Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม: อารยะขัดขืนของนักปรัชญา Vs อารยะขัดขืนของพันธมิตร: ตอนที่ 2 "อารยะขัดขืน" ของพันธมิตรฯ


 


อุเชนทร์ เชียงเสน


 


ในตอนที่ 1 ผู้เขียนได้พยายามนำเสนอแนวความคิด "อารยะขัดขืน" ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผ่านหนังสือ อารยะขัดขืน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2549) ซึ่งนอกจากบทความแปล 3 ชิ้นในตอนท้ายเล่มแล้ว "อารยะขัดขืน" เคยตีพิมพ์เป็นบทความใน รัฐศาสตร์ ฉบับปลายปี 2546 ก่อนที่จะทำการพิจารณา "อารยะขัดขืน" ของพันธมิตร (ต่อไปจะเรียกว่า "ฉบับพันธมิตร") ต่อไป ผู้เขียนใคร่ขอชี้แจง ทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การนำเสนอแนวความคิดเรื่อง "อารยะขัดขืน" ในตอนที่ 1 มิได้มีเจตนานำเสนอว่า อารยะขัดขืนที่ "แท้จริง" คือ อะไร หากแต่ต้องการนำเสนอถึง "ต้นน้ำ" ของแนวคิดและปฏิบัติการอารยะขัดขืน ผ่าน อารยะขัดขืน ของชัยวัฒน์ ซึ่งในการพิจารณาคุณูปการของอารยะขัดนั้นชัยวัฒน์ก็กระทำแบบเดียวกัน คือ พิเคราะห์จากงานเขียนทางปรัชญาอารยะขัดขืนคลาสสิก 3 ชิ้นดังกล่าว (ในเวทีปราศรัยของพันธมิตรฯ คุณสุริยะใส กตะศิลา ก็ได้เอื้อนเอ๋ยถึงชัยวัฒน์และ อารยะขัดขืน ของเขาเช่นเดียวกัน)


 


 


ปัญหาข้อโต้เถียงในการศึกษาพันธมิตร


 


ในการเสนอบทความในตอนที่ 2 นี้ เพื่อทำการสรุป ประเมินการเคลื่อนไหวและแนวคิดอารยะขัดขืนฉบับพันธมิตรฯ นั้น ปัญหาที่สำคัญที่ต้องเผชิญ [ไม่เพียงเฉพาะผู้ในบทความนี้ แต่สำหรับการศึกษาการเคลื่อนไหวของพันธมิตรทั้งหมด] คือ ปัญหาที่ว่า พันธมิตรคือใครบ้าง ซึ่งปัญหานี้ต่อเนื่องไปยังรายละเอียดที่สำคัญในการพิจารณาว่า การกระทำอะไร ของใคร ณ ที่ใด เวลาใด ถือว่าเป็นหรือไม่เป็นการกระทำของพันธมิตรฯ ซึ่งการตอบเขาถามเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วดูเหมือนไม่ยากนัก หากแต่เมื่อเผชิญกับการแก้ตัวแบบเอาสีข้างถู ที่แม้แต่การพิจารณาเฉพาะจากแถลงการณ์ที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียวอย่างที่คุณพิภพ ธงไชย 1 ใน 5 เสือพันธมิตรฯ เสนอไว้ในบทสัมภาษณ์ "ชายขอบความโกลาหล" (แทบลอยด์, ไทยโพสต์, no. 450 ประจำวันที่ 8-14 มิถุนายน 2551) ว่า "คุณต้องดูคำแถลงมากกว่า คำแถลงก็คือการเห็นร่วม แต่การพูดโดยส่วนตัวก็เป็นความเห็นส่วนตัว" ก็ล้วนแล้วแต่มีปัญหาข้อโต้แย้งไม่มีที่สิ้นสุด


 


ตัวอย่างของปัญหาที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวรอบแรก คือกรณี แถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 2/2549 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ในข้อ 3 ที่มีนัยของการเรียกร้องมาตรา 7 "นายกพระราชทาน" (ก่อนแถลงการณ์ ฉบับที่ 6/2549 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2549 ที่เรียกร้องมาตรา 7 อย่างตรงตัว นับเดือน) เมื่อถูกวิจารณ์นักกิจกรรมรุ่นใหม่ แกนนำพันธมิตรจาก "ภาคประชาชน" คนเดียวกัน ก็ได้อธิบายอย่างน่าสนใจในเวทีการสัมมนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 12 มีนาคม 2549 ว่า ข้อความดังกล่าว ถูกเขียน สอดไส้ โดยคนใกล้ชิดของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล โดยที่พวกตน ไม่รู้เรื่องมาก่อน รวมทั้งการพยายามที่จะปฏิเสธว่า การเคลื่อนไหวทางความคิดในเรื่องดังกล่าวผ่านสื่อในเครือผู้จัดการนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับใดๆ กับพันธมิตรฯ


 


ผู้เขียนเห็นว่า ไม่เพียงเฉพาะการทำการศึกษา ทำความเข้าใจ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ เท่านั้น แต่ไม่ว่าขบวนการใดๆ ก็ตาม การจำกัดหรือเน้นให้ความสนใจไปที่คำแถลงที่เป็นทางการเป็นหลักหรือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ไม่สนใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการที่เป็นจริงในเวลาเดียวกันด้วยนั้น ล้วนเป็นการมืดบอด เพราะแถลงการณ์ คำประกาศที่เป็นทางการ มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงของมันเอง และกรณีพันธมิตรฯ การแนะนำด้วยเจตนาดีของคุณพิภพเพื่อให้เราเข้าใจความเป็นพันธมิตรที่ "แท้จริง" อย่างที่ปรากฎในคำสัมภาษณ์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้แสดงเจตนาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการ "จำกัดขอบเขต" ปัญหาหรือจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวของตนอย่างไม่ต้องสงสัย


 


ดังนั้น การทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จำเป็นต้องเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ทั้งหมด ทั้งในส่วนของแกนนำ ผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ รวมทั้ง ผู้สนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เข้าด้วยกันในการวิเคราะห์ อย่างที่พันธมิตรฯ เอง ประกาศย้ำบนเวทีการชุมนุมเสมอว่า "พันธมิตร ไม่ใช่ 5 แกนนำ แต่คือ ทุกคน [ที่เข้าร่วม]" โดยกระบวนการที่สำคัญในการเชื่อมโยงทั้งหมดนี้ไว้ด้วยกันนั้น สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ผ่าน "กระบวนการสร้างกรอบโครง (framing alignment process) ซึ่งเป็นการเชื่อมประสานปัจเจกเข้ากับองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคม โดยผู้จัดการหรือแกนนำในการเคลื่อนไหว (movement entrepreneurs ) นั้นจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างกรอบโครง ทั้งนี้ กรอบโครง นอกจากจะเป็นสิ่งที่ขบวนการสร้างขึ้นมาเองและเป็นที่ยอมรับรับร่วมกันของผู้เข้าร่วมแล้ว ยังเป็นตัวกำหนดการกระทำ การเคลื่อนไหวต่างๆ ของขบวนการเองด้วย


 


[สำหรับเรื่อง "กระบวนการสร้างกรอบโครง" ในการเคลื่อนไหวนั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะนำเสนอในโอกาสอื่นต่อไป สำหรับผู้ที่ที่สนใจ สามารถพิจารณาได้จากงานชิ้นสำคัญที่ไม่ยาวนัก แต่ให้รายละเอียดข้อถกเถียงที่สำคัญ ได้แก่ David A. Snow., et al. "Framing Alignment Processes, Micromoilization, and Movement Participation." American Sociological Review, Vol.51 (August, 1988), pp.464-81. และ Sidney Tarrow, "Framing Contention" in Power in Movement: Social Movements and Contentious Politics (Cambridge: Cambridge University Press, 1998), pp. 106-122]


 


 


การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบสอง


 


การเคลื่อนไหวเพื่อ "กู้ชาติ" ของพันธมิตรฯ ในรอบแรกจบลงด้วยการรัฐประหารโดย "ทหารของพระราชา" ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งแม้พวกเขาพันธมิตรฯจะปฏิเสธว่า มิใช่เป็น "ผลงาน" ของตน และโยนความผิดให้กับ "ระบอบทักษิณ" ก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่พอมีสติสัมปชัญญะและไม่มีความบกพร่องในการใช้เหตุผล ย่อมรู้ดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลมีปัญหา เช่น มีการทุจริตคอรัปชั่น กับการรัฐประหาร นั้นมิใช่เป็นความสัมพันธ์แบบเหตุ-ผล กล่าวคือ เกิดเหตุการณ์อย่างแรกแล้วจะต้องเกิดเหตุการณ์อย่างที่สอง แต่การรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้ นอกจากมีคนต้องการที่จะทำการล้มล้างรัฐบาลอย่างที่ผู้นำคณะรัฐประหารให้สัมภาษณ์ว่าได้มีมา 7 เดือนแล้ว ต้องมีการสร้างเงื่อนไข/ข้ออ้างหรือสร้างอุดมการณ์เพื่อรองรับกับการรัฐประหารด้วย ซึ่งแน่นอนบทบาทนี้รวมศูนย์อยู่ที่พันธมิตรฯ และเครือข่าย ทั้งหมดนี้ เป็นการกระทำอย่างมีสำนึกและเต็มใจ นี่ไม่นับรวมการเรียกร้องอย่างตรงๆ ให้ทหารออกมาปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ"


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจเมื่อผู้นำพันธมิตรฯและเครือข่ายแสดงออกซึ่งความปิติยินดีอย่างเปิดเผยหลังการรัฐประหาร แต่ก็มีบางคนที่กลัวเสียภาพพจน์ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงปกปิดและซ่อนมันไว้ในความรู้สึก "โล่งอก" โดยบทบาทที่สำคัญหรือเป็นหัวใจหลักของพันธมิตรฯ (ไม่ว่าจะในนามของสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) หรืออื่นใด) หลังรัฐประหารก็คือ ปกป้องสิ่งที่ตนเอง "สร้างมากับมือ" ทั้งคอยเสนอแนะ แนะนำ ให้คำปรึกษา สนับสนุนการดำเนินการของฝ่ายรัฐบาลประหารและกลไกที่ถูกก่อตั้งขึ้น ขณะเดียวกันก็คอยประณาม โจมตี ทำลายความชอบธรรมคนที่ออกมาคัดค้านไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ขณะที่บางสิ่งที่ตนเคยเห็นว่าเป็นปัญหาในสมัยรัฐบาลทักษิณ สิ่งเดียวกันนี้เมื่อเกิดขึ้นในรัฐบาลคณะรัฐประหารก็กลับไม่รู้สึกว่ามีปัญหาแต่อย่างใด


 


ดังนั้น การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในรอบสองนี้แยกไม่ออก/เป็นความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวรอบแรก คือ กำจัด "ระบอบทักษิณ" ให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวีธีการใดก็ตาม หรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นคือ ปกป้อง/สืบทอกมรดกจากการรัฐประหาร สิ่งที่ตนเอง "สร้างมากับมือ" หรืออย่างที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2551 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ในการรื้อฟื้นพันธมิตรฯ ว่า ปัญหาต่างๆ ที่ตนนิยามหรือตั้งขึ้นนั้น " ยังไม่สามารถได้รับการแก้ไขให้เสร็จสิ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร" ถ้าคิดตามตรรกะนี้ จะเข้าใจใด้ว่าเหตุใดคำประกาศของ สปป.เรื่อง "เหตุผลสำคัญในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550" ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2550 ให้รับร่างรัฐธรรมฉบับคมช.ไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขในภายหลัง ว่า "จากนี้ สปป.จะรณรงค์ผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างเร่งด่วน เช่น มาตรา 111 ที่มาของ สว. มาตรา 93 ระบบเลือกตั้ง สส. มาตรา 229 242 246 และ 252 ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ มาตรา 309 การนิรโทษกรรม คมช.เป็นต้น" จึงไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าลมที่ออกจากปาก


 


โดยเป้าหมายในการรื้อฟื้นพันธมิตรฯ ที่ถูกประกาศครั้งแรกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551คือ "เพื่อพร้อมดำเนินการต่อสู้กับพฤติการณ์ของรัฐบาลนายสมัครที่จะทำงานรับใช้ระบอบทักษิณในทุกรูปแบบ" ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านี้คือ การกระทำต่างๆ เพื่อ "ฟอกตัวทักษิณ" รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ด้วย โดยกิจกรรมที่สำคัญ คือ การจัด "ยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งแรก ในวันที่ 28 มีนาคม 2551 และครั้งที่ 2 วันที่ 25 เมษายน 2551


 


ยุทธวิธีหนึ่งในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ การเรียกร้องให้มีการทำประชามติ โดยพันธมิตรฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6/2551 ในวันที่ 9 เมษายน 2551 ว่า "หากจะมีการแก้ไขจะต้องมีความชอบธรรมด้วยการสอบถามจากประชาชนเจ้าของประเทศทั้งหมดโดยให้มีการลงประชามติก่อน" เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ผ่านการประชามติของประชาชน ไม่อย่างนั้นจะถือว่า เป็น "การรัฐประหารเงียบและทำลายกลไกของรัฐสภา" ข้อเรียกร้องเรื่องประชามติได้ถูกเน้นย้ำอีกหลายครั้ง เช่น คำประกาศ วันที่ 19 เมษายน 2551 เรื่อง "เดินหน้าต้านระบอบทักษิณ และการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง" โดยระบุว่า "ที่ประชุม... [พันธมิตรและเครือข่าย] มีมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้กับตนเอง แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดให้มีการลงประชามติสอบถามความเห็นของประชาชนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่" และ แถลงการณ์ ฉบับที่ 7/2551 วันที่ 22 เมษายน 2551 ที่ระบุว่า พันธมิตรฯ "จะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฉ้อฉลในครั้งนี้ทุกรูปแบบ ตราบใดที่ไม่ได้มีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้" ดังนั้น ข้อเสนอเรื่องประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลมิได้คิดเองเออเองอย่างที่เข้าใจกันไม่ แต่เป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของฝ่ายพันธมิตรฯ นั่นเอง


ข้อสังเกตุที่น่าสนใจประการหนึ่ง เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพันธมิตรฯ รอบแรก และในรอบสองนี้คือ ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ


 


1) การนำประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์มาโจมตีรัฐบาลนั้น ในรอบแรก คือ ความไม่จงรักภักดี ละเมิดพระราชอำนาจด้านหลัก แต่รอบสอง ไปไกลมากกว่านั้น คือ มีความพยายามในการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อตั้งสาธารณรัฐ โดยเชื่อมโยงกรณีต่างๆ เช่น คุณจักรภพ เพ็ญแข หรือ คุณโชติศักดิ์ อ่อนสูง อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น กับระบอบทักษิณ โดยระบุว่า "เครือข่ายระบอบทักษิณได้อยู่เบื้องหลังขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (แถลงการณ์ ฉบับที่ 11/2551 เรื่อง "โค่นระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลอันธพาลหุ่นเชิด" )


 


2) การใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในรอบแรก คนที่มีบทบาทสำคัญคือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายของเขาในสื่อเครือผู้จัดการ ขณะที่ผู้ที่พวก "ภาคประชาชน" ยังมีอาการเขินอาย แต่ในรอบสองนี้ นอกจากถูกเปิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างถ้วนหน้า อย่างที่ปรากฏในการปราศรัยของแกนนำทั้ง 5 ในวันที่ 25 เมษายน 2551 และ แถลงการณ์ ฉบับที่ 8/2551 เรื่อง "หยุดสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร!" ความว่า "บัดนี้... ได้เกิดขบวนการคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องจนอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง... ทั้งในรูปแบบของการแสดงออก การให้สัมภาษณ์ การลงข้อความและรูปภาพในเว็บไซต์ ใบปลิว นิตยสาร ซีดี อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้กลับปล่อยให้มีรัฐมนตรีบางคนที่มีทัศนคติเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเข้าร่วมบริหารงานในรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้อีกด้วย.."


 


ต่อมาพันธมิตรฯ ได้ประกาศชุมนุมใหญ่"เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเดินขบวนไปตั้งปักหลักชุมหนุมอยู่ที่บริเวณสะพานมัฆวานเนื่องจากถูกสกัด จนถึงปัจจุบัน แต่ข้อเรียกร้องเดิม คือ คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการประชมมติ กรณีคุณจักรภพและอื่นๆ และต่อมา คือ กดดันให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น (ข้อเรียกร้องในการชุมนุมวันที่ 25 พฤษภาคม 2551) ถูกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยการยกระดับการต่อสู้เป็นการขับไล่รัฐบาลหลังจากการเริ่มชุมนุมเพียงวันสองวัน โดยการปราศรัยของแกนนำทั้ง 5 ตั้งแต่ในคืนวันจันทร์และอังคาร ก่อนที่จะประกาศอย่างเป็นทางการในแถลงการณ์ฉบับที่ 11/2551 เรื่อง "โค่นระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลอันธพาลหุ่นเชิด" ในศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม 2551 ข้อเท็จจริงเหล่านี้ที่มาจากตัวพันธมิตรฯ เอง จึงห่างไกลจากคำอธิบายในภายหลังเพื่อให้ความชอบธรรมกับการไล่รัฐบาลของคุณพิภพที่ว่า


 


"การไล่รัฐบาลหรือไล่คุณสมัครมันเริ่มจากสาเหตุเมื่อวันเสาร์ [31 พฤษภาคม 2551] เราก็เห็นว่า ที่คุณสมัครพูดนั้น ไม่มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว การที่มาใช้คำที่สังคมตีความได้ว่า ไปสู่การแตกหักหรือนำไปสู่การปะทะด้วยความรุนแรง ก็น่าจะถูกสังคมหรือพันธมิตรเรียกร้องให้ออก" (บทสัมภาษณ์ "ชายขอบความโกลาหล" หน้า 3)


 


แม้ข้อเรียกร้องในช่วงเริ่มแรกได้รับการตอบสนอง เช่น การลาออกของคุณจักรภพ การเสนอให้มีการทำประชามติของรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง การถอนญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากการต่อสู้ การขับไล่รัฐบาล ครั้งนี้ พวกเขาเชื่อว่าเป็น "สงครามศักดิ์สิทธิ์" ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะถอยได้แม้สัก "ก้าวเดียว" เพื่อถนอมรักษาความปลอดภัย ชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุม ท่ามกลางความเป็นไปได้ของการปราบปรามการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการตอบสนองต่อการชุมนุมของคุณสมัคร ในวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2551


 


ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงกรอบโครงที่ผู้เขียนพิจารณาจากคำแถลงหรือคำประกาศที่เป็นทางการของพันธมิตรฯ เองตามคำแนะนำของคุณพิภพเท่านั้น แต่ก็อาจจะพิจารณาได้ว่า เป็นเพียง "ยุทธวิธี" ซื้อเวลาเพื่อเอาทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักนิติรัฐขึ้นในสังคมไทย ภายใต้ "ยุทธศาสตร์นิติรัฐ" ตามคำอธิบายของคุณพิภพได้อีกเช่นกัน


 


ขณะที่ระบอบการปกครองที่พันธมิตรฯ ปรารถนานั้น แม้อาจจะไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็อนุมานได้ว่า เป็นประชาธิปไตยที่เท่ากับ เอ็นจีโอ บวก ตุลาการภิวัฒน์ [โดยนัย คือ ไม่ใช่เป็นการปกครอง โดย ประชาชน] ตามคำนิยามของเกษียร เตชะพีระ (อาจารย์เกษียร เตชะพี เป็นผู้สรุปรวบยอดความคิดและนิยามประชาธิปไตยของพันมิตรฯ ไว้ใน "ความมืดยามเที่ยง : ความรู้ทางรัฐศาสตร์กับทางออกการเมืองไทย" หัวไม้ story, ประชาไทย, 14 มิถุนายน 2551) หรือ "ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ" ของชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้ชี้นำทางความคิดในการเคลื่อนไหว ในฐานะคำตอบสุดท้ายของการเมืองไทย (ดู ชัยอนันต์ สมุทวณิช "ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ" ผู้จัดการออนไลน์, 27 เมษายน 2551)


 


 


อารยะขัดขืนของพันธมิตร


 


ขณะที่เขียนบทความมาถึงตอนนี้ (ประมาณ 3 ทุ่ม ของวันที่ 17 มิถุนายน 2551) เพื่อนของผู้เขียนแนะนำว่า หากต้องการจะชี้ชัดว่า "เป้าหมาย" ของพันธมิตรฯ นั้นคือ "ไล่รัฐบาล" ซึ่งถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ยืดยาวก็ได้ "ใครก็รู้กันทุกคน" ทันใดนั้น พันธมิตรก็ได้ประกาศ "เป่านกหวีด" ทุบหม้อข้าว เคลื่อนขบวนไปชุมนุมปิดล้อม [หรือยึด?] ทำเนียบรัฐบาล ในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน นี้ ซึ่งแน่นอนจำเป็นต้องฝ่าแนวกั้นของตำรวจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [จะเกิดอะไรขึ้นตามมาถ้าตำรวจไม่ยินยอม?] โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างที่โฆษกรายการบนเวที ในคืนเดียวกัน ประกาศในทำนองว่า"จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน"


 


สำหรับท่าทีของคุณสมัคร สุนทรเวช ต่อการชุมนุมในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 นั้นอาจถูกมองได้ว่าเป็นความผิดพลาด แต่หากเชื่อว่า พันธมิตรฯ มีแผนการที่จะบุกยึดทำเนียบจริงๆ การกระทำของคุณสมัคร แม้จะโดนด่าวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ก็สกัดแผนการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลไม่ได้ทำการสลายการชุมนุมอย่างที่คาดกัน และ "ปลดล็อค" ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องหลายประการ แรงกดดันจึงกลับมาอยู่ที่ตัวพันธมิตรฯ เอง ทำให้พันธมิตรฯ หันมาใช้ "ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย" และประกาศ "อารยะขัดขืน"


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนเสนอว่า ในการพิจารณา"อารยะขัดขืน"ฉบับพันธมิตรฯ นั้น จำเป็นต้องวางมันอยู่ในบริบททางการเมืองและการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้


 


วันที่ 8 มิถุนายน 2551 คุณสุริยะใส กตะศิลา ได้แถลงว่า พันธมิตรกำลังพิจารณา "วิธีการกดดันรัฐบาล" ซึ่งจะยกกระดับขึ้นมาจากเดิม โดยอาจขอให้ประชาชนใช้สิทธิ์ไม่ยอมรับคำสั่งจากรัฐด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การไม่จ่ายภาษี และการขัดขืนคำสั่งรัฐต่างๆ ที่ออกมา ซึ่งถือว่าเป็น "สิทธิ [ของ] ประชาชนที่สามารถไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาลที่ขาดชอบธรรมในการบริหารประเทศ ด้วยการดื้อแพ่ง..หรือ.. อารยะขัดขืน" ("พันธมิตรฯเตรียมดันอารยะขัดขืน อานันท์ปัดเป็นคนกลาง" ประชาไท 9 มิถุนายน 2551) และเขาได้ชี้แจงในวันต่อมา "มาตรการอารยะขัดขืนที่จะประกาศเชื่อว่า ทุกฝ่ายจะเกิดความสบายใจ และร่วมปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกรอบกฎหมายที่พลเมืองจะปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม" และ "อารยะขัดขืนวันพรุ่งนี้ [10 มิถุนายน] จะไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งอารยะขัดขืนจะมีตั้งแต่ระดับอ่อนสุดจนถึงแข็งที่สุด ซึ่งยังคงยึดหลักสันติอหิงสาเช่นเดิม" ("พันธมิตรเตรียมประกาศ อารยะขัดขืนพรุ่งนี้ ลั่นดาวกระจายต่อเนื่อง" ผู้จัดการออนไลน์, 9 มิถุนายน 2551)


 


พันธมิตรฯ ได้ประการมาตรการ "อารยะขัดขืน" ในวันที่ 10 มิถุนายน 2551 โดยคุณสุริยะใสเป็นผู้ได้อ่านประกาศฉบับที่ 1/2551 เรื่อง "มาตรการตอบโต้ข้าราชการที่ทรยศชาติและเป็นปรปักษ์ต่อประชาชน" ด้วยตนเองว่า เนื่องจาก "ข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจบางคน ประพฤติตนเป็นทาสรับใช้ของระบอบทักษิณ แทนที่จะประพฤติตนเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทำการทรยศต่อชาติ และเป็นปรปักษ์ต่อประชาชน" จึง "สมควรกำหนดมาตรการตอบโต้" บางประการ ดังนี้


 


1. ต่อปลัดกระทรวงที่รับใช้นักการเมือง พันธมิตรฯ "เรียกร้องให้ข้าราชการผู้ซื่อสัตย์สุจริต ยืนหยัดในหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เป็นธรรม ต้องยินยอมพร้อมใจถูกโยกย้าย ดีกว่าที่จะตกเป็นทาสและติดคุกตารางในภายหลัง ทั้งจะได้รับความเป็นธรรมในที่สุด"


 


2.ต่อข้าราชการตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนข้าราชการฝ่ายปกครองบางคน ที่ขัดขวางหรือปิดกั้นพี่น้องประชาชน พันธมิตร "ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทาง ไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ในทุกกรณี เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการทรยศชาติต่อไป ทั้งนี้ ให้พยายามบันทึกภาพและหลักฐานเพื่อให้สามารถนำตำรวจที่ทรยศชาติ ออกจากตำแหน่ง และให้ถูกลงโทษอย่างสาสม"


 


3.ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับบัญชาตำรวจ และข้าราชการบางคนที่ใช้อำนาจเถื่อน ที่ให้ยุติการถ่อด เอเอสทีวี หรือข่าวการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ซึ่งคือ" ผู้ทรยศชาติและประชาชนและไม่ทำหน้าที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง" พันธมิตรเรียกร้อง "ให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินคดีกับผู้ทรยศชาติดังกล่าวจนถึงที่สุด"


 


4. ต่อข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์และพนักงาน อสมท. ที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวใส่ร้ายป้ายสีพันธมิตรฯ ซึ่งเป็น "การทรยศชาติและรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเป็นการกระทำผิดกฎหมายนั้น พันธมิตร "เรียกร้องให้ยุติการประพฤติปฏิบัติใดๆ ที่เป็นสมุนบริวารของระบอบทักษิณ และให้ร้ายป้ายผิดแก่ประชาชนในทันที" และ "ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง เป็นธรรม และรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยไม่ยำเกรงต่ออำนาจรัฐบาลหุ่นเชิด"


 


นอกจากนั้น ยังมีมาตรการอีกจำนวนหนึ่งที่เตรียมนำมาใช้ เช่น การตัดน้ำตัดไฟ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือไม่มีความเป็นธรรม และการประกาศหยุดงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) ซึ่งนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ในฐานะแกนนำ สรส. ได้ประกาศไว้ และอธิบายว่า การนัดหยุดงาน "เป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมทางกฎหมาย" ("พันธมิตรฯ" ชู อารยะขัดขืนเต็มสูบ -"สรส.-ผู้นำ รง." นัดถกหยุดงานต้านกังฉิน" ผู้จัดการออนไลน์,11 มิถุนายน 2551)


 


หลังอ่านคำประกาศ คุณพิภพได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การอารยะขัดขืนของพันมิตรฯ นั้น "ใช้กฎหมายเป็นเกราะกำบัง" และมาตรการที่เสนอมานั้น "เรากำลังต้องการให้ประชาชนร่วมมือกันใช้กฎหมาย ในการตอบโต้คำสั่งที่ผิดพลาด ฉะนั้นในเรื่องอารยะขัดขืนเราจะเพิ่มแรงขึ้นๆ เพื่อต่อสูกับเผด็จการที่ชั่ว นักการเมืองที่ชั่ว ปิดกั้นเราไม่ให้แสดงออกในเรื่องสิทธิเสรีภาพเพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ("พิภพ" ชูอารยะขัดขืน แนะ ปชช.ไล่ฟ้องพวกขี้ฉ้อละเมิดสิทธิ, ผู้จัดการออนไลน์, 10 มิถุนายน 2551)


 


แม้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า มีผู้ใดกล่าวหาว่า อารยะขัดขืนฉบับพันธมิตร เป็นการ "จัดฉาก" หรือ "ยกขึ้นมาเท่านั้น" แต่แกนนำของพันธมิตรฯ ก็พยายามที่จะอธิบายและปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยคุณพิภพอธิบายว่า "หากพบว่าการกระทำของรัฐไม่มีความถูกต้องชอบธรรม ประชาชนจึงสามารถที่จะปฏิเสธได้ และพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้ยกขึ้นมาเท่านั้น แต่เพราะเราเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชอบธรรม... เป็นการแสดงออกเพื่อให้รู้ว่าการกระทำหรือคำสั่งของรัฐที่ไม่ยุติธรรมของรัฐเป็นอย่างไร" เช่นเดียวกันกับคุณสุริยะใส เขาก็พยายามที่จะอธิบายว่า การอารยะขัดขืนนั้น เป็นการ"ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ" และ "การที่ประชาชนสามารถทำอารยะขัดขืนได้… เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิของตัวเอง ดังนั้น เราจึงอยากให้ประชาชนมาใช้สิทธิมากกว่าที่ให้เป็นภาพว่าพันธมิตรฯ เป็นผู้จัดฉาก" ( ""พันธมิตรฯ" ชู อารยะขัดขืนเต็มสูบ -"สรส.-ผู้นำ รง." นัดถกหยุดงานต้านกังฉิน"ผู้จัดการออนไลน์, 11 มิถุนายน 2551)


 


จากรายละเอียดที่เสนอมาข้างต้น จุดเด่นที่ให้ได้ชัด [โดยไม่ต้องทำการวิเคราะห์] ของอารยะขัดขืนฉบับพันธมิตรฯ คือ (1) แกนนำเรียกร้องให้คนอื่นทำเป็นหลัก (2) เป็นไปตามกฎหมาย [ไม่ทำผิดกฎหมาย] นอกจากนั้นยังมีการใช้กฎหมายทำการอารยะขัดขืนโดยการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ (3) มีลักษณะเป็นการ "ตอบโต้" อย่างชัดเจน (การเปรียบเทียบรายละเอียดจะทำในตอนต่อไป)


 


โดยสรุป หากพิจารณาอารยะขัดขืนฉบับพันธมิตรในบริบทของการเคลื่อนไหวทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะนิยามเป้าหมายว่าอะไร จะเห็นได้ว่า เป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ในหลายๆ วิธีการ (เช่นการชุมนุม, ดาวกระจาย, การเปิดโปง) เพื่อ (1) รักษาไว้ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวไม่ให้ "ห่อเหี่ยว" หลังจากหลายอย่างไม่เป็นไปตามคาดหมาย และตกเป็นฝ่ายถูกกดดันจากฝ่ายต่างๆ (2) ปกปิด-ตกแต่งบาดแผลความขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่อารยะที่ผ่านมาของตน, (3) เปิด/ขยายประเด็นใหม่ๆ และยึดกุมรักษาพื้นที่ของตนในสื่อ, (4) รอเงื่อนไขสถานการณ์เพื่อเปลี่ยนจากรับเป็นรุก


 


แต่ทั้งนี้หมดนี้ (6) มุ่ง "บั่นทอน" ความชอบธรรมของรัฐบาลซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของตนหรือระบบการเมืองซึ่งตนนิยามว่า "ไม่เป็นธรรม" เพื่อ [ตามแถลงการณ์] เปลี่ยนแปลงล้มล้างรัฐบาล ระบบการเมืองมากกว่าอื่นใด (7) โน้มน้าวชี้นำให้คนอื่นเชื่อว่าเป็น "วิกฤติที่สุดในโลก" ไม่มีทางออกอื่นๆ นอกจากวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย และ (8) ที่สำคัญที่สุด สร้างเหตุการณ์รองรับ รอเงื่อนไขสัญญาณไฟเขียว ["เป่านกหวีด"] รอการแทรกแซงทางการเมืองโดยผู้ทรงคุณธรรม อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้เพราะทุกคนตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น แค่การชุมนุมอย่างเดียว ต่อให้คนนับล้านก็ไม่อาจ "โค่นล้ม" รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้


 


จากการพยายามสำรวจตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของอารยะขัดขืนในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ของผู้เขียนตามที่เสนอมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า แค่ตำแหน่งแห่งที่ของมันในการเคลื่อนไหวทั้งหมด ก็เพียงพอที่จะให้คำตอบได้แล้วว่า อารยะขัดขืนฉบับพันธมิตรต่างกับของชัยวัฒน์อย่างไร หรือถ้ายึดตามคำอธิบายของชัยวัฒน์แล้ว ฉบับพันธมิตรเป็นอารยะขัดขืนหรือไม่


 


อย่างไรก็ตาม ในตอนสุดท้าย (สัปดาห์หน้า) ผู้เขียนจะทำการเปรียบเทียบอารยะขัดขืนฉบับชัยวัฒน์กับฉบับพันธมิตรฯ อย่างละเอียดในแต่ละประเด็น ในแต่ละคุณลักษณ์ รวมทั้งตั้งข้อสังเกต อธิบายโต้แย้งคำอธิบายและปฏิบัติการของพันธมิตรฯเอง และคำตอบว่าทำไมชัยวัฒน์รับมือกับคำถามเช่นนั้น ตามที่ตั้งใจไว้เช่นเดิม


 


สุดท้าย ผู้เขียนมีเพียงคำอ้อนวอนต่ออะไรก็ได้ ว่า ในการอารยะขัดขืนแบบ "สงครามศักดิ์สิทธิ์" ครั้งสุดท้าย "ไม่ชนะไม่เลิก" "จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน" ในวันศุกร์นี้ [ซึ่งเข้าใจว่ามาจากการตัดสินใจเมื่อได้รับสัญญาณบางอย่าง] ประชาชนผู้มาชุมนุมที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย จะไม่ได้รับบาดเจ็บ อันตราย เจ้าหน้าที่ที่ผู้เขียนไม่รู้จักก็เช่นเดียวกัน จะไม่ได้รับบาดเจ็บอันตราย และรัฐบาลจะไม่ "ตกหลุมพราง" ที่ "เขา" วางไว้


 


 


เกี่ยวข้อง


บทความ: อารยะขัดขืนของนักปรัชญา Vs อารยะขัดขืนของพันธมิตร (ตอนที่ 1)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net