อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ : มองเขาพระวิหาร...อย่าให้เส้นเขตแดนทำให้มนุษย์กลายเป็นศัตรูกัน

อานุภาพ นุ่นสง/สำนักข่าวประชาธรรม ...เรียบเรียง

สถานการณ์ปัญหากรณี "ปราสาทเขาพระวิหาร" ปัจจุบันนับว่ากำลังคุกรุ่น กลิ่นไอแห่งความขัดแย้งระหว่างคน 2 ชาติเริ่มก่อตัว ใครควรเป็นเจ้าของตัวปราสาท ,ใครได้-ใครเสียดินแดนจากการให้ปราสาทเป็นมรดกโลก , ตัวปราสาทส่งผลให้คน 2 ชาติกลายเป็นศัตรูหรือไม่ ,รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรจัดการเรื่องนี้อย่างไร รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อเสนอแนะ 

00000000000000000000 

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเราเน้นประวัติศาสตร์กันที่เรื่องของดินแดน แล้วเราเน้นการเสียดินแดนเพื่อที่จะเร้าอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยทั้งหมดให้รักแผ่นดิน ด้านหนึ่งก็ถูกแต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่าจะทำให้เรามองข้ามความจริงด้านประวัติศาสตร์ไป เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรเรื่อยมาจนถึงอย่างน้อยรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยยังไม่มี มีสยามประเทศแต่มีความหมายกว้างๆ แค่ดินแดนที่รวมด้วยคนหลายๆ ฝ่าย รัฐที่อยู่ห่างไกลไปก็จะเป็นรัฐที่อิสระ แต่ต้องถวายบรรณาการไป เช่น ล้านนา ดังนั้นถามว่าตอนนั้นเป็นรัฐไทยไหม เราตอบได้ไม่ใช่ รัฐไทยสมัยใหม่ที่มีอาณาเขตดินแดนจริงๆ นั้นเพิ่งเกิด

ดังนั้นในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 มันก็มีการเสียกันไป ได้กันมาตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งเราเองก็เคยตกเป็นของพม่า หากเราคิดถึงเรื่องการเสียดินแดน โดยใช้ความคิดสมัยใหม่เข้าไปจับอดีต ผมคิดว่ามันรังแต่จะทำให้เรากลัดกลุ้มและเจ็บแค้นโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร

รัฐสมัยก่อนเหมือนรัฐแสงเทียน เหมือนเราจุดเทียนขึ้นมา 2 แท่ง ถ้าเราอยู่ใกล้แสงเทียนเราก็จะสว่างภายใต้อาณาจักรนั้น แต่ถ้าอยู่ห่างแสงเทียนออกไปหน่อยเราก็จะไม่สว่างแล้ว ดินแดนแถบนั้นคือดินแดนทำทางซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แสงเทียนก็คืออำนาจรัฐซึ่งไม่มีทางที่แสงจะส่องสว่างไปได้ทั้งเขตเหมือนเป็นประเทศในปัจจุบันนี้ ดังนั้นอย่าคิดเรื่องดินแดนในปัจจุบันไปวัดกับในอดีต มันไม่เชื่อมโยงกับบริบทความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ เพราะว่าสมัยพระนเรศวร พระเอกาทศรส หรืออื่นๆ ว่านั่นคือการเสียดินแดนของไทย จะเป็นการเสียเมืองขึ้นของราชอาณาจักรอยุธยา แต่ไม่ใช่ประเทศไทยแน่ๆ เพราะประเทศไทยเพิ่งเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อรัชกาลที่ 5 ความคิดเรื่องชาติไทยก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เมื่อก่อนไม่มีชาติไทย ชาติเมื่อก่อนแปลว่ากำเนิด อาจจะมีบางคนด่ากัน ชาติหมา ชาติไพร่ แต่ชาติที่หมายถึง Nation แบบที่เรารู้จักรนั้นเพิ่งเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้นอย่าไปยัดเยียดชาติไทยซึ่งมันเพิ่งเกิดลงไปในอยุธยา ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็ต้องเป็นศัตรูกับพม่าเหมือนกับในประวัติศาสตร์

ส่วนกรณีข้อถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ จริงๆ แล้วปัญหานี่คุกรุ่นอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ตลอดมา ผมว่าเราควรทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้ดีว่า เรื่องดินแดนหรืออาณาเขตที่อำพรางกันขนาดนี้เป็นระบอบเก่าของอาณานิคม คือเมื่อระบอบอาณานิคมขยายตัวเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณานิคมก็จะมาขีดเส้นตาม ปัญหาจำนวนมากในโลกปัจจุบัน เช่น ชนกลุ่มน้อย ก็เกิดขึ้นจากการแบ่งเส้นโดยอำเภอใจของอาณานิคม

แน่นอนว่าเราย้อนกลับไปเปลี่ยนอาณานิคมไม่ได้ แต่เราต้องเข้าใจว่านี่คือมรดกที่เขาทำกับเรา ในดินแดนหลายแห่งชนกลุ่มน้อยถูกเอาไปรวมกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง แทนที่เขาควรจะรวมกับอีกฝั่งหนึ่ง อย่างกรณีของอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากอาณานิคม ระบอบอาณานิคมที่ทำร้ายคนทั้งหมดของโลกนั้นมันก็มาทำร้ายบ้านเราด้วย ดังนั้นถ้าเรานั่งนึกดีๆ แล้วในสมัยนั้นด้วยพระอัจฉริยะภาพของ ร. 5 ท่านได้ทรงพยายามที่จะประคับประคอง ก็คือท่านยอมยกเมืองที่อยู่ในเขตเขมร เช่น เมืองเสียมเรียบหรืออะไรต่างๆ ซึ่งท่านก็ไม่ได้มีอำนาจอย่างนั้นจริงๆ เสมือนว่าท่านยกเมืองที่ยังไม่ได้เป็นของใครให้กับฝรั่งเศสเพื่อที่จะรักษาจันทบุรีและตราด

ซึ่งผมคิดว่านี่ไม่ได้เป็นการเสียดินแดน แต่นี่เป็นการได้ดินแดน ก็คือเราสามารถได้เส้นเขตแดนจันทบุรี ตราดอย่างชัดเจนฝรั่งเศสไม่มายุ่ง เพราะตอนนั้นฝรั่งเศสกำลังเข้ามาที่จันทบุรี เราได้โดยเรายกพื้นที่หนึ่งซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าเป็นของเราไหม และซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้มีอำนาจจริงจังเลย แถบนั้นเป็นเมืองที่ส่งบรรณาการให้กับเราบ้างก็เท่านั้นเอง เรายกส่วนที่ไม่ใช่ของเราให้ฝรั่งเศสเพื่อทำให้ของเราชัดขึ้น

ดังนั้นถามว่าอันนี้ได้หรือเสียดินแดน ผมว่าได้นะ ดังนั้นหากเราคิดตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหานี้ เริ่มต้นในสมัยนั้น สมัยที่ ร.5 กำลังสู้กับฝรั่งเศส ดังนั้นถ้าวัดจากตรงนั้นมา เราก็ต้องถือว่าดินแดนแถบนี้ตกเป็นดินแดนของเขมร ปัญหามันมาคุกรุ่นอีกทีตอนสงครามโลกที่ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ฉวยโอกาสตอนที่ฝรั่งเศสอ่อนแอไปยึดคืน เพราะเราไปมัวคิดว่าเราเสียดินแดน หลังจากยึดคืนแล้วเราก็ต้องคืนเขาอีกเมื่อหมดสงครามเพราะเขาฟ้องร้องมา

แน่นอนปัญหาเรื่องแผนที่ ถ้าวัดกันจริงๆ ควรใช้เขตธรรมชาติที่แน่นอนก็คือสันปันน้ำอย่างที่เขาเสนอ แต่ในวันนั้นเองเราก็ต้องยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าคือฝรั่งเศส และเมื่อการต่อสู้ในศาลโลกออกมาว่า ส่วนปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร เราก็ต้องปฏิบัติตามแม้ว่าเราไม่ยอมรับ เราก็สงวนสิทธิ์ที่เราจะต่อสู้ต่อไป แต่อย่างไรก็ตามคำตัดสินนั้นถูกต้องตราบใดที่เราไม่ไปใช้สิทธิ์ตรงนี้ ถึงวันนี้แล้วผมคิดว่าเราจะจัดการกับมรดกตรงนี้อย่างไร การจัดการอย่างไม่เปิดเผยอย่างที่คนทั้งหมดสงสัยนั้นผมว่าไม่เป็นการจัดการที่ดี

หมายความว่าทางรัฐบาล หรือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่รับผิดชอบ แม้มีเจตนาดี แต่สังคมไทยไม่รับรู้ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ต่อให้ประชาชนทั้งหมดเข้าใจผิดแล้วรัฐบาลทำถูก รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำโดยพลการ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือหยุดการกระทำอันนั้นก่อน แล้วมาทำความเข้าใจกับสังคมไทย ถ้าหากรัฐบาลคิดว่าตัวเองทำถูก ความถูกต้องนั้นย่อมชนะใจประชาชน ไม่อย่างนั้นแล้วก็กลายเป็นทำให้เกิดความบาดหมางกันขึ้นไปอีก

แน่นอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้นถูกสงสัยมาตั้งแต่ต้นแล้ว ดังนั้นถ้าใช้คำพูดของนักการเมืองหรือท่านนายกฯ เองก็คือ รัฐมนตรีมีต้นทุนต่ำ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องทำความเข้าใจกับสังคม ถ้าคุณเชื่อว่าคุณทำถูก อย่างไปหลงคิดว่าถ้าตัวเองทำถูกแล้วก็ไม่ต้องเคลียร์กับสังคม สิ่งนั้นไม่ได้ทำให้สังคมเรียนรู้ รัฐบุรุษหรือนักการเมืองที่ชาญฉลาดก็คือการทำให้สังคมได้ค้นพบกับความเป็นจริง

ดังนั้น ทางออกในวันนี้คงไม่ใช่แค่การประกาศว่าตัวเองทำถูก หรือคำเรียกร้องว่าจะต้องเอาดินแดนคืน อย่างที่หลายๆ ฝ่ายพูด ทางออกก็คือหยุดปัญหาเสียก่อน มาทำความเข้าใจกันว่าเราจะเรียนรู้การอยู่กับมรดกเก่าอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และสังคมไทยได้รับรู้ว่าจริงๆ เราเสียหรือได้ หรือจริงๆ แล้วมันควรจะเป็นของเขา อะไรที่ควรเป็นของใครก็ควรกลับไปเป็นของคนนั้น ทำนองเดียวกันนั้น บางเรื่องอาจจะไกลเกินกว่าที่จะคืน เราก็จะได้เรียนรู้ว่าเราควรจะอยู่กับคนที่แตกต่างอย่างไร เช่น พี่น้องใน 3 จังหวัดภาคใต้ เราก็ต้องยอมรับว่าครั้งหนึ่งเขาก็ไม่ได้อยู่กับเรา เราไปยึดมา เมื่อเราไปยึดมาแล้วเราก็ต้องดูแลเขาให้ดี เพื่อให้ไม่มีความขัดแย้ง หรือมีความรู้สึกว่าเมื่อแตกต่างแล้วกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นพลเมืองชั้น 2 กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ของสังคมเรา อาจจะเริ่มต้นด้วยการใช้ปราสาทเขาพระวิหารเพื่อทำให้สังคมไทยทั้งหมดบรรลุวุฒิภาวะมากขึ้น ที่จะจัดการกับมรดกของอาณานิคมซึ่งแน่นอนว่ามรดกอันนี้จะเป็นบาดแผลของเราไปอีกหลายเรื่อง

ตรงนี้เองหากสังคมไทยได้เรียนรู้ และได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วพรมแดนรักชาติที่เราขีดๆ กันนั้น มันขีดกั้นความเป็นมนุษย์ ความเป็นพี่น้องระหว่างคน 2 ฝ่ายนี้มากมาย ถ้าเราเรียนรู้ได้เราก็อาจจะไปคุยกับพี่น้องเขมร เพื่อที่จะบอกว่าชายแดนของเราที่ข้ามกันไปมานั้นเป็นพื้นที่ที่เราก็อยู่ร่วมกันได้ แบ่งปันกัน ถ้าใน 1 ปีเราเรียนรู้ได้ กรณีเขาพระวิหารเราอาจจะร่วมกันดูแลมากกว่าที่จะบอกว่า ตรงนี้เป็นของรัฐนี้ๆ เพราะเขตอำพรางระหว่างดินแดนทั้งหมดนี้เราสร้างการอยู่ร่วมกันได้ แต่เราต้องได้เรียนรู้ร่วมกันก่อน ไม่เช่นนั้นเส้นเขตแดนก็จะเป็นตัวแบ่งพี่น้อง เขมรก็จะกลายเป็นคนอื่น สังคมไทยต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันให้มากขึ้น

จริงๆ แล้วกรณีนี้หลายประเทศทั่วโลกเขาก็ใช้การดูแลร่วมกัน เป็นมรดกร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ทางออกนี้ของเราก็เริ่มมีการเสนอมาบ้าง ซึ่งอาจดี แต่สำหรับผมเอง ผมคิดว่าถ้าหากเราเริ่มต้นด้วยการขอดูแลร่วมกัน หากเขมรยอมนะ แต่ผมว่าเขมรเขาก็ไม่ยอม แต่หากเขายอมมันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากเราเริ่มต้นวันนี้โดยไม่ทำความเข้าใจกับสังคมไทยและสังคมเขมรก่อน มันก็จะมีความขัดแย้งในลักษณะที่ว่าใครจะเป็นผู้นำในการดูแลตรงนี้ ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจอย่างที่ว่ามาได้แล้ว กรณีการดูแลร่วมกันของปราสาทเขาพระวิหารหรือเขตเกาะต่างๆ ที่มีน้ำมัน เราก็จะมองเห็นว่าเราแบ่งปันกันได้ การศึกษาประวัติศาสตร์ร่วมกันของสุวรรณภูมิจำเป็นต้องเขียนหรือรับรู้ร่วมกัน ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะทะเลาะกันในเรื่องที่เป็นมายาคติที่สร้างกันขึ้นมาก็คือประวัติ็คือประวัตศสตรของเขตแดนศาสตร์ของเขตแดน ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอ แต่ผมหวังว่ามันจะต้องนำมาซึ่งการเรียนรู้เพื่อทำให้สังคมไทยเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพื่อนบ้าน

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ตอนนี้มี 2 ทาง คือ 1.มีกลุ่มคนที่ไปเรียกร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยับยั้งมติ ครม.และการออกแถลงการณ์ของรัฐมนตรี เพื่อถือว่านั่นเป็นการผิดรัฐธรรมนูญ และ 2.ผมคิดว่ารัฐบาลต้องคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะตัดสินกันภายในคณะรัฐมนตรี แต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำให้สังคมทั้งหมดได้รับรู้ร่วมกัน สร้างความเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้นตัวรัฐบาลเองควรจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นด้วยการหยุดก่อน ถอนเรื่องนี้ออกมา บอกกับพี่น้องชาวเขมรว่าขอเวลา 1 ปี แล้วเรียนรู้ร่วมกันว่าเราจะต่อสู้ หรือแก้ไขมรดกอันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของอาณานิคมอย่างไร ถ้าหากเราทำตรงนี้ได้รัฐบาลก็จะได้คะแนนเสียงว่า ไม่ใช่เป็นรัฐบาลที่รังแต่จะใช้อำนาจเท่านั้น แต่เป็นรัฐบาลที่มองเห็นการไกล ดังนั้นผมก็หวังว่ารัฐบาลจะตระหนักอย่างนี้ แต่ถ้าหากกลไกนี้ไม่เกิด เป็นไปได้หรือไม่ว่าสังคมเองขอเรียกร้องให้หยุด สร้างกระแสสังคมมาเพื่อให้รัฐบาลทำตามคือหยุดไว้ก่อน

เรื่องนี้สำคัญ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนบ้านเรา อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เหล่านี้เป็นประเทศหมู่เกาะต่างๆ ก็มีเขตอำพรางที่เป็นมรดกเก่าอีกมากมาย ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะต้องรบราฆ่าฟันกันอีกหลายจุด

ผมคิดว่าเรื่องดินแดนมีความหมาย เราเกิดมาในดินแดนหนึ่งก็ย่อมมีความจงรักภักดี แต่อยากจะเรียนว่าชีวิตที่อยู่บนดินแดนของผู้คนมากมายนั้นมันไม่ได้มีเส้นตายตัว มันมีความสัมพันธ์ข้ามไปข้ามมาตลอด ชีวิตของคนเหล่านี้ต่างหากที่มีค่า และจะมีความหมายแก่ทุกสังคม ถ้าหากเราปล่อยให้เส้นสมมติที่เรียกว่าเขตแดน ทำให้เรากลายเป็นศัตรูกัน ผมคิดว่านั่นเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างมหาศาล เราอาจจะต้องเรียกร้องให้คนไทยคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเราและพี่น้องชาติอื่นด้วย เพื่อที่เราจะได้อยู่ร่วมกันในโลกใบนี้อย่างเป็นสุขมากขึ้น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท