Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางเส้นทางสับสนปั่นป่วนของการเมืองร้อนระอุ


 


พี่น้องคนไทยมีทางเลือกใดหลงเหลืออยู่บ้าง ? 


 


"แนวทาง 2 ไม่เอา" ซึ่งเป็นยอดปรารถนาในหมู่ปัญญาชนจำนวนมากนั้น สะท้อนถึงความเบื่อหน่ายการเมืองไทยที่ปล่อยให้พรรคการเมืองทั้งหลายเข้ามากอบโกยผลประโยชน์อย่างหน้าด้านหน้าทน แม้จะมีบางกลุ่มหยิบยื่นผลประโยชน์คืนกลับมาให้ประชาชน แต่ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวน้อยนิด เมื่อเทียบกับที่พวกเขาตักตวงไป จึงทำให้ "แนวทาง 2 ไม่เอา" ได้รับการตอบรับจากผู้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีข้อมูลเชิงลึกและวิสัยทัศน์ยาวไกลพอจะคำนวณถึงผลได้ผลเสียของประเทศชาติได้อย่างถูกต้องครบถ้วน


แต่ข้อเสียของ "แนวทาง 2 ไม่เอา" คือ การขาดยุทธศาสตร์เชิงรุก "ยุทธศาสตร์ 2 ไม่เอา 1 ต้องทำ" จึงเป็นการปรับปรุง "แนวทาง 2 ไม่เอา" ให้ลุ่มลึกแหลมคมยิ่งขึ้น 


      


ในสถานการณ์ตึงเครียดคุกรุ่น พร้อมปะทุเป็นสงครามกลางเมือง ทั้ง คู่ขัดแย้งหลัก และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีกมากมาย ต่างพยายามรณรงค์โน้มน้าวให้ "ฝ่ายเป็นกลาง" เข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายตน ทุกกลุ่มย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่ด้วยความสับสนของสถานการณ์จึงบีบเค้นให้ "ฝ่ายเป็นกลาง" จำนวนหนึ่ง ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางทางเลือกที่แสนจำกัด จนกลายเป็น "เบี้ยหมากไพร่พล" ไปโดยไม่รู้ตัว


      


นี่คือ ความอ่อนแอของ "แนวทาง 2 ไม่เอา" ซึ่งไม่เคยมีการนำเสนอ "ทางออก" อย่างเป็นรูปธรรม ลำพังเพียง  "นิ่งเฉย วิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่เข้าร่วม" ย่อมใช้ได้ในภาวะการณ์ปกติ แต่ในยามศึกสงครามเร่งเร้านั้น ผู้มีใจรักชาติ ย่อมไม่อาจทนเห็นบ้านเมืองโดนปัญหาคุกคามรุมเร้า จะต้องลงมือกระทำการในบางสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกอบกู้วิกฤตชาติ "พลพรรค2 ไม่เอา" ต้องจำใจเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองที่ตนเองเคยก่นประณามในภาวะปกติ ถูกดึงดูดเข้าสู่วังวนของการแบ่งขั้วขัดแย้ง "แนวทาง 2 ไม่เอาเดินมาถึงทางตันต้องเผชิญภาวะแตกสลาย แต่หากมีทางเลือกอื่นให้สมาชิก"แนวทาง 2 ไม่เอา" จึงสามารถยืนหยัดเป็นจริงได้ มีภูมิต้านทานต่อแรงฉุดกระชากในภาวะสงครามได้


      


ไม่ว่าประชาชนธรรมดาจะเข้าร่วมกับฝ่ายใดก็ตาม ย่อมเป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ เราควรปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทำสงครามกันเอง โดยลดจำนวนมวลชนทหารราบที่เข้าร่วมกับแต่ละฝ่ายให้น้อยที่สุด ปล่อยให้พวกแม่ทัพและผู้กระหายอำนาจนั้นรบรากันต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายใครแพ้ใครชนะ ประเทศจะได้รับผลทางการเมืองเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากมวลชนเข้าร่วมกับแต่ละฝ่ายน้อยลง ย่อมประหยัดต้นทุนที่ประเทศชาติและประชาชนต้องสูญเสียไปกับเกมการเมืองได้อย่างมหาศาล จนสามารถนำทรัพยากรมาพัฒนาประเทศชาติได้อเนกประการ  


      


โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้การต่อสู้ดุเดือดขึ้นทุกขณะ จนถึงขั้นมีสัญญาณและข่าวลือเรื่องการทำรัฐประหาร ยิ่งทำให้ "พลพรรค 2 ไม่เอา" เกิดความสับสนร้อนใจ จนอาจต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในท้ายที่สุด โดยหารู้ไม่ว่า บ้านเมืองไทยในช่วง 16 ปีมานี้ (นับจาก เหตุการณ์ พฤษภา 35) มีความแตกต่างจากเดิมขนานใหญ่ แต่สื่อมวลชนและคนไทยจำนวนหนึ่งยังไม่ตระหนัก จึงอาจทำให้วิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาด ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เมืองไทยได้เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นมาอีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มนายทุนก้าวหน้าและชนชั้นกลางระดับสูง ซึ่งต้องการเห็นประเทศชาติพัฒนาก้าวไกล เริ่มที่จะเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ได้ทำลายโครงสร้างการผูกขาดของชนชั้นนายทุนเก่าอย่างถึงรากฐาน จึงสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เติบโตขึ้นมาทั้งคุณภาพและปริมาณ คนกลุ่มนี้ย่อมมองเห็นแล้วว่า หากไม่เร่งปรับปรุงประเทศ บ้านเมืองของเราจะเข้าสู่ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและพบจุดจบเลวร้ายเช่นเมื่อ 10 ปีก่อน นอกจากนี้ยังมี "เครือข่ายประชาสังคม" อีกมากมาย ซึ่งเริ่มเติบโตขึ้นมาตามการพัฒนาของประเทศ และได้โอกาสก้าวกระโดดอย่างจริงจังในช่วงหลังวิกฤต 2540 อีกเช่นกัน เพราะวิกฤตครั้งนั้นได้ทำให้โครงสร้างผูกขาดของชนชั้นสูงเดิมอ่อนแอลงในทุกทิศทาง


      


แม้จะยังไม่เข้มแข็งเทียบเท่ากับ 2 กลุ่มใหญ่ที่กล่าวไปข้างต้น แต่กลุ่มการเมืองใหม่ก็มีพลังเพียงพอที่จะหยุดยั้งกดดัน หาก 2 กลุ่มใหญ่ ตัดสินใจในทางที่ส่งผลเสียต่อประเทศชาติ ยิ่งในช่วงภาวะที่ดุลอำนาจของ 2 กลุ่มใหญ่มีความทัดเทียมคู่คี่กันนี้ กลุ่มการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นย่อมสามารถเป็นตัวแปรสำคัญในผลแพ้ชนะได้ 


      


การทำรัฐประหาร ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอันใดแล้ว ยังกลับซ้ำเติมปัญหา ดังที่เห็นอย่างชัดเจนใน 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น กลุ่มก้อนการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นย่อมไม่อาจนิ่งดูดายได้ จนต้องเพิ่มแรงกดดันต่อฝ่ายที่แสวงหาชัยชนะบนวิธีการที่สร้างความเสียหายให้ชาติบ้านเมือง การทำรัฐประหารจึงยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่แน่นอนในภาวะที่สับสนเปราะบางเช่นนี้ (Chaos Period) สิ่งที่ในยามปรกติมีความเป็นไปได้ในการเกิดขึ้นไม่มากนัก อาจมีเงื่อนไขส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้ การทำรัฐประหารซึ่งแม้จะดูไร้เหตุผลที่สุด จึงอาจเป็นจริงขึ้นได้ แต่เนื่องจากประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มการเมืองใหม่ขึ้นมาถ่วงดุลกลุ่มอำนาจเก่า "รัฐประหาร" ถ้าหากสามารถทำได้สำเร็จ ย่อมไม่สามารถคงอยู่ได้ยาวนาน จะต้องถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วงจนทำให้ผู้ก่อรัฐประหารต้องพบกับความหายนะอย่างรวดเร็ว


      


ที่สำคัญ ทั้ง 2 กลุ่มรุ่นใหม่นั้น ในบางช่วงขณะดูเหมือนจะเข้าข้างกลุ่มอำนาจเก่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถึงที่สุดแล้ว 2 กลุ่มใหม่ก็มีแนวคิดเป็นของตัวเอง พร้อมจะสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าในมุมมองที่ตนเห็นด้วยเท่านั้น และหากกลุ่มอำนาจเก่าใด ลำพองตนว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองใหม่อย่างเต็มที่ จนกระทำการตามอำเภอใจ ก่อเกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ในที่สุดก็อาจพบเห็นการตีจากของกลุ่มการเมืองใหม่ไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรวดเร็ว กลายเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของกลุ่มอำนาจที่หลงลำพองนั้น และอาจถึงขั้นถูกทำลายในท้ายที่สุด 


      


เนื่องจากบ้านเมืองไทยเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้น "แนวทาง 2 ไม่เอา" จึงมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีกลุ่มการเมืองใหม่ที่กล่าวไปข้างต้น เข้ามาตรวจสอบถ่วงดุล และอาจถึงขั้นเข้าแทนที่เมื่อถึงเวลาสุกงอมเหมาะสม อย่างไรก็ตาม "แนวทาง 2 ไม่เอา" ยังมีข้อบกพร่องในเชิงปฏิบัติการ จำเป็นต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 


      


"ยุทธศาสตร์ 2 ไม่เอา 2 ต้องทำ" เสนอทางออกรูปธรรมซึ่งไปพ้นจากวังวนของการเมืองแบบเดิม โดยแทนที่ในภาวะวิกฤตบ้านเมือง ประชาชนจะถูกบีบรัดจากสถานการณ์และคำโฆษณาชวนเชื่อของ 2 กลุ่มการเมืองแบบเดิม จนต้องยอมเข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจ ประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมกับ 2 กลุ่มการเมืองรุ่นใหม่ได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนายทุนก้าวหน้าและชนชั้นกลางระดับสูง หรือกลุ่มประชาสังคมที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง


      


การละทิ้ง 2 กลุ่มการเมืองเก่า เพื่อเข้าร่วมกับ 2 กลุ่มการเมืองใหม่ ย่อมลดทอนพลังของ "2 กลุ่มการเมืองเก่า" ที่มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติเพื่อแลกกับชัยชนะของกลุ่มตน หากไม่มีพลังที่เข้มแข็งเพียงพอมาทัดทานถ่วงดุล อีกทางหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของ "2 กลุ่มการเมืองใหม่" จนสร้างพลังกดดันให้ "2 กลุ่มการเมืองเก่า" จำกัดขอบเขตการต่อสู้ที่สร้างความเสียหายให้ประชาชน แทนที่ด้วยการต่อสู้ที่สร้างประโยชน์ให้ประชาชน


      


การเข้าร่วมกับ 2 กลุ่มการเมืองใหม่นี้ ดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาทางอ้อม หรือหนีปัญหา แต่ต้องไม่ลืมว่า   "ตัวแปรทางการเมือง" ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ถ้าเป็นในอดีต ซึ่งพลังของกลุ่มการเมืองใหม่ยังอ่อนแออยู่นั้น การเข้าร่วมกับ 2 กลุ่มการเมืองใหม่ อาจเป็นเหมือนการถมทรายลงทะเล ไม่อาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือวิกฤตชาติได้ทันท่วงที มีแต่ต้องพึ่งกลุ่มการเมืองเก่าซึ่งทรงพลัง จึงสามารถช่วยเหลือชาติได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีต้นทุนจากการกอบโกยของกลุ่มการเมืองที่ชนะ แต่นั่นเป็น "ราคาที่ต้องจ่าย" หากต้องการหลุดพ้นจากวิกฤต อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกลุ่มการเมืองใหม่ได้เติบใหญ่ขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จนสามารถสร้างผลสะเทือนต่อการเมืองระดับชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การเคลื่อนย้ายของประชาชนเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองใหม่จะเสริมส่งพลังด้านบวกต่อการแก้ปัญหาวิกฤตชาติอย่างมีนัยสำคัญ โดยผ่านการกดดันกลุ่มการเมืองเก่าให้ต้องทำในสิ่งที่ประชาชนปรารถนามากขึ้น


      


ในเงื่อนไขที่เหมาะสม "ทางอ้อม" ดูจะทรงพลังและมีประโยชน์มากกว่า "ทางตรง


      


นอกจากทางออกที่ 1 ซึ่งเสนอให้เข้าร่วมกับ "2 กลุ่มการเมืองใหม่" เพื่อช่วยถ่วงดุลกดดัน "2 กลุ่มการเมืองเก่า" ให้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ประชาชนมากขึ้น ลดทอนการทำลายล้างประเทศชาติ โดยคำนึงถึงแต่ชัยชนะไม่คำนึงถึงความเสียหายอีกต่อไป เรายังต้องเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศชาติด้วย ทางออกที่ อันเป็นทางเลือกสำหรับยุคที่การเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศชาติได้เหมือนเดิมอีกต่อไป


      


ทางออกที่ 2 เสนอให้ใช้ทรัพยากรและความถนัดที่แตกต่างกันของแต่ละคนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยก่อเกิด "คุณค่า" ต่อชาติสูงสุด ประชาชนแต่ละคนจึงควรริเริ่มสร้างคุณค่าให้สังคมตามความถนัดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ซึ่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น การสร้างกลุ่มช่วยเหลือทางสังคมเพื่อพัฒนายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทย โดยไม่ต้องรอความเมตตาจากนักการเมือง หรือแม้แต่การร่วมสร้างการเมืองประชาสังคมซึ่งไม่จำเป็นต้องอิงกับระบบพรรคการเมืองซึ่งแทบไม่เคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนเลย จนกระทั่งถึงการพัฒนา "ศิลปะ" ที่สวยสดงดงาม เพื่อกล่อมเกลายกระดับจิตใจผู้คนให้เปี่ยมล้นด้วยความรัก ซึ่งถ้าสามารถแพร่ขยายเป็นวงกว้าง ย่อมสามารถแผ่เงาร่มเย็นให้สังคมได้ไม่สิ้นสุด 


      


ทางออกที่ 2 ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนได้กระทำอยู่แล้วตามปรกติ แต่ในความเป็นจริง ผู้คนส่วนใหญ่มีความโน้มเอียงเชื่อว่า "คุณค่าผลงาน" ของตนเองนั้นเล็กน้อยเกินไป ไม่สามารถส่งผลต่อสังคมวงกว้างได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงเกิดความท้อแท้ในจิตใจจนไม่สามารถทุ่มเททำในสิ่งที่ตนรักและถนัดได้อย่างเต็มที่ ผลงานที่ได้จึงขาดคุณภาพตามที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงของโลกได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนหลายสิ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันต่างส่งผลกระทบลึกซึ้งถึงกันได้ ดังนั้น การสร้างผลงานคุณค่าของปัจเจกชน หากสามารถรังสรรค์อย่างมีคุณภาพย่อมส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมได้


      


ที่สำคัญ การทำงานตามความถนัดของแต่ละคน จะต้องกระทำอย่างมียุทธศาสตร์ จึงจะสามารถสร้างผลสะเทือนยาวไกลต่อการพัฒนาชาติได้ โดยอาจเริ่มต้นศึกษาหาแนวทางยุทธศาสตร์ได้จากหนังสือ Blueprint to A Billion (แต่งโดย DAVID G. THOMSON) ซึ่งได้นำเสนอแก่นแกนสำคัญ 7 ข้อ ในการสร้าง "ธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดด" ซึ่งเป็นหลักการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ตามแต่การสร้างสรรค์ของปัจเจกชนแต่ละคน ทั้งในเชิงทางการเมือง สังคม และทุกเรื่องของชีวิต หากปฏิบัติการอย่างมียุทธศาสตร์ ทางออกที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นจากความถนัดของปัจเจกชนแต่ละคน ตามพรสวรรค์ที่ติดตัวมา ย่อมสามารถสร้างคุณค่าให้ประเทศไทยได้ไม่น้อยกว่าทางออกที่ 1 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในระดับที่ใหญ่กว่า ยิ่งถ้าสามารถผสมทางเลือกที่ 1 และ 2 เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม ย่อมประสานสะเทือนยิ่งใหญ่ต่อการยกระดับประเทศไทยสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่อดีตกาล 


      


"ยุทธศาสตร์ 2 ไม่เอา 2 ต้องทำ" จึงเป็นการเสนอทางเลือกหนึ่งให้ผู้คนในสังคม ซึ่งยังสับสนและมองไม่เห็นทางออกต่อวิกฤตการเมืองไทย ได้เข้าใจภาพรวมเชิงยุทธศาสตร์และเกิดความมั่นใจในการทุ่มเทพลังกายพลังใจในการปฏิบัติภารกิจ "ทางออก 2 ประการ" ที่ได้นำเสนอไป เพื่อสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้สังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงตกเป็นเบี้ยหมากของคนอื่นเหมือนที่เคยเป็นมา 
 


…….


ที่มา:


 


จดหมายข่าว Practical Utopia ฉบับที่ 2 ประจำเดือน มิถุนายน 2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net