บทสัมภาษณ์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง : วิเคราะห์พันธมิตรฯ-ภาคประชาชน และไปให้พ้น 2 ขั้ว

"มันไม่ค่อยมีการให้ความจริงทางปัญญาบนเวทีพันธมิตรฯ มันเหมือนไปฟังประกวดคำด่าว่าใครด่าได้เจ็บแสบที่สุด ด่าอีกฝ่ายว่าเป็นหมาข้างถนน เศษมนุษย์


 

...อันนี้คือคำที่ออกมาจากปากคนที่เป็นศาสตราจารย์ เป็นดอกเตอร์ หรือว่าการโกหกพกลมปะติดปะต่อคนที่จะล้มล้างสถาบัน สร้างระบอบสาธารณรัฐ... มันกลายเป็นบรรยากาศที่แยกพวกเขาพวกเรา พวกฟ้าเดียวกัน พวกประชาไท พวกล้มล้างสถาบัน พวกทักษิณ กับพวกจงรักภักดี จนอาจจะเรียกว่าขบวนการล้าหลังคลั่งชาติไปแล้ว"

 

"ถ้าลองไปดูที่ชุมนุมจริงๆ ก็พูดได้ชัดเจนว่ามีแต่แฟนคลับของ ASTV กลุ่มญาติธรรม ภาคประชาชนรู้สึกว่าจะมีแต่หัว เหมือนผีกระสือ มีแต่หัวไม่มีตัว เป็นขบวนการภาคประชาชนแบบขาลอย มีแต่ผู้นำ 2-3 คน เพราะภาคประชาชน เอ็นจีโอ ทุกคนกระโจนหนี พูดได้ว่าภาคประชาชนของแท้ไม่มีในการชุมนุมครั้งนี้"

 

.....

 

เขาคือ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 1 ใน 137 นักวิชาการที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปให้พ้นการเมืองแบบ 2 ขั้ว

 

ประภาสไม่ได้เป็น"นักวิชาการบนหอคอยงาช้าง" เพราะเขาเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน คลุกคลีอยู่กับแวดวง NGO และนักเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

 

ขณะเดียวกันก็เป็นฝ่าย "2 ไม่เอา" ที่ชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้เขาร่วมลงชื่อกับคณาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ คัดค้านรัฐบาลหมักโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม แล้วร่วมลงชื่อกับ 130 นักวิชาการ ประณามสื่อในเครือผู้จัดการที่ปลุกระดมให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

วันนี้เขาขอพูดถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ อย่างที่เจ้าตัวบอกว่าพันธมิตรฯ อาจจะเห็นเขาเป็น "ศัตรู" เพราะไม่ต้องการเห็นรัฐประหารหรือการเอาชนะกันทางการเมืองอย่างเดียว

 

 

ล้าหลังคลั่งชาติ

เขาบอกว่าไปสังเกตการณ์ในม็อบเมื่อวันที่ 25 พ.ค.

 

"ผมไปเดินๆ อยู่ม็อบบ้าง ถ้าดูโดยภาพใหญ่ ส่วนแรกเลยก็คือการตรวจสอบรัฐบาลโดยพันธมิตรฯ ก็เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องขอบคุณ การตรวจสอบอำนาจของระบอบทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องการทำลายกระบวนการยุติธรรม"

 

"แต่ถามว่าตอนที่ไปเห็นอะไร ผมรู้สึกว่าเป็นสงครามแห่งความเกลียดชังหรือเปล่า คำพูดต่างๆ บนเวที ลักษณะมันเป็นการเอาชนะคะคานจนเกินเลย และที่สำคัญเรื่องที่เป็นกรอบโครงหลักผลักดันการเคลื่อนไหว เรื่องใหญ่ที่พูดกันก็คือเรื่องสถาบัน เรื่องอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เหลือก็คือการเชื่อมโยงสู่ประเด็นพวกนี้ทั้งหมด เขียนโครงเรื่องแบบนี้ ทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายนี้ก็ถูกผลักให้ไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายที่กำลังจะทำลายอุดมการณ์นี้และสร้างสิ่งที่พันธมิตรฯ เรียกว่าสาธารณรัฐ อันนี้คือสงครามแห่งความเกลียดชัง การสร้างความเป็นพวกเขาพวกเรา แยกมิตรแยกศัตรู"

 

"ถ้าดูบรรยากาศในที่ชุมนุม ความรุนแรงก็มาจากทั้ง 2 ฝ่าย ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกัน ในส่วนของผู้ชุมนุมเองก็ขยายสงครามแห่งความเกลียดชัง พูดด้วยท่าทีซึ่งใครอยู่ตรงนั้นก็เห็น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่สิ่งที่เราเกรงกลัวกัน นี่ก็เป็นภาพที่ผมเห็น ซึ่งดูเหมือนจะพัฒนาไปมากกว่าการตรวจสอบถ่วงดุลกำกับรัฐบาล ดูเหมือนเจตนารมณ์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนไม่รู้จะไปสิ้นสุดตรงไหน และเหมือนว่ากำลังจะไปสิ้นสุดตรงที่เราพูดถึงเรื่องความรุนแรง รัฐประหาร อะไรแบบนี้หรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมกังวล"

 

พันธมิตรฯ ไม่ได้พูดเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหลักหรือ?

 

"รัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นเล็กๆ เท่านั้นเอง เป็นประเด็นรองของกรอบการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะคำแถลงในช่วงหลังๆ ที่ครั้งแรกพูดว่าจะต้องถอนร่าง เรียกร้องให้ทำประชามติ แต่พอรัฐบาลประกาศทำประชามติ และตอนนี้ดูเหมือนจะชัดเจนว่ามีการถอนร่าง พันธมิตรฯ ก็พัฒนาโจทย์ต่อไปอีกว่า ไล่รัฐบาล ล้มระบอบที่จะสร้างระบอบสาธารณรัฐ รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนแค่เครื่องมือ"

 

เขาบอกว่าการปราศรัยบนเวทีไม่ได้เหมือนครั้งไล่ทักษิณ ที่พูดเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เปิดโปงผลประโยชน์ทับซ้อน

 

"ตอนนี้ผมรู้สึกว่าเวลาไปฟังเวทีมันไม่มีปัญญา ไม่ค่อยให้ความจริงทางปัญญาเท่าไหร่ มันเหมือนไปฟังประกวดคำด่าว่าใครด่าได้เจ็บแสบที่สุด ด่าอีกฝ่ายว่าเป็นหมาข้างถนน เศษมนุษย์ อันนี้คือคำที่ออกมาจากปากคนที่เป็นศาสตราจารย์ เป็นดอกเตอร์ หรือว่าการโกหกพกลมปะติดปะต่อคนที่จะล้มล้างสถาบัน สร้างระบอบสาธารณรัฐ เช่น คุณประพันธ์ คูณมี โกหกว่าอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กับอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล ตอนนี้สุมหัวกันอยู่ที่ร้านอาหารแถวสามเสน ทั้งที่สองคนนี้ไม่มีทางจะมานั่งโต๊ะอยู่ด้วยกัน เพราะเถียงกันเองตลอด อาจารย์ธงชัยก็อยู่ที่อเมริกา อาจารย์สมศักดิ์หรือจะไปร่วมมือกับพลังประชาชน"

 

"การปะติดปะต่อ การโกหกเพื่อสร้างความเกลียดชัง คือโครงทั้งหมดของบรรยากาศในการปราศรัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักไฮด์ปาร์กที่ไม่ค่อยมีราคาเท่าไหร่ ประเด็นรัฐธรรมนูญก็มีการพูดนิดหน่อย เอาอดีต ส.ส.ร.ไปพูดอยู่บ้าง แต่หลักๆ ก็เป็นการไฮด์ปาร์กของนักไฮด์ปาร์กที่ไม่ค่อยมีราคาเท่าไหร่ ด่าเป็นหลัก สัตว์เลื้อยคลานก็จะยั้วเยี้ยแถวๆ หน้าเวที เรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญหลายเรื่อง แม้กระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดถึง"

 

"ผมเองก็ไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง แม้แต่เรื่องที่รัฐบาลจะทำประชามติ คือถ้าเป็นประชามติแบบลุกลี้ลุกลนเราก็ไม่เห็นด้วย

 

ไม่ใช่ประกาศว่าจะทำใน 45 วัน มันต้องพูดกันว่า พ.ร.บ.ประชามติคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร ไม่ใช่ไปเร่งให้ กกต.รีบเสนอเพื่อจะเข้าสภา 3 วาระรวดในวันเดียว พ.ร.บ.ฉบับใหม่บอกว่าให้ทำภายใน 45-60 วันนับแต่วันที่ประกาศลงประชามติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 214 กำหนดไว้ 90-120 วัน คือมันยังต้องถกเถียงกันเยอะ กระบวนการประชามติก็คือประชาธิปไตยทางตรง ให้ประชาชนเข้ามาตัดสินใจประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง

 

มันต้องถกเถียงกันตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เนื้อหา องค์กรที่จะมาแก้รัฐธรรมนูญ จะทำแบบ ส.ส.ร. หรือเปล่า ไม่ใช่ไปตัดสินใจแบบลุกลี้ลุกลน"

 

แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้พูดกันในเวทีพันธมิตรฯ ?

 

"มันไม่ค่อยมีปัญญาเท่าไหร่ในเวทีพันธมิตรฯ ทั้งๆ ที่ควรจะมีประเด็นแบบนี้ถกเถียงกันเยอะ มันกลายเป็นบรรยากาศที่แยกมิตรแยกศัตรู พวกเขาพวกเรา พวกฟ้าเดียวกัน พวกประชาไท พวกล้มล้างสถาบัน พวกทักษิณ กับพวกจงรักภักดี ซึ่งอาจจะเรียกว่าขบวนการล้าหลังคลั่งชาติไปแล้ว หลังจากดูบรรยากาศบนเวที น่าจะพูดได้ว่าเป็นขบวนการล้าหลังคลั่งชาติไปแล้ว"

 

สรุปว่าพันธมิตรไม่ได้โจมตีแค่พวกทักษิณ แต่โจมตีฝ่าย 2 ไม่เอา อย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ.เกษียร เตชะพีระ ด้วย ?

 

"อาจารย์ผู้ใหญ่พวกนี้ถูกผลักไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่งหมดเลย ผมคิดว่าหลังจากวันนี้ผมก็จะถูกผลักไปอีกข้าง (หัวเราะ) ไม่ใช่พวกเขา เป็นศัตรู เมื่อเป็นศัตรูก็สร้างความเกลียดชัง ก็ฆ่ากันได้ ซึ่งผมคิดว่าการแยกพวกเขาพวกเรา มิตรศัตรู เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การฆ่ากันได้ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ทหารป่าหวายถูกจัดตั้งว่าให้ฆ่าศัตรูของชาติ"

 

 

มีแต่หัวไม่มีตัว

ตอนนี้พันธมิตรฯ ก็ไม่ได้แนวร่วมจากนักวิชาการ NGO ?

 

"การเมืองแบบสร้างความเกลียดชัง แยกเขาแยกเรา เป็นมิตรศัตรูแบบนี้ ผมคิดว่ามีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีคือมันไม่ต้องลงทุนอะไรมาก โดยเฉพาะทางปัญญาทางประเด็น ไม่ต้องพัฒนาประเด็นอะไรมาก ด่าๆๆ ท้ามัน สร้างอารมณ์ร่วม ความเป็นพวกเรา มันก็จะดึงผู้คน เริ่มต้นจะเห็นการขยายแบบนี้ แต่ด้านเสียคือการแยกมิตรแยกศัตรูแบบนี้ก็มีต้นทุนของมัน มันทำให้คนที่อยู่ตรงกลางๆ และก็เฝ้ามอง เฝ้าฟังเหตุฟังผล ว่าจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเพราะอะไร พวกนี้ก็จะกระโจนหนี"

 

"อย่างตอนนี้ถ้าเราลองไปดูที่ชุมนุมจริงๆ ก็พูดได้ชัดเจนว่ามีแต่แฟนคลับของ ASTV กลุ่มญาติธรรม ที่ร่วมสู้กันมายาวนาน คราวนี้ภาคประชาชนรู้สึกว่าจะมีแต่หัว เหมือนผีกระสือ มีแต่หัวไม่มีตัว เป็นขบวนการภาคประชาชนแบบขาลอย มีแต่ผู้นำ 2-3 คน เพราะในส่วนของภาคประชาชนแบบเอ็นจีโอ กป.อพช. สายแรงงาน หรือเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เคยเป็นฐานสำคัญตั้งแต่พฤษภาทมิฬ มาถึงไล่ทักษิณคราวที่แล้ว ทุกคนก็กระโจนหนี พูดได้ว่าภาคประชาชนของแท้ไม่มีในการชุมนุมครั้งนี้"

 

เครือข่ายสลัมที่พี่สุวิทย์ วัดหนู เป็นแกนนำในอดีต ก็ไม่มาร่วมเลยหรือ ?

 

"ถ้าเป็นบุคคลก็พูดชัดไม่ได้ แต่ผมยังไม่เห็นแกนนำ"

 

เมื่อครั้งไล่ทักษิณ ภาคประชาชนส่วนหนึ่งแตกออกไปตอนมาตรา 7 แต่ตอนนี้ยิ่งหายหดหมดเรียบ ประภาสบอกว่าเพราะทุกคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ไม่อยากเห็นรัฐประหารอีก

 

"เรามีบทเรียนจากช่วงระบอบรัฐประหาร ปีกว่าๆ ที่มันชัดว่าการเปลี่ยนแปลงโดยทหาร เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ในบรรยากาศแบบเผด็จการ เราในที่นี้คือพี่น้องภาคประชาชน สมัชชาคนจน หรือแม้แต่คนจนเมือง สิ่งที่เราเจอคือเวลาเขาใช้ยา แม้ไม่ใช่ยาแรงในความหมายของเขา เราเจอ พ.ร.บ.ความมั่นคง เราเจอกองทหารในหมู่บ้าน เราไม่สามารถเคลื่อนไหวอะไรได้ ไม่สามารถต่อรองได้ โครงการขนาดใหญ่ที่รีบทำไปกระทบกับประชาชน ปัญหาของพี่น้องไม่เคยถูกแก้เลย แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังแย่ ในภาวะ 2 ขั้วนี้ ปัญหาปากท้องไม่ได้แก้ ผมคิดว่าเรามีบทเรียนมามาก มีการสรุปบทเรียน ทุกคนจึงไม่ได้เข้ามา ส่วนหัวๆ นั่นอีกเรื่อง เขาคงมีเหตุผลของเขาบางอย่าง"

 

"ความจำกัดของสงครามที่ปั้นประเด็นความเกลียดชังมันมีผล มันทำให้จำนวนของคนกลุ่มเดียวอาจจะขยาย แต่ไม่สามารถขยายในเชิงคุณภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาคประชาชนอื่นๆ คนกลุ่มอื่น กลุ่มคนที่ก้าวหน้าในสังคม นักวิชาการส่วนอื่นๆ ถูกผลักไปอยู่อีกพวกหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสภาวะซึ่งไม่รู้จะพัฒนาไปอย่างไร ตอนนี้รัฐบาลก็เริ่มถอยในเรื่องรัฐธรรมนูญ มาพูดเรื่องประชามติ ความชอบธรรมที่จะให้คนมาร่วมในเชิงคุณภาพก็จะยิ่งลดลงไปๆ"

 

ตอนนี้คนทั่วๆ ไปก็ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ซึ่งไม่ได้แปลว่าเข้าข้างรัฐบาล แต่พันธมิตรฯ ทำให้ชาวบ้านทั่วๆ ไปรู้สึกว่าสร้างความปั่นป่วน

 

"คนทั่วไปก็อยู่ในอารมณ์นี้ ถึงแม้ไม่ชอบรัฐบาล แต่ก็ไม่อยากเข้ามาในวงแบบนี้ วงซึ่งด่ากันทุกวัน ไม่ได้มีอะไรสร้างสรรค์เลย โดยเฉพาะคนชั้นกลาง คนที่มีการศึกษาดีหน่อย เข้าไปยาก นอกจากพวกฮาร์ดคอร์จริงๆ ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ต้น จะเหลือแต่คนในส่วนนั้น"

 

วันที่ 25 ก็เหลือไม่ถึง 2 หมื่น มากที่สุดหมื่นกว่า

 

"ที่จริงพวกเราชุมนุมกันมาเยอะ รู้ว่าถนนมันหลอกตาคน (หัวเราะ) พันธมิตรฯ บอกแสนกว่าต้องเอา 5 หารสักครั้งแล้วก็หารลงไปอีกสักหน่อย ผมยังคิดว่าไม่เกินหมื่นแม้กระทั่งวันที่ 25"

 

ซึ่งต่างจากครั้งที่สนามหลวง

 

"ที่สนามหลวงคนมากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็คือกลุ่มก้อนของผู้คนหลากหลายกว่า คนที่อยู่กระแสก้าวหน้ามีเยอะกว่าชัดเจน แต่คราวนี้มันแคบ"

 

 

ความชอบธรรม

ประภาสเห็นว่าพันธมิตรฯ ควรยุติการชุมนุมมากกว่าเปลี่ยนประเด็นไปเป็นการไล่รัฐบาล

 

"ตรรกะของพันธมิตรฯ ถ้าดูจาก  เวลานี้ก็คือไม่ถอย ดันไปสู่ประเด็นที่อุ้มตรรกะของสนธิคือสงครามครั้งสุดท้าย ไม่ชนะไม่เลิก มันก็ต้องพัฒนาไปสู่อะไรสักอย่าง อะไรสักอย่างในที่นี้เนื่องจากว่าตรรกะของการขยายมวลชนมันไม่สามารถขยายผู้เข้ามาเห็นด้วย เส้นทางเดียวของตรรกะแบบนี้ก็คือมีการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่พึงปรารถนา ผมคิดว่ามันจะเดินไปสู่เส้นนั้นแน่ๆ ทุกคนก็เห็น นั่ นคือสิ่งที่สังคมกังวล"

 

"ถ้าพันธมิตรฯ ไม่ถอย ณ วันนี้แสดงว่าพันธมิตรฯ กำลังนำไปสู่ตรรกะนั้นชัดเจน และคนก็จะได้ข้อสรุปชัดว่าที่พันธมิตรฯ พูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ พูดถึงประเด็นอื่นๆ เป็นแค่ประเด็นซ่อนเร้นเท่านั้น แต่มีโครงหลักอยู่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ตามมาคือผลที่จะนำไปสู่อะไรต่ออะไร นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ น่ากังวล"

 

การเปลี่ยนประเด็นจากรัฐธรรมนูญไปสู่การไล่รัฐบาล ยังไม่มีความชอบธรรม

 

"ความชอบธรรมในแง่ของการขับไล่รัฐบาล ณ วันนี้ยาก เหตุผลไม่พอ ปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง ผู้คนเดือดร้อนจริง อะไรต่างๆ เกิดขึ้นกว้างขวางแน่ๆ แต่ว่าเรื่องพวกนี้พันธมิตรฯ เองไม่สามารถเชื่อมโยงกับขบวนการหรือว่ากลุ่มก้อนของผู้คนที่เดือดร้อนจากปัญหาปากท้อง

 

เกษตรกรรายย่อย คนยากคนจน การเคลื่อนของพันธมิตรฯ ยังไม่สามารถเชื่อมไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาปากท้อง จะเห็นว่าเขาพยายามทำอยู่บ้าง มีการพูดถึงปัญหา เอาผู้นำแรงงานขึ้นมาพูด เขาพยายามทำแต่มันขยายยาก มันขยายไม่ได้เพราะตรรกะ โจทย์ โครงที่เขาตั้งไว้ไม่สามารถดึงเรื่องนี้เข้ามาเป็นประเด็นหลักได้ เมื่อเป็นอย่างนี้เส้นทางก็ไปทางเดียว เพราะตรรกะของสนธิเป็นแบบนี้"

 

ประภาสบอกว่าถ้ามองแบบนักเคลื่อนไหว พันธมิตรฯ ถอยดีกว่า

 

"ถ้าเขาถอยวันนี้เขายังอธิบายได้ว่าเขาชนะ ถ้าเป็นขบวนการแบบสมัชชาคนจน การได้อะไรที่มีผลสะเทือนเป็นระยะๆ เราก็จะหยุด เพื่อประเมินต่อ ไม่เคยดันอะไรสุดๆ ถ้าเขาถอยวันนี้แล้วบอกว่าสามารถหยุดยั้งการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพวกพ้อง ผมคิดว่าสังคมจะสรรเสริญเขา หรือเรื่องจักรภพลาออก เขาก็ประกาศชัยชนะได้ด้วยซ้ำ ถ้าเขาสะสมชัยชนะแบบนี้ ในลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวโดยทั่วไป ต้องหยุดและพัฒนาประเด็นในระยะยาว มันน่าจะเป็นทางออกที่ดีของสังคมด้วย ของขบวนการตัวเองด้วย ถ้าดันทุรังไปสู่จุดนั้นก็มีทางเดียว ไม่รู้ใครแพ้ชนะ อันนั้นยังไม่รู้ เพราะปัจจัยมันเยอะ ซึ่งคนที่อยู่ข้างนอกอย่างพวกเราก็คงประเมินยาก"

 

ถ้าชุมนุมไปอีกไม่เกิน 1-2 อาทิตย์ก็จะแตกหักใช่ไหม ?

 

"ก็จะพัฒนาไปสู่จุดนั้น"

 

ถ้าพันธมิตรฯ ถอย ในภายภาคหน้าองค์กรภาคประชาชนพร้อมจะกลับไปเข้าร่วมไหม ?

 

"ถ้าไม่ใช่เป็นประเด็นขบวนการล้าหลังคลั่งชาติก็ร่วมกันได้ ผมคิดว่าคนที่อยู่ในพันธมิตรฯ ที่เป็นภาคประชาชนควรแยกตัวออกมา เหมือนกับที่เคยประกาศว่าพันธมิตรฯ มันจบไปแล้ว และหันมาผลักด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เรื่องปากเรื่องท้อง ประเด็นการตรวจสอบรัฐบาล ผมว่าก็ยังพอจะร่วมกันได้ แต่มันต้องเกิดขบวนการของผู้เข้าร่วม ไม่ใช่ขบวนการของพันธมิตรฯ"

 

บอกว่าการเคลื่อนไหวในภายหน้าจะต้องดูที่เงื่อนไข ?

 

"ต้องไปดูประเด็นข้างหน้า ซึ่งคงจะเห็นชัดเรื่องปากเรื่องท้อง ปัญหาปัจจัยการผลิต ค่าจ้างแรงงาน ถ้ามีการหยิบประเด็นพวกนี้มาด้วย ก็จะพัฒนาไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวที่กว้างขวาง มันยังมีเรื่องโครงการขนาดใหญ่ที่คุณสมัครเร่งทำ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนเข้าร่วมได้"

 

คือไม่ใช่การเอาชนะกันทางการเมือง แต่เป็นวาระประชาชน

 

"มันไม่ควรจะเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะคะคาน ประชาธิปไตยมันไม่ใช่การแตกหัก หรือการเคลื่อนไหวที่แคบๆ แค่เรื่องของการไล่ไม่ไล่ มันควรจะมากกว่านั้น โดยส่วนตัวผมคิดว่าการเคลื่อนไหวน่าจะเกิดขึ้นถึงแม้พันธมิตรฯ จะไม่ได้เป็นหัวหอกในการนำ อีกหน่อยปัญหาความเดือดร้อน ถ้ารัฐบาลทำอะไรไม่ชัดเจน เรามีบทเรียนในช่วงรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่เกิดวิกฤติราคาน้ำมัน ก็มีขบวนการต่อต้าน ตั้งแต่ขึ้นค่ารถเมล์ ข้าวของแพง จนกระทั่งรัฐบาลอยู่ไม่ได้ นั่นไม่ได้เชื่อมโยงกับขบวนการล้าหลังคลั่งชาติเลย แต่รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้"

 

 

2 ไม่เอา

การยกอุดมการณ์อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาโจมตีกัน คือจุดแตกหักระหว่างพันธมิตรฯ กับฝ่าย 2 ไม่เอา ?

 

"ถ้ามองจากพันธมิตรฯ การเคลื่อนไหวโดยทำตัวเองเป็นขบวนการล้าหลังคลั่งชาติ มันระดมคนได้ง่าย เพราะมันมีต้นทุนในประวัติศาสตร์ในสังคมไทยมายาวนาน มีมรดกวัฒนธรรมทางการเมืองรองรับอยู่ แต่การเมืองแบบนี้ การสร้างสงครามแห่งความเกลียดชังมันทำให้คนที่คิดแตกต่างออกไป เชื่อต่างออกไป กลายเป็นศัตรู จะว่าไปมันคือการทำลายหลักการสำคัญพื้นฐานของประชาธิปไตย สร้างมรดกทางการเมืองที่ขัดขวางประชาธิปไตย มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ควรจะส่งเสริม ที่สำคัญคือสังคมควรจะไปล้อมความคิดแบบนี้เอาไว้ อย่าให้มันขยาย"

 

ประเด็นที่แตกหักกันน่าจะเป็นเรื่องโชติศักดิ์ อ่อนสูง ไม่ยืนในโรงหนัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายพันธมิตรฯ เอามาโจมตีฝ่าย 2 ไม่เอา แล้วตีขลุมเป็นฝ่ายทักษิณ ปลุกระดมให้ทำร้ายโชติศักดิ์จนเกิดการตอบโต้วิวาทะกันดุเดือด ตามมาด้วยการที่ประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ปิดเว็บไซต์ 29 เว็บ รวมทั้งเว็บประชาไท ฟ้าเดียวกัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

"ในข้อเท็จจริงเรื่องโชติศักดิ์มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ถ้าไม่มีม็อบพันธมิตรฯ ประเด็นคงไม่ถูกเอามาพูดมากขนาดนี้ มันทำให้ผู้คนได้เห็นกรอบโครงที่พันธมิตรฯ วางไว้ ก็คือเรื่องอุดมการณ์ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยไม่มีเหตุผลแล้ว ของจริงเป็นยังไงคนไม่สนใจแล้ว อ.ภูวดลก็ด่า อ.สมศักดิ์ ทั้งที่เรียนมาด้วยกัน เคยสอนมาร์กซิสต์ที่รามคำแหง"

 

"กรณีโชติศักดิ์ถูกดึงมาเขียน ภาพที่ชัดที่สุด มันอาจจะไม่มีอะไรที่ชัดมาก่อน พอกรณีโชติศักดิ์เอามาเขียนให้ชัด มันก็เป็นจุดแตกหัก"

 

เป็นไปได้ไหมที่จะก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นใหม่โดยไม่เอาพันธมิตรฯ มาเกี่ยว ?

 

"ผมว่ามันกำลังก่อตัวนะ ตอนนี้ในสถาบัน ในอาคาร มีการคุยเรื่องพวกนี้กันมาก มีอภิปรายเสวนาในเครือข่ายพี่น้องสลัมก็เก็บข้อมูลจากวิกฤติราคาน้ำมัน วิกฤติข้าวของแพงว่ากระทบกับชีวิตผู้คนอย่างไร เครือข่ายเกษตรทางเลือกก็ทำอยู่ มีการเชื่อมโยงเวทีวิชาการอะไรต่างๆ เกิดขึ้นเยอะแยะ ผมยังรู้สึกว่าผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้มากกว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ"

 

แกนนำพันธมิตรฯ จากภาคประชาชนจะกลับมาร่วมได้ไหม เพราะถ้ากลับมา เขาก็ยังติดภาพที่เป็นขั้วอยู่ ?

 

"ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้เขาถูกนับอยู่ในภาคประชาชนหรือเปล่า การก่อตัวของขบวนการใหม่ ผู้นำพันธมิตรฯ คงจะมาร่วมยากแล้ว เพราะมีสีสันมีความผูกพันกับพันธมิตรฯ โดยเฉพาะกับคุณสนธิ ส่วนตัวผมคิดว่าพันธมิตรฯ คงดันไปเรื่อยๆ และมี 2 ทางคือไม่ถูกปราบก็จะนำไปสู่ความรุนแรง ไปสู่รัฐประหาร ผมรู้สึกอย่างนั้น เสื่อมก็ถูกปราบ มันก็ต้องหาทางลง ถ้าไม่ลงตอนนี้จะไปหาทางลงอย่างไรยังคิดไม่ออก มันไม่มีทางลงแล้วถ้าไม่ลงตอนนี้ มันเป็นจังหวะที่ยังอธิบายกับสังคมได้ การอธิบายในเชิงตรวจสอบรัฐบาลยังมีเครดิตอยู่"

 

ประภาสบอกว่าถ้าพันธมิตรฯ หยุดชุมนุมแล้วแยกบทบาทกันเคลื่อนไหวก็จะเป็นเรื่องดี

 

"พันธมิตรภาคประชาชนถอยออกมา ก็จะเหลือสนธิ จะเหลือกลุ่ม ASTV ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผลักดันกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งในแง่นี้เราก็ยินดีด้วย มันก็จะมีกลุ่มก้อนต่างๆ ในสังคมออกมาตรวจสอบรัฐบาล แต่อย่านำพาไปสู่ความรุนแรง โจทย์แบบเก่าๆ ก็ต้องทิ้งไป"

 

หมายความว่ายุบพันธมิตรฯ เหลือกลุ่มยามเฝ้าแผ่นดิน กลุ่มญาติธรรม ขณะที่ภาคประชาชนก่อตัวขึ้นใหม่โดยไม่ต้องผูกติดกัน ต่างคนต่างเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาล

 

"สังคมอยากเห็นอย่างนั้นนะ แต่ว่าเกิดขึ้นไหมเป็นอีกเรื่อง"

 

อย่างไรก็ดี ประภาสเห็นว่าในสถานการณ์ต่อจากนี้ ฝ่ายทางเลือกที่สามหรือ "2 ไม่เอา" คงจะต้องผนึกกำลังกันขึ้นมา จะทำเพียงแค่ออกคำแถลงคัดค้านหรือเสนอร่างรัฐธรรมนูญ อย่าง "หน่อมแน้ม" อยู่ไม่ได้ จะต้องมีการเสวนาหารือระหว่างนักวิชาการ NGO เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ และมีการเคลื่อนไหวบ้าง

 

"ถ้ามันไปสู่ความรุนแรง ไม่ว่าพันธมิตรฯ แพ้ หรือเกิดรัฐประหาร มันก็จะเกิดแบบเดียวกัน ตรรกะก็แบบเดียวกัน พวกเราก็คุยกันเรื่อยว่าไม่ว่าฝ่ายไหนแพ้หรือชนะ ถ้าดันทุรังไปแบบนี้ก็จะเกิดระบอบการเมืองแบบที่พูดไป ที่สำคัญคือพวกเราจะถูกกระทืบหมด พวกฟ้าเดียวกัน ประชาไท นักวิชาการที่มาเกี่ยวข้อง เราจะถูกผลักไปอยู่ในฝ่ายแพ้หมด ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ"

 

 

 





 

เผด็จการฆ่าคนข้างล่าง

 

ประภาสบอกว่าสาเหตุสำคัญที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ คือเขาไม่ต้องการเห็นรัฐประหารอีก

 

"โดยส่วนตัวผมอยากจะบอกว่าทำไมเราถึงไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสงครามแห่งความเกลียดชัง และมันไม่มีอะไรเลย คือผมก็ขอบคุณพันธมิตรฯ ในส่วนที่ตรวจสอบรัฐบาลหลายประเด็น ขอบคุณการชุมนุมประท้วงเดินขบวน การเมืองแบบนี้เป็นประโยชน์ที่มีการตรวจสอบ"

 

"แต่ที่จะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบรัฐประหาร ผมคิดว่าสังคมไทยมีบทเรียน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยนี่กระทบจริงๆ คนที่อยู่ข้างบนนั่งร่างรัฐธรรมนูญอยู่ใน สนช. ออกกฎหมายไปเหยียบหัวชาวบ้านเยอะแยะไปหมด กฎหมายสภาการเกษตรแห่งชาติ ประธานอนุกรรมาธิการ คุณประพันธ์ คูณมี ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย จะออกกฎหมายให้ภาคธุรกิจได้ประโยชน์ แต่ดีที่ยังไม่ออกเพราะเราไปปีนรัฐสภาก่อน แล้วถ้ารัฐประหารอีก คนพวกนี้มาเป็น สนช.อีก ออกกฎหมายอีก พวกเราเจอมาเยอะแล้ว พวกเราเคยหนีทหาร เดินเท้ากันมาชุมนุมจากตาพระยา"

 

เขาไม่ได้คัดค้านรัฐประหารตามหลักการในฐานะนักวิชาการเท่านั้น แต่ในฐานะที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่เห็นชัดว่าเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา คนจนต่อสู้เรียกร้องไม่ได้เลย

 

"ประเด็นคือเราไม่ได้คัดค้านด้วยอุดมการณ์แบบนามธรรม แต่พวกเราเจอของจริงมาแล้วในการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เราอยู่ในภาวะแบบนั้นเกือบ 2 ปี ขยับอะไรก็ไม่ได้"

 

"เขื่อนปากมูลนี่ชัดเลย ช่วง คมช.มีการตั้งศูนย์ขจัดความยากจนภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง นายทหารนอกราชการมาคุม ยกเลิกมติ ครม.ที่เคยให้เปิดประตูน้ำ 4 เดือน ปิด 8 เดือน ทหารเต็มหมู่บ้าน เราเจอของจริงมาแล้ว เวลาประชุมกับชาวบ้านทหารก็มาขอบัตรประชาชนดู เราไม่อยากอยู่ในสภาวะแบบนั้นอีก ภาวะที่เราต่อสู้เรียกร้องไม่ได้ อำนาจต่อรองของเราปกติก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว ข้าวแพงจะต่อรองโรงสีอย่างไร ถ้าเกิดเผด็จการทหารมาอีก เอาที่ราชพัสดุที่ชาวนาเช่าอยู่ไปให้ซาอุฯ เช่า มันเป็นไปได้หมด ซีพีกำลังรุกคืบเข้ามา วิกฤติน้ำมันแบบนี้ การผลิตแบบรายย่อย รถไถเดินตามต้นทุนสูงมาก เรื่องเหล่านี้รัฐบาลแบบนี้จะดีจะเลวยังไง เรายังต่อรองเรายังเคลื่อนไหว เรียกร้อง มาชี้หน้าด่าแม่มันได้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลทหารเมื่อไหร่แล้วมีนโยบายแบบนี้ เกษตรกรรายย่อยตายก่อน"

 

"คนที่อยู่ข้างบนก็คิดว่าจะออกแบบบ้านเมืองให้ดี แต่ดูบทเรียนคราวที่แล้ว กฎหมายสภาองค์กรชุมชน โอเคถ้าดูเชิงเปรียบเทียบก็ดีกว่าไม่มี แต่มหาดไทยก็ออก พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ผู้ใหญ่บ้านกำนันอยู่จนเกษียณ มี การตั้งที่ปรึกษาในหมู่บ้านตำบล อำนาจของมหาดไทยมันขยายปีก"

 

"นั่นคือยาไม่แรงใช่ไหม หรือยามันค่อยไป ถ้ายาแรงจะขนาดไหน ยาแรงก็คือต้องเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง แบบที่ อ.ชัยอนันต์เขียนเรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบน่าจะดีกว่าประชาธิปไตยแบบเผด็จการหรือทุนนิยมสามานย์ อันนี้คือสิ่งที่ท่านออกแบบไว้หรือเปล่า มันจะกระทบชีวิตผู้คนเยอะมาก เพราะผู้คนต้องต่อสู้ต่อรอง เช่นชาวบ้านต้องสู้กับโรงงานมาบตาพุด หรือโรงเหล็กที่บางสะพาน ชาวบ้านไม่ตายหรือ เราต้องการสังคมที่เป็นพหุนิยมให้ผู้คนสามารถมีปากมีเสียงต่อรองได้ ฉะนั้นการลากพาสังคมไปสู่แบบนั้นมันเป็นยาแรง กระทบหมด คนเล็กคนน้อยเจอก่อน เอาให้มันจมธรณีไป ทักษิณมันตายสนิท ได้ชัยชนะตรงนั้น แต่ว่าการเมืองแบบนี้ ที่มันเหยียบย่ำหัวผู้คนอยู่ ผมว่าเขาไม่เคยก้มลงมามองข้างล่างเลย"

 

"ถ้าพันธมิตรฯ ดันไปสู่จุดนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เราคุมไม่ได้ ผมว่ามันจะซึมลึกไปอีกหลายปี คือมันจะเปลี่ยนในระบอบข้างบน แต่ข้างล่างจะคุมคนจน"

 

"ขนาดคราวที่แล้วมีโครงการวิทยากรแม่ไก่ ได้มาตั้ง 17 ล้านคน ยังเอาชนะไม่ได้ คราวนี้คงจะคิดกันใหญ่กว่านั้น"

 

วิทยากรแม่ไก่? ประภาสอธิบายว่า คือ อสวป. ในยุค คมช. กระทรวงมหาดไทยจัดโครงการอาสาพัฒนาประชาธิปไตย ลงไปอบรมชาวบ้าน คล้ายๆ ยุค รสช.ที่มีการอบรม 4 ทหารเสือ

 

"ให้วิทยากร ก. ไปขยายสู่ ข. ชาวบ้านเลยเรียกว่าวิทยากรแม่ไก่ ไปแตกลูกแตกหลาน อบรมได้ 17.9 ล้านคน มากกว่าเสียงที่ทักษิณได้อีก อบรมให้รู้จักเลือกผู้นำ รู้ความเลวร้ายของระบอบทุนนิยม มีวิทยากรมีทหารลงไปเต็มหมดเลย ก็ยังแพ้"

 

"คราวนี้เขาคงไม่อบรมแบบนั้นอีก ไม่รู้จะเกิดอะไร แต่ถ้าจะเอาชนะให้ราบคาบเขาก็จะต้องคิดออกแบบกันใหม่"

 

"ที่ผ่านมาก็เอาสัสดีอำเภอมาคุมพื้นที่ที่อยู่ในกฎอัยการศึก ใครจะไปนอกหมู่บ้านต้องไปขออนุญาตสัสดีอำเภอก่อน คุมกันขนาดนี้ยังคุมไม่อยู่ การสร้างกลไกของระบบราชการไปคุมมวลชนไม่ให้ไปเป็นเหยื่อของทักษิณ มันถูกออกแบบอย่างเข้มงวดเข้มข้นมาก จนไปกระทบกับเรื่องการเมืองภาคประชาชน เรื่องสภาองค์กรชุมชน กลไกการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะหายไปหมด อันนี้คือแนวทางที่น่ากลัวสำหรับกลุ่มคนข้างล่าง"

 

คนส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าถ้ารัฐบาลนี้ครองอำนาจไปเรื่อยๆ ประชาชนก็ไม่มีทางออก

 

"แม้มันจะมีภาพของเสียงข้างมาก แต่รัฐบาลแบบนี้ ที่อยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยแบบปกติ การต่อรองการกำกับจากผู้คนยังทำได้ง่ายกว่าระบอบเผด็จการทหาร ผมคิดว่ามันก็จะถูกตรวจสอบคลี่คลายไปมาก แม้จะล้มลุกคลุกคลานแต่ก็ยังเห็นพัฒนาการข้างหน้าที่จะไป อย่างน้อยที่สุดเราก็ด่าสมัคร ด่านายกฯ ว่าไอ้ เรียกรัฐมนตรีมหาดไทยว่าไอ้ ประธานสภาฯ คนที่แล้วเราก็เรียกไอ้ มันก็ดีกว่าต้องเรียกท่าน"

 

"ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะมีเอกภาพ เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญนี้เห็นชัดว่ามันกลับมาสู่ระบบโควตา ต้องโทษคนที่ร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเรากลัวเผด็จการแบบทักษิณคุมอำนาจได้หมด เลยออกแบบเลือกตั้งแบ่งเขต มันก็กลับไปสู่การเมืองแบบเจ้าพ่อท้องถิ่นต่อรองกับหัวหน้าพรรคได้ ถ้าถามว่ารัฐบาลเข้มแข็งไหม เราก็เห็นชัดว่ามันไม่ได้เป็นเอกภาพเลย"

 

"ผมยังรู้สึกว่ามันจะพัฒนาไป ถ้าประเด็นการต่อสู้กันแบบสุดขั้วเอาชนะคะคานมันจบไป ก็จะต้องมาพูดกันในเรื่องที่เราไม่เคยพูดถึงเลย เรื่องกฎหมายลูกต่างๆ ทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรื่องสภาเกษตรกร แต่ตอนนี้เราหยุดโจทย์ทางการเมืองแบบนี้หมดเลย มันกลายเป็นประชาธิปไตยแบบเอาชนะคะคาน สร้างแต่ความเกลียดชัง ไม่ได้สร้างให้มันลงหลักปักฐานในเชิงสถาบัน เชิงกลไก"

 

โดยทั่วไปตอนนี้คนก็ไม่ชอบรัฐบาล แต่ไม่อยากร่วมกับพันธมิตรฯ จะหันไปหาประชาธิปัตย์ยิ่งแล้วใหญ่ มองไม่เห็นว่าจะไปได้อย่างไรในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

 

"ในส่วนของประชาธิปไตยแบบตัวแทน อย่างที่ อ.รังสรรค์พูดว่าปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียง มันเป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นทุกที่ แต่การกำกับตรวจสอบควบคุม ปัจจุบันเราออกแบบมันมาจนผมคิดว่ามันคงไม่สามารถจะทำอะไรที่ดีไปกว่านี้ได้แล้ว ประเด็นคือประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบบเลือกตั้ง มันมีความจำกัด มันพัฒนาในส่วนเหล่านี้ยาก นอกจากประเด็นเรื่องนโยบาย การตรวจสอบนโยบาย"

 

"แต่เมื่อมันมีความจำกัดในตัวของมัน เราต้องขยายไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่จะเข้ามากำกับตรวจสอบประชาธิปไตยตัวแทน ผมยอมรับว่าเราไม่สามารถหาระบอบประชาธิปไตยอีกแบบมาแทนประชาธิปไตยแบบตัวแทน แม้แต่ทางตรงก็ไม่ได้แทนได้ แต่ว่าเราต้องแก้ไขความไม่เพียงพอในประชาธิปไตยตัวแทน"

 

"สิ่งที่เราทำอยู่มันมีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ เรียกว่าฉี่ไม่สุด การออกแบบช่วงรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ครึ่งๆ กลางๆ ประชามติก็ยังเป็นปัญหา รัฐธรรมนูญบอกว่าประชามติแบบปรึกษาหารือหรือว่าผูกพันผลก็ได้ ซึ่งผมไม่รู้ว่า กกต.ออกแบบมายังไง มันยังต้องอธิบายอีกเยอะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราเขียนแต่หลักการ ดูมันดี แต่โดยจิตวิญญาณของมันเรายังไม่ได้พูดถึง การออกจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ผ่านมาเราไปคิดว่าจะออกจากประชาธิปไตยตัวแทนด้วยตุลาการภิวัตน์ หรือว่า ส.ว.แต่งตั้ง แต่ว่าส่วนที่มันไม่สุด โดยเฉพาะกลไกในระดับท้องถิ่น

 

 มาตรา 287 ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการนโยบายสาธารณะ กฎหมายสภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง มันเป็นกลไกที่จะมารองรับ แต่สภาพัฒนาการเมืองตอนนี้ก็กลายเป็นสภาชนชั้นนำไปแล้ว บิดเบี้ยวไปจากการยกร่างแรกๆ

 

กลไกประชาธิปไตยทางตรงที่จะต้องสร้างขึ้นรองรับ มันออกมาก็จริงแต่ว่ามันบิดๆ เบี้ยวๆ สิ่งเหล่านี้สังคมไทยไม่ค่อยติดตามตรวจสอบ"

 

"สรุปว่าการเมืองแบบตัวแทนมันคงทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้ ผมคิดว่ากลไกมันพอแล้ว เพราะฉะนั้นข้อเสนอคือเรามาพูดเรื่องพวกนี้ดีกว่า"

 

ที่คนเบื่อคือในการเมืองแบบนี้พลังประชาชนอาจจะอยู่นาน หรือเลือกตั้งใหม่ก็กลับมาอีก

 

"ผมไม่เห็นความต่างของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์หรือพลังประชาชน หรือพรรคไหนก็แล้วแต่ ความจริงนักการเมืองในพรรคพลังประชาชนก็เคยเป็น ส.ส.พรรคอื่นทั้งสิ้น ย้ายกันมา โอเคมันมีทางบวกในเรื่องของนโยบาย ก็ต้องยอมรับ แต่ว่ามันมีความแตกต่างกันไหมระหว่าง ส.ส.ประชาธิปัตย์ กับ ส.ส.พลังประชาชน มันก็ไม่ได้แตกต่างกัน"

 

"เราต้องสู้กันมา ต่อรองกันมา ไม่เคยมีพรรคไหนไม่เอาโครงการขนาดใหญ่ แต่ละพรรคก็พูดถึงแก่งเสือเต้นว่าควรจะสร้าง เขื่อนสายบุรีก็จะขุดขึ้นมาอีก ทั้งทุนนิยมสามานย์หรือศักดินาล้าหลัง ผลประโยชน์หรือความเกี่ยวพัน 2 กลุ่ม ไม่เห็นต่างกันเท่าไหร่ คาบๆ กันอยู่ ผลประโยชน์อาจจะร่วมๆ กันอยู่ด้วยซ้ำใน 2 กลุ่มที่เราไปแยกขั้วให้เขา ทั้ง 2 กลุ่มก็มีโครงการที่ไปกระทบคนข้างล่างทั้งสิ้น ร่วมมือกับทหารกับระบบราชการผลักดันโครงการด้วยกันทั้งสิ้น แต่ละพวกก็ล้วนทำลายรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาด้วยกันทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญ 2540 ทักษิณก็ไม่ได้ออกกฎหมายลูก อีกกลุ่มก็ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540"

 

 

 

 





 

รัฐธรรมนูญไปให้พ้น 2 ขั้ว

 

"ถ้าดู ณ วันนี้ร่างของรัฐบาลคงถอยแน่ และคงกลับมาสู่ประเด็นเรื่องประชามติ มันมี 2 เรื่อง สิ่งที่เราอยากจะเห็น กับสิ่งที่รัฐบาลนี้จะทำ ผมยังคิดว่ารัฐบาลนี้ก็คงจะผลักไปสู่ประชามติโดยเร็ว ซึ่งในแง่นี้ไม่ควรทำ เสียเงินเปล่า มันไม่ได้ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไปทางนั้น"

 

ตรงนี้เขาพูดในฐานะ 1 ใน 137 นักวิชาการที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแบบไปให้พ้นทั้ง 2 ขั้ว

 

"ในแง่ของความชอบธรรม ส.ส. นักการเมือง นักเลือกตั้งที่ได้เสียงจากประชาชน รัฐธรรมนูญเขียนว่ามีอำนาจแก้ไข แต่เราอยากเห็นกระบวนการแก้ไขที่มีผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า

 

 ถ้าจะผ่านกระบวนการประชามติ ผู้คนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ถกเถียง พ.ร.บ.ประชามติว่ายืนอยู่บนฐานคิดของประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เพราะประชามติคือประชาธิปไตยทางตรงซึ่งสำคัญ คือการถ่ายโอนอำนาจตัวแทนมาสู่ประชาชนตัดสินใจโดยตรงในประเด็นสาธารณะที่สำคัญ

 

 ในแง่นี้ พ.ร.บ.ประชามติจะต้องไม่ทำแบบลุกลี้ลุกลน ต้องมาคุยกันในเรื่องกระบวนการ ทุกคนมีส่วนร่วม ทำประชาพิจารณ์ให้ชัดเจนประเด็นไหน เชิงเนื้อหา กระบวนการ เรื่องระยะเวลาที่พอเพียง ในประเทศที่เจริญแล้วเขายังให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณที่จะทำให้เกิดเวทีที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อมั่นผู้คนที่ร่างอยู่ใน กกต.แต่ต้องให้คนมาช่วยกันตรวจสอบ เราเห็นคุณสดศรีพูดแค่แว้บๆ ต้องโยนเข้าไปในสังคมก่อน และถ้าแก้โดยสภา ก็ควรจะต้องมาพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.3 ก็เป็นส่วนที่เราเสนอไปแล้วเหมือนจะได้รับการตอบรับ ซึ่งต้องมานั่งคิดกันว่าจะออกแบบ ส.ส.ร.3 อย่างไร ที่มาของ ส.ส.ร. จะมีกระบวนการยกร่างอย่างไร นี่คือถ้าเราคิดว่าจะยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยแบบตัวแทน มันก็ต้องมาออกแบบกระบวนการกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแบบนี้สิ่งที่เราเผชิญอยู่ สงครามแห่งความเกลียดชัง ให้ผู้คนมีกลไก มีเวทีที่จะคุย"

 

ตามข้อเสนอของ 137 นักวิชาการคือให้ลงประชามติทีหลัง ไม่ใช่ลงประชามติก่อน

 

"ถ้าลงประชามติสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็อาจจะไปอยู่ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเกิด ส.ส.ร.3 ได้ก็คงจะต้องแก้ 291 297 ในนั้นก็จะต้องพูดถึงการมี ส.ส.ร.และการลงประชามติ"

 

"ที่เราคุยกันก็คือมันสิ้นเปลืองและก็เราฟังจากนายกฯ ว่าเอาแค่ 45 วัน ซึ่งมันไม่เป็นประโยชน์ มันเสียเงินตั้ง 2,000 ล้าน ฉะนั้นถ้ามาออกแบบกระบวนการแก้ มี ส.ส.ร.3 ประชามติในภายหลัง มันก็ไม่ได้ปฏิเสธรัฐสภา ส.ส. ส.ว. ก็ต้องเข้ามาตั้ง ส.ส.ร.หรือว่าพิจารณารัฐธรรมนูญเหมือน ส.ส.ร.1 น่าจะเป็นทางออกที่ดี"

 

 

 

 

ที่มา : ไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 1 มิ.ย.2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท