บทความ ทวิช จิตรสมบูรณ์ : 4 ประเด็นหลักที่ต้องทำเพื่อกู้ชาติ (ตอน 3 ) กู้ชาติด้านการศึกษา

ทวิช จิตรสมบูรณ์

 

การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม ดังนั้นหากมองในระยะยาวแล้วการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนที่สุดก็คือการพัฒนาการศึกษานั่นเอง จึงใคร่ขอเสนอความเห็นไว้ ณ ที่นี้โดยจะขอเริ่มตั้งแต่การศึกษาระดับสูงลงไปสู่ระดับล่าง ดังนี้

 

ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท เอก):  ซึ่งจะเป็นขุมปัญญาที่สำคัญของชาติต่อไปนั้น ที่ผ่านมากว่า 100 ปี เราได้ส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศมามากแล้ว จนมีปริมาณและคุณภาพของนักวิชาการในทุกแขนงวิชาการเกินพอในระดับมวลวิกฤตแล้ว

 

จากนี้ไปเราน่าจะ"สร้าง" วิชาการขึ้นใช้เองในประเทศไทยแทนการไป "เสพ" วิชาการจากต่างประเทศเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะยิ่งเสพมากเท่าใดวิชาการภายในของเราก็จะยิ่งอ่อนลงมากเท่านั้น ไม่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้สักที (แถมยังเสียดุลการชำระเงินอีกปีละหลายหมื่นล้านบาทอีกด้วย) ซึ่งถ้าเรายืนบนขาตัวเองทางวิชาการไม่ได้ก็คงไม่มีวันที่จะเรายืนได้ทางด้านอื่นๆ

 

ประเทศรัสเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลี นั้นได้สร้างชาติด้วยการส่งนักศึกษาไปเสพวิชาการจากต่างประเทศเป็นระยะเวลาสัก 30 ปีเท่านั้นจากนั้นก็ลดจำนวนลงมาก โดยหันไปพัฒนาวิชาการขึ้นใช้เองในประเทศ ทำให้ประเทศเจริญได้อย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทยส่งไปเรียนตปท.กันมากว่าร้อยปีแล้วก็ยังตั้งตัวไม่ได้สักที และมีแนวโน้มว่าเราจะเสียเงินส่งนศ.ไปเรียนเมืองนอกมากยิ่งขึ้นทุกปีไปอีกแสนนาน โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลทักษิณได้ส่งนักศึกษาออกไปมากเป็นพิเศษ

 

รัฐบาลจึงควรมีนโยบายพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของชาติอย่างจริงจังเสียที เช่นสนับสนุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมกับมีนโยบายเปลี่ยนค่านิยมนักศึกษาไทยให้หันมาเรียนในประเทศให้มากที่สุด พร้อมนี้ต้องเสริมด้วยนโยบายการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่ต้องเพิ่มมูลค่าให้ได้สัก 30 เท่าก่อนส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เราขายเป็นสินค้าดิบที่ราคาถูกมาก

 

ระดับปริญญาตรี: ในขณะนี้มีสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่า 100 สถาบันแล้ว โดยมีระดับความเข้มแข็งทางการศึกษาที่แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะได้ทราบว่ารัฐบาล กำลังมีดำริจะให้นักเรียนที่จบมัธยม 6 ครึ่งหนึ่งได้เรียนต่อระดับปริญญาตรี (เท่ากับอเมริกาเลยนะเนี่ย)  น่าเกรงว่าจะทำให้เกิดปริมาณบัณฑิตที่มากเกินความต้องการของสังคม ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์..วุฒิการศึกษาสูงกว่างานที่ทำ..แพร่กระจายไปทั่วประเทศ แม้แต่ในขณะนี้ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้อยู่ในระดับหนึ่งแล้ว เช่น เลขานุการระดับล่างๆของหน่วยงานส่วนใหญ่จะจบปริญญาตรีแทบทั้งนั้น.หลายคนจบโทด้วยซ้ำ..ซึ่งดูเหมือนว่าได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของประเทศไปแล้ว ในสหรัฐอเมริกาบุคลากรระดับนี้จะจบเพียงมัธยม 6 เป็นส่วนใหญ่ ข้อเสียที่เรียนสูงเกินไปคือ เป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลของชาติโดยไม่คุ้มค่า เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องเสียเวลาเรียนและเวลา"ทำมาหากิน"เพิ่มขึ้นอีก 4 ปี เพื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี เพียงเพื่อที่จะจบมาทำงานที่ต้องการวุฒิระดับมัธยม 6 เท่านั้น ถ้าลองคำนวณการสูญเสียทางเศรษฐกิจดูก็คงได้รู้กันว่ามันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราสู้ชาวโลกเขาไม่ได้

 

ระดับมัธยมศึกษา: ในระดับม.ปลายสายสามัญนั้นนับว่าน่าเป็นห่วงที่สุดเพราะมีจำนวนนักเรียนเรียนมาก และมีความเข้มข้นพอสมควร หากคูณด้วยปริมาณและงบประมาณต่อหัวแล้ว ประเทศไทยเราน่าจะเกิดการสูญเสียทางการศีกษามากที่สุดในระดับนี้ ดูเหมือนว่าในระดับนี้เราเน้นหลักสูตรที่จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ทั้งที่ส่วนใหญ่ 70% จบออกไปทำงานวิชาชีพโดยตรง ทำให้เกิดการสูญเสียทางการศึกษาอย่างมหาศาล ดังนั้นหลักสูตรม.ปลายจึงน่าจะให้มีวิชาเลือกที่เป็นวิชาชีพด้วย..ที่ผู้ที่เน้นจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ต้องเรียน โดยเฉพาะวิชาช่วยบริหารจัดการธุรกิจขนาดย่อม ผู้ที่จบออกไปจะได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนา ธกย. (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME)  ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาล สำหรับการจัดการศึกษาในระยะแรกอาจใช้อาจารย์พิเศษจากวิทยาลัยและอาชีวศึกษามาช่วยสอน จริงอยู่ได้มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เน้นด้านวิชาชีพอยู่แล้ว แต่เนื่องจากนักเรียนที่จบม.ต้นนั้นส่วนใหญ่ยังเด็กเกินกว่าที่จะตัดสินใจเลือกเรียนได้ รวมทั้งการบีบคั้นจากครอบครัว ส่วนใหญ่จึงตัดสินใจเรียนสายสามัญไปพลางก่อน

 

ระดับอาชีวศึกษา: เป็นระดับที่น่าเป็นห่วงเพราะจำนวนสถาบันลดลงมากจากการยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยของสถาบันอาชีวะต่างๆ(ทั้งของรัฐและเอกชน) จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีบัณฑิตวุฒิปริญญาตรีมากเกินไป แต่ขาดแคลนช่างฝีมือ โดยเฉพาะถ้าประเทศจะพัฒนาอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องการช่างฝีมือระดับปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยขาดแคลนช่างฝีมือที่มีคุณภาพเป็นอย่างมากในทุกวิชาชีพ (แต่กลับมีผู้จบปริญญาตรีล้นประเทศ) ดังนั้นประเทศจึงต้องการสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

ระดับประถมศึกษา: การศึกษาในระดับนี้ของเราเน้นวิชาการมากเกินไปโดยหวังจะยัดอัดความรู้ให้มากเพื่อสร้างมนุษย์ยนต์ (Automaton) ให้มากเหมือนสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น  เราควรตระหนักว่าวัยนี้เป็นวัยก่อนวัยเจริญพันธุ์ที่ใสสะอาด ที่ไวต่อการรับรู้มาก วัยนี้จึงเหมาะต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  ความรักในศิลปะ ความกล้าคิด กล้าแสดงออก เป็นที่สุด  โดยพัฒนาควบคู่ไปกับวิชาการอย่างสมดุล ส่วนจริยธรรมและวินัยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากนั้นควรสอนด้วยการสอดแทรกแบบไม่ให้รู้ตัว (เพราะหากสอนอย่างเป็นระบบจะเกิดความเครียดได้มาก) ถ้ารอจนถึงมัธยมต้นจะสายเกินไปเสียแล้ว เพราะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่สารเคมีในสมองเริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้สนใจเรื่องเพศมากจนไม่สามารถ"ยัด"เรื่องอื่นได้มากนัก สิ่งดีๆที่หยั่งรากลึกในจิตใจของเด็กในวัยนี้จะส่งผลดีต่อสังคมอีกยาวนานตลอดชีวิตของเขาเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กในวัยนี้มีการสอบไล่เพื่อจัดอันดับแข่งขันกันเหมือนที่ผ่านมา เพราะการแข่งขันกันแต่เยาว์วัยจะทำให้เด็กเครียด..ซึ่งมีผลลบต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยแก่งแย่งแข่งดีซึ่งเป็นรากของความเห็นแก่ตัวอีกด้วย  ดังจะเห็นได้ว่าคนตะวันออก (แม้แต่ญี่ปุ่น) จะขาดความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนตะวันตกเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสังคมตะวันออกได้อัดความรู้ให้เด็กประถมมากเกินไป และบรรยากาศตึงเครียดเกินไป อันเนื่องจากครูสร้างสมนิสัยดุ (วางอำนาจ) และเจ้าอารมณ์ จนเด็กไม่กล้าแสดงออกเป็นนิสัยติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนั้นครูที่สอนชั้นประถมนั้นควรคัดเอาเฉพาะคนที่ใจดีมีคุณธรรมเป็นหลัก มากกว่าครูที่เก่งด้านวิชาการ (ดังนั้นในการคัดเลือกครูจึงต้องพิถีพิถัน...ใช้เวลามาก..เช่นต้องสอบสัมภาษณ์มากกว่าการสอบความรู้ มีการทดลองงาน)

 

ความรู้คู่คุณธรรม: ประเด็นนี้มีบัญญัตติไว้ในรัฐธรรมนูญ ๔๐  (มาตรา ๘๑) และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพศ. ๒๕๔๒ แต่ไม่ปรากฏว่ามีสถาบันการศึกษาใดได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างจริงจัง ยิ่งในระดับสูงขึ้นเท่าใดการเน้นคุณธรรมก็น้อยลงเท่านั้น รัฐบาลจึงน่าจะมีมาตรการให้สถาบันการศึกษาทุกระดับมีการดำเนินการในด้านนี้ด้วย เพราะจะส่งผลต่อสันติสุขของสังคมในระยะยาวอย่างมากที่สุด

 

การดำรงชีพของครู: ในขณะนี้ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ (ตั้งแต่ระดับประถมถึงมหาวิทยาลัย) มีปัญหาเรื่องการครองชีพมากจนกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ครูอาจารย์ส่วนใหญ่มักทำอาชีพเสริมอย่างหนักหน่วง จนอาจกล่าวได้ว่าอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลักและการสอนกลายเป็นอาชีพเสริมไปแล้ว ทำให้ครูไม่มีเวลาอุทิศให้กับการสอนและการวิจัยมากเท่าที่ควร ปัญหานี้มีสาเหตุจาก 1. เงินเดือนครูน้อยเกินไป  และหรือ 2. ครูมีทัศนคติในการครองชีพในระดับสูงเกินไป รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหานี้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติได้เต็มศักยภาพ (ไม่เคยเห็นครูในสหรัฐฯทำอาชีพเสริม)

 

การศึกษาฟรี อยากเห็นการศึกษาแบบให้เปล่าในทุกระดับ เพราะการศึกษาคือการลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ (ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย) อาจเลี้ยงอาหารฟรีสองมื้อและอยู่หอพักฟรีอีกด้วยก็ได้ อุปมาดังทหารเกณฑ์ที่เกณฑ์เอามาฝึกเพื่อเป็นกำลังของชาติซึ่งได้กินอยู่ฟรีแถมมีเงินเบี้ยเลี้ยง แต่ขณะนี้ต้องคิดว่าเราเกณฑ์มันสมองของเยาวชนมาฝึกอบรมเพื่อเป็นกำลังทางสมองของชาติในระยะยาว ก็ควรให้สวัสดิการทุกอย่างเช่นทหารเกณฑ์ด้วย วิธีนี้จะทำให้คนยากจนที่มีมันสมองก็สามารถเรียนจนจบปริญญาเอกได้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป และยังจะได้ความกตัญญูต่อชาติเป็นการตอบแทนอีกด้วย การให้เสียค่าใช้จ่ายเช่นปัจจุบันนี้เป็นการตัดโอกาสประเทศชาติโดยปริยาย เพราะตัดโอกาสเด็กๆที่มีปัญญาดี แต่ยากจน ไม่ให้ได้เรียนสูงเท่าที่ควร การให้เรียนฟรีนี้จะไม่เป็นภาระกับรัฐบาลมากเท่าใดนัก (ดังที่นิยมคิดกันว่าการศึกษาเป็นค่าใช้จ่าย) เพราะผู้ปกครองที่ประหยัดค่าเล่าเรียนได้ก็จะนำเงินส่วนนั้นมาใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งทำให้คนมีงานทำมากขึ้นและรัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว โครงการนี้ไม่ถือว่าเป็นโครงการประชานิยม น่าจะถือว่าเป็นโครงการสังคมนิยมด้วยซ้ำไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมในระยะยาว

 

การกระจายคุณภาพการศึกษา การกระจายงาน การกระจายความเจริญและการกระจายรายได้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดของประเทศ แต่การกระจายเหล่านั้นจะไม่มีความยั่งยืนถ้าไม่ทำควบคู่ไปกับการกระจายคุณภาพการศึกษา ขณะนี้ระดับคุณภาพการศึกษาในชนบทแตกต่างจากในกทม.และหัวเมืองมาก(ในทุกระดับการศึกษา) ส่งผลให้ชุมชนไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เท่ากับไม่มีภูมิคุ้มกันโรคทางสังคมต่างๆที่รุมเร้าเข้ามาทุกทิศทาง ส่งผลให้ประเทศโดยรวมไม่เข้มแข็ง...ด้อยพัฒนา

 

การพัฒนาสังคมที่ไม่ทำควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาอย่างถูกต้องในทุกระดับจะเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ยังอาจจะนำไปสู่ความถดถอยในระยะยาวอีกด้วย

………………

อ่านตอนเก่า:

 

บทความ ทวิช จิตรสมบูรณ์ : 4 ประเด็นหลักที่ต้องทำเพื่อกู้ชาติ เรื่องเศรษฐกิจ (2)

เวทีพันธมิตรออนไลน์ เรื่อง 4 ประเด็นหลักที่ต้องทำเพื่อกู้ชาติ

 

*ที่มาภาพประกอบหน้าแรก www.nitessatun.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท