ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : "ปราสาทเขาพระวิหาร" กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

                                                             มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

                                          ท่าพระจันทร์  จังหวัดพระนคร

                              สยามประเทศ (ไทย)

                          

                           20 มิถุนายน 2551

 

เรื่อง      "ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง-ลัทธิชาตินิยม"

ถึง         นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกัลยาณมิตร

จาก       ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

            สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นปัญหาของการเมืองภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วยนั้น เรื่องนี้จึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้

 

 

(1)

"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติ กัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ (ไทย) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "การเมือง" และ "ลัทธิชาตินิยม" ในสกุลของ "อำมาตยาเสนาธิปไตย" ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย "สงครามเย็น" ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆ มา)

 

 

 

ภาพมุมสูง  ปราสาทเขาพระวิหารจากฝั่งประเทศไทย

 

 

 ภาพมุมสูง  ปราสาทเขาพระวิหารจากฝั่งประเทศกัมพูชา

 

 

(2)

"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา (โบราณ) เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ "ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม"

 

ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)

 

"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขา หรือ "ศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก  ("พนมดงแร็ก" ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ใน (เขต) จังหวัด "เปรียะวิเฮียร" (Preah Vihear) ของกัมพูชา

 

 

(3)

"ปราสาทเขาพระวิหาร" น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ "หนีเสือไปปะจระเข้" คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง

 

แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ "เสียกรุงศรีอยุธยา" (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ "เสียกรุงศรียโสธรปุระ" (พ.ศ. 1974)

 

ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม" ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ "สยาม" สมัย ร.ศ. 112 (พ.. 2436) ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

 

 

(4)

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง "ไกลบ้าน") จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก "ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้) จันทบุรีนั้นฝรั่งเศสคืนมาให้ก่อนเมื่อ พ.. 2447

 

เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

 

กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้

 

และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง "อภิรัฐมนตรี" ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร "ปราสาทเขาพระวิหาร" ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)

 

 

(5)

กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ "ราชาธิปไตย" ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" กลับถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ "โค่นรัฐบาลสมัคร" ในสมัยนี้) คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)

 

ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ "คณะราษฎร" ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด "กบฏบวรเดช" พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น "สงครามกลางเมือง" และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์

 

ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" ปลุกระดมวาทกรรม "การเสียดินแดน 14 ครั้ง" ให้เกิดความ "รักชาติ" ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

 

-24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"

-(แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น "ไทยๆ" ซึ่งรวมทั้ง

-พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)

 

รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง"

 

จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกำลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)

 

 

 

ตราจังหวัดพิบูลสงคราม

รูปอนุสาวรีย์ไก่กางปีก ระยะเวลาการใช้ พุทธศักราช 2482-2489

 

และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า "ลาน" ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)

 

 

 

 

ตราจังหวัดพระตะบอง
รูปพระ
ยาโคตรบองเงื้อกระบองทำท่าจะขว้าง ระยะเวลาการใช้ พุทธศักราช 2484-2489                         

 

ตราจังหวัดลานช้าง

 

รูปโขลงช้างยืนอยู่กลางลานกว้าง  ระยะเวลาการใช้ พุทธศักราช 2484-2489
             

                                                                                                                                   

หมายเหตุ หมายเลข 1 จังหวัดพระตะบอง

             หมายเลข 2 จังหวัดพิบูลสงคราม

             หมายเลข 3 จังหวัดจำปาศักดิ์

 

 

 

 

            แผนที่ดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามยึดได้มาเมื่อปี พุทธศักราช 2484 คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดนครจำปาศักดิ์ ในกรณีของจังหวัดพิบูลสงครามนั้น คือจังหวัดเสียมเรียบของกัมพูชาเดิมนั่นเอง แต่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นของไทย ในกรณีของจังหวัดจำปาศักดิ์นั้น รวมอาณาบริเวณทางตอนใต้ของเทือกพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหารและเมืองจอมกระสาน ฯลฯ

 

 

 

และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)

 

ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า "ได้ปราสาทเขาพระวิหาร" มา ดังหลักฐานในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ"

 

 

(6)

สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย "มหามิตรญี่ปุ่น" ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า "ไทย" จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ "ปรับ" และเอาคืน

 

โชคดีของสยามประเทศ (ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ "เจ๊า" กับ "เสมอตัว" ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี

 

แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า "สี่รัฐมาลัย" คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์) 

 

แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยู่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)

 

กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆ ไป

 

 

(7)

ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)

 

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท) 

 

ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี

 

ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น

 

ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ "กฎหมายปิดปาก" ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf  

 

 

 

(8)

กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"

 

ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" ถูกสร้างและ "ถูกผลิตซ้ำ" มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น "ของไทย" หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" ดังนั้น เมื่อ "ขอม" มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

 

วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น "ของไทย" แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, . ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงประชาสัมพันธ์ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" เช่น "นายหนหวย" เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย

 

 

(9)

สรุป

เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้น

ประเด็นนี้จึงกลายเป็น "ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน" จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที "5 พันธมิตรฯ" ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" มาคลุกผสมกับ " "ราชาชาตินิยม" ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลนอมินีสมัคร (ของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆฝ่ายหลายๆสถาบันที่เรามักจะมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องของตัวปราสาท และบริเวณของเขาพระวิหาร

ดังนั้น คำถามของเราในที่นี้ คือ

 

ในแง่ของการเมืองภายใน

-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่

-รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่

-พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย

-จะเกิดการนองเลือดหรือไม่

-ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่

หรือจะ "เกี้ยเซี้ย" รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงสีเหลือง กับสีแดง

 

เราทั้งหลายได้เรียนรู้ ได้รับบทเรียนอันวิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้ว

ทั้งการปฏิวัติ 2475

กบฏบวรเดช 2476

รัฐประหาร 2490

ปฏิวัติ 2500-2501

การลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516

การรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519

พฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535

และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

หรือว่าเท่านั้น ยังเป็นตัวอย่าง เป็นแบบเรียนไม่พออยู่นั่นเอง

 

ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ

เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร

จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชา

รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูต

ปิดการค้าชายแดน

กลายเป็นการเมืองภายในของกัมพูชา (ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้)

หรือ

ทั้งไทยกับกัมพูชา ตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

ตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน

บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน คนๆๆๆ หรือมนุษยชาติ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของสองสามรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้

 

คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ…

                               

 

ภาพปราสาทเขาพระวิหารแนวตัด

 

ภาพจาก: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  การเมือง  24 มิถุนายน 2551

 

www.petitiononline.com/SIAM2008  

 

 

…………………………

ที่มา

"ปราสาทเขาพระวิหาร- กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม" (www.charnvitkasetsiri.com - 20 มิถุนายน 2551)

 

 

หมายเหตุ

ประชาไทแก้ไขข้อมูลล่าสุดจากผู้เขียน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 51 เวลา 01.06น.

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท