Skip to main content
sharethis


 


วันที่ 19 มิ.ย. 2551 กลุ่ม Shan Women"s Action Network (SWAN) ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) , กลุ่ม Community Development for Civil Empowerment (CDCE) กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยถนนคนเดิน และภาคประชาสังคมอื่น ๆ ได้จัดให้มีงาน "Vote No to One More Day! : 63 ปี อองซานซูจี"ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


โดยในงานก็มีซุ้มสินค้าชุมชนและนิทรรศการรูปถ่ายจาก ธีรภาพ โลหิตกุล และจิระนันท์ พิตรปรีชา  มีการเสวนาเรื่องอองซานซูจีและสถานการณ์ในพม่า รวมถึงมีการแสดง ดนตรี บทกวี จากศิลปิน


 


ในการเสวนาเรื่อง "อองซานซูจีและสถานการณ์ในประเทศพม่า" จ๋าม ตอง จากกลุ่ม Shan Women"s Action Network (SWAN) บอกว่าแม้จะเป็นวันเกิดครบรอบ 63 ปี ของอองซานซูจี แต่นางอองซานซูจีก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบริเวณ รัฐบาลทหารพม่าก็บอกจะกักตัวนางอองซานซูจีเพิ่มอีกหนึ่งปี เพราะรัฐบาลทหารพม่ารู้สึกกลัวหากจะปล่อยตัวอองซานซูจีออกมา


 


จ๋าม ตอง ยังได้บอกอีกว่า ในช่วงที่มีการปราบปรามการประท้วงในช่วงที่ผ่านมามีนักเคลื่อนไหวสตรีถูกจับเป็นจำนวนมาก บางส่วนก็หลบหนีอยู่ มีอยู่คนหนึ่งต้องพลัดพรากกับลูกถึง 10 เดือน ซึ่งลูกเขาก็ยังเป็นทารกอยู่ ในเรื่องผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กิส รัฐบาลก็ตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับต่างประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือ มีการก่อกวนการให้ความช่วยเหลือเหล่านั้นโดยเฉพาะในรัฐฉาน


 


ด้าน ออง ซอ จากนิตยสารอิระวดี ได้มาพูดเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์พายุนาร์กิส โดยบอกว่าแม้สถานการณ์ยังวิกฤติอยู่ แต่ผู้นำก็ยังคงพยายามผลักความกดดันทั้งหมดออกไป รัฐบาลพม่ายังใช้วิธีการเดิม ๆ ในการเอาตัวรอด แม้จะมีการยอมให้นายกรัฐมนตรีของไทยมาเยี่ยม มีเลขาธิการสหประชาชาติมาเข้าพบ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เหมือนเป็นกลยุทธเพื่อผลักภาวะกดดันออกไปจากตัวเอง


 


"พอพวกเขาจัดประชุมเรื่องการให้ความช่วยเหลือ พวกเขาก็บอกกับประชาชนที่ประสบภัยแถบลุ่มแม่น้ำอิระวดีว่าให้กินกบกินปลาไป" ออง ซอ บอกในวงเสวนา


 


ออง ซอ ยังได้บอกอีกว่า  มีองค์กรท้องถิ่นและองค์กรที่เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่คอยกดดันรัฐบาล มีผู้เคลื่อนไหวถูกจับไปแล้ว 12 แม้ในวันนี้ก็ยังได้ข้อมูลว่ามีการจับกุมผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือเก็บศพ ผู้สื่อข่าวก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ รัฐบาลเองก็กดดันคนที่เข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น


 


"ตอนนี้ ตาน ฉ่วย ก็ถือว่ารอดพ้นจากนาร์กิสแล้ว เพราะข่าวทั่วโลกก็เริ่มพูดถึงน้อยลง ความช่วยเหลือจากประชาคมโลกก็น้อยลง"


 


อย่างไรก็ตาม ออง ซอ ก็บอกว่าอย่าเพิ่งท้อแท้หมดหวังเรื่องพายุ เพราะยังไงก็ยังมีเรื่องดี ๆ คือการคนในและคนนอกมีการประสานความร่วมมือเรื่องการช่วยเหลือมากขึ้น รวมถึงมีกลุ่มพระสงฆ์ที่คอยประสานการช่วยเหลือให้ประชาชน


 


"องค์กรต่าง ๆ ที่พยายามเข้ามาให้ความช่วยเหลือบอกว่า ถ้าจะหวังพึ่ง ยูเอ็น หรือ อาเซียน ก็เลิกคิดเสีย ให้ใช้สองมือช่วยเหลือตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองโดดเดี่ยว มีสองมือพร้อมช่วยเหลืออยู่เสมอ" ออง ซอ กล่าว


 


ในส่วนของ อ่อง โม ซอว์ จาก Democratic Party for a New Society (DPNS) ก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่อง "รัฐธรรมนูญและการลงประชามติในพม่า" โดยเขาเริ่มพูดถึงการตัดสินใจกักตัวอองซานซูจีต่อไปของรัฐบาลว่า รัฐบาลกลัวความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่ออองซานซูจี และในช่วงนี้ประชาชนกำลังประสบกับวิกฤติจึงต้องการขวัญกำลังใจ หากอองซานซูจีถูกปล่อยประชาชนก็จะมีกำลังใจ แต่รัฐบาลกักตัวเธอไว้เพราะต้องการดึงตัวเธอให้ห่างจากประชาชน


 


"ไม่เพียงแค่อองซานซูจีเท่านั้นที่เป็นอันตรายสำหรับรัฐบาล บุคคลสาธารณะใด ๆ ก็ตามที่มีท่ากระตือรือร้น ช่วยเหลือผู้คน ก็จะโดนจับ" อ๋อง โม ซอว์ บอก


 


อ๋อง โม ซอว์ เล่าต่อว่า หลังจากที่เกิดวิกฤติพายุนาร์กีส ประชาชนเรียกร้องให้เลื่อนการลงประชามติออกไป แต่รัฐบาลยืนยันจะทำต่อต่อ ทั้งๆ ที่ดูไม่สมเหตุสมผล พร้อมทั้งแสดงความเห็นประณามรัฐบาลในการทำเช่นนี้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีพายุนาร์กิส การทำประชามติก็ดูไม่ใสสะอาดอยู่แล้ว รัฐบาลปฏิเสธปฏิเสธการสังเกตการณ์เลือกตั้งของต่างชาติ การคอยจับตาควบคุมของรัฐทำให้การลงประชามติไม่มีความเป็นส่วนตัวของผู้ลงคะแนนเลย


 


นายอ๋อง โม ซอว์ ยังแสดงท่าทีไว้อีกว่า "ความไม่ชอบมาพากลของการลงประชามติในครั้งนี้ เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ อยากเรียกร้องให้ประชาคมโลกไม่ยอมรับการลงประชามติในครั้งนี้"


 


จากนั้น มนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า (TERRA) ก็มาพูดถึงเรื่อง "เขื่อนสาละวินและการลงทุนของไทยในพม่า" โดยเริ่มกล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยร่วมลงทุนกับรัฐบาลพม่า แม้จะต้องการพลังงานแต่ก็ยอมปิดหูปิดตาตัวเองไม่ให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นในพม่า เช่น ท่อแก๊ส พม่า-ไทย ที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในพม่า มีจำนวนหนึ่งต้องเป็นผู้อพยพเข้ามาในฝั่งไทย แต่ก็ยังถูกรัฐไทยรังแก


 


"จริง ๆ เรื่องนี้เป็นมากับรัฐบาลหลายสมัย ไม่ว่าจะตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ สมัยคุณสุรยุทธ มาจนถึงสมัยรัฐบาลสมัครที่เพิ่งจะไปเยี่ยมรัฐบาลพม่ามา กลับมาก็มาชมให้ฟังว่าผู้นำพม่าเคร่งครัดในศาสนาพุทธ แล้วก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านน้ำและพลังงาน"


 


มนตรี ยังให้บอกอีกว่า โครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่จะทำให้มีน้ำท่วมมาในฝั่งไทยน้อยกว่า แต่จะท่วมเข้าไปมากในฝั่งพม่า แต่ทาง Egat มักจะให้ข้อมูลในเชิงว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์ ไม่มีอะไรต้องเสีย ในกรณีของเขื่อนเวจีก็บอกว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาการศึกษาด้านสาธารณสุขและจะทำให้ชาวพม่าไม่อพยพเข้ามาในไทย


 


"ในฐานะที่ผมเป็็หกดนองค์กรทำงานในไทย มันเป็นเรื่องที่ใช่แค่โครงการเขื่อน แต่เป็นเรื่องการเรียกร้องทางจริยธรรมทางสังคมไทยให้กลับมา" ตัวแทนจากโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่าทิ้งท้าย


 


จากนั้นในงานก็มีการฉายวีดิทัศน์เรื่อง "เขื่อนสาละวิน และอวสานของชาวยินทาไล" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ชาวพื้นเมืองยินทาไลซึ่งเป็นชนกลุ่มย่อยของรัฐกะเหรี่ยงแดงในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศพม่า มีการแสดงให้เห็นภาพวัฒนธรรมการดำรงชีวิตกับธรรมชาติของชนกลุ่มนี้ การที่พวกเขาอาศัยอยู่ข้างแม่น้ำสาละวิน ทำให้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อน ชาวนาชาวกะเหรี่ยงแดงให้สัมภาษณ์ในภาพยนตร์ว่าเขื่อนโมเบียทำให้เขาต้องหนีจากน้ำท่วมขณะเดียวกันก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้


 


ขณะที่เขื่อนอื่น ๆ เช่นเขื่อนทาซางก็ก่อให้เกิดการขัดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ ทำให้สูญเสียความหลากหลายของพันธุ์ปลา คุณภาพน้ำลดลง ส่วนเขื่อนเวจีที่วางแผนไว้ว่าจะสร้าง ก็จะทำให้เกิดอ่านเก็บน้ำขนาด 640 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสามารถจมถิ่นฐานของชาวยินทาไลเอาไว้ใต้น้ำได้หมด


 


จากนั้นในงานจึงได้มีการแสดงของศิลปินต่าง โดยมีการแสดงดนตรีจาก สุวิชานนท์ รัตนภิมล , อัคนี มูลเมฆ , ชิ สุวิชาน และวงสลำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งมีส่วนในการเปิดหมวกเพื่อนำเงินสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุนาร์กิสด้วย นอกจากนี้ยังมีการร่ายบทกวีของ แสงดาว ศรัทธามั่น การแสดง performance art ของ จักรกริช ฉิมนอกและของอาจารย์ผดุงศักดิ์ คชสำโรง จากคณะวิจิตรศิลป์ มช.


 



 


 


แถลงการณ์เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 63 ปีของนางอองซานซูจี


 


19 มิถุนายน 2551


 


VOTE NO TO ONE MORE DAY!


 


ในวันที่ 19 มิถุนายน 2551 นี้ พวกเราจะได้ร่วมกันฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 63 ปีให้กับนางอองซานซูจี ซึ่งสำหรับเธอแล้ววันนี้เป็นเพียงวันเกิดวันหนึ่งในรอบ 13 ปีที่เธอได้ถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านของเธอในย่างกุ้ง ทั้งนี้ในวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าไม่เพียงแต่จะแยกเธอออกจากผู้สนับสนุนและประชาชนของเธอเท่านั้น แต่ยังประกาศอีกด้วยว่าจะเฆี่ยนตีนางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย


 


ตั้งแต่ 2533 เป็นต้นมาที่พรรค NLD ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นางอองซานซูจีไม่ได้ลังเลในความมุ่งมั่นของเธอที่มีต่อประชาชนชาวพม่าเลย ถึงแม้ว่าจะมีเพียงแค่ห้าปีเท่านั้นที่เธอได้รับอิสรภาพในการออกจากบ้านของเธอแต่นั่นก็ไม่ใช่การได้รับอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งในปี 2541 ในขณะที่เธอพยายามออกจากย่างกุ้ง รถของเธอได้ถูกขัดขวางและไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางต่อไปได้ และในปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอได้เดินทางไปเยี่ยมประชาชนในรัฐต่างๆ ในประเทศพม่า ในทุกพื้นที่ที่ไปเธอได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากประชาชนนับแสนคน อย่างไรก็ตามการได้รับการสนับสนุนอันมากมายจากประชาชนนั้นทำให้รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถยอมรับได้ ในคืนหนึ่งขบวนของเธอได้ถูกโจมตีและผู้สนับสนุนเธอหลายคนก็ถูกทำร้าย ซึ่งในที่สุดนางอองซานซูจีก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่ง และตั้งแต่นั้นมาเธอก็ถูกควบคุมบริเวณไว้ในบ้านของเธออย่างเดียวดายที่ย่างกุ้งตลอดมา


 


ตามกฎหมายของประเทศพม่าได้บัญญัติไว้ว่าไม่ให้มีการถูกคุมขังโดยไม่มีการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมเกินกว่าห้าปี ซึ่งก็เป็นเวลาที่ยาวนานผิดปกติเกินกว่ามาตรฐานใดๆ อยู่แล้ว (ในประเทศไทยไม่สามารถควบคุมตัวโดยไม่มีการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมเกินกว่า 84 วัน) แต่ก็ยังไม่ยาวนานพอสำหรับรัฐบาลทหารพม่าผู้ที่เชื่อว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมาย และในวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ประกาศการขยายเวลาการควบคุมตัวนางอองซานซูจีต่อไปอีก ซึ่งเป็นการประกาศเพียงสองวันหลังจากที่เลขาธิการยูเอ็นและองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศได้กล่าวยกย่องเหล่านายพลพม่าที่ได้ยินยอมรับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กิส


 


พายุไซโคลนนาร์กีสที่พัดเข้าถล่มบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี รวมถึงเมืองย่างกุ้งในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้เสียชีวิต 78,000 คน และผู้สูญหายอีกจำนวน 56,000 คน ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดว่าจะมีผู้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีสครั้งนี้ประมาณ 2,400,000 คน และมีมากกว่า 1,000,000 คน ที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือ และที่ผ่านมารัฐบาลทหารก็ได้แสดงให้เห็นแล้วถึงความไม่รับผิดชอบต่อการปกป้องประชาชนต่อภัยธรรมชาติในครั้งนี้


 


เรือบรรทุกอาหารที่จอดเทียบท่าจำนวนหลายลำต้องเดินทางกลับเพียงเพราะว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ชอบสัญชาติของผู้บริจาคเหล่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดของพวกเขาก็คือการเร่งทำประชามติให้เสร็จในวันที่ 10 พฤษภาคม ตามเวลาที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้มีการเลื่อนการลงประชามติออกไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนอย่างรุนแรงที่ยังมีศพผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้รับการเก็บกู้หรือไม่สามารถตรวจสอบได้เป็นระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น


 


หลังจากที่การลงประชามติเสร็จสิ้นแล้วรัฐบาลทหารจึงได้ประกาศที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งนั่นก็เป็นเวลาหลังจากที่พายุไซโคลนนาร์กีสพัดเข้าถล่มพม่าได้ถึงสามอาทิตย์แล้ว แม้กระทั่งปัจจุบันองค์กรและผู้ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบมากมายและกระบวนการต่างๆ ก็ล่าช้ายาวนานมาก ASEAN เองก็พยายามที่จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการที่รัฐบาลทหารพม่าให้ความไว้ใจมากกว่าก็เพราะอยากจะเก็บรักษาความลับอันสกปรกไว้กับครอบครัวคนใกล้ชิดอย่าง ASEAN เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กระบวนการก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า กว่าทีมที่เรียกกันว่าทีมประเมินความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจะได้เดินทางถึงพื้นที่ก็หลังจากเกิดภัยพิบัติแล้วกว่าหกสัปดาห์


 


และในช่วงเวลาของความทุกข์ยากลำบากที่เกิดจากภัยพิบัติอันใหญ่หลวงนี้ พวกเราต้องการอย่างยิ่งที่จะได้ยินเสียงและต้องการที่จะประกันความปลอดให้กับบุคคลที่เราเชื่อมั่น และเพื่อที่จะเยียวยาบรรเทาความทุกข์จากความสูญเสียครั้งใหญ่นี้ ชาวพม่าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้ยินเสียงและได้เห็นผู้นำของเขา... อองซานซูจี


 


Vote NO to One more day


of Daw Aung San Suu Kyi"s detention


 


Vote NO to One more day


of the people of Burma being deprived of their leader in these times of great trouble


 


Vote NO to One more day


of the regime"s criminal negligence


 


ร่วมแถลงการณ์โดย บุคคล กลุ่ม องค์กร ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา นักวิชาการ แรงงานอพยพจากหลายชาติพันธุ์และหลายประเทศ


 


 


 



 



 



 



 



  


บรรยากาศในงาน และนิทรรศการ


 



 


เสวนา "อองซานซูจีและสถานการณ์ในประเทศพม่า"


 



 



 


งานแสดงดนตรีจากสุวิชานนท์ และวงสลำ


 



 


งานแสดง Performance Art ของ อ. ผดุงศักดิ์ คชสำโรง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net