Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม


 


 



 


"ผมเกิดที่ปากบารา ทำอาชีพประมงมาตลอดชีวิต มีความสุขครับ ถึงเงินจะไม่มากมาย แต่ก็อยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะว่าความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผมเป็นชาวประมง รักในอาชีพประมง มีความสุขทุกช่วงที่ออกทะเล ตะวันขึ้นผมก็ได้เห็น ตะวันตกผมก็ได้เห็น นี่คือความสุข"


 


ยาหยา ตรุรักษ์ หรือ "บังหยา" ของพี่น้องชุมชนปากบารา มองท้องทะเลเบื้องหน้าด้วยนัยน์ตาเป็นประกาย ภาพของเด็กๆ ลากเรือจำลองลำน้อยไปรอบๆ เรือประมงที่จอดลอยอยู่ริมหาดปากบาราอย่างสนุกสนาน ยิ่งแต้มรอยยิ้มบนใบหน้าเกรียนแดดของบังยาให้แจ่มใส ในวัย 50 ของชาวประมงหมู่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ผู้นี้ ดูเหมือนทะเลจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเขา


 


"ผมก็ไม่รู้ว่าความสุขนี้จะอยู่อีกนานแค่ไหน หากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราขึ้นมาจริงๆ ผมไม่คิดหรอกว่าพวกเราจะได้อยู่ในพื้นที่ คงต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปในวันข้างหน้า"


 


บังซันถอนหายใจ พลันความสุขในแววตาเขากลับหล่นหายไป "ตอนนี้ผมยังไม่เห็นอนาคตของปากบารา ไม่เห็นอนาคตของพี่น้องชาวประมงที่นี่ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนลงมาหาชุมชน มาบอกว่าจะทำอะไรกับอ่าวของพวกเรา"


 


"และเขาก็ไม่เคยถามว่า เราชาวบ้านต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอะไร เป็นชายฝั่งสวยๆ หรือเป็นท่าเรือยักษ์ที่"


 


 


มิพักต้องเอ่ยว่า ชาวบ้านอย่างบังหยาไม่เคยถูกถาม ว่าต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอะไร เป็นชายฝั่งสวยๆ หรือเป็นท่าเรือใหญ่


 


นั่นเป็นเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากเวทีระดมความคิดเห็นการศึกษาประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณีโครงการท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2551 ณ ศูนย์ธรรมาภิบาล เทศบาลตำบลกำแพง อ.ละงู จ.สตูล จากหลายๆความเห็น ดังนี้


 


ยาหยา ตรุรักษ์ วัย 50 ปี ชาวประมงหมู่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล


"ข้อมูลที่ได้มา ส่วนใหญ่จะได้มากเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนทำอีไอเอลงมาให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเลย ส่วนใหญ่เขาจะลงมาประชุมร่วมกับผู้นำชุมชน พวกผู้ใหญ่ กำนัน อบต. ผู้นำศาสนา ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่เคยได้เข้าร่วม เท่าที่ทราบมา มีการประชุมสองครั้ง นานเกือบปีแล้ว  แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกัน เขาไม่เคยกระจายข่าวให้ชาวบ้านรู้


 


ถ้ามีการสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นจริงๆ ผลกระทบแน่นอนที่จะตามมา ผมคิดว่าการทำมาหากิน ชาวบ้านจะลำบาก เพราะว่าช่วง 5-6 เดือนของฤดูมรสุม พวกเราหากินอยู่ในบริเวณที่เขาจะสร้างท่าเรือน้ำลึก ถ้าเขาสร้าง ฤดูมรสุม พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะไปหากินที่ไหน ทุกวันนี้เราก็หากินได้แทบจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว และหากท่าเรือเกิดขึ้นจริงๆ ผมไม่คิดหรอกว่าพวกเราจะได้อยู่ในพื้นที่ คงจะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ตอนนี้ผมไม่เห็นอนาคตเลยว่าเราจะทำอะไรต่อไปในวันข้างหน้า


 


เฉพาะที่ปากบารา หมู่สอง มีทั้งหมด พันสองร้อยกว่าครัวเรือน หมู่สี่ หมู่หก ของตำบลปากน้ำที่มีผลกระทบ และบริเวณตำบลละงู ตำบลเกาะศาลา อำเภอเมือง ตำบลผู้ว่า หลายๆ หมู่บ้านที่พอฤดูมรสุมก็จะมาหากินที่อ่าวละงู ก็คือไม่ใช่แค่ชาวปากบารา แต่ยังมีชาวบ้านจากพื้นที่อื่นๆ ที่มาหากินในท้องทะเลนี้ด้วย ที่อื่นมันหากินไม่ได้ มันไม่มีที่ป้องกันลม


 


เราต้องศึกษาก่อน หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องศึกษาดูว่า ชาวบ้านที่มากินตรงนี้ เขาจะได้รับผลกระทบกี่คน กี่ครัวเรือน ตามที่พวกเราคำนวณ แต่ละเดือน เรือที่มาหากินบริเวณอ่าวละงู ที่จะสร้างท่าเรอน้ำลึก ในฤดูมรสุม มันมีไม่ต่ำกว่า 500 ลำในแต่ละเดือน ลองมาคิดดูว่า 500 ลำต่อเดือน ลำหนึ่งมีสองคน แล้วแต่ละคนมีลูกเมีย ถามว่าเขารับภาระ ในเรือแต่ละลำ กี่คน


 


ต้องลองมาศึกษาดูก่อนว่า เขาจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไหม อนาคตของชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวละงู ต่อไปถ้ามีท่าเรือน้ำลึก มันจะเป็นเพียงตำนาน ชาวประมงไม่สามารถหากินในบริเวณนั้นได้ และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศ


 


น้ำ ถ้าหากมีสิ่งแปลกปลอมลงไปในน้ำ น้ำที่นี่ไม่เหมือนน้ำทะเลตะวันออก ที่นี่เป็นน้ำเชี่ยว บริเวณกว้าง น้ำขึ้นเจ็ดศอก ลงเจ็ดศอก แล้วน้ำก็ไปไกล ถ้าสารเคมีลงไป มันจะกินบริเวณกว้างไปแค่ไหน อันนี้ต้องมีการศึกษา


 


สิ่งแวดล้อมข้างบน เรื่องความรู้ เรื่องแรงงานต่างด้าวที่เข้ามา ยาเสพติด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ใครรับประกันได้ว่า จะไม่มี


 


ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาศึกษาร่วมกันกับชุมชน ศึกษาดูว่าอะไรทีทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ประเด็นหลักคือชุมชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ถ้าชุมชมไม่สามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิด ร่วมตัดสินใจ ผมคิดว่าชุมชนคงจะไม่ยอม


 


ตอนนี้ชุมชนไม่ได้ปฏิเสธ และไม่ได้ยอมรับ เรามีข้อมูล แต่ไม่ได้ต่อต้าน เรากำลังรอผลการศึกษาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ดูว่าเขาจะเข้ามาหาชุมชนไหม ช่วยกันแก้ปัญหาหรือมาปรึกษาหารือว่าเราจะแก้ปัญหากันอย่างไร


 


การขุดลอกท่าเรือน้ำลึก ถ้ามีการสร้างจริงๆ ที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก น้ำลงต่ำสุดก็ประมาณ 6 เมตร แต่เรือกินน้ำลึกถึง 14 เมตร จะต้องขุดลึกลงไป 6 เมตร เป็น 14 เมตร ประมาณ 8 เมตร ลองคิดดูว่า ถ้าขุด 8 เมตร บริเวณกว้าง 700 กว่าเมตร ถามว่าทรายทีจะต้องเอาไปทิ้ง จะทิ้งที่ไหน ในข้อบังคับในโครงการบอกว่า จะต้องเอาไปทิ้งห่างจกท่าเรือประมาณ 30-36 กิโล ผมคำนวณมาแล้วว่า มันจะต้องออกไปประมาณเกาะอาดังกับบุโหลน ซึ่งไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สิงแวดล้อมที่ตรงโน้นอีก"


 


อีไอเอ คืออะไร? ผมไม่รู้


 


"รายงานอีไอเอฉบับประชาชน ถ้ามีหน่วยงานที่มาให้ความรู้ ผมคิดว่าชุมชนน่าจะร่วมกันทำ


 


ผมเป็นชาวประมงที่หากินตอนกลางคืน ออกทะเลสี่โมงเย็น กลับบ้านแปดโมงเช้า ออกจากบ้านก็ไปเกาะบุโหลน เกาะเพกา เกาะกุโบย ปากบารา บางทีก็ไปตะรุเตา


 


ชาวบ้านหากินไม่เหมือนกัน เครื่องมือก็ไม่เหมือนกัน บางคนออกอวนกุ้งก็ไปแต่เช้า กลับตอนเย็นๆ ถ้าออกอวนปลาทู เขาเรียกว่าสองทีหรือสองครั้ง เช้าไป หัวรุ่งไป เช้ากลับ และตอนเย็นไป พอสองสามทุ่มก็กลับ


 


เรื่องทรัพยากร พวกเราก็ช่วยกันรณรงค์ เช่น ช่วยกันปล่อยกุ้งปีละ 2-3 ล้านตัว เฉพาะปีนี่ เราช่วยกันปล่อยไปประมาณ 10 ล้านตัว


 


ชาวประมงพื้นบ้านอยู่ชายฝั่ง พออยู่ชายฝั่ง กว่าปลาจะเข้ามาก็มีการตัดตอนไปหลายตอนแล้ว เช่น อยู่น้ำ 50 เมตร เอาอวนลากคู่ตัดตอนไปทีหนึ่ง เข้ามาน้ำ 40 เมตร เจอไฟปั่นอวนล้อม ตัดไปทีหนึ่ง ช่วยกันตัดเป็นตอนๆ กว่าจะมาถึงฝั่ง ก็เหลือแต่ตัวเล็กๆ (หัวเราะ) ที่มีปัญหาบางทีคือเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้ามาใกล้ฝั่งเกินไป ก็มีผลกระทบต่อเรือประมงพื้นบ้าน


 


ถ้ารัฐบาลจะสร้างท่าเรือน้ำลึก ควรจะต้องเข้ามาหาชุมชน ศึกษาร่วมกับชุมชน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะเอาแต่สร้าง ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน ควรศึกษาก่อนว่า ถ้าจะมีปัญหาเกิดขึ้น เราจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร


 


ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทที่ทำรายงานผลกระทบไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ มีแต่เราที่เข้าไปคุยกับเขาเอง แล้วก็พบว่าเขาได้ข้อมูลมาแล้ว ผิดบ้าง ถูกบ้าง เช่น เขาบอกว่ามีเรือที่มาหากินในบริเวณปากน้ำแค่ 30 ลำ เราก็เถียงว่าไม่จริง มันมีกว่า 500 ลำ ในเมื่อเขาได้ข้อมูลผิดๆ ไปแบบนี้แล้ว เราจะเชื่อผลการศึกษาที่ออกมาได้ยังไง"


 


 


เสาวนีย์ สำลี อายุ 48 ปี ชาวหมู่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล


 


"ตัวอย่างจากพื้นที่ต่างๆ เช่น มาบตาพุด แม่เมาะ หรือการพังของชายฝั่งแถบอ่าวไทย ทำให้กลัวว่า โครงการที่ปากบาราจะสร้างความเสียหาย ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่ต่างจากโครงการพวกนี้ และกว่าจะรู้ว่าเกิดอะไร ชาวบ้านแม่เมาะก็ตายไปแล้วหลายคน ชาวมาบตาพุดก็ป่วยเป็นมะเร็งกันไปมากมาย


 


ถ้าให้เลือกได้ จะขอเป็นชาวประมงตลอดไป ถึงแม้ว่าการเป็นเมืองอุตสาหกรรมจะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จะมีเงินมากๆ ไปทำไม ขอแค่พอกินพอใช้ก็พอแล้ว มีกินมีใช้ มีทะเลสวยๆ มีวัฒนธรรม มีชุมชนที่อบอุ่น ก็เพียงพอแล้ว


 


ก๊ะตอบแทนชาวบ้านคนอื่นไม่ได้ รัฐต้องไปถามชุมชน และถามให้ทั่ว ไม่ใช่ถามแค่ผู้นำชุมชนไม่กี่คน รัฐต้องบอกข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน แล้วถามว่าชุมชนจะเอายังไง


 


ถ้าจะบอกว่าเราต้องเสียสละชุมชนเพื่อสังคมที่ใหญ่กว่า ก๊ะก็อยากรู้ว่า จริงๆ แล้วคนไทยต้องการเป็นประเทศอุตสาหกรรมเหมือนญี่ปุ่น ที่ตอนนี้ไม่มีทะเลสวยๆ เหลือแล้ว หรือคนไทยยังต้องการเป็นประเทศที่มีธรรมชาติสวยงามอยู่ ก๊ะยังไม่เคยได้ยินคำตอบตรงนี้ รัฐควรไปถามคนทั้งประเทศดูก่อน"


 


 


สมพร เพ็งคำ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ


 


"มุมมองเรื่องสุขภาพในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว สุขภาพ มันไม่ใช่แค่เรื่องความเจ็บป่วย หากคือ สุขภาวะ หรือภาวะอยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งปัจจุบัน สุขภาวะของคนไทยยังห่างไกลจากคำว่าความสุขอยู่มาก


 


จากการจัดเวทีพูดคุยเรื่องสุขภาวะทั่วประเทศ พบว่า ภาวะทุกข์ของคนไทยไม่ได้มาจากพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่มาจากโครงการของรัฐเยอะมาก เช่น ชาวบ้านในพื้นที่แม่เมาะ โปแตซ คลิตี้ แม่ตาว มาบตุพุด เราจึงต้องกลับมาทบทวนและนิยามคำว่าสุขภาพใหม่ ให้สุขภาวะนั้นหมายรวมทั้งกาย จิต วิญญาณ


 


ฉะนั้น ก่อนที่จะมีโครงการพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้น ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพด้วย เพราะ EIA อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเครื่องมือใหม่ ก็คือ HIA ซึ่งในวันนี้ มีกฎหมายสำคัญรองรับแล้ว นั่นคือ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ


 


HIA จะเป็นเครื่องมือหนึ่งซึ่งชาวบ้านเอาไปต่อสู้กับโครงการใหญ่ๆ ได้ ซึ่งมันต้องสู้กันด้วยข้อมูลจริงๆ


 


ปัญหาของในการทำ EIA ที่ผ่านมาคือ ผู้ประกอบการเป็นผู้จ้างบริษัททำ EIA ซึ่งไม่มีบริษัทไหนทำรายงานให้ผู้ประกอบการต้องล้มโครงการ, การกำหนดประเด็นการศึกษา ใครเป็นผู้กำหนด คำถามที่ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่อยากรู้ รายงาน EIA ไม่เคยตอบ แต่ไปตอบเรื่องอื่น ผู้ได้รับลกระทบจากโครงการมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นศึกษาบ้างไหม, การได้มาซึ่งข้อมูล ได้มาอย่างไร ประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อถือ, เมื่อรายงานเสร็จแล้ว ใครเป็นคนตัดสินใจว่าให้ผ่านไหม ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือเปล่า"


 


เริงชัย ตันสกุล นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่


 


โดยหลักการแล้ว EIA นั้นดี มันคือก่อนทำอะไร คิดให้ดี คิดให้รอบคอบ แต่ระบบการควบคุม EIA ในเมืองไทยไม่ใช่ไม่ดี แต่มันไม่มี เพราะคนทำกับคนตัดสินเป็นคนคนเดียวกัน


 


อีไอเอ ฉบับชุมชนหนทางสู่การมีส่วนร่วม


 


 


ศยามล ไกรยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา


 


สิ่งที่บริษัททำ EIA ไม่สนใจ คือมิติสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราต้องผลักดันให้มีการกำหนดประเด็นในการทำ EIA ที่ไปไกลกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ


 


ชุมชนต้องเริ่มกำหนดประเด็นศึกษาเอง อย่ารอให้คนข้างนอกเข้ามาช่วยเหลืออย่างเดียว เป็นไปได้ไหม ที่ชุมชนจะร่วมกันทำ EIA ฉบับชุมชนหรือชาวบ้าน


 


สมพร เพ็งคำ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ


 


ส่วนที่ว่าผลการศึกษาของชุมชนนั้นจะได้รับการยอมรับแค่ไหนนั้น มันขึ้นอยู่กับการออกแบบว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร มันคงไม่มีสูตรตายตัว เราคงต้องเปิดใจ ให้ฝ่ายต่างๆ มานั่งคุยกันด้วย และร่วมเปิดใจรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย โดยไม่ปักธงไว้ก่อน เพราะทัศนคติที่ถูกปักธงไว้แล้ว แม้จะใช้กระบวนการยังไง ผลทีได้ก็คงไม่น่าเชื่อถือ


 


สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่


 


ปัญหาจะหมดไป ถ้าเป็นการพัฒนาจากล่างสู่บน คือจากชุมชนขึ้นไป แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมันเป็นการพัฒนาที่ถูกสั่งมาจากข้างบน เราต้องถามชุมชนว่าอยากได้อะไร ไม่ใช่รัฐบาลโยนโครงการลงมาแล้วมานั่งศึกษาแบบไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม แล้วบอกว่าชุมชนต้องเสียสละเพื่อชาติ บทเรียนหลายๆ ที่ที่เกิดขึ้น บอกเราว่ามันเป็นการสร้างความแตกแยกให้สังคมด้วย


 


โครงการของชาวบ้านไม่มีมูลค่าในการกระตุ้น GDP ของชาติ รัฐจึงต้องการนิคมอุตสาหกรรม วิธีคิดเช่นนี้เป็นการสร้างปัญหาในการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อไปสนับสนุนทุนใหญ่


 


เราเปรียบเทียบการพัฒนาโครงการใหญ่กับประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นนั้นชัดเจนว่าเขาต้องการเป็นประเทศอุตสาหกรรม และพวกเราตกลงกันได้หรือยังว่าต้องการเป็นอะไร


 


เริงชัย ตันสกุล นักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิยาเขตหาดใหญ่


 


เราต้องเป็นผู้กำหนด ต้องตกลงกันก่อนว่า จะเอายังไง เราจะให้เราเป็นอะไร จะให้ลูกหลานเราเกิดมาเป็นอะไร อยู่อย่างไรในอนาคต


 


พร้อมกันนี้ในเวทีได้มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นเพียงหนึ่งในโครงการมากมายที่จะมาลงหลักปักฐานในภาคใต้ ทั้งอุตสาหกรรมเคมี โรงแยกกาซ นิคมอุตสาหกรรม สนามบิน โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ท่าเรือน้ำลึกอีกหลายแห่ง แล้วในขณะนี้ชุมชนรู้เรื่องนี้แค่ไหน


 


สำหรับสถานะของโครงการขณะนี้ อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานหมู่เกาะเภตรา  รายงาน EIA อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) แบบและเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลยังไม่ตั้งงบประมาณในการก่อสร้าง


 



 



 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net