Silence of the Lamp: เมื่อสื่อพูดถึงรัฐประหาร เหมือนพยากรณ์อากาศรายวัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

 

 

 

เอาอีกแล้ว

 

ข่าวรัฐประหารกลายเป็นข่าวใหญ่รายวันอีกแล้ว ซึ่งก็ไม่น่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับสังคมไทย แต่ที่น่าแปลกใจพอควรคือการที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่รายงานข่าวนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก โดยเฉพาะเวลาถามบรรดานายพล แม่ทัพ และนักการเมืองว่า พวกเขาคิดว่าจะมีโอกาสเกิดรัฐประหารมากน้อยเพียงใด เสมือนว่าบรรดานักข่าวกำลังถามเรื่องเกี่ยวกับพยากรณ์อากาศว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น การก่อรัฐประหาร ผิดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่มีความชอบธรรม รวมทั้งเป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตย สังคมและเศรษฐกิจ

 

การถามแบบปกติธรรมดาเหมือนไม่มีอะไรเป็นพิเศษจึงถือได้ว่าเป็นความไร้ความรับผิดชอบของสื่อไทยจำนวนไม่น้อย การถามนายพลที่เคยก่อรัฐประหารมาแล้วว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ มันเหมือนกับการถามผู้ที่เคยต้องโทษข่มขืนผู้อื่นว่า หากมีโอกาสพบสาวเซ็กซี่และอยู่ในสภาวะที่เอื้อโอกาส คุณจะข่มขืนเธอหรือไม่ และคำตอบที่ได้คือ ข่มขืนแน่ และสื่อก็ดูไม่มีปัญหากับคำตอบนั้น หากรายงานไปตามปกติ

 

แน่นอน ถึงแม้สื่อจะไม่รายงานข่าวเรื่องการคาดการณ์ว่าจะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่ ก็มิได้หมายความว่าจะไม่เกิดรัฐประหารอีกในอนาคต ในสังคมที่คนจำนวนมากยังมองว่ารัฐประหารเป็นทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหา สมควรหรือไม่ที่สื่อจะรายงานข่าวการคาดการณ์ว่า อาจเกิดรัฐประหารหรือไม่และจะเกิดเมื่อใด โดยมิถามบรรดานายพลและแม่ทัพต่อไปว่า สิ่งที่พวกคุณกำลังคิดและพูดนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยมิใช่หรือ? หรือถามเพิ่มเติมไปว่า "รัฐประหารคราวที่แล้ว (และอีกหลายๆ ครั้งก่อนหน้านั้น) ก็มิได้แก้ปัญหามิใช่หรือ แถมยังมีการผ่านกฎหมายเผด็จการ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในอีก" หรือถามว่า "ผู้ก่อรัฐประหารคราวที่แล้ว และผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนได้ประโยชน์ยังมิได้ถูกลงโทษเลย มิใช่หรือ?"

 

ขณะที่บรรดาแม่ทัพนายพลไม่ได้ละอายในสิ่งที่พวกตนพูดออกมา สื่อก็รายงานข่าวเช่นนี้แบบปกติเหมือนเป็นเรื่องถูกกฎหมาย นี่อาจสะท้อนความเชื่อลึกๆ ของสื่อว่า รัฐประหารคือคำตอบ หรือทางออก และสะท้อนถึงความคิดอันไม่เป็นประชาธิปไตยของสื่อ

 

แต่ข่าวลือของการปฎิวัติเป็นข่าวที่ขายได้ และล่าสุด แม้แต่นายสพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้มียศเป็นพลเอก และเป็นหนึ่งในผู้นำรัฐประหาร 19 กันยาฯ ก็ยังออกมาบอกสื่อในวันจันทร์ที่ 26 พ.ค. ว่า อาจเกิดรัฐประหารอีกและทหารจะไม่นิ่งดูดาย หากเกิดสถานการณ์วุ่นวาย (โปรดดู นสพ.ไทยรัฐ หน้า1 ฉบับวันอังคารที่ 27 พ.ค.51)

 

การที่สื่อจำนวนมากยังมองว่ารัฐประหารคือ "ทางออก" น่าจะเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเมืองไทยอย่างสำคัญอันหนึ่ง บรรดาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้พิสูจน์มาครั้งหนึ่งแล้วว่า การล้มรัฐบาลโดยให้ทหารยึดอำนาจนั้น มิสามารถแก้ปัญหาเรื่องนักการเมืองฉ้อโกงได้ และสื่อจำนวนมากก็ได้สนับสนุนคณะรัฐประหาร คมช. เป็นเวลากว่าหลายเดือนหลังเกิดรัฐประหาร แต่ดูเหมือนพันธมิตรฯ และสื่อก็มิได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ทั้งที่รัฐประหารคราวที่แล้วยังเกิดไม่ครบ 2 ปีด้วยซ้ำไป แต่นั่นก็คงเป็นเพราะว่าทั้งพันธมิตรฯ และสื่อไม่ได้มองว่า จุดยืนการกระทำหรือข้อเขียนของพวกตนเป็นความผิดพลาด และนี่คือสัญญาณบ่งชี้ถึงสังคมที่มีปัญหา สังคมที่มิเพียงแต่เชื่อว่าจะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง แต่เริ่มคาดการณ์ว่าจะเกิดเมื่อไร และพร้อมที่จะยอมรับมันโดยไม่ตั้งคำถามหรือต่อต้าน

 

เอแบคโพลล์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. บอกว่า ประชาชน 60.6% เชื่อว่าจะเกิดรัฐประหารและหลายคนก็เชื่อว่าน่าจะเกิดรัฐประหารก่อนสิ้นปีนี้ การออกมาชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ (ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขา) จนกระทั่งเกิดการปะทะรุนแรงขึ้น กับกลุ่มสนับสนุนนายทักษิณ รัฐบาลสมัคร และการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ย่อมเป็นชนวนที่ทำให้การคาดการณ์ว่าจะเกิดรัฐประหารมีสูงขึ้นและกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ดูเหมือนพร้อมที่จะสร้างสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดรัฐประหาร โดยการนำเอาเรื่องสถาบันมาเป็นเรื่องปลุกระดมมวลชน

 

แน่นอน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิชุมนุมอย่างสันติ แต่การใช้ความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประณาม รัฐบาลนายสมัครอาจอยู่รอดหรือล่มสลายก็ให้มันเป็นไป แต่ไม่ควรเกิดขึ้นโดยการมีรัฐประหาร เพราะนั่นย่อมทำให้ระดับความเป็นประชาธิปไตยของสังคมถอยหลัง ใกล้ประเทศอย่างพม่ามากขึ้น

 

ถึงแม้ข้อมูลจะชี้ไปในทางที่ว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อน แต่หากกลุ่มพันธมิตรต้องการยึดหลักคุณธรรมสูงกว่า ก็ควรเพียงแค่ปกป้องตนเอง มิควรใช้กำลังตอบโต้รุมทำร้ายผู้อื่นกลับดังที่รูปภาพจำนวนหนึ่งปรากฎลงในเว็บต่างๆ

 

ย้อนกลับไปช่วงหลังเหตุการณ์ 19 กันยา 2549 มีปัญญาชนนักวิชาการจำนวนหนึ่ง บอกกับผู้เขียนว่า ก็รัฐประหารมันเกิดขึ้นแล้ว จะให้ทำอย่างไรล่ะ ผู้เขียนคิดว่า มาวันนี้คนเหล่านี้จะต้องรีบออกมาแสดงจุดยืนและประกาศอย่างชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับรัฐประหารอีก ไม่ว่าจะปีนี้หรือปีหน้า นี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่บรรดาบุคคลต่างๆ ที่เรียกตนว่าเป็นปัญญาชน นักวิชาการ หรือนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยจะกระทำได้ ณ เวลานี้ แต่ที่ผ่านมา จนถึง ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ก็ยังเงียบเป็นเป่าสาก หรือว่าพวกเขาจำนวนหนึ่งกำลังรอรับการแต่งตั้งสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุด 2 ที่อาจมีขึ้นในเร็ววันนี้

 

ส่วนบรรดานายพลอย่างนายสพรั่งผู้ที่เคยยกตนเองเป็นวีรบุรุษนั้น ควรถูกประณามอย่างยิ่ง เพราะเขาดูถูกสติปัญญาของประชาชน ในการแก้ปัญหาความต่างโดยตัวของประชาชนเอง การที่อดีตผู้นำรัฐประหารมาพูดว่า อาจเกิดรัฐประหารอีก เป็นสิ่งที่กระทรวงกลาโหมควรจะเข้าไปดูแลว่ากล่าวตักเตือนและลงโทษ

 

ส่วนสื่อมวลชนนั้น ใครจะเข้าไปดูแล พวกเขายังรายงานข่าวคาดการณ์เรื่องรัฐประหาร เหมือนกับการคาดการณ์อุบัติภัยทางธรรมชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น รัฐประหารหาใช่อุบัติภัยทางธรรมชาติไม่ หากเป็นโศกนาฎกรรมประชาธิปไตยที่ก่อขึ้นโดยทหารบางคน และสนับสนุนโดยน้ำมือคนไทยซึ่งรวมถึงสื่อจำนวนมาก 

 

 

 

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนปรับปรุงจากบทความ ชื่อ Talk of a coup is illegal and clearly highly disturbing ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ 28 พ.ค. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท