01/07/2551)


 


------------ 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org


และสามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่


www.oknation.net/blog/burmaissuesnewsline

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net