Skip to main content
sharethis

20 มิ.ย. 51 - คณะทำงานผลักดันกฎหมายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย   มูลนิธิชีววิถี (BioThai)  เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิชีวิตไท (RRAFA) มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสายใยแผ่นดิน และชมรมฟ้าใส  ได้ทำการนำเสนอ(ร่าง)กฎหมายว่าด้วยปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมต่อสาธารณะ และเชิญชวนประชาชนร่วมกันลงรายชื่อสนับสนุนกฎหมาย ให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตามกระบวนการยื่นเสนอกฎหมายของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา163


 


ดุลย์  ชนันทวารี  ชมรมฟ้าใส เครือข่ายอาหารปลอดภัยของชาวกรุงเทพ ที่มีสมาชิกประกอบด้วย เกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ในพื้นที่เขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร และกลุ่มผู้สนใจทำงานด้านการเกษตร เชื่อว่าพืชจีเอ็มโอถ้าจัดการได้ไม่ดี จะทำให้เกิดผลเสียต่อชาติมากกว่าผลดี กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการสร้างหลักประกันของระบบกลไกการจัดการ การพิจารณาอนุญาต ตรวจสอบ ติดตาม การใช้จีเอ็มโอ  โดยเฉพาะเป็นการป้องกันมิให้ปัญหาการหลุดลอดของพืชจีเอ็มโอในแปลงเกษตรของชาวบ้านที่เคยเกิดขึ้นกับพืชอย่างน้อย 3 ชนิดได้แก่ ฝ้าย มะละกอ และข้าวโพด จะไม่เกิดซ้ำรอยอีก


 


สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคนำเสนอความสำคัญกฎหมายฉบับนี้ว่าได้เน้นถึงเรื่องการรักษาสิทธิ์ของคนเล็กคนน้อยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค เกษตรกร และชุมชน ได้แก่ การกำหนดให้มีการติดฉลากในอาหารที่เป็นจีเอ็มโอ หรือทำมาจากจีเอ็มโอ ทุกอย่างให้รู้อย่างชัดเจน ส่วนเกษตรกรก็ได้รับการคุ้มครองว่าพันธุกรรมท้องถิ่นที่ปลูกกันอยู่แล้วต้องได้รับการคุ้มครอง ผู้ทำให้จีเอ็มโอไปปนเปื้อนต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหาย และสำหรับชุมชน ภายในกฎหมายได้กำหนดให้การจะทำจีเอ็มโอใดๆ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินใจกันเองระหว่างรัฐ กับเอกชนที่ต้องการใช้จีเอ็มโอเท่านั้น แต่จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่โดยทำประชาพิจารณ์ และ ทำประชามติ ก่อนเสมอ


 


กานต์ ฤทธิ์ขจร  ผู้แทนจากสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย นำเสนอถึง ความสำคัญกฎหมายต่อภาคธุรกิจการเกษตรของประเทศ  โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่มีมูลค่าการส่งออกมากว่าปีละ 1 พันล้านบาท และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ กว่าร้อยละ 40 ที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากหากเกิดการปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอ เพราะตลาดการค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในสินค้าที่เป็นจีเอ็มโอ การเน้นหลักการปลอดภัยไว้ก่อนของกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีการใช้ได้อย่างสมกับเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังไว้ คือคณะกรรมการจะต้องมาจากภาคส่วนต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะต้องมีตัวแทนของภาคประชาชน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ด้วย


 


ณัฐวิภา อิ้วสกุล  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซสนับสนุนการผลักดันร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้ในเชิงหลักการที่ว่า กฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นมาภายใต้หลักของ "การป้องกันไว้ก่อน" ซึ่งเป็นหลักการที่กรีนพีซใช้ในการรณรงค์ เพื่อคุ้มครองเกษตรกร ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม กรีนพีซเชื่อมั่นว่า ภายใต้กรอบของกฎหมายฉบับนี้ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่มีความโปร่งใสจะเสริมความเชื่อมั่นของเราที่ว่า การทดลองสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในพื้นที่เปิดจะไม่เกิดขึ้น เพราะมีกลไกทางกฎหมายที่ชอบธรรมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบ และจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมไทยจากผลกระทบที่เกิดจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ เนื่องจากการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในพื้นที่เปิด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งแวดล้อมไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเกิดปัญหามลพิษทางพันธุกรรม และความมั่นคงทางชีวภาพ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทยคือ ไม่ให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในพื้นที่เปิดโดยผ่านกระบวนการตามกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้   


 


จักรกฤษณ์ พูลสวัสดิ์กิติกูล เลขาคณะทำงานผลักดันกฎหมายทางชีวภาพ  กล่าวถึง กิจกรรมการรณรงค์ จะมีการดำเนินการไปตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่จะถึงนี้ ในนามคณะทำงานผลักดันกฎหมายทางชีวภาพ โดยจะมีการ จัดเวทีพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนด้านต่างๆ  กิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพในมหาวิทยาลัย  และกิจกรรมการรณรงค์ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ  คือการสร้างความเข้าใจในเรื่องกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ จีเอ็มโอ และการรณรงค์ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการเสนอกฎหมายผ่านกลไก 1 หมื่นรายชื่อเสนอกฎหมาย  พร้อมทั้งได้เชิญชวน ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการเสนอกฎหมาย โดยการพกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้านติดตัวไว้เสมอ เพื่อร่วมลงรายชื่อสนับสนุนการเสนอกฎหมายได้ทุกโอกาสที่ต้องการ  โดยสามารถทำการศึกษาร่างกฎหมายอย่างละเอียด พร้อมทั้งติดตามกิจกรรมของคณะทำงานผลักดันกฎหมายทางชีวภาพ รวมถึงรับแบบฟอร์มเสนอกฎหมาย ได้ที่เวปไซด์ www.biothai.net หรือ  www.food-resources.org หรือ www.greenpeace.or.th


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net