รายงาน : "มอญ" ใน "สยาม" กับทัศนคติความเป็นคนต้องมาก่อน

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 51 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดงานแสดงวัฒนธรรมและเสวนาวิชาการชื่อว่า "มอญ ในสยามประเทศ (ไทย) ชนชาติ บทบาท และบทเรียน" หลายคนในบรรดาเจ้าภาพโดยเฉพาะชาวไทยมอญแต่งตัวแบบมอญให้เข้ากับบรรยากาศ โดยเฉพาะเสื้อสีขาวตารางแดงกับโสร่งสีแดงตราหมากรุกดูเตะตาและถูกนำมาสวมใส่กันมากเป็นพิเศษ

 

การแต่งกายแบบนี้แท้จริงแล้วเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองที่ใช้แสดงตัวตนของชาวมอญในประเทศพม่าในยุคที่นักศึกษามอญรวมตัวกันประท้วงการกดขี่ของรัฐบาลทหารพม่าเมื่อศตวรรษก่อน ซึ่งเคียงคู่กับสัญลักษณ์หงส์อันมาจากตำนานการก่อตั้ง "หงสาวดี" แต่ปัจจุบันรูปหงส์บินในพม่าถูกห้ามประดับอย่างเด็ดขาด คนมอญจะสามารถทำได้เพียงหงส์ยืน แต่ต่อมาคนมอญได้แสดงการขัดขืนไม่ยอมรับและไม่สิ้นหวังด้วยการปรับสัญลักษณ์หงส์ยืนให้เป็นหงส์ยกขาเหมือนจะย่างเท้า... คนมอญบอกว่าแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะห้ามไม่ให้หงส์บินได้ แต่ก็ขอก้าวย่างไปข้างหน้า

 

นี่คือรูปแบบของการต่อสู้เล็กๆ น้อยในสังคมแบบ "เผด็จการ"

 

ในห้องประชุมใหญ่ศูนย์มานุษยวิทยาฯ เป็นที่จัดการเสวนา แต่ก่อนเริ่มได้จัดการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากวาตภัยไซโคลนนาร์กีสในประเทศพม่า

 

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้อาลัยในเหตุการณ์ครั้งนี้ตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 130,000 คน ส่วนอีก 2,400,000 คนที่รอดชีวิตก็กำลังเผชิญความยากลำบาก ซึ่งโศกนาฏกรรมนี้น่าจะสามารถป้องกันและลดความสูญเสียได้มากกว่านี้หากมีผู้นำที่ใส่ใจประชาชนมากกว่านี้ แต่รัฐบาลพม่ากลับเพิกเฉยในการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติและยังยืนยันลงประชามติรัฐธรรมนูญต่อไปเป็นการกระทำไม่อาจรับได้และเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขออาลัยกับผู้เสียชีวิต ผู้สูญเสีย และผู้รอดชีวิต

 

จากนั้นวงเสวนาเริ่มต้นด้วยการแนะนำหนังสือ "หญิงมอญ อำนาจและราชสำนัก" แต่งโดย องค์ บรรจุน ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ

                                                      

หนังสือดังกล่าว ผศ.ดร.ธำรงค์ ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้ให้คำวิจารณ์โดยสรุปภาพรวมของกลุ่มมอญในสยามว่าเก่งในเรื่องการคุมราชสำนักผ่านผู้หญิง โดยเฉพาะการถวายลูกสาวเข้าสู่ราชสำนักเป็นการชี้ให้เห็นระบบการเมืองแบบอุปถัมป์ที่นำไปสู่การได้ดิบได้ดีของบิดา เช่น ตำแหน่ง และยังสร้างเครือข่ายในวังที่ดึงผู้หญิงมอญเข้าไปคุม ซึ่งในราชสำนักไทยเครือข่ายหญิงมอญเข้มแข็งมาก

 

หนังสือเล่มนี้เป็นการอธิบายเกี่ยวกับผู้หญิงมอญที่เข้ามาพัวพันธ์ในราชสำนักของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่เริ่มราชวงศ์ แต่คำถามคือหญิงมอญมีอำนาจอย่างไร เมื่อผู้หญิงมอญมาสู่ราชสำนักได้แสดงอัตลักษณ์มอญในราชสำนักหรือไม่ มีการแสดงออกที่ให้ข้อมูลน่าสนใจในกรณี "เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น" (ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่พบว่า ได้พูดภาษามอญอย่างเปิดเผยกับคนมอญ เพียงแต่ที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่ได้บอกคือพระเทพศิรินทราบรมราชินี อัครมเหสี (พระราชมารดาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งทรงเป็นมอญอย่างแท้จริง (เชื้อสายตระกูลอำมาตย์มอญ ฝ่ายบิดาสืบเชื้อมาจากท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) มารดาสืบเชื้อสายมาจากพระยารัตนจักร (หงส์ทอง)) ทรงแสดงอัตลักษณ์มอญแค่ไหน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเทพสิรินทราฯ สิ้นพระชนม์พระบาทสมเด็จจอมเกล้าฯ ทรงจัดงานพระศพให้มีพิธีอย่างมอญ รวมทั้งมีปี่พาทย์มอญด้วย เป็นการนำปี่พาทย์มอญมาบรรเลงในงานหลวงเป็นครั้งแรก และต่อมาปี่พาทย์มอญจึงถูกนำไปเล่นในงานศพ เพราะเข้าใจกันว่าถ้ามีปี่พาทย์มอญหมายถึงเป็นงานศพของผู้ดี

 

นอกจากนี้ น่าเสียดายว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ปรากฏบทบาทของหญิงมอญสาย "ก๊กออ" ในพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นหญิงมอญกลุ่มสุดท้ายในราชสำนักที่ถูกมองข้ามไป

 

ต่อมา สุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งศิลปวัฒนธรรม ได้มาบรรยายฉายภาพภูมิหลังบรรพชนอุษาอาคเนย์ และระบุอย่างชัดเจนว่า "ความเป็นคนควรมาก่อน" ความเป็นมอญ ความเป็นเขมร หรือความเป็นไทยมาทีหลัง รวมทั้งได้ยกแนวคิดของจิตร ภูมิศักดิ์ มาเป็นหลักในการอธิบายว่า เชื้อชาติไม่ได้เป็นตัวกำหนดให้เกิดรัฐ แต่มันเกิดจากเศรษฐกิจและการไหวตัวทางการเมือง ในขณะที่ชื่อประเทศไทยนั้นเพียงแค่ จอมพล ป. พิบูลสงครามคิดว่าเชื้อชาติไทยเป็นเชื้อชาติเดียวจึงทำให้เกิดชื่อประเทศ โดยจิตรยังบอกอีกว่า คนในรัฐเป็นเรื่องประชาชาติไม่ใช่เรื่องชนชาติ

 

สุจิตต์ กล่าวว่า ประชาชาติในสุวรรณภูมิมีใครบ้างไม่ทราบ เป็นมอญหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เป็นเขมรป่าวไม่รู้ แต่เป็นคนแหงๆ เพราะไม่มีชื่อชนชาติ อย่างกรณีโครงกระดูกที่พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ( อายุประมาณ 3000 ปีมาแล้ว) บอกว่าเป็นโครงกระดูกคนไทยก็บ้า แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่ไทยก็ซังกะบ๊วย อย่างไรก็ตามนั่นล้วนเป็นบรรพชนของ South East Asia ทั้งนี้ ชนชาติ ภาษาและอักษรไม่ได้เป็นตัวกำหนดรัฐ และขอบเขตสังคม แต่คนรักชาติมักจะเอามากำหนด ทุกวันนี้แม้แต่การพูดลาวกับไทยต่างแค่สำเนียงเท่านั้นไม่ใช่ต่างกันที่ภาษา

 

นอกจากนี้ ในความเป็นรัฐ ชนชั้นผู้นำกับชนชั้นผู้ตามไม่จำเป็นต้องเป็นชนชาติเดียวกัน อย่างพระเจ้าอู่ทองอาจจะเป็นมอญหรือเขมรก็ได้ แต่มีประเด็นที่ว่าพระเจ้าอู่ทองอาจเป็นเขมรเพราะมีรองรอยหลงเหลือ เช่น ภาษาคำกล่าวที่พบเป็นหลักฐานในช่วงเวลานั้นมีการใช้เป็นภาษาเขมรอยู่มาก ในขณะเดียวกันผู้นำในรัฐทวารวดี (รัฐโบราณเชื่อว่ามีศูนย์กลางอยู่ในภาคกลางก่อนมีสุโขทัยหรืออยุธยา) อาจเป็นคนมอญก็ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าประชากรในรัฐทวารวดีต้องเป็นมอญ มันกลับกันได้เสมอแล้วแต่กาละเทศะ และอย่าทึกทักว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพียงอย่างเดียว

 

สุจิตต์ กล่าวต่อไปว่า ความเป็น "คน" ในภูมิภาคนี้อาจมองได้จากการที่พระเจ้าอโศกฯ แห่งอินเดียส่งคนมาสุวรรณภูมิเห็นคนพื้นถิ่นแล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะคนเล่านี้ไม่นุ่งผ้าซึ่งเมื่อเทียบกับคนอินเดียที่สมัยนั้นทอผ้านุ่งกันแล้ว ทำให้คนชมพูทวีปเรียกคนพื้นเมืองว่า "นาค" อันอาจมาจากรากศัพท์ในภาษาลาตินคำว่าว่า "นอค" ที่แปลว่าเปลือย หรือเป็นรากศัพท์ของคำว่า "Snake" หรือ "งู" ซึ่งมันไม่มีขน มันเปลือย

 

แล้วความเป็นมอญ ไทย หรือเขมร เกิดได้อย่างไร สุจิตต์ สันนิษฐานหรือเดาว่า น่าจะมาพร้อมตัวอักษร ซึ่งตัวอักษรในภูมิภาคนี้เดิมมีต้นรากเดียวกันที่มาจากอินเดียใต้ เป็นอักษรทมิฬหรือปัลลวะ แต่เมื่อท้องถิ่นเติบโตแข็งแรงขึ้นก็เริ่มเรียกและใช้ต่างกันไป อักษรเป็นตัวเริ่มอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเอง แม้แต่ความเป็นไทยหรือตัวอักษรไทยก็เกิดหลังอักษรเขมร มอญ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้คิดอักษรไทยแต่นำมาจากอักษรขอมเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้นักวิชาการส่วนหนึ่งในประเทศไทยเชื่อแนวคิดสายฝรั่งเศสที่ว่า ศูนย์กลางของทวารวดีอยู่ที่จังหวัดนครปฐมและใหญ่โตไปถึงปัตตานี แต่ส่วนตัวเชื่อว่าศูนย์กลางทวารวดีอยู่ที่ละโว้ ส่วนนครปฐมเป็นเมืองชื่อ "หลั่งยะสิว" คำว่า "ละโว้" คือ "โถโลโปตี้" ตามเอกสารจีนที่เรียก

 

ความเป็นทวารวดีมันสืบสายมายาวนานมาก มันก็สอดคล้องกับชื่ออยุธยาว่า กรุงเทพมหานครบวร "ทวาราวดี" ศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน คำว่า ทวารวดียังคงใช้สืบเนื่องแสดงว่าคนเขาต่อเนื่องมายาวนาน แต่อย่าเถียงกันเรื่องทวารวดีเป็นมอญหรืออะไร เพราะเขาจะเป็นอะไรก็ตามใจเขา แต่ที่แน่ๆ คือเขาเป็นบรรพชนของ South East Asia และส่งผลต่อการคุมเส้นทางการค้าทำให้มีอำนาจขึ้นมาได้จนเป็นชนชั้นผู้นำนาม "พระเจ้าอู่ทอง" และทัศนคติทางศาสนาก็มีอิทธิพลสำคัญโดยเฉพาะพุทธศาสนานิกาย "เถรวาท"  เนื่องจาก "ศาสนาฮินดูหรือนิกายมหายาน" ที่เคยเติบโตในดินแดนนี้ "ไม่เปิดพ่อค้าเป็นกษัตริย์" แต่พุทธศาสนาเถรวาทแบบมอญเปิดช่องให้พ่อค้าเป็นกษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งความเป็นไทยเกิดขึ้นมาทีหลังแล้วรับเอาหมด

 

คำว่า "ไท" หรือ "ไต"ยังเป็นคำที่มีในทุกภาษาของภูมิภาคนี้ และแปลว่า "คน" ทั้งหมด มีเฉพาะ "ไท" ในศิลาจารึกเขมรที่พบว่าถูกใช้มาก และแปลว่า "ทาส" เพราะเมื่อเขมรเป็นมหาอำนาจแล้วความเป็นคนมันต่ำลง คำว่า "ไท" ที่แปลว่า "คน" นั้นเป็นภาษาร่วมของ South East Asia เมื่อ 1,600 ปีมาแล้ว เติบโตและยึดเส้นทางการค้าได้ แต่ไม่รู้ตอนนั้นทั้งตัวเองหรือคนอื่นเรียกว่า "ไท" หรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม สุจิตต์ย้ำว่า แม้แต่สำนึกความเป็นมอญ (ที่นำมาสู่การจัดงาน) มันเพิ่งเกิดทีหลังคือในรุ่นรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 เขียนเท้าความถึงมอญ แต่ความเป็นมอญนี้ไม่เกี่ยวกับอยุธยาและไม่เกี่ยวเลยกับทวารวดีเพราะช่วงนั้นคนมอญอย่างมหาเถรคันฉ่องก็กลืนกลายเป็นไทยไปนานแล้ว

 

ส่วนปัจจุบัน "ความเป็นไทย" มันก็กลืนหมดและบังคับให้คนเป็น "ไทย" "ถ้าไม่เป็นมึงตาย" แต่ถามว่าอะไรที่ยังยืนยัน "ความเป็นมอญ" อยู่ในไทย นั่นคือ ภาษาซึ่งครึ่งหนึ่งที่ใช้กันในปัจจุบันต้องยอมรับว่าคือ "ภาษามอญ" มีบางคำผสม "เขมร" บ้าง บางทีก็ใช้ซ้อนกันทำให้ภาษาไทยมีคำซ้ำคำซ้อนเต็มไปหมด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องสมานฉันท์อย่างลึกซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแต่ปาก เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ในขณะที่พุทธศาสนาสายเถรวาทก็ยังไม่เคยคลายความสำคัญลงไปในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท