Skip to main content
sharethis

5 มิ.ย.51 - จากการที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯเกี่ยวกับสถานะทางการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำโดยนางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะนำแผนปฏิบัติการด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Action Plan ไปเสนอต่อสหรัฐฯเพื่อปรับสถานะทางการค้าของไทยให้ดีขึ้นนั้น


 


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้แสดงความกังวลต่อแผนปฏิบัติการฯดังกล่าวโดยเฉพาะประเด็นสิทธิบัตรยา เพราะที่ผ่านมา การประกาศบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอลของไทย ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นการกระทำถูกต้องตามกรอบกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ


 


"ไม่ว่าจะมีคณะกรรมการทั้งในและนานาชาติมาตรวจสอบกี่รอบก็สรุปตรงกันว่าถูกต้องทุกประการ ไม่ทราบว่าเหตุใดกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องห่วงไย ดังนั้น คงสามารถพูดได้ว่าเรื่องซีแอลเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่น่าจะเป็นเรื่องไม่ถูกใจกระทรวงพาณิชย์กับบริษัทยามากกว่า โดยเฉพาะอธิบดีพวงรัตน์ควรมีความคิดที่เป็นอิสระมากกว่านี้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเราเป็นชาติที่มีอธิปไตย นี่คือสิทธิอันชอบธรรม ของไทย กฎหมายก็ระบุชัดว่า เราไม่จำเป็นต้องไปขออนุญาตกับบริษัท"


 


ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เห็นว่าที่ผ่านมาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกาศบังคับใช้สิทธิต่างพยายามที่จะเจรจา เพื่อลดผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น "ไม่ใช่ว่าไม่คุย หรือไม่ปรึกษาบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรเลยตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่บริษัทยาเหล่านั้นละโมภเกินไป ไม่ยอมลดราวาศอกเรื่องราคายา จนเมื่อจนมุมจึงยอมลดราคา แต่ยังพ่วงเงื่อนไขต่างๆมากมาย เช่นไม่สามารถบอกได้ว่าลดราคา แต่ใช่วิธีซื้อจำนวนเท่านี้ จึงจะแถมเท่านั้น คำพูดติดปากบริษัทยาทุกครั้ง คือ กลัวเสียโครงสร้างราคา"


 


ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวต่อว่า การที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอ้างว่า บริษัทยาต้นแบบลดราคาลงมา 7 เท่า เหลือแค่ 7 บาทนั้น ไม่ได้เกิดจากสำนึกที่จะช่วยคนให้เข้าถึงยา แต่เป็นความพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย ที่พยายามโน้มน้าวชักจูงข้าราชการ "เขาใช้ไม้ตายว่า ยาของเขาดีกว่ายาชื่อสามัญ ซึ่งไม่จริง 100% เพราะรู้กันอยู่แล้วว่า ยาทุกตัวที่ขึ้นทะเบียนยา มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกัน ฉะนั้นเป็นการสร้างภาพของบริษัทต้นแบบ ฉะนั้นอธิบดีไม่ควรตกเป็นเหยื่อของการสร้างภาพนี้"


 


สำหรับการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน นายนิมิตร์เห็นว่า รัฐบาลควรหารือและมีส่วนร่วมมากกว่านี้ "ไม่ใช่มันแต่ยึดติดการเป็นอมาตยาธิปไตย นึกจะตั้งใครก็ตั้ง เรื่องแบบนี้ถ้ามองว่าเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมต้องดึงคนทุกส่วนเข้ามา จะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ได้มีส่วนร่วม ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม องค์การเภสัชกรรม อุตสาหกรรมยาในประเทศ แต่น่าแปลกที่มีตัวแทนอุตสาหกรรมยาข้ามชาติถึง 2 คน เท่ากับตัวแทนของเครือข่ายผู้ป่วย ทั้งที่การเข้าไม่ถึงยาเป็นความเดือดร้อนของคน 66 ล้านคน"


 


ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์มองว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะชะลอหรือทำให้การทำซีแอลมีความยุ่งยากมากขึ้น ทั้งที่คณะกรรมการชุดเดิม โครงสร้างเดิมก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ "ฉะนั้นทั้งการตั้งคณะกรรมการและ การที่มี action plan ก็ดี แต่เป็นเรื่องส่วนร่วมควรต้องระดมความเห็นทุกฝ่าย ไม่ใช่ใช้ทัศนะยอมจำนนแบบที่เป็นอยู่"


 


ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ยังกังวลว่า action plan ที่จะนำไปเสนอกับสหรัฐฯ อาจะไม่มีแค่ที่เป็นข่าว เพราะเมื่อปีที่แล้ว ทางการสหรัฐเคยยื่นแผนปฏิบัติการให้ประเทศไทยปฏิบัติตาม  หากต้องการหลุดจากประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) กลับไปเป็นประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ซึ่งเนื้อหาของ Plan of Action นั้นไม่ต่างจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในการเจรจาเอฟทีเอรอบ 6 เมื่อต้นปี 2549 นั่นคือ


 


-           แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทุกฉบับตามที่สหรัฐต้องการ


-           ให้ความผิดทางทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน


-         ไทยต้องเป็นภาคีการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty หรือ PCT), อนุสัญญาเครื่องหมายการค้า (Matrix)


-           ขยายอายุสิทธิบัตรออกไปจากเดิมที่คุ้มครอง 20 ปี


-           ยกเลิกการคัดค้านก่อนการอนุมัติสิทธิบัตร


-           จำกัดการบังคับใช้สิทธิให้เหลือเพียง กรณีฉุกเฉินระดับชาติ


-           ต้องยอมให้ผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity)


 


"และที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ก็พยายามดำเนินรอยตามแผนนี้อย่างเงียบๆ จะเห็นได้จากการผลักดันให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิบัตร และความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีเนื้อหาดังกล่าว


 


ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าวทิ้งท้ายว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศโดยส่วนใหญ่ จะสามารถรักษาให้คนให้อยู่รอดได้ก็ด้วยยาชื่อสามัญ ฉะนั้นหากกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไปทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบวิจัยว่า กินยาที่ทำซีแอลมีคุณภาพหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่มีหน่วยงานอื่นๆที่รับผิดชอบทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว "สิ่งที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์น่าจะทำสิ่งที่เป็นบทบาทความรับผิดชอบของตัวเอง คือ ไปศึกษาและติดตามโครงสร้างราคายาออกมาให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ จะได้รู้กันว่า ทำไมยาที่ขายราคาเป็นร้อย อยู่ๆถึงลดราคาลงได้ 7 เท่า มันเกิดจากโครงสร้างราคาที่แท้จริงหรือเปล่า"


 


 






 


วันจันทร์ที่  9 มิถุนายนนี้ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส)  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมจัด การสัมมนาพระราชบัญญัติสิทธิบัตร : ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองประชาชน ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เวลา 9.00-15.30 น.


 


รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คคส. 02 218 8445


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 085 0708 954


นิมิตร์ เทียนอุดม 081 666 047


 


     


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net