Skip to main content
sharethis

 



 



 


เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพสังคมและความเจริญทางวัตถุ ทำให้ในระยะไม่กี่ปีหลังมากนี้ คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับ"ดัชนีชี้วัดความสุข"มากขึ้น ที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานหลายแห่งคิดสร้างเครื่องมือชี้วัดนี้เพื่ออธิบายคุณภาพการดำรงชีวิต นอกเหนือไปจากการพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว


 


ในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ก็เช่นกัน ล่าสุดได้มีความพยายามคิดสร้างเครื่องมือชี้วัดความสุขผู้ป่วยเอดส์ โดย 2 นักวิชาการสาธารณสุขที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยเอดส์อย่างใกล้ชิด โดยนายอมรินทร์ หน่อไชยวงค์ นักวิชาการสาธารณสุข 7 โรงพยาบาลสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์ว่า นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น จากการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีโอกาสรอดชีวิตสูง แตกต่างจากอดีต


 


"ด้วยเหตุนี้ จึงได้ร่วมมือกับนางเทียนทอง ต๊ะแก้ว นักวิชาการสาธารณสุข 7 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ทำเรื่องขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างเครื่องมือวัดความสุขของผู้ป่วยเอดส์ จะได้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของผู้ป่วย เพราะเมื่อค้นพบว่าอะไรทำให้เกิดความสุข และอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ทั้งผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถแก้ไข และปรับตัวเข้าหากันได้" นายอมรินทร์ กล่าว


 


กระบวนการทำงานเริ่มจากการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ รวมถึงคนทำงานเกี่ยวกับเอดส์ ในเขต 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำปาง เพื่อนำมาสู่การสร้างเครื่องมือที่เรียกว่า "ดัชนี้ชี้วัดความสุขผู้ป่วยเอดส์" กระทั่งได้แบบสอบถามจำนวน 80 ข้อ ที่ครอบคลุมองค์ประกอบความสุข ทั้งส่วนที่ปรากฏจริง มองเห็นได้ด้วยตา หรือที่เรียกว่า "กายภาพ" และส่วนที่เป็นการรับรู้ ความพึงพอใจ ความรู้สึก


 


ด้านนางเทียนทอง ต๊ะแก้ว กล่าวว่า เนื่องจากมีระยะเวลาโครงการเพียง 13 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 ขณะนี้จึงเป็นช่วงใกล้สิ้นสุดโครงการแล้ว และได้นำเครื่องมือชี้วัดความสุขผู้ป่วยเอดส์มาใช้กับกลุ่มทดลองซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่างๆ จำนวน 1,600 ราย ทำให้สามารถจัดเกณฑ์มาตรฐานความสุขของผู้ป่วยเอดส์ได้ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน คือ 1. ด้านร่างกาย ดูได้จากผู้ป่วยมีสภาวะที่ดี ไม่เจ็บปวดทรมาน ไม่มีโรคแทรกซ้อน ตอบสนองต่อการรักษา 2. ด้านจิตใจ จิตวิญญาณ ความเชื่อ ผู้ป่วยสามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง จัดการกับความเครียดได้ เปิดเผยตัวเอง ไม่หลบซ่อน


 


3. ด้านครอบครัว คือครอบครัวยอมรับผู้ป่วยทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ให้กำลังใจกัน ช่วยเหลือเอาใจใส่ 4. ด้านสังคม ได้รับการยอมรับจากชุมชน ไม่ถูกแบ่งแยก ไม่ถูกกีดกันในงานมงคล ได้เป็นตัวแทนหรือผู้นำในชุมชนบ้าง ตลอดจนชุมชนยอมรับการมีครอบครัวของผู้ติดเชื้อ 5. ด้านเศรษฐกิจ ผู้ป่วยสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ มีแหล่งพึ่งพิงทางการเงิน ไม่ถูกปฏิเสธในการกู้ยืม มีรายได้ 6. ด้านสิ่งแวดล้อม มีที่อยู่อาศัยสะอาด เหมาะสม ปลอดภัย ไม่มีสิ่งรบกวน ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ


 


นางเทียนทอง ยังบอกอีกว่าจากการจัดประชุมสัมมนาและแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเก็บข้อมูลอย่างละเอียดหลายครั้ง พบว่าผู้ป่วยหลายรายพอใจและมีความสุขกับชีวิต โดยรายหนึ่งเคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชน มีหน้าที่และบทบาทไม่โดดเด่นมากนัก แต่เมื่อติดเชื้อเอชไอวี ก็ได้รับเลือกจากเพื่อนผู้ติดเชื้อให้เป็นประธานกลุ่ม มีบทบาทเป็นผู้บริหาร ได้ติดต่อประสานงานกับองค์กรเครือข่ายอื่นๆ ได้รับการยอมรับ มีโอกาสดีๆ อย่างที่ไม่เคยสัมผัสในอดีต จึงรู้สึกดีใจที่เป็นเอดส์ และถ้าเลือกได้ก็อยากเป็นเอดส์อีกในชาติต่อไป


 


ขณะที่อีกรายหนึ่งเคยรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อรู้ว่าเป็นเอดส์ ก็มั่นใจว่าต้องตายในเร็วๆ นี้แน่นอน จึงเลิกเสเพล ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พร้อมทั้งวางแผนชีวิตและครอบครัวอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้สมาชิกในครอบครัวเดือดร้อนหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ตายอย่างที่คิด และผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและครอบครัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สุขภาพก็แข็งแรงกว่าเดิม ทำให้เกิดกำลังใจที่จะสู้ต่อไป


 


"เครื่องมือที่เรียกว่าดัชนีชี้วัดความสุขผู้ป่วยเอดส์นั้นจะเป็นเสียงสะท้อนของผู้ป่วยได้อย่างดี ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับตัวเองและสิ่งรอบๆ ตัว ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าความสุขของผู้ติดเชื้อ ตั้งอยู่บนความพอเพียงตามอัตภาพ อย่าเอาคนปกติไปเปรียบเทียบ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกต่ำต้อย ท้อแท้ เช่น คนปกติอาจทำงานหนักเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัววันละ 350 บาท แต่สำหรับผู้ป่วยควรทำพอประมาณ ไม่หักโหมเกินตัว พอใจกับรายได้ประมาณวันละ 150-200 บาท เป็นต้น" นางเทียนทอง กล่าวในตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net