Skip to main content
sharethis

พิณผกา งามสม, ฟ้ารุ่ง ศรีขาว


สัมภาษณ์/เรียบเรียง


 


 


สุเมธ อุปนิสากร เป็นกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเห็นในการลงมติครั้งต่างๆ ของ กกต. ท่านนี้ ไม่เคยทำให้ประชาชนฝ่ายที่ชิงชังทักษิณ ชินวัตร และพวก ต้องผิดหวัง แต่เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจ กกต. เสียงข้างมากในวันที่ 16 มิถุนายน ที่จะถึง พร้อมเรียกร้องให้กกต. เสียงข้างน้อยบางคน ลาออก กกต. เสียงข้างมากอย่าง สุเมธ ก็ออกมาปฏิเสธที่จะต้อนรับพันธมิตรฯ โดยให้เหตุผลเรื่องความเป็นกลางของสถาบันกกต. พร้อมด้วยคำอธิบายเรื่องกกต. ยกคำร้องทุจริตการเลือกตั้งไปกว่า 700 คดีซึ่งถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีกกต. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต. เสียงข้างน้อยบางคนอยู่ในขณะนี้ และประเด็นสุดท้าย...เหตุใด ในความเห็นของเขา การเรียกร้องให้ กกต. เสียงข้างน้อยลาออกจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง


 


 


 ภาพจากวิกิพีเดีย


 


เมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศว่าจะมาให้กำลังใจการทำงานของกกต. เสียงข้างมาก ทำไมท่านจึงปฏิเสธ


ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 229 บัญญัติว่า "คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ซึ่งมีความเป็นกลาง


ทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์..." ตรงนี้เป็นคุณสมบัติ ถ้าหากว่าทางพันธมิตรมาให้กำลังใจหรืออะไรก็แล้วแต่จะทำให้คล้ายกับว่าจะดึงพวกผมออกไปจากความเป็นกลาง ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ขาดคุณสมบัติ และสามารถถอดถอน กกต. ได้ ตามมาตรา 233 ซึ่งจะเป็นผลร้ายกับสถาบัน กกต.มากกว่า


 


อย่าลืมว่า กกต.ต้องมีความเป็นกลาง ต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง กลุ่มพันธมิตรเป็นเรื่องของการเมืองอย่ามา กกต.ก็จะดี พวกผมไม่ควรไปยุ่งการเมือง เขาจะทำอย่างไรก็เรื่องของเขาแต่พวกผมต้องเป็นกลาง ถ้าหากพันธมิตรเดินทางมา คนอื่นจะมองว่าไม่เป็นกลาง


 


ตัวอย่างเรื่องง่ายๆ เช่น ความสุจริตนั่น เป็นเรื่องที่อธิบายง่ายนิดเดียว คือไม่คอรัปชั่นก็สุจริต แต่จะทำให้คนอื่นเห็นว่าสุจริตนี่มันยาก ผู้พิพากษาเขาสอนกันมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องความเป็นกลางก็เช่นกัน ขอยกตัวอย่างว่าสมัย คมช.มีสมาชิกบางคนในคมช.ขอมาพบพวกผม พวกผมยังปฏิเสธเลยบอกว่าไม่ให้มาเข้าพบ ก็เพื่อให้เห็นว่าเราเป็นกลางจริงๆ ไม่อยากยุ่งการเมือง ถ้าองค์กรนี้ขาดความน่าเชื่อถือแล้วอะไรจะเกิดขึ้น


 


ความเป็นกลางสำหรับพันธมิตรฯ แล้ว อาจจะไม่ใช่ประเด็นเท่ากับความเป็นธรรมก็ได้ในเวลาเช่นนี้


เป็นกลางก็คือเป็นธรรม ผมว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันนี่เอง คือ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย การที่จะทำให้เห็นเป็นธรรมได้ก็ต้องเป็นกลางและต้องแสดงออกให้เห็นว่าเป็นกลางด้วย ไม่ใช่ปากก็บอกว่าเป็นกลาง ก็ยังสุงสิงเข้ากับเขาแล้วใครจะเชื่อ อย่างเราเล่นฟุตบอลหรือชกมวย ถ้าขึ้นเวทีแล้วกรรมการไม่เป็นกลางแล้วคุณอยากจะชกหรือ…ก็ไม่อยากจะชกถูกไหมครับ


 


แต่ถ้าทางพันธมิตรฯ ยืนยันที่จะมา ท่านจะลงไปรับดอกไม้หรือไม่


ถ้าเขามาผมก็ไปรับไม่ได้ บอกจริงๆ เพราะเป็นหน้าที่ต้องตัดสินให้ความเป็นธรรมเท่านั้นเอง อย่าไปยินดียินร้าย อย่าลืมว่าคนเรามียังมีกิเลส มีโลภมีโกรธ มีหลง อย่ามาสร้างบรรทัดฐานให้มันเสียสถาบัน มันจะเสีย ผมว่ามันไม่ได้เสียในช่วงนี้นะ แต่ผมว่ามันจะเสียถึงอนาคตด้วย


 


ผมยังเข้าใจว่ามาตรฐานของ กกต.ต้องไม่แพ้ผู้พิพากษา ไม่เช่นนั้นความเชื่อถือของประเทศก็จะมีปัญหา ศาลมีสำคัญเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยถ้าประชาชนไม่เชื่อสถาบันศาลอะไรจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ถ้าประชาชนไม่เชื่อถือสถาบัน กกต. อะไรจะเกิดขึ้น ความสงบเรียบร้อยจะไม่มี ผลร้ายตามมาเยอะทีเดียว


 


อารมณ์ของสังคมขณะนี้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ถ้าฝ่ายหนึ่งอยากจะมามอบดอกไม้แล้วท่านไม่รับ อาจจะตีความได้ว่าท่านไม่เป็นกลางหรือเปล่า


ผมว่ามันเป็นเรื่องการเมือง ไม่น่าจะเข้ามายุ่ง ถ้าเขามาแล้วคล้ายๆ ดึงพวกผมไปเป็นพวก ถ้าพวกผมลงไปรับมันเท่ากับว่าผมไปยินดีกับเขา เวลาผู้พิพากษาตัดสินคดีแล้วเขาไม่เคยมีใครมาให้ดอกไม้หรือมาด่าอะไร ถ้าผู้พิพากษาตัดสินเสร็จแล้วไปรับดอกไม้ ก็จบเลยจะทำให้เสียสถาบันหมดเลย


 


แต่ที่ผ่านๆ มา เมื่อฝ่ายภาคประชาชนที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐชนะคดี เขาก็ต้องรู้สึกว่านั่นคือชัยชนะ


ชัยชนะของเขาก็จริง แต่อย่าลืมว่าพวกผมทำหน้าที่ เป็นหน้าที่ที่พวกผมต้องให้ความเป็นกลาง พวกผมเป็นข้าราชการกินเงินเดือนภาษีของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ต้องมาแสดงความยินดี


 


ผมจะยกตัวอย่างเวลาผู้พิพากษาย้ายไปหรือได้ตำแหน่ง เขาไม่เคยมีเอากระเช้าดอกไม้ไปแสดงความยินดีเขาถือว่าเป็นหน้าที่ สมัยหนึ่งมีอธิบดีคนหนึ่งมาเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์ มีผู้พิพากษารุ่นผมคนหนึ่งเอากระเช้าไปให้ ท่านอธิบดีด่าเลยท่านบอกว่า นี่เป็นหน้าที่อย่ามาแสดงความยินดีอะไรเพราะเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติ


 


เหตุผลที่ผู้พิพากษาต้องอยู่ประจำแค่ 4 ปี ในแต่ละจังหวัดก็เพื่อไม่ให้แสดงความคุ้นเคยกับท้องถิ่น เพราะเวลาตัดสินคดีจะลำบากใจ พออยู่นานๆไปคุ้นเคยกับเขา มันจะมีปัญหา อย่างพวกผมก็เหมือนกันการจะคบทนายคบอัยการฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่คบธรรมดา แต่คบสนิทไม่ได้ ไปแสดงว่าไปมาหาสู่มากกันไม่ได้ เพราะคนอื่นจะมองว่าไม่สุจริต ถ้าหากมีคดีระหว่างที่พวกนี้ขึ้นไปในศาล


 


อย่างไรก็ตาม ก็มีมาตรฐานที่ต่างกันอยู่ระหว่างศาลซึ่งวิจารณ์ไม่ได้กับ กกต. ที่ถูกวิจารณ์ได้


ตอนนี้เราพยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้เหมือนกับศาลขึ้นมา เราพยายามทำ แม้แต่เวลาออกไปต่างจังวัดเราก็พยายามไม่ให้คนต่างจังหวัดเลี้ยง เราต้องเลี้ยงตัวของเราเองไม่ไปเบียดเบียนใคร ก็ได้แต่ขอร้องว่าพันธมิตรฯ ไม่ต้องมาหรอกครับเพราะจะทำให้คนอื่นมองว่า กกต. ไม่มีความเป็นกลาง จะเกิดความเสียหายไม่เฉพาะแต่ตัวผม แต่สถาบันองค์กรก็เสียหาย ต้องทำเป็นตัวอย่าง ในเมื่อพวกผมพูดว่าสุจริตเที่ยงธรรม แล้วตัวเองจะไปยินดียินร้ายไม่ได้


 


 


ท่านยึดเอามาตรฐานของตุลาการเป็นหลัก แต่ในแง่หนึ่ง ผลการตัดสินของศาลนั้นผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่ผลการตัดสินของ กกต. นั้นกระทบกับประชาชนที่ใช้อำนาจอธิปไตยด้วย ไม่ใช่แค่คู่ความ   


อย่าลืมว่า กกต. นั้นมีอยู่ถึง 5 คน ศาลนั้นมีองค์คณะแค่ 3 และกรณีที่กกต.จะมีมติเป้นผลร้ายต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นก็กำหนดให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ 4 ใน 5 เราพิจารณากันละเอียด เว้นก่อนประกาศผลการเลือกตั้งก็อาจจะมีความพยายามเร่งก่อนประกาศผล ซึ่งนานๆ จะมีครั้ง


 


แต่ผลการตัดสินของกกต. ก็อาจทำให้พื้นที่ที่ถูกตัดสินมีความปั่นป่วนทางการเมืองได้


เราไม่ได้พิจารณาในจุดนั้น เราไม่ได้คิดว่าผลตัดสินแล้วอะไรเกิดขึ้น ถ้าเกิดคิดแล้วทำงานไม่ได้ ต้องพิจารณาว่าไปตามหลักฐาน ถ้าประชาชนเขาสงสัย ทำไมตัดสินอย่างนี้ก็ต้องอธิบายได้ว่ามีพยานมาอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าทุกคนอธิบายได้ เพราก่อนจะตัดสินก็ต้องผ่านอนุกรรมการไต่สวนและคณะทำงานของกกต. มาอย่างละเอียดแล้ว


 


ความเป็นสถาบันของ กกต. ที่ท่านพยายามให้เป็นนั้นจะต้องมีลักษณะยังไง


ตอนนี้พวกผมต้องทำตัวเป็นกลางจริงๆ สร้างความน่าเชื่อถือ คล้ายๆ เป็นกรรมการ ตอนนี้พยายามอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งหลายว่าต้องวางตัวเป็นกลาง ถ้ากรรมการกกต.ไม่กลางก็ยุ่งก็ปวดหัว หนังสือร้องเรียนก็ตั้งหลายฉบับ


 


มองไปข้างหน้า กกต. ควรวางรากฐานเป็นสถาบันอย่างไร


ก็อย่างว่าตลอดระยะเวลาปีกว่าหรือที่จะถึง 2 ปี เราก็พยายามช่วยกันวางรากฐานให้ความน่าเชื่อถือ แต่อย่าลืมว่าการสร้างบ้านครั้งแรกเราก็ดูไม่ออกว่าจะงามหรือเปล่า จะรู้ว่ามันงามก็เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ผมจะรู้ว่าคนไหนสุจริตหรือเปล่าแค่ปีสองปียังไม่รู้  มันต้องอยู่ด้วยกันเป็นปีหรือว่าหลายเดือน กว่าจะรู้ว่าบ้านงามหรือไม่งาม เพราะฉะนั้นการทำงาน 4-5เดือน หรือ 7 เดือน ดูยากครับ จะดูว่าสุจริตหรืองามหรือไม่ หรือการสร้างสถาบันจะให้คนอื่นมองออก ถึงแม้ กกต. จะสุจริตแต่คนอื่นเขาก็ยังมองไม่ออก ต้องดูการกระทำต้องใช้เวลา ตอนนี้คนข้างนอกอาจจะมองอยู่ว่ายังไม่เชื่อใจในความสุจริต ต่อเมื่อนานไปแล้วสร้างบ้านเสร็จแล้ว ความเชื่อถือก็คงจะดีขึ้น ผมมาใหม่ๆ ก็หาว่าผมกินเงิน 500 ล้านบ้าง 50 ล้านบ้าง พอนานๆ เข้าการด่าก็หายไปที่หาว่ากินเงินก็หายไป เพราะการกระทำ ผมคิดว่ามันอยู่ที่การกระทำนั่นเอง


 


 


เรื่องการยกคำร้อง 700 คดีก็เป็นประเด็นที่พันธมิตรฯ ยกขึ้นปราศรัยอย่างหนักหน่วงในช่วงนี้


ผมไม่เชื่อว่าจะไปช่วยเหลือพรรคการเมืองใด เพราะเวลาสอบสวนพยาน ต้องมีคำให้การจากคนที่มาร้องเรียน พวกผมต้องอ่านว่าคำให้การว่ายังไง เวลาแต่ละคนร้องเรียนมา เขาต้องอ้างตัวเขาเองและพยานที่มีทั้งหมด จนเราถามว่าอ้างพยานหมดหรือยังแล้วเขาบอกว่าหมดแล้ว จะว่าไม่ให้ความเป็นธรรมได้อย่างไร แล้วก็การสอบสวนของเรา พนักงานสอบสวนเสร็จก็อยู่ในการควบคุมของ กกต.จังหวัดที่เวลาสอบสวนเรียบร้อยแล้ว กกต.จังหวัดก็ส่งให้ส่วนกลาง ส่วนกลางมอบให้พนักงานสอบสวนคนใดคนหนึ่งทำความเห็นผ่านอนุกรรมการไต่สวนที่แต่งตั้งจากผู้พิพากษาอัยการทั้งหลายแหล่ แต่ละคนในแต่ละคณะกรรมการอนุไต่สวนมีอยู่ 5 คน โดยมาจาก กกต. ทั้ง 5 ท่านเลือกเข้าไป มีทั้งอัยการ ทนาย มีทั้งฝ่ายปกครอง ช่วยกันกลั่นกรองว่าควรมีความเห็นอย่างไรเมื่อมาถึงหน้าห้องก่อนจะเข้านำเสนอคณะอนุกรรมการไต่สวนมีความเห็นอย่างไร แล้วต้องมาส่งสำนวนของแต่ละท่านดูก่อน และหน้าห้องของผมก็ต้องช่วยกันดูอีกว่าความเห็นถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เสนอความเห็นอีกที และแต่ละคนก็ต้องดูคำพยานว่าเป็นยังไง


           


แต่ตัวเลข 700 คำร้องก็เป็นตัวเลขที่มาก นี่เป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่คำร้องถูกยกเป็นจำนวนมากขนาดนั้น


ตอนนี้ทาง กกต. มีโครงการสมานฉันท์ เพราะบางทีคำร้องเรียนเรื่องเล็กๆน้อยๆ ไม่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ยุติธรรม เช่น บางทีเรื่องติดป้ายผิด หรือขนคนมานิดหน่อย บางทีเขาทำได้แต่ก็มีคนร้องเพราะคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการร้องเรื่องการให้เงินบางทีก็มีแต่ข่าวเฉยๆ หรือขนาดมีพยานปากสองปากถูกซักไปมาก็กลับคำ ขณะนี้ คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มรการยื่นคำร้องและทางกกต. ส่งให้ศาลตัดสิน ก็ปรากฏว่าตัดสิน 3 เรื่อง ยกฟ้องไป 2 เรื่องแล้วลงโทษไปเรื่องเดียว ส่วนของพยานที่ร้องเรียนซึ่งต้องไปเบิกความที่ศาล เราก็ดูกันละเอียดอยู่แล้ว ผมเข้าใจว่าเรื่องที่ช่วยอย่างไม่ถูกต้องมันอาจจะมีแต่คงมีน้อยมาก


 


อย่างไรก็ตาม อาจจะมีความคาดหวังกับ กกต.มาก เพราะ กกต. เองก็ยังส่งคดียุบพรรคการเมืองไปยังอัยการ และถูกอัยการตีกลับได้ ก็อาจจะทำให้เกิดความคาดหวังว่า กกต. จะทำเช่นเดียวกันกับคดีอื่น คือเป็นฝ่ายส่งต่อคดีไปยังศาลหรืออัยการ


เดี๋ยวนี้เราให้ใบเหลืองใบแดงคดีท้องถิ่น ไม่น้อยนะ แต่เรื่องผู้แทน ที่ลงโทษได้ 2-3 เรื่อง เพราะมีพยานกล้ายืนยัน   และผลสุดท้ายพยานก็ต้องขอคุ้มครองว่าถูกข่มขู่ แล้วคิดดูสิที่อื่นมีใครกล้าบ้าง ยอมเสียสละเพื่อชาติ มีไหม มีแต่ได้ข่าว....คุณลองดูสำนวนสิ คดีท้องถิ่นเดี๋ยวนี้มีเกือบ 90 กว่าเรื่องแล้วที่คอยทยอยยื่นต่อศาล แต่เรื่องร้องคัดค้านผู้แทนราษฎรมีทั้งหมด 628 เรื่องพิจารณาเสร็จไปแล้ว 230 เรื่อง ยังต้องพิจารณาเข้ามาอยู่ประมาณ 200 กว่าเรื่อง อย่าลืมว่ากว่าจะได้มาแต่ละเรื่องไม่ใช่พิจารณากันง่ายๆ นะ ต้องช่วยกันคิดกันดูบางเรื่องอนุกรรมการก็สั่งให้ไต่สวนเพิ่ม


 


ท่านคิดอย่างไร กรณีที่ทางพันธมิตรฯ กดดันให้ กกต. เสียงข้างน้อยลาออก


เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าไปคิดว่าใครมีความเห็นไม่ตรงแล้วเป็นความผิดนี่น่าจะมิชอบ ผมเองเป็นผู้พิพากษา องค์คณะ 3 คน ผมอาจจะไม่เห็นด้วย แพ้ผู้พิพากษาอีก 2 คน ก็เรื่องธรรมดา เป็นผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยผมก็ทำความเห็นแย้ง เพราะฉะนั้นในผู้พิพากษาด้วยกันใครจะมีความเห็นต่างไม่เห็นด้วยเราจะไม่ว่ากันเลย เป็นธรรมดา


 


สมัยผมเป็นหัวหน้าศาลมีอยู่ครั้งหนึ่งในองค์คณะมีคนไปว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วย ไปด่าเขา ผมต้องเรียกเข้าที่ประชุมไปต่อว่า คนอย่าไปดูถูกความคิดเห็นของคนอื่น ถ้าเขาไม่เห็นด้วยก็เป็นความคิดเห็นเขา ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นด้วยไปหาว่าเขาโง่ ...ไม่ได้ ความคิดอาจจะแตกต่างกัน


 


ผมยกตัวอย่างว่าผู้พิพากษาเคยตัดสินครั้งแรกคดีคนลักรถจักรยานลงโทษเบา เพราะคิดว่าราคาไม่เท่าไหร่ แต่พอผู้พิพากษาถูกลักรถจักรยานของตนเองไป ต่อมาลงโทษหนักเลย เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะพื้นฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในผู้พิพากษาเองเป็นที่รู้กันเลยว่าคนนี้หัวสงสัยคือจะยกฟ้องอยู่เรื่อย เขาเรียกว่า "มือปล่อย" บางคน "มือลง" (พิพากษาลงโทษจำเลย) จะไม่เหมือนกันฉะนั้นเวลาจ่ายองค์คณะผู้พิพากษา อย่างผมเป็นหัวหน้าศาล ผมก็ต้องดูคนหนึ่งมือลงคนหนึ่งมือปล่อย พยายามให้มาคู่กัน ให้ความเป็นธรรมเขา หรือกรรมการสอบวินัยต้องหาคนเฮี๊ยบเคร่งครัดให้มาคู่กันอีกคนใจอ่อน ต้องประกบกันอย่างนี้ นี่เป็นหลักการ เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับว่าความเห็นผู้พิพากษานั้นพื้นฐานแต่ละคนมาไม่เหมือนกัน คนที่เป็นมือปล่อยสงสัยนิดหน่อยปล่อยลูกเดียว ส่วนคนที่มีความเห็นแตกต่างชอบเถียงมักจะไม่เห็นด้วยเสมอ ถ้าคนอื่นเห็นอย่างนั้น ก็คิดว่าอาจจะมีช่องเห็นอย่างนี้ละ นี่คือนิสัยผู้พิพากษา เขาบอกว่าปกครองคนยากที่สุดคือหมอกับผู้พิพากษา 2 คนนี่หัวแข็ง แต่ระบบคือเราเห็นต่างเราไม่ว่ากัน


 


 


ท่านคิดว่า กกต.มีอำนาจมากไปหรือน้อยไป เพราะประชาชนส่วนหนึ่งก็ดูจะคาดหวังกับมติของกกต. มาก


ตอนนี้เวลาให้ใบเหลืองใบแดงต้องขึ้นศาลอยู่แล้ว กกต.คล้ายกับบอร์ดจะว่ามีอำนาจมากก็ดูกระไร ฝ่ายสอบสวนก็สอบสวนไป ผมเข้าใจว่ากกต.คล้ายอัยการ จะลงโทษ ส.ว. หรือรัฐมนตรีก็ไปศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ไม่มีอำนาจ เพียงแต่ชงเรื่อง


 


แต่คนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดก็คาดหวังเรื่องผลทางการเมืองจากมติของ กกต. มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณียุบพรรคการเมือง


กกต. ก็เพียงแต่ทำความเห็น ซึ่งเด็ดขาดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนอัยการ ประชาชนทั่วไปก็ยังคิดว่าถ้าอัยการเห็นฟ้องคล้ายๆ กับกำลังใจอาจจะเสีย แต่ผมว่าคิดไปเองมากกว่า ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมยกตัวอย่างส่งไป 3 เรื่อง ศาลยกไป 2 แล้ว


 


เสียหน้าไหม


ไม่ครับ ความเห็นในฐานะนักกฎหมายด้วยกันเรารู้ ความเห็นทางกฎหมายเราว่ากันไม่ได้ ผมอยู่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็เคยพิพากษากลับ พิพากษายืนก็เยอะ เพราะฉะนั้นในแง่ของนักกฎหมาย เขาจะไม่ว่ากัน ถูกกลับเสมอเรื่องธรรมดา ความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะการทำงานครั้งแรกอาจจะเชื่อมากไปหน่อย เห็นอะไรก็เชื่อว่าไอ้นี่ขโมย พอนานๆเข้าก็เปลี่ยนไปเอง สมัยผมเป็นอัยการใหม่ๆ พอพยานกลับคำผมเอาสำนวนตีหัวเลย แต่อัยการอาวุโส เขานั่งอยู่ข้างๆ หัวเราะเลย แล้วเขาบอกว่าคุณรู้ไหมที่พยานเบิกความกลับอาจจะเป็นอย่างที่เขาว่าเพราะถูกตำรวจข่มขู่หรือเปล่า ผมถึงนึกขึ้นมาได้ ตอนให้การชั้นสอบสวน โดนบังคับ ตำรวจจดเองหรือเปล่า ผู้ใหญ่ผ่านประสบการณ์มามากเขาถึงนั่งหัวเราะเลย แต่เราโมโห หวังผลคดี


 


ท่านเป็นมือลงหรือมือปล่อย


บอกไม่ได้มันอยู่ที่คนอื่นบอก ไม่ใช่ผมบอก เวลาผมเป็นหัวหน้าศาลจ่ายสำนวน ผมก็ต้องดูคนว่าคนนี้ควรจะมือลงหรือมือปล่อย มือหนักหรือมือเบา คนไหนไม่ได้ก็จะประหารลูกเดียว บางคนก็ไม่ประหารไม่เคยประหารยังไงก็ลงจำคุกตลอดชีวิต ยังไงก็ไม่เหมือนกันพื้นฐานไม่เหมือนกันบางคนใจอ่อน บางคนใจแข็ง ความเข้มแข็งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขนาดผู้พิพากษาบางคนไม่อ่านคำพิพากษาประหารชีวิต ต้องให้คนอื่นไปอ่าน ตอนผมเป็นหัวหน้าศาล ผู้พิพากษาคนหนึ่งพอต้องอ่านประหารชีวิต แกลาเลย ผมต้องไปอ่านแทน


 


ผมยกตัวอย่างว่าผู้พิพากษาแท้จริงไม่มีจัดงานวันเกิด ต้องไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร เพราะตัดสินคดีลำบาก งานขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่ทำ ได้ดิบได้ดีเป็นอธิบดีจะไม่มีการเอากระเช้ามาให้ เพราะเป็นหน้าที่ คนเรามีความโลภโกรธหลง ขืนมามากๆ มันเสีย


 


มารยาทของเราต่อของเล็กๆน้อยๆ ผมยกตัวอย่างผู้พิพากษาท่านหนึ่งมีคนเอาแตงโมมาให้ ท่านปฏิเสธว่าไม่มีมีด แต่นึกถึงมารยาท คนที่เขาเอามาเขาเสียใจมาก เขามาด้วยความจริงใจ ของเขาปลูกเอง ท่านเลยมาคิดว่าท่านทำถูกหรือผิด บางทีผลไม้เขาปลูกเองผมก็ต้องรับ สมมติว่าเขามาให้ของด้วยใจจริงแล้วคุณไม่รับ ถ้าของมีค่านั่นห้ามเด็ดขาด แต่ของกินเล็กๆ น้อยๆ พอรับได้ แต่อย่าลืมว่าเราต้องใจเข้มแข็งว่ายังไง ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก


 


ที่ท่านอธิบายว่าในความสัมพันธ์ฝ่ายตุลาการนั้นต้องรักษาระยะ นี่เป็นเหตุผลที่ กกต. ไม่พูดคุยกันหรือไม่


เปล่า แต่ละคนเราอบรมกันมาอย่างนั้น ผู้ใหญ่เขาสอนกันมาอย่างนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net