Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และองค์กรประชาสังคมต่างๆ ในเชียงใหม่ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา "วิกฤตการเมืองไทย รัฐประหาร และทางออก?" ที่ห้องประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาคประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายสมศักดิ์ โยอินชัย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อนหญิง ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ดำเนินรายการโดยนายสืบสกุล กิจจนุกร นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


และต่อไปนี้เป็นการอภิปรายของผู้ร่วมเสวนา


 


000


 



1.


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


"การล้างไพ่ใหม่ คือแก้รัฐธรรมนูญโดยให้มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพราะทำให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ สามารถมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ซึ่งกันและกันในสังคมการเมือง การมีส่วนร่วม หมายความว่าแต่ละกลุ่มสามารถบอกความต้องการทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม รู้ความต้องการทางการเมืองซึ่งกันและกัน และแต่ละกลุ่มจะเข้าใจกันและกันมากขึ้น"



 


000


 


สถานการณ์การเมืองปัจจุบันไม่ใช่แค่ความขัดแย้งกับชนชั้นนำ แน่นอนเราดูเหมือนเป็นเรื่องระหว่างกลุ่ม "พันธมิตรฯ กับ กลุ่มนำ" กับ "ทักษิณ กับ นอมินี"



 


แต่จริงๆ แล้วความขัดแย้งนี้ลากลงไปถึงรากเหง้าสังคม โดยแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างกองทัพคนจนขึ้นมา คนจนเหล่านี้ครั้งหนึ่งไม่รู้สึกว่าเขาจน แต่มาวันนี้เขารู้สึกว่าเขาจน


 


การ "เป็นคนจน" นั้นไม่สำคัญเท่ากับ "รู้ตัวเองจน" ขอใช้คำว่า ได้เกิดสำนึกทางชนชั้นขึ้นมา จากเดิม "Class by itself" เป็น "Class for itself" กระบวนการตรงนี้เอง ถามว่า ความขัดแย้งนี้ ที่อาจหมายถึงความขัดแย้งทางชนชั้นนี้ นำไปสู่อะไร


 


ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ถอย เพราะเป็นจุดยืนการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชนชั้นตัวเอง คนจนอาจนึกถึงทักษิณ แต่ไม่ได้แปลว่าทักษิณเป็นผุ้นำ แต่ทักษิณเป็นผู้เปิดความหวัง เปิดโลกให้เขา


 


ในความขัดแย้งของชนชั้นนำที่วางอยู่บนฐานนี้ มันทำให้คู่ความขัดแย้งทางสังคมที่เราเห็นต่างคนต่างไม่ถอย และทำให้ภาวะความตึงเครียดมีสูงมากขึ้น ผมเชื่อว่าการตั้งขบวนการต่อต้านพันธมิตรในจังหวัดต่างๆ จะทวีมากขึ้น หลายคนอาจบอกว่าจัดตั้ง แต่มันไม่มีการจัดตั้งลอยๆ ได้โดยไม่มีเชื้ออยู่ เชียงใหม่มีแล้วเมื่อวานนี้ แต่หลายๆ พื้นที่ในประเทศไทยจะเกิดขึ้น


 


พร้อมๆ กันนั้น พันธมิตรฯ ก็มีจัดตั้งเหมือนกัน ในเชียงใหม่ก็มีการเคลื่อน ทางใต้ก็มี ภาวะแบบนี้สังคมจะหาทางออกได้ยากขึ้น


 


สิ่งที่เป็นข้อเสนอของเรามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นข้อเสนอที่กลางที่สุด คือ การล้างไพ่ใหม่ คือแก้รัฐธรรมนูญโดยให้มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพราะทำให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ สามารถมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ซึ่งกันและกันในสังคมการเมือง การมีส่วนร่วม หมายความว่าแต่ละกลุ่มสามารถบอกความต้องการทางการเมืองของแต่ละกลุ่ม รู้ความต้องการทางการเมืองซึ่งกันและกัน และแต่ละกลุ่มจะเข้าใจกันและกันมากขึ้น ทางออกนี้เสนอโดย 137 นักวิชาการ


 


ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีในสถานการณ์อันนี้ คือทำให้ชนชั้นต่างๆ เห็นกันชัดขึ้นเข้าใจกันชัดขึ้น และหวังว่าการเห็นซึ่งกันและกันจะโน้มน้าวจิตใจที่กระเหี้ยนกระหือรือให้ลดลง


 


ซึ่งผมหวังไว้แค่นั้น มิติการเมืองแบบนี้เกิดจากรากเหง้าของการพัฒนาที่เหยียบคนจนกลุ่มหนึ่งเอาไว้ การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกแน่ๆ และไม่ต้องอธิบายอีกว่ารัฐประหารไม่ดีอย่างไร แต่ที่แน่ๆ การรัฐประหารไม่ใช่ทางแก้ปัญหานี้ได้


 


000


 


2.


ชำนาญ จันทร์เรือง


คอลัมนิสต์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


 


"ในเงื่อนไขทางรัฐศาสตร์ ปัจจุบันไม่มีทางที่จะเกิดการรัฐประหาร ทำรัฐประหารไม่ได้ นอกเสียจากจะมีการสร้างเงื่อนไขให้เข้าเค้า และการรัฐประหารในเมืองไทยก็ประหลาด คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นทางออก ก็พยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้ ทั้งที่มีตัวอย่างจากการรัฐประหารของ คณะ รสช. ในปี 2534 และ คปค. ในปี 2549 ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งความล้มเหลว"


 


000


 


การเมืองไทยไม่ได้มีแค่สองขั้ว ขั้วอื่นยังมีอีกเยอะ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นเป็น Political Marketing เป็นการออกมาขายไอเดียให้ได้รับความสนับสนุน และการทำให้ความขัดแย้งหายไปเป็นไม่ได้ เพราะมนุษย์อย่างไรก็ต้องขัดแย้งกัน แต่จะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งมีน้อยที่สุดและอยู่ร่วมกันให้ได้ อย่ารุกไล่ใครให้จนตรอก เพราะคนเราถ้าไม่มีที่ไปก็ต้องหันมาสู้กัน และเขากล่าวต่อว่า การกลับมาบนท้องถนนของพันธมิตรฯ จะสร้างจุดขัดแย้งใหม่ และเกิดบาดแผลใหม่ที่ยาวนาน พอๆ กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549


 


เขากล่าวต่อไปว่า เสรีภาพของการชุมนุมต้องไม่ละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล แม้การชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่อย่าลืมว่าในรัฐธรรมนูญได้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมเอาไว้ด้วย โดยในมาตรา 63 วรรค 2 ได้คุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ เช่นกัน


 


ในเงื่อนไขทางรัฐศาสตร์ ปัจจุบันไม่มีทางที่จะเกิดการรัฐประหาร ทำรัฐประหารไม่ได้ นอกเสียจากจะมีการสร้างเงื่อนไขให้เข้าเค้า และการรัฐประหารในเมืองไทยก็ประหลาด คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นทางออก ก็พยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้ ทั้งที่มีตัวอย่างจากการรัฐประหารของ คณะ รสช. ในปี 2534 และ คปค. ในปี 2549 ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งความล้มเหลว


 


โดยการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร มี 3 ประการ หนึ่ง การคอรัปชั่น พูดไปเถอะ รัฐบาลไหนไม่คอรัปชั่นไม่มี แม้แต่รัฐบาลแห่งชาติที่ว่าคือรัฐบาลเผด็จการเพราะไม่มีฝ่ายค้าน ก็คอรัปชั่น สอง ล้มเหลวในการบริหารประเทศ สาม จาบจ้วง ซึ่งข้อนี้คงไม่เหมือนประเทศอื่น หรือสุดท้ายถ้าเกิดจลาจลขึ้นเมื่อไหร่จะทำให้เกิดการรัฐประหาร


 


เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้การเมืองถอยหลัง ที่จริงแล้วก่อนการรัฐประหารทักษิณก็เน่าอยู่แล้ว เพราะคดีขายหุ้น 73,000 ล้านกำลังฉาวโฉ่ มีทั้งทุจริตซีทีเอ็กซ์ และศาลก็สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้ว กกต. ก็โดนสำเร็จโทษแล้ว แต่พอเกิดการรัฐประหารขึ้น กลายเป็นว่าการรัฐประหารไปสร้างภาพให้ทักษิณกลายเป็นวีรบุรุษในดวงใจ และพรรคพลังประชาชนก็กลับมาหลังการเลือกตั้ง


 


ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ตาม พื้นที่การเมืองที่เคยเป็นของคนชั้นกลาง นักวิชาการ คนชั้นสูง นายทุน นักการเมืองในระบอบผู้แทน ได้ถูกแบ่งพื้นที่ทางการเมืองไปแล้วโดยประชาชนรากหญ้า


 


แม้หลายๆ ฝ่ายที่ต่อสู้กันอยู่ จะดูถูกประชาชนว่าไม่รู้เรื่อง ถูกซื้อมา ใครซื้อเสียงมา อย่างไรก็แล้วแต่การเมืองของประเทศไทยก้าวไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว จะปล่อยให้สู้กันเฉพาะกลุ่มที่อยู่บนถนนราชดำเนินกับกลุ่มที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลไม่ได้


 


000


 


3.


สมศักดิ์ โยอินชัย


แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ


 


"รัฐประหารสามารถเกิดได้ไม่ยาก รัฐประหารในเมืองไทยเกิดได้ทุกเมื่อ เหมือนภาวะโลกร้อนปัจจุบันนี้ และการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่พวกเรากำหนด ผมไม่แน่ใจว่าวันนี้ วันพรุ่งนี้จะเกิดรัฐประหารหรือไม่ เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน อยู่ไหนไม่รู้ในประเทศไทย แต่สามารถบอกว่าจะทำนั่นจะทำนี่"


 


000


 


ขอตั้งคำถามว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นวิกฤตการของใคร ก่อน 6 ตุลาคม 2519 เป็นวิกฤตของชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันเข้มแข็ง แต่มีปัญหากับผู้มีอำนาจจนเกิด 6 ตุลาคม 2519 รัฐประหารเกิดจากวิกฤตทางการเมือง รัฐประหารจะเกิดจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ ผมไม่เคยเห็น อย่างน้ำมันแพงแล้วจะเกิดรัฐประหารนั้น ผมไม่แน่ใจ


 


ที่พูดกันว่าทุนนิยมสามานย์กับศักดินาล้าหลังนั้น


 


ถ้าดูข่าวช่วงที่ผ่านมาไม่กี่วัน การอดีตนายกรัฐมนตรีพากลุ่มทุนอาหรับไปที่สุพรรณบุรี บอกว่าจะจ้างชาวนาไทยทำนาได้คนละ 5,000 ต่อไร่ ชาวนาในภาคกลางต้องเช่าที่นา ในแต่ละครั้งชาวนาอยากทำนาไปเช่าที่นาไร่ละ 1,000 กว่าบาท ถ้าให้เลือก ชาวนาต้องเลือกเอาการรับจ้างจ้างทำนาไร่ละ 5,000 ดีกว่าไปทำนาเสียค่าเช่าไร่ละ 1,000 กว่าบาท และไม่แน่ว่าจะขายข้าวได้ราคาแพงหรือไม่


 


ที่ผมพูดมา ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร การที่ทักษิณพาแขกมาดูการทำนา กับเจ้าที่ดินที่เก็บค่าเช่านาไร่ละพันกว่าบาทนั้น สองกลุ่มนี้มันเกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ถ้าความขัดแย้งทางเศรษฐกิจมันไม่ลงตัว รัฐประหารสามารถเกิดได้ไม่ยาก รัฐประหารในเมืองไทยเกิดได้ทุกเมื่อ เหมือนภาวะโลกร้อนปัจจุบันนี้ และการรัฐประหารไม่ใช่เรื่องที่พวกเรากำหนด ผมไม่แน่ใจว่าวันนี้ วันพรุ่งนี้จะเกิดรัฐประหารหรือไม่ เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน อยู่ไหนไม่รู้ในประเทศไทย แต่สามารถบอกว่าจะทำนั่นจะทำนี่


 


อาจารย์ในเมืองไทยพยายามคัดค้านรัฐประหาร แต่เขาจะฟังปัญญาชนของประเทศหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ สิ่งที่อาจารย์หลายท่านนำเสนอทางออกทางการเมือง ทางออกของประเทศไม่ให้บอกช้าจากการยึดอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า ทางออกที่ทุกฝ่ายเดินไปข้างหน้า พวกชาวบ้านจะได้ทำไร่ทำนา แม้จะลำบากหน่อย แต่ไม่ต้องไปหวาดวิตกว่ารัฐบาลหน้าจะเอาอย่างไรกับราคาข้าว ไม่หวั่นไหวเรื่องการเมืองไม่นิ่ง


 


พี่น้องกำลังเข้าไร่เข้าสวน ไม่ได้วิตกเรื่องการเมือง การเมืองในวันนี้แทบจะไกลตัวพี่น้อง เรื่องรัฐธรรมนูญตอนแรกรัฐบาลโดนด่าว่าจะแก้ทำไมรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ราคากระเทียบมก็ถูก ข้าวถูก ทำไมไม่มาแก้ตรงนี้ แก้รัฐธรรมนูญพวกเราก็อยู่เหมือนเดิม ถ้าแก้ราคาพืชผลก็ดี เขาคิดแบบนี้


 


ดังนั้นจะทำอย่างไรที่เป็นทางออกของวิกฤตการเมืองขณะนี้ อยากให้ทุกฝ่ายมาพูดจากัน คุยเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของความขัดแย้งน่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ การที่ฝ่ายพันธมิตรฯ ยกระดับการชุมนุมเป็นการไล่รัฐบาล โดยบอกว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดนั้น ชาวบ้านไม่ได้สนใจ และหากนายกรัฐมนตรีจะเอาเงิน 2,000 ล้านมามาทำประชามติ กลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งอีกรอบ เกิดสีเขียว สีแดง บ้านเดียวกันมีสองสีกลัวบ้านแตก ดังนั้นน่าจะทำอย่างไรให้หลายๆ ส่วนเข้ามาคุยกัน มาดูเรื่องรัฐธรรมนูญ น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศได้


 


000


 


4.


สุชาติ ตระกูลหูทิพย์


มูลนิธิเพื่อนหญิง


 


"ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้คนงานต้องมีสิทธิเลือกตั้งในโรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตัวแทนในท้องถิ่นเพื่อทำประโยชน์ให้กับพวกเขาได้"


 


000


 


ประชาชนผู้ทุกข์ยากมักถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารหลายครั้ง แต่การรัฐประหารแต่ละครั้งส่งผลกระทบกับภาคส่วนต่างๆ


 


และการรัฐประหารจะส่งผลกระทบกับผู้ใช้แรงงานสูง เช่น การรัฐประหารโดยคณะ รสช. ในปี 2534 มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานเอกชน ซึ่งเป็นการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน


 


และในการรัฐประหาร 19 ก็มีกฎหมายหลายฉบับ ที่ออกมาโดยไม่มีการกลั่นกรองไม่มีการเข้าไปมีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงาน เช่น กฎหมายของผู้ทำงานต่างด้าว แทบไม่มีการรณรงค์เคลื่อนไหวใดๆ ก่อนออกกฎหมาย และพอกฎหมายออกมาก็สร้างปัญหากับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ หรือ พรบ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 ที่มีการปรับปรุงโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลายข้อ และมีผลกระทบกับผู้ใช้แรงงาน และจะส่งผลกระทบต่อการรวมกลุ่มของขบวนการแรงงาน


 


นอกจากนี้กฎหมายที่แรงงานผลักดัน ก็ไม่ได้รับความสนใจจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น พรบ.สถาบันคุ้มครองสุขภาพ ก็ไม่ได้รับการผลักดัน มีแต่การออกกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์กับคนงาน


 


ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้คนงานต้องมีสิทธิเลือกตั้งในโรงงาน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตัวแทนในท้องถิ่นเพื่อทำประโยชน์ให้กับพวกเขาได้


 


นายสุชาติ ยังกล่าวถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ว่า ทราบข่าวว่าเพื่อนคนหนึ่งของเขา เดินทางไปสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีประกาศสลายการชุมนุมและมีแกนนำคนหนึ่งเห็นเพื่อนของเขา จึงมีการประกาศว่า "คนๆ นี้แสดงความเห็นโจมตีพันธมิตรจะเข้ามาทำไม ขอให้พวกเราเฝ้าระวัง" ซึ่งเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันทางการเมืองคบกันไม่ได้ ต้องเอาให้ตายทางการเมือง


 


นอกจากนี้คนขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ผมสังเกตว่าคนขับแท็กซี่สัก 5 คันจาก 10 คัน จึงจะกล้าพูดเรื่องการเมือง โดยคนขับรถแท็กซี่คันหนึ่งบอกผมว่าอยากให้ 5 เสือพันธมิตรฯ และนายสุริยะใสกลับไปเยี่ยมทางบ้านบ้าง โดยคนขับรถแท็กซี่และคนขับรถสิบล้อในกรุงเทพยินดีไปส่งแกนนำถึงบ้านโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคงไม่ใช่การส่งฟรีแน่ แต่ต้องการแสดงเจตนาทางการเมืองบางอย่าง นายสุชาติกล่าว


 


000


 


5.


สมชาย ปรีชาศิลปกุล


คณบดีคณะนิติศาสตร์ มช.


 


"คนตีกันที่ราชดำเนินที่เกิดขึ้นเป็นประปราย จะเป็นม็อบรับจ้างหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในแง่หนึ่งการที่คนจะตีกัน ต้องมีบรรยากาศความเกลียดชังดำรงในสังคมนั้นๆ ด้วย จึงจะทำให้คนลงไม้ลงมือต่อกันได้ เราจึงอยู่ในยุคที่มีความเกลียดชังค่อนข้างสูงระหว่างฝ่ายที่เห็นต่าง


 


เราพูดถึงรายการวิทยุคลื่นหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกให้ไปชกปากโชติศักดิ์ แต่วิทยุอีกฟากหนึ่งก็มองอีกฝ่ายในลักษณะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นยุคที่เรามองคนที่เห็นต่าง นี่เป็นเรื่องสำคัญ คือก่อนจะพบหน้าใครได้ จึงจะทำร้ายเขาได้ ต้องทำให้เขามีความเป็นมนุษย์น้อยลง ทำให้เป็นไส้เดือน กิ้งกือ หรืออะไรบางอย่าง"


 


000


 


สังคมไทยขณะนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องเด็กสองคนแย่งขนมกัน สังคมต้องมองด้วยบริบทที่กว้างกว่ามีม็อบบนท้องถนน สิ่งนี้จะทำให้เรามองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้งชัดเจนขึ้น


 


มีตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง 5 จุดทางการเมืองที่จะช่วยทำความเข้าใจได้คือ หนึ่ง รัฐบาลทักษิณหลังปี 2548 สอง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สาม การลงประชามติ 19 สิงหาคม 2550 สี่ การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และห้า สมาชิกรัฐสภายื่นรายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 21 พฤษภาคม 2551


 


ถ้าพิจารณาจากตำแหน่งแห่งที่ทั้ง 5 จุด จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลสืบเนื่องมา ตำแหน่งแห่งที่ทั้ง 5 จุด ทำให้สังคมไทยแบ่งออกเป็นสองขั้ว คนที่ยืนอยู่ซีกใดซีกหนึ่งจะเป็นคนที่อยู่อีกขั้วหนึ่งจะอยู่ฝ่ายนั้นตลอดไป เช่น สนับสนุนทักษิณ จะต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา จะ "โหวตโน" ในการลงประชามติ จะเลือกพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้ง และสนับสนุนการแก้ยื่นไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่ถ้าเป็นอีกฝ่ายหนึ่งก็จะมีจุดยืนตรงข้าม


 


ถ้าเราทำความเข้าใจนี้ หากแบ่งอย่างกว้างๆ จะมีคนสองฝ่าย หนึ่ง พันธมิตรประชาชน บวกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญบางส่วน พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการบางปีก และที่สำคัญคือชนชั้นกลาง อีกฝ่ายคือ พรรคไทยรักไทย นักวิชาการบางปีก แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ สภาประชาชน และที่สำคัญคือกลุ่มรากหญ้า


 


สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่ใช่เรื่องไกลเกินความคาดหมาย หากมองในแง่ของจุด ที่มาทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในระยะเวลาอันใกล้ ทักษิณได้ทำให้เกิดพลังชนชั้นล่างขึ้นมา และมีความหมายทางการเมือง เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งสำคัญ


 


ตำแหน่งแห่งที่ของความขัดแย้งได้พาสังคมไทยมาสู่สภาวะ "ตาบอดคลำช้าง เห็นต่างคือศัตรู"


 


ตาบอดคลำช้างคือเห็นว่า สองฝ่ายยืนอยู่ด้านหนึ่ง อีกฝ่ายยืนอยู่ด้านหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งปิดตา คลำไปที่ช้างบอกว่า รัฐบาลทักษิณ พรรคไทยรักไทยเลวสุด ช้าช้าสามานย์ เป็นเผด็จการทุนนิยม ทุนนิยมสามานย์ หันมาสนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตย รวมถึงการดึงเอาอำนาจสถาบันตามจารีตมาเห็นด้วย โดยมองไม่เห็นด้านลบของระบบชนชั้นนำที่ปราศจากการตรวจสอบ เช่น มี ส.ว.แต่งตั้ง หรือเรียกร้องอำนาจนอกระบบ


 


อีกฝ่ายเห็นว่าทักษิณดีสุด ประเสริฐสุด ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางต่อเนื่อง แต่ไม่มองเห็นอีกด้านของทักษิณ เช่นการใช้อำนาจรุนแรงต่อประชาชนหรือการแทรกแซงองค์กรอิสระ


 


สังคมไทยอยู่ในภาวะตาบอดคลำช้าง ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่คนละจุด ไม่คำนึงว่ามุมของตัวเองที่มองเข้าไปก็มีปัญหาเหมือนกัน ตาบอดคลำช้าง ถ้าใครไม่เห็นด้วย ฝ่ายแรกบอกว่ารัฐบาลทักษิณชั่วสุด เลวสุด ใครไม่เห็นด้วย เป็นพวกทักษิณ ในขณะที่อีกฝ่ายชอบทักษิณ ดีที่สุด ใครไม่เห็นด้วย เป็นพวกสนับสนุนรรัฐประหาร


 


ภาวะที่น่ากลัวตอนนี้ นอกจากตาบอดคลำช้าง ก็คือการมองเห็นฝ่ายที่คิดไม่เหมือนตนเป็นศัตรู


 


คนตีกันที่ราชดำเนินที่เกิดขึ้นเป็นประปราย จะเป็นม็อบรับจ้างหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ในแง่หนึ่งการที่คนจะตีกัน ต้องมีบรรยากาศความเกลียดชังดำรงในสังคมนั้นๆ ด้วย จึงจะทำให้คนลงไม้ลงมือต่อกันได้ เราจึงอยู่ในยุคที่มีความเกลียดชังค่อนข้างสูงระหว่างฝ่ายที่เห็นต่าง


 


เราพูดถึงรายการวิทยุคลื่นหนึ่งในกรุงเทพฯ บอกให้ไปชกปากโชติศักดิ์ แต่วิทยุอีกฟากหนึ่งก็มองอีกฝ่ายในลักษณะบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นนี่เป็นยุคที่เรามองคนที่เห็นต่าง นี่เป็นเรื่องสำคัญ คือก่อนจะพบหน้าใครได้ จึงจะทำร้ายเขาได้ ต้องทำให้เขามีความเป็นมนุษย์น้อยลง ทำให้เป็นไส้เดือน กิ้งกือ หรืออะไรบางอย่าง


 


ภายใต้ภาวะ "ตาบอดคลำช้างเห็นต่างเป็นศัตรู" นั้น นอกจากนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคไร้เหตุผล ไร้ปัญญาอย่างสิ้นเชิง เป็นเรื่องที่อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ถูกกล่าวหาว่าหากินกับสมัชชาคนจน ซึ่งอาจารย์ประภาสถูกกล่าวหามานานแล้ว อาจารย์ประภาสเข้าใจได้ถ้าถูกกล่าวหาข้อหานี้จากรัฐบาลหรือฝ่ายขวาจัด แต่อาจารย์ประภาสทำความเข้าใจไม่ได้กับการที่นักวิชาการที่ไปยืนอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วด่ากราดว่าอาจารย์ประภาสหากินกับสมัชชาคนจน


 


ตอนนี้ถึงยุคที่เอาเข้าจริงๆ ผมใคร่จะเตือนว่า นักวิชาการทั้งหลาย หรือ ศ.ดร. ทั้งหลาย สังคมพึงฟังด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกัน ไม่ว่ายืนอยู่บนเวทีพันธมิตรหรือนอกเวทีก็ตาม เพราะนักวิชาการจำนวนมากปากไว กำลังสาดน้ำมันเข้าสังคมไทยโดยไม่มีเหตุผล เป็นจุดหนึ่งที่น่ากลัว


 


กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะด่าว่าคิดโง่ คิดผิด ด่าว่าไม่เข้าใจทางการเมืองก็ด่าได้ แต่การด่าในหลายๆ เรื่องตอนนี้ สะท้อนว่าไม่เพียงแต่เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ไร้เหตุผลทางการเมือง แต่สติสัปปชัญญะก็กำลังจะขาดลง เพราะเราด่ากันได้ด้วยอะไรก็ไม่รู้


 


ภาวะตาบอดคลำช้าง เห็นต่างเป็นศัตรู จะขยายตัวไปอย่างไร ผมไม่รู้ มันจะไปไกลอย่างไร ผมก็ไม่รู้


 


เราจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างไร


 


จะเห็นได้ชัดว่ามือข้างมากในพรรคพลังประชาชนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนแรกอาจคิดว่าจำนวนมือที่มากในสภาจะแก้ปัญหานี้ได้ เอาเข้าจริงก็ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ ส่วนจำนวนเท้านอกสภาก็ไม่หนักแน่นเพียงพอ


 


ภาวะของสังคมไทยจึงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง


 


ท่ามกลางภาวะนี้ ผมคิดว่ามีสองอย่างที่ขยายตัวเกิดขึ้น


 


หนึ่ง มีการดึงสถาบันฯ มาใช้ในทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ว่าคนนั้นถูกหรือผิด


 


พูดตรงไปตรงมาที่สุด ผมไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคประชาธิปัตย์โดดลงมาใช้สถาบันเป็นข้ออ้างมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม


 


สอง การเมืองมวลชนขยายตัว มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในจังหวัดต่างๆ และในขณะเดียวมีการจัดตั้งฝ่ายไม่เอาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในจังหวัดต่างๆ เช่นกัน


 


อันนี้เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่อะไร จะเป็นความขัดแย้งหรือไม่ ผมไม่รู้ เพราะสังคมไทยใช้คงใช้เหตุผลมาคาดคั้นได้ยาก


 


โจทย์หลักของสังคมไทยในขณะนี้คือ เราจะสร้างสถาบันทางการเมืองที่มีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายได้อย่างไร


 


ผมเขียนมา ดูง่ายๆ นะครับ บอกว่าให้เปิดตาที่ปิดไว้ มองเห็นจุดอ่อนของแต่ละฝ่าย เปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด เห็นต่างไม่ใช่ศัตรูคู่อาฆาต เขียนมาแบบนี้ มันพูดได้


 


แต่ในความเป็นจริง ผมคิดว่ามันยังห่างไกล


 


ผมคิดว่าตอนนี้ไม่มีใครพร้อมจะเปิดตา และไม่มีใครพร้อมที่จะเปิดใจ สองฝ่ายที่ยืนอยู่แตกต่างกันกำลังทำให้สังคมไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วง ทางออกทางเดียวที่อาจเป็นไปได้คือ ทำอย่างไรให้สังคมไทยเข้าไปล้อมความขัดแย้งอันนี้ ข้อเสนอของ 137 นักวิชาการเป็นทางเลือกอันหนึ่ง กับความพยายามเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้สังคมเป็นเจ้าภาพแก้รัฐธรรมนูญ


 


แต่ทางเลือกนี้มีปัญหา เช่น ถ้าเราเสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุด 3 (สสร.3) เกิดขึ้น มีปัญหาแน่ สมมติว่า เอาแบบที่เคยถูกเลือกในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้จากการเลือกตั้งบางส่วน ผมคิดว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและชนชั้นกลางจำนวนมากเขาไม่ไว้ใจการเลือกตั้ง สสร.ชุด 3 จะเกิดขึ้นได้ สังคมไทยต้องใช้สติปัญญากับเรื่องนี้มากขึ้น


 


หมายเหตุ: โปรดติดตามคำอภิปราย "พันธมิตรกับพลังประชาชนผ่านแนวพินิจปรากฏการณ์วิทยา" ของสมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ในวันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net