Skip to main content
sharethis


กว่า 6 ปีที่ผ่านมาองค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ได้ดำเนินโครงการให้ความสนับสนุนด้านการแพทย์เพื่อรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 จนสิ้นสุดโครงการในวันนี้ โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ขอนแก่น) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ (HIV-NAT) และกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในพื้นที่ (กลุ่มเพื่อนกุฉิฯ) ตลอดระยะเวลาโครงการ MSF ได้ให้การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพแก่ผู้ติดเชื้อฯ และครอบครัวในอำเภอกุฉินารายณ์รวมทั้งสิ้นกว่า 400 ราย ในจำนวนนี้กว่า 250 รายที่รักษาด้วยยาต้านไวรัส

"MSF เริ่มปฏิบัติงานในอำเภอกุฉินารายณ์ตั้งแต่ปี 2544 ตามพันธกิจของโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ต้องการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อฯ เนื่องจากในเวลานั้นประเทศไทยแทบไม่มีบริการด้านนี้" ดร. เดวิด วิลสัน อดีตผู้ประสานงานด้านการแพทย์ของ MSF ผู้ก่อตั้งโครงการนี้กล่าว

วัตถุประสงค์แรกเริ่มของโครงการนี้คือ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการรักษาพยาบาลโรคเอดส์นั้นสามารถทำสำเร็จได้แม้ในพื้นที่ชนบทที่ยากไร้ของประเทศไทย ในปี 2549 มีการตั้งวัตถุประสงค์ใหม่ 4 ข้อคือ ส่งเสริมการกินยาอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงการจัดการโรคฉวยโอกาส เริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรสำรอง  และจัดตั้งรูปแบบความช่วยเหลือเพื่อการพึ่งพาตนเองของชุมชนในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน

การตรวจหาปริมาณไวรัสในกระแสเลือดเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่โดยปกติจะใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยความล้มเหลวในการรักษา แต่ MSF ได้ริเริ่มแนวทางใหม่ในโครงการนำร่องที่อำเภอกุฉินารายณ์ โดยใช้การตรวจหาปริมาณไวรัสในกระแสเลือดเป็นหนทางเพื่อส่งเสริมการกินยาอย่างต่อเนื่อง และป้องกันความล้มเหลวในการรักษา 6 ปีให้หลัง ผู้ติดเชื้อฯ เกือบทั้งหมดยังคงรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน (เพียงร้อยละ 3 ที่ต้องเปลี่ยนมารักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรสำรอง)

สำหรับผู้ป่วยที่รักษาไม่ได้ผล จำเป็นต้องเปลี่ยนมารักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรสำรองที่มีฤทธิ์แรงขึ้น แต่ยาเหล่านี้ในขณะนั้นมีราคาแพง และแทบไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย การรักษาผู้ติดเชื้อฯ ด้วยยาต้านไวรัสสูตรสำรองตามโครงการนี้จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาต้านไวรัสสูตรสำรองราคาถูกในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณความตั้งใจนี้ที่ทำให้ยาสำคัญสองรายการ คือ ทินอฟโฟเวียร์และโลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์มีราคาถูกลง ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงยามากยิ่งขึ้น

ความสำเร็จที่สำคัญอีกประการของโครงการนี้คือ การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัส หรือซีเอ็มวี (CMV) ที่จอประสาทตาในผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นในผู้ติดเชื้อฯ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการติดเชื้อซีเอ็มวีในระดับสูง
 (หนึ่งในสามของผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงพบว่ามีอาการแสดงของโรคดังกล่าว1>) แต่ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ในระดับชาติเพื่อจัดการกับโรคติดเชื้อซีเอ็มวีนี้ MSF ร่วมกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เปิดบริการการตรวจคัดกรองเพื่อหาเชื้อซีเอ็มวีในผู้ติดเชื้อฯ ขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2549
 และพบว่าผู้ป่วยกว่าหนึ่งในสี่ที่มีระดับซีดีโฟร์ต่ำกว่า 50 มีการติดเชื้อซีเอ็มวีที่จอประสาทตา จึงได้จัดตั้งโครงการฝึกอบรมการตรวจคัดกรองหาเชื้อซีเอ็มวีที่จอประสาทตาขึ้นที่แผนกจักษุวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และที่ศูนย์ควบคุมโรคจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่ถูกละเลยนี้


สุดท้ายนี้ MSF ได้ริเริ่มแนวคิดจัดตั้งกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองของชุมชน นั่นคือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกลุ่ม (OTOG) ซึ่งเป็นเสมือนหนทางในการให้ความช่วยเหลือในละแวกที่พักอาศัยแก่ผู้ติดเชื้อฯ ที่อาการทรงตัวแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความแออัดจากจำนวนผู้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลและช่วยให้ผู้ติดเชื้อฯ ไม่ต้องเดินทางไปรับยาถึงโรงพยาบาล กลุ่มผู้ติดเชื้อฯ มีความสำคัญยิ่งในการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ตามโรงพยาบาล สำหรับพื้นที่ชนบทเช่นอำเภอกุฉินารายณ์ การเดินทางมีความยากลำบากมาก อีกคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือทุนทรัพย์พอเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล



โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกลุ่มจึงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ติดเชื้อฯ ทั้งในด้านข้อมูลความรู้ และสนับสนุนการกินยาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดกิจกรรมในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความรังเกียจผู้ติดเชื้อฯ พร้อมส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามความจำเป็น แนวทางในลักษณะนี้ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับขององค์การบริหารส่วนตำบล จึงเข้ามารับช่วงสนับสนุนทุนในการทำกิจกรรมของกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ ต่อจาก MSF

"ระดับความสำเร็จในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อฯ ในพื้นที่ชนบทของไทยเช่นที่นี่ กล่าวคือจนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รักษาไม่ได้ผลเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น นับได้ว่าประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างโรงพยาบาล MSF และกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ" ดร. คาเช่ เคลูฮู
ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำโครงการกุฉินารายณ์กล่าว

MSF ได้ทำการส่งมอบกิจกรรมทั้งหมดในโครงการและปิดโครงการที่ อ.กุฉินารายณ์ ส่วนโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ, พังงา สังขละบุรี เชียงราย และปัตตานี ยังคงดำเนินต่อไป


 


 


 


---------------------------------


1> ยุพา เอื้อวิจิตรอรุณ, สถาพร เตียวพัฒนาถาวร, อนงค์ กิจเจริญธรรม (2536) การศึกษาร่องรอยการติดเชื้อ Cytomegalovirus (CMV) ในซีรัมของผู้บริจาคโลหิตภาคอิสาน, วารสาร Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health 24 (Suppl 1): 180-182.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net