Skip to main content
sharethis

จากรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันการตัดสินในของรัฐบาลไทยที่จะดำเนินโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงและสร้างเขื่อน 3 แห่งบนแม่น้ำโขง ผ่านทางรายการ "สนทนาประสาสมัคร" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25พ.ค.ที่ผ่านมา และมีการผลักดันประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี


ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย ได้ออกมากล่าวถึง "โครงการระบบการจัดการส่งน้ำแบบไฮโดรชิล" หรือการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ (Tunnel) หลังขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงข้ามคืน โดยมีนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกโรงขานรับความต้องการพร้อมแจกแจงว่ากรมทรัพยากรน้ำ เคยดำเนินการเมื่อปี 2535 โครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โขง ชี มูล โดยทำการผันน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด


"เรื่องนี้ถือเป็นความฝันของผม และได้คุยกับ ส.ส.ในพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำโขงบางส่วนแล้ว ถ้าไม่ได้เป็นนายกฯ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น" คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีสมัคร


ในส่วนของภาคประชาชน ล่าสุด เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ได้จัดแถลงข่าว เมื่อ 29 พ.ค.ชี้แจงเนื้อหาจากการศึกษาเกี่ยวกับแผนการที่นายกสมัคร และรัฐบาลจะดำเนินโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง และการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง 3 แห่ง บริเวณชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.เลย จ.หนองคาย และ จ.อุบลราชธานี หลังจากที่ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการกว่า 100 รายนาม ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้ (28 พ.ค.) เพื่อทักท้วงและเรียกร้องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในกระบวนการตัดสินใจในโครงการดังกล่าว


ผันน้ำโขงและการสร้างเขื่อนเขื่อนความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแบ่งแยก



นายมนตรี จันทวงค์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (TERRA) ทบทวนถึงโครงการผันน้ำในประเทศไทยว่า มีการศึกษาโครงการผันน้ำตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 โดยมี 13 ระบบทั่วประเทศ ส่วนโครงการในภาคอีสานที่นายกสมัคร สุนทรเวชพูดถึงล่าสุด มี 2 โครงการหลัก คือ โครงการผันน้ำโขงจากเขื่อนน้ำงึมประเทศลาว มายังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงมาลงที่เขื่อนลำปาว และโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ จ.เลย มาลงที่เขื่อนอุบลรัตน์ หมายความว่าเขื่อนลำปาวและเขื่อนอุบลรัตน์จะเป็นแหล่งเก็บกับน้ำที่มาจากการผันน้ำของภาคอีสาน


สำหรับโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม มีการศึกษาของกรมทรัพยากรน้ำมีมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นโครงการใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งภาคอีสานเพื่อการชลประทาน โดยประกอบด้วย 20 กลุ่มโครงการ คือ โครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม (ที่นายยกสมัครพูดถึง) และอีก 19 กลุ่มโครงการ เพื่อกระจายโครงข่ายการผันน้ำในลักษณะต่างๆ เช่น ฝ่ายทดน้ำ สถานีสูบน้ำ คลองส่งน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ ใช้งบประมาณทั้งหมด 374,438.4 ล้านบาท


ในปัจจุบัน รูปแบบการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึมตามการศึกษาของกรมทรัพยากรน้ำ ระยะแรกจะมีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงไปยังเขื่อนลำปาวในปริมาตร 600 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งจะเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่ได้ 1 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 32,108.4 ล้านบาท ส่วนในระยะที่ 2 จะเป็นการผันน้ำจากน้ำงึมโดยใช้อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขงเข้าที่ห้วยหลวงแล้วดันต่อไปที่เขื่อนลำปาว ซึ่งจะผันน้ำงึมมาได้ 1,978 ล้าน ลบ.ม./ปี เปิดพื้นที่ชลประทานอ่างลำปาวได้ 2.2 ล้านไร่ โดยใช่งบประมาณ 44,651.6 ล้านบาท


แต่สิ่งที่นายมนตรี แสดงความเป็นห่วงคือ การที่นายกได้ออกมาพูดว่าจะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง (เขื่อนบึงกาฬ) เพื่อที่จะดันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงแล้วนำน้ำไปเก็บไว้ที่เขื่อนลำปาวด้วย ซึ่งหากสามารถผันน้ำงึมได้จริงปริมาณน้ำก็เต็มเขื่อนลำปาวแล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง จึงทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับจุดมุงหมายของการสร้างเขื่อนว่าอาจมีเป้าหมายหลักคือไฟฟ้าไม่ใช่ชลประทาน แต่เอาเรื่องชลประทานบังหน้า




เส้นทางการผันน้ำในโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึมไปยังเขื่อนลำปาว


ส่วนโครงการผันน้ำโขงเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์ ยังไม่มีการกำหนดเส้นทางที่แน่ชัด แต่ที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลใน 3 เส้นทาง คือ 1.การผันน้ำโขงมายังลำน้ำเลยผ่านลำพะเนียง (จ.หนองบัวลำพู) แล้วเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์ ในรูปแบบคลองเปิด 2.ตามคำพูดของนายกสมัครผ่านทางรายการ "สนทนาประสาสมัคร" จะเป็นการเจาะอุโมงค์จากน้ำโขงมาลงที่เขื่อนอุบลรัตน์โดยตรง และ 3.จากข้อมูลของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ จะมีการสร้างเขื่อนปากชม (เขื่อนผามอง) ที่ จ.เลย และจะผันน้ำจากเขื่อนปากชมเข้าสู่ระบบการผันน้ำของลำพะเนียง เพื่อนำน้ำมาไว้ที่เขื่อนอุบลรัตน์



เส้นทางการผันน้ำในโครงการผันน้ำจากน้ำโขงไปยังเขื่อนอุบลรัตน์


นายมนตรี ให้ข้อมูลต่อมาถึงโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงว่า นอกเหนือจากโครงการสร้างเขื่อน 3 เขื่อนบนแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาวแล้ว ในประเทศจีน มีเขื่อนที่สร้างไปแล้ว 2 เขื่อน (เขื่อนม่านวาล เขื่อนต้าเฉาซาน) และกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 3 เขื่อน (เขื่อนเสี่ยวหวาน เขื่อนนัวจาตู้ และเขื่อนจินฮง) ส่วนประเทศในเขตแม่น้ำโขงตอนล่างก็มีการวางโครงการที่จะก่อสร้างเขื่อน อีก 8 เขื่อน ในประเทศลาว 6 เขื่อน และ อีก 2 เขื่อน ในประเทศกัมพูชา


ทั้งนี้ เขื่อน 3 แห่งที่จะถูกสร้างบนแม่น้ำโขงโดยความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว นั้นประกอบด้วย เขื่อนปากชมหรือเขื่อนผามอง จ.เลย ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำพูดถึงในโครงการที่จะสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์ โดยเขื่อนนี้จะสร้างให้เป็นเขื่อนมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1,079 MW ต่อมาคือเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1,872 MW และสุดท้ายคือเขื่อนบึงกาฬ จ.หนองคาย ที่จะสร้างบริเวณปากแม่น้ำห้วยหลวง ตามที่นายกสมัครได้พูดถึงในแผนการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงไว้ที่เขื่อนลำปาว โดยมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 800 MW


หากมีการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดที่พูดถึง จะมองเห็นภาพของโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันได ไม่ใช่ Check dam และไม่ใช่ฝายน้ำล้น


 


คำถาม 3 ข้อ กับข้อเรียกร้องต่อคำพูดของนายกมนตรี


1. กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม?


นายมนตรี กล่าวว่า ที่นายกออกมาพูดมาว่า "บัดนี้เราตัดสินใจแล้ว" และ "ถ้าไม่คิดไม่กล้าตัดสินใจก็ไม่มีวันได้ทำ แต่รัฐบาลนี้คิดและตัดสินใจแล้วจะลงมือทำ" ผ่านทางรายการ "สนทนาประสาสมัคร" นั้น ตามความเป็นจริงโครงการนี้ยังต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์และอีกหลายขั้นตอน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 61 และกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี 35 ก่อนที่จะมีการตัดสินใจอนุมัติโครงการ


โดยกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี 35 ระบุรายละเอียดประเภทของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อาทิ อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ชลประทานที่มีพื้นที่มากกว่า 80,000 ไร่ ขึ้นไปต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขื่อนบ้านกุ่มมีปริมาตรของน้ำกว่า 2,111 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนปากชมมีปริมาตรประมาณ 807.77 ล้าน ลบ.ม. สำหรับโครงการผันน้ำงึมที่แบ่งเป็นสองระยะ ระยะแรกเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่ได้ 1 ล้านไร่ ส่วนในระยะที่ 2 เปิดพื้นที่ชลประทานได้ 2.2 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านี้ต้องจัดทำ EIA และเข้าสู่กระบวนการของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้


ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมานายนภดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปยังนครเวียงจันทน์ เพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาว ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม (จ.อุบลราชธานี) โดยปราศจากการเปิดเผยข้อมูล การมีส่วนร่วมตรวจสอบ และการตัดสินใจของภาคประชาสังคมไทย


ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องจัดทำประชาพิจารณ์และกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งควรมีการพูดคุยกันภายในประเทศ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายให้เสร็จสิ้นกระบวนการและได้ข้อยุติ ก่อนที่จะมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ (MOU) กับประเทศลาว


ไม่เช่นนั้นการทำ MOU จะกลายเป็นเงื่อนไขผูกมัด หรือข้ออ้างสำหรับรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องการทำให้โครงการเหล่านี้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นให้ได้ ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมาย


2. การใช้คำว่า เขื่อน ฝาย หรือ Check dam มีผลอย่างไรบ้างทางกฎหมาย?


การที่นายกพยายามจะบอกว่าโครงการนี้เป็น Check dam หรือที่เรียกว่าฝายแม้วซึ่งมีความสูงเพียง 1-2 เมตร เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เบี่ยงเบนความเข้าใจในทางสาธารณะว่าเป็นโครงการเล็กๆ และตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมคำว่า Check dam ฝาย หรือฝายน้ำล้นไม่จำเป็นต้องทำ EIA ให้ทำ EIA เฉพาะเขื่อนกับอ่างเก็บน้ำเท่านั้น ทำให้เข้าใจว่านายกใช้คำนี้อาจมีผลถ้าหน่วยงานรับลูกไปทำตรงนี้ด้วย และจะส่งผลให้ไม่ต้องทำ EIA ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นการบิดเบือนเรื่องภาษาเพื่อที่จะไม่ต้องทำตามกฎหมาย



ภาพจำลองโครงการเขื่อนบ้านกุ่มโดยบริษัทที่ปรึกษา มีความจุอ่างเก็บน้ำ 2,111 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่น้ำท่วม 98,806 ไร่ เป็นพื้นที่ตลิ่งประเทศไทยและลาวและเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม (480 ไร่)


"เราเรียกร้องว่าโครงการเหล่านี้ไม่ใช่ Check dam หรือฝาย แต่ว่ามันคือเขื่อน" นายมนตรีกล่าว


3. เขื่อนบ้านกุ่มมีผลกระทบเล็กน้อยเพียง 2 หมู่บ้าน จริงหรือ?


เมื่อพูดถึง Check dam แล้วภาพของผลกระทบจะมีเพียงเล็กน้อย แต่ความจริงผลกระทบจากเขื่อนบ้านกุ่มมีมากกว่านั้นไม่ว่าเรื่องผลกระทบต่อเขตแดนไทย-ลาว การขัดขวางการอพยพของปลาในแม่น้ำโขงและความเสี่ยงการสูญพันธุ์ของพันธุ์ปลา ผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาวบ้านทั้งในไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งการใช้พื้นที่น้ำลดในการเกษตร


ผลกระทบที่มีจากการสร้างเขื่อนจะไม่ใช่เพียงแค่ 2 หมู่บ้านในไทย แต่ผลกระทบต่อทรัพยากรทางประมงเป็นผลกระทบของคนในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางรายได้ของชุมชน จาก การศึกษาของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่า ปริมาณปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ที่จับได้ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในปี 2544-2545 มีน้ำหนักรวมกันประมาณ 2,033,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,478 ล้านเหรียญสหรัฐ


ประเทศไทยในฐานเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ และมีแหล่งทุนใหญ่ที่หวังจะใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ต้องทบทวงว่าจะใช้แม่น้ำโขงโดยยึดแต่ประโยชน์ในเรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียว หรือจะมองแม่น้ำโขงอย่างเป็นระบบนิเวศน์ที่ใช้ร่วมกันของทุกประเทศในภูมิภาค โดยไม่มีเขตแดนหรืออธิปไตยเป็นเส้นแบ่ง เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน


 


ผลกระทบจากโครงการผันน้ำและการสร้างเขื่อน


นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา จ.อุดรธานี กล่าวถึงการออกมาแสดงความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชเกี่ยวกับโครงการผันน้ำฯ ว่า มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ต้องการผันน้ำโขงในช่วงฤดูฝนที่น้ำมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาวจะไม่สามารถที่มีแบกรับน้ำจากแม่น้ำโขงได้ ล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนไปเป็นการสร้างเขื่อน (ใช้คำพูดว่า Check dam) เพื่อยกระดับน้ำให้สามารถผันน้ำได้ง่ายขั้น และทำให้การผันน้ำทำได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูแล้งซึ่งจะเอื้อต่อการใช้น้ำเพื่อกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่การชลประทานในอีสาน


ดังนั้นจึงต้องติดตามข้อมูลจากนายสมัครในครั้งต่อไป เพราะอาจเปิดเผยความจริงบางอย่าง และเชื่อว่าในวันนี้โครงการดังกล่าวยังมีการปิดบังข้อมูลต่างๆ อยู่มาก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเขื่อนขั้นบันได หรือ Check dam ตามที่นายสมัครให้ข้อมูล ต่างก็ส่งผลกระทบทั้งสิ้น


ตามความคิดของนายเลิศศักดิ์ ผลกระทบอับดับแรกสุดของโครงการนี้ คือ ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ตามความต้องการของนายกที่จะให้มีการสร้างเขื่อนจากบริเวณปากแม่น้ำห้วยหลวงลงไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการเกิดบั้งไฟพญานาค (แสงที่ผุดขึ้นมาจากน้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นไข่ของพญานาค) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงกับความเชื่อตามคติทางพุทธศาสนาของพี่น้องไทย-ลาวสองฝั่งโขง


"เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คอขาดบาดตายที่รัฐบาลอาจจะเจอฝูงชนริมฝั่งโขง แถว อ.โพนพิสัย แถวหนองคายประท้วงโครงการนี้เอาก็ได้" นายเลิศศักดิ์กล่าวแสดงความคิดเห็น


การที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีตะกอนทรายอยู่สูงมากในอันดับต้นๆ ของโลก และตะกอนทรายใต้ท้องน้ำโขงนี้เองอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคในวันคืน 15 ค่ำ เดือน 11 ด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่สะสมอยู่ ทั้งนี้ หากมีการสร้างเขื่อนหรือสิ่งก่อสร้างที่กั้นขวางทางน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังนั้น จึงควรต้องมีการศึกษาในเรื่องดังกล่าว รวมถึงผลกระทบของตะกอนทรายในแม่น้ำโขงและการกัดเซาะของตลิ่งริมน้ำที่อาจมีต่อวิทยาของน้ำโขง และถิ่นที่อยู่ของปลาและสัตว์น้ำในท้องน้ำโขงอย่างจริงจังและเป็นระบบ


 


น้ำเซาะตลิ่งกับปัญหาเขตแดนที่ต้องเร่งสะสาง


การสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงมีผลกระทบต่อการพังทลายของตลิ่งริมสองฝั่งโขง เพราะกระแสน้ำที่แรงขึ้นจากการปล่อยน้ำของเขื่อน รวมทั้งการกับเก็บน้ำให้สูงขึ้นโดยผิดฤดูการ จะทำให้ดินทรายที่เป็นตลิ่งของแม่น้ำโขงอุ้มน้ำจนหนักและพังทลายลงมาได้ ซึ่งการพังทลายของตลิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เขตแดนไทย-ลาวที่แบ่งโดยลำน้ำเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น


นายเลิศศักดิ์ เปิดเผยว่าจากผลการศึกษาพบว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทำให้ไทยเสียเปรียบจากการฝังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำโขงโดยทำให้ดินแดนของไทยลดลง หรือทำให้เขตแดนของลาวขยับเข้ามาเร็วขึ้น ทำให้โครงการฯ ที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่นายกจะนำมาพูดทุกวันอาทิตย์ได้อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องนำเข้ารัฐสภาเพื่อตราพระราชบัญญัติออกกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามาพิจารณาวาระเกี่ยวกับเรื่องแม่น้ำโขงมากขึ้น


 "เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่จะให้อยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี หรือครม.เพราะเป็นเรื่องของกฎหมายหมวดความมั่งคง เป็นเรื่องของอาญาแผ่นดินที่มีโทษสูงเสมือนขายชาติ ขายแผนดิน" นายเลิศศักดิ์ กล่าว


นายเลิศศักดิ์ กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนไทย-ลาว ระยะทางประมาณ 955 กิโลเมตร (แนวพรมแดนระหว่างไทย-ลาว ความยาว 1,750 กิโลเมตร ) นับจากสนธิสัญญาปักปันเขตแดนสยามฝรั่งเศสเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว (ขณะนี้ประเทศลาวเป็นผู้ถือสิทธิแทนฝรั่งเศส) ปัจจุบัน ยังไม่มีการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางน้ำ ส่วนเขตแดนบนบกเริ่มดำเนินการแล้วแต่ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากมีบัญหาความขัดแย้งในบางจุด


ดังนั้นจะต้องมีการสำรวจจัดทำเขตแดนให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง เพื่อเป็นหลักประกันว่าหลังจากการสร้างเขื่อนกลางแม่น้ำโขงแล้ว หากเขตแดนไทย-ลาวเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยสำรวจไว้ในทางที่ประเทศไทยเสียประโยชน์ ผู้อนุมัติโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงจะต้องต้องโทษเป็นอาญาแผ่นดิน


ทั้งนี้ เครือข่ายประชาสังคมแม่น้ำโขงอาจจะต้องพิจารณาข้อกฎหมาย โดยก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงอาจทำการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือในช่องทางของคณะกรรมการวิสามัญทั้งวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อถามเจตจำนงรัฐบาลว่าจะทำการสำรวจเขตแดนไทยลาวให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงหรือไม่


 


น้ำมหาศาลประโยชน์เพื่อประชาชน?


นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อมาถึงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องรับมวลน้ำมหาศาลจากน้ำโขงว่า ล่าสุดอธิบดีกรมชลประทานได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการขยายสันเขื่อนลำปาวให้สูงขึ้นไปอีก 2 เมตร และเปลี่ยนจากเขื่อนชลประทานให้เป็นเขื่อนเอนกประสงค์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเขื่อนนี้เป็นเขื่อนแกนดินเหนียว การเพิ่มความสูงของสันเขื่อนเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่มากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตัวเขื่อน


นอกจากนี้นายเลิศศักดิ์ คาดว่าจะต้องมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นตามรายทางการผันน้ำ ที่สำคัญ คือ ในพื้นที่ใต้ฝายที่รับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานในเขตลุ่มน้ำพอง ซึ่งในลำน้ำพองอาจต้องมีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกหากเขื่อนอุบลรัตน์รองรับน้ำไม่ไหว


"ปริมาณน้ำมหาศาลเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานหลายล้านไร่ แต่คำถามที่สำคัญคือ เราจะกระตุ้นให้ชาวบ้านใช้น้ำทำการเกษตรอย่างไรจากน้ำที่มากมายมหาศาลขนาดนี้" นายเลิศศักดิ์กล่าว


นายเลิศศักดิ์ แสดงความคิดเห็นว่า หากมีการนำน้ำมหาศาลจากแม่น้ำโขงมาใช้จะทำให้เกิดเงื่อนไข 2 ข้อ คือ เงื่อนไขที่ชาวบ้านจะไม่ใช้น้ำโขง และเงื่อนไขที่ชาวบ้านอาจจะใช้น้ำโขง


ภายใต้เงื่อนไขแรก คือ ชาวบ้านไม่ใช้น้ำโขง หรือใช้ในปริมาณที่ต่ำ เหมือนบทเรียนของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าภาคอีสาน ที่พัฒนาจากโครงการโขง-ชี-มูลเดิม ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะโครงการดังกล่าวต้องเสียค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการทำการเกษตร ทำให้เกษตรกรไม่ให้ความสนใจ โดยเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่ทำการเกษตรฤดูแล้งจากโครงการดังกล่าว อยู่ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 14 ของพื้นที่ส่งน้ำทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านไร่ จาก 957 สถานีสูบน้ำ เท่านั้น และคาดการณ์ว่า โครงการไฮโดรชิลหรือโครงการผันน้ำโขงของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็อาจต้องพึงพาสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามริมฝั่งน้ำในภาคอีสานเพื่อยกน้ำเข้าไปยังคลองส่งน้ำและเข้าไปถึงไร่นาชาวบ้านด้วยเช่นกัน


หากเป็นเช่นนั้น จะต้องมีการปล่อยน้ำโขงจากอ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ อย่าง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว หรือหนองหาน-กุมภวาปี ไปลงแม่น้ำชี แม่น้ำมูล หรือลำน้ำสาขาอื่นๆ เพื่อให้น้ำไหลลงแม่น้ำโขงอีกฝั่งหนึ่ง เพราะจะต้องทำอ่างเก็บน้ำให้ว่างไว้รอน้ำฝนในฤดูกาลต่อไป ทั้งนี้ กระแสน้ำที่ไหลรุนแรงขณะที่มีการปล่อยน้ำทิ้งนั้นจะเป็นตัวการทำให้ตลิ่งเซาะพังมากขึ้น อีกทั้งตะกอนทรายที่ไหลลงมาจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาท้องนำโขงที่เหมาะสมต่อการอาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เสียหายได้


ส่วนทางแก้ หากรัฐบาลเสียดายน้ำที่จะต้องปล่อยทิ้งอย่างเสียเปล่า คือการทำให้เขื่อนเป็นเขื่อนสูบกลับได้ หรือการทำให้เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เหมือนกับที่จะทำกับเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นแผนรองรับที่แสดงถึงการที่ภาครัฐจะไม่สามารถกระตุ้นการใช้น้ำของชาวบ้านให้มากขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยก็ 15 ปีขึ้นไป


สำหรับเงื่อนไขที่ 2 นายเลิศศักดิ์ได้ตั้งคำถามว่า "หากมีการใช้น้ำจากการผันน้ำโขงเข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพื่อพัฒนาการเกษตรในภาคอีสาน แล้วใครจะเป็นผู้ใช้น้ำ?"


 


ความเปลี่ยนแปลงที่มากับนโยบายพัฒนาแม่น้ำโขง


จากวิกฤตการณ์พืชอาหารและพืชพลังงาน ที่นายทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรมกำลังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกร และกลุ่มทุนเหล่านี้ต้องการพื้นที่เกษตรชลประทาน เพราะที่เงินมากพอที่จะจ่ายค่าน้ำ และจ้างแรงงาน  


นายเลิศศักดิ์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตรในภาคอีสานอย่างมโหฬาร โดยคาดการณ์ว่าภาพของเกษตรอีสานไร้ที่ดินจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันที่เป็นการทำเกษตรโดยเกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้ว่าอัตราผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่จะต่ำแต่ในภาคอีสานก็มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านอาหารมากกว่าเกษตรกรในภาคเหนือและภาคกลาง เพราะมีเกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองสูงกว่าในภาคเหนือและภาคกลาง แต่การผันน้ำโขงเข้ามาทำให้มองเห็นได้ว่าคนกลุ่มไหนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว


"ไม่ว่าจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงเป็นแบบขั้นบันไดตามที่นายกพูดที่ผ่านมา หรือเป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ตาม แท้ที่จริงมันได้ซ่อนเป้าประสงค์ของการเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ไว้อีกประการ ซึ่งก็คือการเดินเรือในแม่น้ำโขง" นายเลิศศักดิ์กล่าว


นายเลิศศักดิ์กล่าวให้ข้อมูลว่า การมีเขื่อนในแม่น้ำโขงจะทำให้สามารถรักษาระดับน้ำเพื่อใช้ในการเดินเรือได้ แต่ก็ต้องมีการระเบิดแก่งมากขึ้นเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือ ตั้งแต่แก่งที่ต่ำกว่า อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หรือแก่งแถบพรมแดนไทย-ลาว แถบแม่น้ำเหลืองลงมาแถวแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย เรื่อยลงมาถึงเวียงจันทน์ ทั้งนี้การเดินเรือจะเป็นการกระตุ้นการค้าชายแดนให้เศรษฐกิจเติบโตในอนาคตได้


เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเพราะลาวกำลังจะมีชุมชนการค้ากลางเมืองเวียงจันทน์ที่บึงภาคหลวงเป็น "ลิตเติ้ลไชน่า"หรือ "ไชน่าทาวน์" ที่รัฐบาลลาวมีแผนจะอนุมัติให้ประชากรจีนประมาณ 9,000 ครอบครัว มาตั้งศูนย์ราชการ และศูนย์ธุรกิจการค้า ตามข้อตกลง FTA อาเซียนจีน


 


.......................................................


รูปภาพจาก: สไลด์เผยแพร่ในการแถลงข่าวของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง เมื่อ 29 พ.ค.51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net