Skip to main content
sharethis


1 มิ.ย.51 ที่ศูนย์พัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ได้จัดแถลงผลการศึกษาเรื่อง "ปัญหาของพันธุ์ข้าวลูกผสม ศึกษากรณีการผลักดันพันธุ์ข้าวลูกผสมของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์" ทั้งนี้ การแถลงผลการศึกษานี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากกรณีที่มีการนำเสนอยุทธศาสตร์ข้าวของนายธานินท์ เจียรวนนท์ ที่เสนอให้ใช้ข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลผลิตสูงในพื้นที่ชลประทาน 25 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือใช้สำหรับปลูกพืชพลังงานทดแทน


 


นายจักรกฤษณ์ พูลสวัสดิ์กิติกุล นักวิจัยจากไบโอไทย ได้แถลงผลการศึกษาว่า จากการการสำรวจข้อมูลผลของการปลูกข้าวลูกผสมซีพี 304 ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และอุตรดิษฐ์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2551- พฤษภาคม 2551 โดยสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากชาวนาที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวลูกผสมจำนวน 9 ราย โดยอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร 4 ราย และจังหวัดอุตรดิษฐ์  5 ราย พบว่า  ผลผลิตเฉลี่ยของชาวนาที่ปลูกข้าวลูกผสมจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 958 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่อ้างโดยซีพีในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์หลายครั้งที่บอกว่าข้าวลูกผสมของซีพีสามารถให้ผลผลิตสูงถึง 1,500 กิโลกรัม/ไร่ จะพบว่าผลผลิตที่ได้ในทางปฏิบัตินั้น ต่ำกว่าที่ซีพีโฆษณาถึง  36% ในขณะเดียวกัน การศึกษาในพื้นที่พบว่าต้นทุนการผลิตข้าวลูกผสมนั้นสูงเฉลี่ย 4,462 บาท/ไร่ โดยสัดส่วนของค่าเมล็ดพันธุ์และปักดำนั้นสูงถึง 1,700 บาท/ไร่ หรือสูงถึงร้อยละ  38 ของต้นทุนการทำนาทั้งหมด แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการผลักดันให้ปลูกข้าวลูกผสมนั้น บริษัทเอกชนจะได้ประโยชน์จากการขายเมล็ดพันธุ์เป็นสำคัญ


 


จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการปลูกข้าวลูกผสมกับการปลูกข้าวทั่วไป เห็นได้ชัดว่า ต้นทุนการผลิตข้าวลูกผสมสูงมากจนชาวนาได้รายได้สุทธิน้อยกว่าการปลูกข้าวทั่วไป "จากการสำรวจทัศนคติของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการทราบว่า มีชาวนาจำนวน 20-30% จะเลิกทำนาโดยใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมในฤดูปลูกที่จะมาถึงนี้" นายจักรกฤษณ์กล่าว


 


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณภาพของข้าวลูกผสมของซีพีนั้นมีคุณภาพต่ำมากเมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวทั่วไป โดยที่ผ่านมามีการเสนอให้นำข้าวลูกผสมไปแปรรูปเป็นเอธานอล หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้แต่ซีพีเองที่รับซื้อข้าวพันธุ์นี้ก็เอาไปสีทำเป็นข้าวนึ่งซึ่งเป็นตลาดข้าวสำหรับประเทศในทวีปแอฟริกา


 


"ปัญหาข้าวลูกผสมจะเป็นปัญหาสำหรับทั้งต่อเกษตรกรและต่อตลาดข้าวของไทยในอนาคต เนื่องจากในขณะนี้เกษตรกรขายข้าวลูกผสมในราคาข้าวทั่วไป แต่ในระยะยาวเมื่อมีการปลูกข้าวลูกผสมมากขึ้น ข้าวคุณภาพต่ำเหล่านี้จะมีราคาต่ำกว่าข้าวทั่วไป  ที่สำคัญคือเมื่อข้าวลูกผสมเหล่านี้ผสมปนกับข้าวขาวทั่วไปของไทยโดยไม่แยกแยะเป็นชั้นพันธุ์ข้าวอีกระดับหนึ่ง จะส่งผลให้คุณภาพข้าวจากประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีได้รับผลกระทบ  สร้างความเสียหายให้กับตลาดข้าวทั้งหมดในที่สุด" นายวิฑูรย์ กล่าว


 


นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โดยการลดพื้นที่ปลูกข้าวให้เหลือ 25 ล้านไร่ แล้วปลูกข้าวลูกผสมปีละ 3 ครั้ง นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นกลอุบายในการผลักดันให้มีการปลูกพันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งจะทำให้ซีพีได้ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวมีมูลค่าสูงถึง 37,000 ล้านบาท/รอบการผลิต หรือมากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี โดยเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากซีพีไปปลูกต่อทุกปี เช่นเดียวกับ การปลูกข้าวโพดลูกผสม หรือการเลี้ยงปลาทับทิม ทั้งนี้ไม่นับผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากการขายปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร และผลิตภัณฑ์อื่นๆของบริษัท


 


นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้กล่าวถึงสถานการณ์ในภาคอีสานว่า ขณะนี้เกษตรกรกำลังกลายเป็นเหยื่อของบริษัทการเกษตร ตัวอย่างเช่น มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากถูกหลอกให้ปลูกยางพาราที่เรียกว่า "ยางตาสอย" ซึ่งเมื่อปลูกไปเพียงสองปีต้นยางต้นเล็กๆ ก็ออกดอกออกผลและจะไม่ให้น้ำยางแล้ว เพราะต้นตอที่ได้รับมานั้น นำตายางแก่มาติดตากับต้นพันธุ์ ถือว่าเป็นการหลอกลวงที่โหดร้ายต่อเกษตรกรมาก และซีพีจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย เพราะได้สัมปทานขายต้นกล้ายางพาราหลายล้านต้นในภาคอีสาน 


 


"ในกรณีการโฆษณาข้าวลูกผสมก็เช่นเดียวกัน ชาวนาจะต้องรวมตัวกันฟ้องร้องบริษัทถ้าหากผลผลิตไม่ได้ตามที่โฆษณา หรือมีต้นทุนสูงกว่าที่บริษัทโฆษณาชวนเชื่อ หรือผู้บริหารของบริษัทได้ให้สัมภาษณ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ " นายอุบล กล่าว


 


หลังจากการจัดเสวนาครั้งนี้แล้ว ไบโอไทยยังได้ส่งนักวิจัยไปสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม การปลูกข้าวลูกผสมในจังหวัดอื่นๆนอกเหนือจากจังหวัดกำแพงเพชร และอุตรดิษฐ์ โดยข้อมูลการศึกษาทั้งหมดจะถูกนำเสนอต่อเครือข่ายของเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 10 เครือข่าย มากกว่า 300 คน ที่จะมารวมกันในงาน "สมัชชาความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร" ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพื่อนำเสนอแนวทางและกำหนดการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการปลูกข้าวลูกผสม การเตรียมการฟ้องร้องหากมีการโฆษณาเกินจริง ตลอดจนกดดันมิให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน แทนที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกร


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net