Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา


 


 



 


"นี่มันเป็นเรื่องที่ส่อแสดงให้เห็นว่าการที่คุณเป็นคนชายขอบ เป็นคนเล็กคนน้อย


คุณสามารถถูกกระทำโดยกระบวนการยุติธรรมที่อยุติธรรมได้ตลอดเวลา


แล้วจากการที่คุณเป็นผู้เสียหายคุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อ…"



 


"เราไม่ได้ให้ความรู้กับชาวบ้าน แล้วในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่มีอำนาจมีเงินหรือมีฝ่ายที่มีความรู้


ก็ใช้กระบวนการที่มันเป็นอยุติธรรมเข้าไปทำร้ายชาวบ้าน"



 


"ถึงตอนนี้คดีพระสุพจน์ก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง


ยิ่งเมื่อสื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจหรือว่าสังคมมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่จะต้องติดตาม


สุดท้ายคดีพระสุพจน์ ก็เหมือนกับคดีของทนายสมชาย, คดีของเจริญ วัดอักษร...ก็ถือว่านี่เป็นความอัปยศของกระบวนการยุติธรรม..."



 


"ไม่น่าเชื่อว่า รมว.กระทรวงยุติธรรมยังจะสามารถแบกหน้าอยู่ได้


ไม่น่าเชื่อว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสามารถเชิดหน้าชูคออยู่ในตำแหน่งอยู่ได้


ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุข


ทั้งๆ ที่ว่า ญาติและผู้เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 คดี ทุกคนเป็นทุกข์ เสียใจ เศร้าโศก


แต่ก็ไม่มีแม้กระทั่งคำขอโทษที่คดีไม่คืบหน้า ไม่มีแม้กระทั่งการแสดงความเสียใจ"


 


 






 


 


 


 


 


พระสุพจน์ สุวโจ


(ที่มาภาพ : http://www.semsikkha.org)


 


 


17 มิ.ย.2548 ได้เกิดคดีสะเทือนขวัญจนเป็นข่าวครึกโครมไปทั้งประเทศ เมื่อ "พระสุพจน์ สุวโจ" พระนักกิจกรรมในกลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มพุทธทาสศึกษา และเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์สวนเมตตาธรรม ได้ถูกฆาตกรรมจนมรณภาพอย่างโหดเหี้ยม ในสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงู ต.สันทราย อ.ฝาง จ. เชียง ใหม่ แพทย์ระบุว่า มรณภาพมาไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง โดยถูกของมีคมฟันกระหน่ำเป็นแผลฉกรรจ์เกือบทั่วร่าง


 


ซึ่งการฆาตกรรมพระสุพจน์ในครั้งนั้น ผู้ใกล้ชิดได้มีการตั้งปมสาเหตุและฟันธงว่า เกี่ยวโยงกับปัญหาความขัดแย้งการแย่งชิงทรัพยากรฯ ที่ดินในเขตพื้นที่อำเภอฝางอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นปมปัญหาที่รุนแรงหนักขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน กระทั่งมีการข่มขู่คุกคาม โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้สนใจเข้ามาแก้ไข จนทำให้พวกนายทุนฮึกเหิมได้ใจและใช้ความรุนแรงอย่างอุกอาจเช่นนี้


 


ทว่าคดีดังกล่าว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกลับมีการพยายามปัดความรับผิดชอบโดยกล่าวอ้างว่า เป็นเพียงคดีความขัดแย้งและถูกฆาตกรรมสามัญธรรมดา จนญาติผู้เกี่ยวข้องของพระสุพจน์ต้องร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานเพื่อเข้ามาร่วมคลี่คลายคดีนี้ กระทั่งคดีได้ถูกโอนเข้าไปให้ "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือ ดีเอสไอ เข้าไปรับผิดชอบ


 


ต่อกรณีนี้ "ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" ภาควิชาประวัติศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความเห็นว่า ประเด็นนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นความสัมพันธ์ของอำนาจท้องถิ่นเองสามารถที่จะต่อเชื่อมกับอำนาจข้าราชการ ก็คือกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นสามารถที่จะเชื่อมการใช้อำนาจกับภาครัฐได้  กระบวนตรงนี้มันยิ่งทำให้อำนาจภายในท้องถิ่นเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในยามที่อำนาจภาครัฐส่วนกลางกำลังอ่อนแอ ในยามที่อำนาจรัฐส่วนกลางไม่มีเข็มมุ่งที่แน่นอน ว่าจะมีทิศทางทำอะไร ดังนั้น ถ้าหากอำนาจส่วนกลางไม่แสดงอะไรให้ชัดเจน ไม่พยายามปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ปกป้องดูแลคนในฐานะพลเมือง อำนาจรัฐท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นก็สามารถที่จะเหลิงอำนาจได้ และสามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ปิดกั้นหลักฐาน หรือมีการทำลายหลักฐานนั้นได้                                                                   


 


"กรณีของพระสุพจน์ ก็เป็นกรณีเดียวกันกับอีกหลายกรณีที่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งอีก 18 รายที่กระทำเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราต้องคิดกันก็คือว่า การทลายอำนาจอิทธิพลท้องถิ่นจำเป็นจะต้องมี และอันที่สอง จำเป็นต้องบีบให้อำนาจรัฐส่วนกลางว่าควรจะมีเข็มมุ่งที่ชัดเจน ดังนั้น กรณีคดีพระสุพจน์ ก็คงจะต้องทำการกดดันกันในหลายๆ ระดับ เพื่อให้มีการหาหลักฐานเพื่อเอาผิดในระดับพื้นที่ให้ง่ายมากขึ้น"                                                            


 


ในขณะที่ "นายสมชาย หอมลออ" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ก็ออกมาย้ำว่า คดีการฆาตกรรมพระสุพจน์ ถือว่าเป็น "คดีอุกฉกรรจ์" เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการฆาตกรรรมผู้ตายซึ่งเป็นพระสงฆ์และเกิดขึ้นในสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นสถานที่รโหฐาน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และตนเชื่อว่าถ้าไม่มีกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคงคลี่คลายคดีนี้ไปนานแล้ว เพราะสังคมต่างให้ความสนใจต่อคดีนี้ แม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศต่างให้ความสนใจ และทางสหประชาชาติก็มองว่าพระสุพจน์เป็นนักต่อสู้คนหนึ่งที่ร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าร่วมกับพระและญาติโยมร่วมกันต่อสู้กับความขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและระดับชาติ           


 


ซึ่งเมื่อหันมองโครงสร้างและการทำงานของดีเอสไอ นายสมชายมองว่า ดีเอสไอได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง!


 


"จริงๆ แล้ว จุดมุ่งหมายของการเกิดขึ้นของดีเอสไอ ก็เพื่อจะเข้ามาคลี่คลายคดีพิเศษ ที่ใช้ความชำนาญสูง ในกรณีที่ทางตำรวจทำคดีล้มเหลว ซึ่งเป็นคดีที่มีกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นและกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปพัวพัน ซึ่งดีเอสไอจะต้องเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเพื่อคานอำนาจเหล่านี้ แต่พอเอาเข้าจริง บุคลากรที่เข้าไปทำงานในดีเอสไอส่วนใหญ่แล้ว กลับเป็นกลุ่มเดิมคือล้วนมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งก็เป็นพรรคพวกกันทั้งนั้น และล่าสุด เห็นว่าจะมีการพยายามจะลดจำนวนบุคลากรที่มาจากตำรวจ แต่ก็ยังไม่เกิดผล เพราะทางดีเอสไอก็ไม่ได้โชว์ผลงานออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสอบสวนคดีพระสุพจน์ คดีเจริญ หรือแม้กระทั่งคดีทนายสมชาย ที่ลูกความของทนายสมชายถูกกระทำ รวมทั้งการสอบสวนเอาผิดนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กับพวก 10 คน แต่สุดท้ายคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า หนำซ้ำยังถูกมองว่า ดีเอสไอพยายามจะช่วยเหลือพรรคพวกเสียอีก"                                   


 


กระทั่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน ล่าช้า มีการซ่อนเงื่อน เคลือบแคลง แอบแฝงหรือไม่ !?


 


กระทั่งหลายฝ่ายต่างมองกันว่า นี่ไม่ใช่คดีธรรมดา ไม่ใช่ปัญหาธรรมดา แต่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง เป็นปัญหาการช่วงชิงทรัพยากรโดยกลุ่มนายทุน-ชนชั้นปกครองของรัฐ เป็นฝ่ายกระทำ โดยประชาชนส่วนใหญ่ตกเป็นผู้ถูกกระทำ !?


 


ใช่, จนถึงบัดนี้ ในวาระครบรอบ 3 ปี แห่งการจากไปของพระสุพจน์ สุวโจ คดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด


 


ล่าสุด "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ "พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ" ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมของไทยกับคดีพระสุพจน์ สุวโจ อย่างละเอียด อีกครั้ง...


 


 


 


  



 


 


พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ


ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์


(ภาพจาก : นิตยสารสารคดี)


 


 


 


0 0 0 0 0


 


 


ไม่ทราบว่าตอนนี้ความคืบหน้าคดีพระสุพจน์ สุวโจ ไปถึงไหนบ้าง


 


ก็ยังอยู่ในลักษณะเดิม คือไม่มีความคืบหน้าอะไร ทาง ดีเอสไอ(กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เองก็อยู่ในฐานะของผู้รับผิดชอบในคดีพระสุพจน์ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในทางคดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการระบุตัวของผู้ต้องสงสัย หรือการขอหมายศาลเพื่อจับกุมก็ไม่มีอะไรคืบหน้า


 


แต่มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้ถึงความคืบหน้า ก็คือ ไม่มีตำรวจคุ้มครองพยาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 เป็นต้นมา แต่กลับมีข่าวมาว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงมีการเบิกเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คุ้มครองพยานอยู่ ในขณะที่ไม่มีตัว ตำรวจมาคุ้มครองพยานใดๆ เลย


 


การกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการทุจริตหรือไม่


 


ก็เป็นพฤติกรรมที่เป็นไปได้ว่ามีการทุจริต คือมีการตั้งเบิกเบี้ยเลี้ยงคุ้มครองพยานสองนาย วันละสองร้อยบาทต่อนาย นั่นก็เท่ากับว่ามีการตั้งเบิกเบี้ยเลี้ยงวันละสี่ร้อยบาท เดือนหนึ่งประมาณ หมื่นสองพันบาท โดยที่ตำรวจสองนายไม่ได้รับ แล้วพอมีการตรวจสอบขึ้นภายหลัง ก็ไปเรียกตำรวจทั้งสองนายมาเซ็นแล้วก็ให้รับเบี้ยเลี้ยงไปบางส่วน ก็มีพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่ามีการทุจริต ตอนนี้อาตมาในฐานะของตัวแทนญาติและผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปถึงนายกรัฐมนตรีผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีจดหมายตอบมาจากสำนักนายกฯ ว่า ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปอีก


 


ที่ผ่านมาทางดีเอสไอ มีการปรับเปลี่ยนคนเข้ามารับผิดชอบ และยังรับปากว่าจะขึ้นมาตามคดีนี้ใหม่ไม่ใช่หรือ


 


ก็บอกว่าจะเข้ามาในพื้นที่ มีการแจ้งมาประมาณสามสี่ครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้เข้ามา หรืออาจจะเข้ามาในพื้นที่แต่ไม่ได้แจ้งให้เราทราบ ก็ไม่ทราบเหมือนกัน พูดไปเดี๋ยวจะหาว่าเราปรักปรำอีก แต่เขานัดว่าจะเข้ามาในสวนเมตตาธรรม เขานัดมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเข้ามา


 


ล่าสุด ก็ยังมาเกิดเหตุการณ์ กรณีจับกุมนางคำ เหล้าหวาน คนที่พบศพพระสุพจน์เป็นคนแรก ก็ถูกจับไปในคดี....


 


ซึ่งแต่เดิม ครั้งที่พระสุพจน์มรณภาพใหม่ๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นคดีที่ตั้งเรื่องขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นผู้ควบคุมตัวนางคำไปสอบปากคำในเชิงลึก แต่พอตำรวจในชุดที่ทำคดีพระสุพจน์ส่วนใหญ่ได้โยกย้ายกันไปก็ปรากฏว่า พอมาถึงผู้กำกับคนปัจจุบันของ สภ.อ.ฝาง ก็มีการชำระสะสางเรื่องโดยอ้างว่ามีหมายศาลค้างแล้วก็มีการจับตัวนางคำไป


 


(อ่านข่าว: โวยตร.ฝาง จับคนงานสวนเมตตาธรรมข้อหาวางเพลิง ชี้อาจเบี่ยงเบนคดีฆ่าพระสุพจน์)


 


ซึ่งถึงแม้ว่าในส่วนของพระในสวนเมตตาธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะพยายามให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้เป็นวิธีการของตำรวจทำ ทำคดีพระสุพจน์ตอนต้นที่ต้องการที่จะเอาตัวผู้ต้องสงสัยไปสอบปากคำในเชิงลึกก็หวังให้ทางผู้ที่เกี่ยวของกับสวนเมตตาธรรมระบุความผิดว่า คนนั้นขโมยไม้เพื่อจะจับเขาในข้อหาลักทรัพย์เพื่อไปรีดข้อมูลในคดีพระสุพจน์ หรือว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านนางคำซึ่งน่าจะสงสัยว่ามีการลอบวางเพลิง แต่ก็ไม่มีการสืบสวนสอบสวนในกรณีของการลอบวางเพลิง แต่กลับไปปรักปรำนางคำว่าประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้และทำไห้เสียทรัพย์แล้วก็ควบคุมตัวไป


 


ทีนี้ ลักษณะที่น่าสนใจก็คือว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่พระสุพจน์มรณภาพจนถึงวันจับตัวนางคำนั้น เป็นเวลาตั้งสองปีเศษ ซึ่งนางคำทำงานอยู่ที่สวนเมตตาธรรมตลอด มีตำรวจมารักษาความปลอดภัยในสวนเมตตาธรรมตลอด นางคำไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนีใดๆ แต่ก็ไม่มีการจับกุม ทั้งๆ ที่หมายศาลออกมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2548 แต่ทำไมเพิ่งมาจับกุมนางคำ เดือนเม.ย.2551 หลังจากที่นางคำย้ายออกไปอยู่ข้างนอกสวนเมตตาธรรมเพราะว่ามีครอบครัว ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องแปลกและเป็นเรื่องน่าสงสัย น่าตั้งข้อสังเกต


 


แล้วเมื่อกรรมการสิทธิฯตั้งข้อสังเกตเหล่านี้ กับทางสำนักงานอัยการจังหวัดฝาง ก็ปรากฏว่าทางอัยการก็ได้มีการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมก็จริง แต่ปรากฏว่าปากคำที่พยานให้การเพิ่มเติมตรงกันว่าในส่วนของผู้รับผิดชอบในสวนเมตตาธรรมไม่ติดใจสงสัยในกรณีที่ไฟไหม้บ้านนางคำ ว่านางคำจะเป็นต้นเหตุหรือไม่แล้วก็ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากนางคำ หรือว่าทางกรรมการสิทธิฯเองก็บอกว่าเท่าที่มีการสอบปากคำนางคำในกรณีของพระสุพจน์แล้วก็เกี่ยวกับเรื่องไฟไหม้บ้าน


 


แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ.ฝาง ก็ออกมายืนยันว่าการจับกุมนางคำ ไม่ได้เกี่ยวกับคดีพระสุพจน์


 


ก็ใช่ เป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ตลอดเวลา แต่น่าสนใจก็คือว่าการจับกุมนางคำนี่ มันเกิดขึ้นหลังจากที่ทนายจากสภาทนายความมาสอบปากคำนางคำเพิ่มเติมก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน แล้วถัดจากนั้นไม่กี่วันก็เกิดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งจะด้วยเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้ว เมื่อปรากฏว่าก็มีรถยนต์ซึ่งขับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภอ.ฝางได้ชนนายพงษ์ โถแก้ว ซึ่งเป็นพยานอีกคนหนึ่งในคดีพระสุพจน์ จนได้รับความบาดเจ็บแต่สุดท้าย กลับกลายเป็นว่า ผู้ที่ชนไม่ได้ผิด แต่กลับตาลปัตรเป็นนายพงษ์ไปชนรถยนต์ไป แล้วทางฝ่ายนั้นไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย อะไรทำนองนี้


 


เหมือนพยานหรือญาติผู้เกี่ยวข้องจะถูกคุมคามมาโดยตลอด


 


(พยักหน้า) เรื่องเหล่านี้ มันเหมือนมีเหตุบังเอิญ ประจวบเหมาะ คือทุกครั้งที่ดีเอสไอมีการแถลงหรือว่าสภาทนายความเข้ามาในพื้นที่ ก็จะมีเหตุบังเอิญแปลกๆ เกิดขึ้น เช่นว่า เมื่อทนายจำสภาทนายความมาสอบปากคำนายพงษ์,นางคำ,พระมหาเชิดชัย ถัดจากนั้นอีกวันสองวันก็มีคนมายิงปืนที่หน้าสวนเมตตาธรรม


 


ถัดจากนั้นมาอีกประมาณสัปดาห์หรือประมาณสิบวัน ก็มีรถสิบล้อที่ไม่ได้บรรทุกอะไร เป็นรถทะเบียนต่างจังหวัด ได้ขับรถตามรถของมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ในลักษณะกระชั้นชิดเป็นระยะทางตั้ง 70-80 กม.ซึ่งถ้าหากว่าเกิดเหตุให้รถของมูลนิธิเบรกกะทันหันอะไรข้างหน้าก็สามารถชนได้ทันที ครั้นคนขับรถเปิดโอกาสให้แซงก็ไม่แซง เมื่อคนขับรถเร่งเครื่องเพื่อที่จะให้ห่างออกไปจากรถคันนั้นก็มีการเร่งเครื่องติดตามมาตั้งแต่ทางแยก อ.เชียงดาวที่จะไปเวียงแหงมาจนถึง ต.แม่สูน อ.ฝาง


 


หลังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ร้องเรียนไปหน่วยงานที่รับผิดชอบบ้างไหม


 


แจ้งไปทางกรมสวบสวนคดีพิเศษ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ พอแจ้งให้ตำรวจ สภ.อ.ฝางในขณะนั้นนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2550 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่มีการส่งตำรวจมารักษาการเหมือนก่อนหน้านั้น


 


(คือก่อนหน้านั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวงจากกองปราบฯ จำนวน 2 นาย ได้ถูกส่งตัวมาคุ้มครองพยาน และได้ถอนตัวออกไปตั้งแต่เดือน ต.ค.2551 ต่อมา ระหว่างเดือนตุลาถึงเดือนธันวา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.ฝางมารักษาการอยู่บ้างเป็นบางวัน)


 


แต่หลังจากเดือน ธ.ค.2550 จนถึงเดือน มี.ค.2551ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.ฝาง มาดูแล เพิ่งมาหลังจากที่มีการประกาศว่าจะมีการจัดงาน 3 ปี พระสุพจน์ที่จะถึงนี้ ก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.ฝางเข้ามารักษาการหนึ่งนาย วันหนึ่งประมาณสามสี่ชั่วโมง


 


เหตุการณ์แบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องเริ่มที่จะเคยชินกับท่าทีอย่างนี้ของผู้รับผิดชอบในคดีนี้ แม้กระทั่งร้องเรียนไปยังสำนักงานคุ้มครองพยาน สำนักงานคุ้มครองพยานก็ยังตอบกลับว่า เมื่อคดีเข้าสู่ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทางสำนักงานคุ้มครองพยานก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษจะต้องดูแลคุ้มครองพยานในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบ ก็เท่ากับว่าทุกฝ่ายก็ต่างทอดธุระไม่ได้รับผิดชอบใดๆ เลย


 


ได้ร้องเรียนไปถึงรัฐบาลนายสมัครหรือยัง


 


รัฐบาลภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช นี่ก็ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปทั้งในส่วนของทางคดีแล้วก็ในเรื่องของการคุ้มครองพยานและในเรื่องขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองพยานว่ามีความไม่ชอบมาพากลเหมือนอย่างที่บอกแล้ว แล้วก็มีหนังสือตอบรับมาจากสำนักนายกรัฐมนตรี  ว่าได้ส่งเรื่องต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษก็แค่นั้น


 


พูดถึงประเด็นกระบวนการยุติธรรมหรือการพิสูจน์ข้อมูล เช่น การชันสูตรหรือการพิสูจน์ฯ ในต่างประเทศเขามีมานานแล้วใช่ไหมที่ญาติหรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องสามารถที่จะเข้าไปเป็นกรรมการตรวจสอบตรงนั้นได้


 


คือสามารถนำเสนอได้ คือในต่างประเทศการที่จะนำเสนอหลักฐานหรือวัตถุพยานหรือการระบุตัวบุคคลที่จะเป็นพยานอะไรต่างๆ มันเป็นสิทธิของผู้เสียหายซึ่งในกฎหมายได้ ก็เชื่อว่ามีเรื่องพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ให้ความรู้กับชาวบ้าน แล้วในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่มีอำนาจมีเงินหรือมีฝ่ายที่มีความรู้ก็ใช้กระบวนการที่มันเป็นอยุติธรรมเข้าไปทำร้ายชาวบ้าน ทำลายความเป็นจริงที่มันควรจะถูกพิสูจน์ขึ้นมาโดยกระบวนการในการพิจารณาคดีหรือในการดำเนินคดีมีการพูดกันโดยทั่วไปว่าคนรวยและคนที่มีอำนาจไม่ติดคุกลัวมีการพูดในลักษณะติฉินนินทาอยู่ตลอดเวลา ว่าตำรวจซื้อได้ อัยการซื้อได้หรือแม้แต่กระทั่งบ้างคนถ้าหากว่าพูดกันอย่างไม่เป็นข่าวพูดไปถึงว่าศาลก็ซื้อได้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่ามันกลายเป็นเรื่องของการซุบซิบ เรื่องนินทา แล้วไม่มีใครที่จะพยายามที่จะพิสูจน์เรื่องพวกนี้


 


แต่บางกรณีก็ปรากฏชัดอยู่ว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาได้รับผลประโยชน์ เคยมีกรรมการที่ถูกตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนเพราะมีความผิดในทางวินับในทางอาญาเรื่องของการได้รับผลประโยชน์หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษ์เองก็เคยมีกรณีที่ถูกดำเนินการในด้านที่เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการได้รับผลประโยชน์


 


นี่คือจุดอ่อนของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย


 


ใช่ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ถ้าเราไม่สามารถทำให้ภาคประชาชนได้เข้าถึงโดยความเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่มันมีจุดอ่อนอย่างไร มีข้อบกพร่องอย่างไร


 


ลองยกตัวอย่างชัดๆ


 


มันก็จะเกิดเหมือนอย่างกรณี นางคำ เหล้าหวาน ก็คือ วันดีคืนดีเกิดไฟไหม้บ้านโดยที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในบ้าน แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิสูจน์ว่าใครทำให้ไฟไหม้โดยใช้วิทยาการที่เกี่ยวข้องมาหาสาเหตุว่าเกิดไฟไหม้ได้อย่างไร ก็มีกระบวนการในการด่วนสรุปว่า นางคำน่าจะทำให้เกิดไฟไหม้ เสร็จแล้วก็มีการตั้งข้อหา แล้ววันดีคืนดีก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาเชิญตัวนางคำที่บ้านบอกว่าจะต้องไปให้ปากคำแต่ไม่ได้ระบุข้อหา ที่นางคำไปเพราะเข้าใจเอาว่า ตำรวจต้องการสอบปากคำในคดีพระสุพจน์ ญาตินางคำ สามีนางคำเชื่อว่าน่าจะไปให้ปากคำคดีพระสุพจน์ ก็ให้ไปจนค่ำมืดดึกดื่น ก็ปรากฏว่ายังไม่กลับพอตามไปถึงโรงพักปรากฏว่าตำรวจได้ตั้งข้อหานางคำแล้วว่า เป็นการจับกุมตามหมายศาล


 


ซึ่งตรงนี้ถ้าเป็นต่างประเทศ คงฟ้องร้องกันได้หลายคดีความ เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเชิญตัวไปโดยยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แล้วปรากฏว่าในขณะนั้น นางคำทราบถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ มีการแจ้งสิทธ์ของนางคำหรือไม่ นางคำมีทนายความที่จะขอคำปรึกษาในขณะนั้นหรือไม่ การควบคุมตัวนางคำไว้จนไม่สามารถประกันตัวได้ในเวลาที่เหมาะสม พอมีการทักท้วงก็มีการพาตัวนางคำเข้าไปฝากขังที่ตัวเรือนจำ ทำนองนี้


 


นี่มันเป็นเรื่องที่ส่อแสดงให้เห็นว่าการที่คุณเป็นคนชายขอบเป็นคนเล็กคนน้อยคุณสามารถถูกกระทำโดยกระบวนการยุติธรรมที่อยุติธรรมได้ตลอดเวลา แล้วจากการที่คุณเป็นผู้เสียหายคุณอาจจะกลายเป็นเหยื่อ หรือจากแทนที่คุณจะเป็นโจทก์ แทนที่นางคำจะไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าบ้านของตนเองถูกวางเพลิงนางคำก็กลายเป็นจำเลย แต่ถามสิว่า ถ้าหากนางคำมีนามสกุลที่เป็นที่รู้จักหรือมียศถาบรรดาศักดิ์ นางคำจะอยู่ในฐานะอะไร ไม่งั้นเหมือนอย่างคดีเหมือนอย่างคดีดาบยิ้ม ก็จะไม่จบลงเหมือนอย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ นี่เป็นคดีตัวอย่างที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความอัปยศของกระบวนการยุติธรรม


 


อยากฝากอะไรไปถึงนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ในฐานะเป็นผู้ดูแลกระบวนการยุติธรรมและในฐานะเคยเป็นนักการเมืองในเขตพื้นที่นี้


 


ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ กับคดีพระสุพจน์ เป็นกรณีพิเศษหรอก แต่ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่ควรจะเป็น ขอเพียงแค่ข้าราชการประจำกับนักการเมืองมีจิตสำนึกที่จะทำงานให้คุ้มค่ากับภาษีอากรของชาวบ้านก็พอแล้ว อยากให้ตำรวจที่ สภ.อ.ฝางได้ทำหน้าที่อย่างที่ตำรวจควรจะทำ ให้สำนักงานคุ้มครองพยานของกระทรวงยุติธรรมได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำทำหน้าที่อย่างที่เป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้มากกว่าการรับใช้นโยบายของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ในแต่ละช่วงแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว 


 


ถ้าทำได้เช่นนี้ เชื่อว่ามันจะเกิดความสงบสุขขึ้นมาในบ้านเมือง เกิดความถูกต้องที่เป็นแบบอย่างเป็นแบบแผนขึ้นมาในบ้านเมืองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะถึงตอนนี้คดีการถูกลักพาตัวของทนายสมชาย(นีละไพจิตร) ก็ไม่มีอะไรคืบหน้ามากไปกว่าการจัดปาหี่เพื่อสร้างภาพ หรือคดีสังหารคุณเจริญ วัดอักษร ก็ไม่ต้องพูดถึง เมื่อตอนนี้มือปืนตายในคุกไปทั้งสองคน ซึ่งไม่ว่าจะตายโดยถูกฆ่าหรือว่าจะตายเอง เป็นโรคร้ายหรือว่าเป็นโรคร้าย เพราะถูกทำให้เป็นหรือไม่ ก็ไม่มีใครพิสูจน์


 


ถึงตอนนี้คดีพระสุพจน์ก็กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งยิ่งเมื่อสื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจหรือว่าสังคมมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่จะต้องติดตามสุดท้ายคดีพระสุพจน์ ก็เหมือนกับคดีของทนายสมชาย คดีของเจริญ วัดอักษร หรือยิ่งกว่าด้วยซ้ำที่ว่าแม้กระทั่งตัวผู้ต้องสงสัยก็ยังไม่สามารถระบุได้


 


ก็ถือว่านี่เป็นความอัปยศที่ไม่น่าเชื่อว่า รมว.กระทรวงยุติธรรมยุติธรรมยังจะสามารถแบกหน้าอยู่ได้ ไม่น่าเชื่อว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสามารถเชิดหน้าชูคออยู่ในตำแหน่งอยู่ได้ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุขทั้งๆ ที่ว่า ญาติและผู้เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 คดี ทุกคนเป็นทุกข์ เสียใจ เศร้าโศกแต่ก็ไม่มีแม้กระทั่งคำขอโทษที่คดีไม่คืบหน้า ไม่มีแม้กระทั่งการแสดงความเสียใจ ไม่มีแม้กระทั่งเมื่อมีการจัดงานรำลึกถึงวันเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร  วันครบรอบหายตัวไปของทนายสมชาย หรือวันครบรอบของการมรณภาพของพระสุพจน์ ไม่มีแม้กระทั่งคำว่าเสียใจออกมาจากปากของ รมว.กระทรวงยุติธรรม หรือว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นี่ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเราอยู่ในสังคมที่คนของรัฐเป็นอย่างไร


 






 


 


 


ช่วยบอกเล่ารายละเอียดการจัดงานรำลึกครบรอบ 3 ปีการสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายน 2551


 


เป็นการรำลึกครบรอบ 3 ปี ที่พระสุพจน์ถูกฆาตกรรม เป็นการทบทวนเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่เราเรียกกันว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็คงไม่ใช่เฉพาะกรณีของพระสุพจน์ ก็จะรวมไปถึงคุณเจริญ วัดอักษร ทนายสมชาย นีละไพจิตร แล้วก็รวมไปถึงกรณีอื่นๆ เท่าที่จะสามารถจะมาร่วมงานกันได้


 


ก็จะมีการสรุปและประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยหรือสถานการณ์การใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาครัฐกระทำต่อความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมือง


 


อีกส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นการพูดกันถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมหัวข้อของการเสวนาเรื่อง"สิทธิชาวบ้านกับการเข้าถึงความยุติธรรม" ซึ่งก็คงจะต้องวิพากษ์ กระบวนการยุติธรรมว่าถึงตอนนี้ในความเป็นประชาชน ในความเป็นพลเมืองในความเป็นชาวบ้านรวมไปถึงผู้ด้อยโอกาสหรือคนชายขอบคนเล็กคนน้อยจริงๆ แล้วเขาสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้หรือไม่ หรือว่ากระบวนการยุติธรรมการกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่กดขี่ข่มเหงชาวบ้านหรือฝ่ายที่เอาเปรียบชาวบ้าน


 


เพราะว่าข้อกฎหมายซึ่งโดยกระบวนการของประเทศไทยในการพิจารณาคดีกลายเป็นการยึดถึงเฉพาะตัวบทโดยไม่คำนึงถึงบริบท พื้นฐานทางวัฒนธรรมประเพณีหรือว่าคติความเชื่ออื่นๆ หรือแม้กระทั่งว่าความถูกต้องดีงาม ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนก็ไม่ได้ถูกหยิบยกมาพิจารณา ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ควรแก่การตั้งข้อสังเกต และพูดถึงหรือแม้กระทั่งว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงก็กลับตกอยู่ในกำมือของรัฐหรือคนของรับเพียงฝ่ายเดียวการสืบสวนสอบสวนอย่างมีส่วนร่วมน่าจะเป็นอย่างไรควรจะเกิดขึ้นหรือไม่การรวบรวมพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นวัตถุพยานต่างๆ หรือหลักฐานต่างๆ หรือแม้กระทั่งกรณีของประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อมคนทั่วไปหรือผู้เกี่ยวข้องกับคดีนั้นๆ มีสิทธิ์มีเสียงแค่ไหนอย่างไร


 


ยกตัวอย่างคดีพระสุพจน์ เมื่อตำรวจมีความบกพร่องในการรวบรวมวัตถุพยาน ในการรวบรวมหลักฐาน การชันสูตรของแพทย์เป็นการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการตายมากกว่าการหาว่าใครฆ่า แม้กระทั่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็เป็นการชันสูตรศพเพื่อระบุว่าตายเพราะอะไรมากกว่าการหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือว่าหาเงื่อนงำของคดี เช่น กรณีของการที่พระสุพจน์ถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตโดยอาวุธของมีคมเป็นบาดแผลฉกรรจ์ ถามว่าพระสุพจน์ได้ต่อสู้ป้องกันตัวด้วยหรือไม่  มีการเก็บดีเอ็นเอตรงเล็บมือของพระสุพจน์หรือว่าที่ร่างกายส่วนอื่นๆ ว่ามีดีเอ็นเอของบุคคลอื่นอยู่หรือไม่ซึ่งอาจจะทำให้สามารถพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าบุคคลที่มาทำร้ายพระสุพจน์เป็นใคร การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลลักษณะในลักษณะอย่างนี้ไม่ได้ถูกกระทำ แล้วในขณะเดียวกันการชันสูตรหรือการตรวจสอบที่เกิดเหตุในบางลักษณะกลายเป็นที่มาของการกล่าวร้ายต่อผู้ตายเสียด้วยซ้ำ


 


เพราะฉะนั้น ตรงนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าทุกส่วนของกระบวนการยุติธรรม ประชาชนทั่วไปหรือชาวบ้านทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไรตรงนี้เราจะมีการเสวนากัน นอกจากนั้นก็เป็นพิธีกรรมทางด้านศาสนาแล้วก็เป็นเรื่องของการระดมทุนเพื่อก่อตั้ง "มูลนิธิพระสุพจน์สุวโจ" ด้วย


 


 


 


 








 


กำหนดการ


งานครบรอบ ๓ ปี การสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ


๑๕-๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑


ณ สถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตาธรรม"


๓๑๓ หมู่ ๕ บ้านห้วยงูใน ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 


๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑


๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.  ลงทะเบียน


๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.  บรรยายสรุปความเป็นมา, นำชมกุฏิพระสุพจน์ สุวโจ และที่เกิดเหตุ


                  โดย พระมหาเชิดชัย กฺวิวํโส


๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.  ชมสารคดีเบื้องหลังและบทวิเคราะห์ กรณีการสังหาร


                  พระสุพจน์ สุวโจ  ผลงานถ่ายทำของเนชั่นทีวี 


๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๑


๐๙.๐๐ - ๑๑.๓๐ น.  สรุปความไม่คืบหน้า คดีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ โดย พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ


๑๓.๐๐ - ๑๓.๓๐ น.  สรุปสถานการณ์การใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชน


                  โดย คุณเมธา  มาสขาว  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


๑๓.๔๕ - ๑๖.๐๐ น.  เสวนา "สิทธิชาวบ้านกับการเข้าถึงความยุติธรรม"


                  นำการเสวนาโดย


                        คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย,


                        คุณรสนา โตสิตระกูล


                        คุณอังคณา นีละไพจิตร


                        น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ


                        คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ


                        คุณถาวร เสนเนียม


    พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์


                        พ.อ.ปิยวัฒก์ กิ่งเกตุ


                        คุณไพโรจน์ พลเพชร


    คุณแสงชัย รัตนเสรีวงศ์


                        พระครูพิพิธสุตาทร


                        พระอธิการเอนก จนฺทปญฺโญ


                  ดำเนินรายการโดย   คุณสุริยันต์ ทองหนูเอียด


๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.  การแสดงโดยเพื่อนชาวดาระอั้ง และปกากะญอ 


๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑


๐๘.๐๐ - ๐๘.๓๐ น.  ร่วมภาวนาเพื่อ พระสุพจน์ สุวโจ


๐๘.๔๕ - ๐๙.๔๕ น.  พิธีกรรมแบบล้านนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้จากไป


๑๐.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.  ปาฐกถาธรรม "ก้าวข้ามความโกรธ รื้อถอนความรุนแรง"


                  โดย พระไพศาล วิสาโล


๑๑.๑๕ - ๑๑.๓๐ น.  ถวายผ้าป่าสามัคคีเพื่อกองทุนจัดตั้งมูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ 


หมายเหตุ


- อาหารและภัตตาหาร เช้า-เพล/เที่ยง เวลา ๐๗.๐๐ น. และ ๑๑.๓๐ น.


- อาหารเย็น(ฆราวาส) และน้ำปานะ(สำหรับภิกษุสามเณรและแม่ชี) เวลา ๑๗.๓๐ น.


·     ผู้มาร่วมงานที่ประสงค์จะพักค้างคืนในสวนเมตตาธรรม ควรเตรียมกลด, เต็นท์ หรือถุงนอน และเครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็นมาเอง


·     เนื่องจากระยะเวลาจัดงานเป็นช่วงฤดูฝน กิจกรรมกลางแจ้งอาจปรับเปลี่ยนเวลาตามความเหมาะสม


 


ร่วมจัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


            คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน


            คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน


            สมัชชาคนจน


            กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก


            เครือข่ายพุทธิกา


            เครือข่ายพระนักพัฒนาภาคเหนือ


            สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ


            สำนักพิมพ์สุขภาพใจ


            และกลุ่มพุทธทาสศึกษา - มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์   


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :  คุณอาภาวดี งามขำ โทรศัพท์ 086- 757 -5156,


            E-mail : mail@metta.or.th, website : http://www.metta.or.th/ และ http://www.kittisak.org


 


 


 






 


 มูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ


เกิดขึ้นจากความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มกัลยาณมิตรพระสุพจน์ สุวโจ ตลอดจนคณะญาติ และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ให้การสนับสนุน ในการเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อกรณีการฆาตกรรม พระสุพจน์ สุวโจ ที่เกิดขึ้นอย่างทารุณโหดร้าย สร้างความสะเทือนขวัญต่อศาสนิกชน ตลอดจนผู้รักความเป็นธรรมทุกภาคส่วน ทุนดำเนินงานของมูลนิธิฯ ส่วนหนึ่ง มาจากเงินกองทุนเพื่อความเป็นธรรม กรณีฆาตกรรมพระสุพจน์ สุวโจ และรายได้จากการจัดจำหน่าย สมุดบันทึก "ไม่วุ่นก็ว่าง" และหนังสือ "กระจก : บทกวีของ ฤทธิพร อินสว่าง" ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ และจำหน่ายเพื่อนำรายได้สมทบทุนก่อตั้งมูลนิธิพระสุพจน์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ


วัตถุประสงค์ของ มูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ คือ        


๑. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา         


๒. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนท้องถิ่น          


๓. ส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา การอนุรักษ์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติ


๔. ส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน


๕. ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค          


๖. ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด


มูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ จะดำเนินการจดทะเบียนภายหลังจากสามารถระดมทุนจดทะเบียนครบ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนและเริ่มดำเนินงานได้ภายในสิ้นปี ๒๕๕๑ ท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จาก www.metta.or.th หรือสอบถามรายละเอียดได้โดยตรงที่ mail@metta.or.th


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net