รายงาน : ข้าวคืนนา ถึงเวลาพันธุกรรมพื้นเมืองกลับบ้าน

สุมนมาลย์ สิงหะ

มูลนิธิชีวิตไท (RRAFA)

 

 

เมื่อการพัฒนาได้ทะยานขึ้น (Take off) มาสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเกษตรอุตสาหกรรม ได้ดึงเอาการเพาะปลูกของเกษตรกรมาอยู่ในระบบพาณิชย์เพื่อการส่งออก ในเวลาเดียวกันก็จำกัดการผลิตให้อยู่ในภาคเศรษฐกิจยังชีพ และขยายการผลิตเพื่อขาย ภาคที่ทุนทำงานเพื่อการขาย กับภาคการเกษตรเพื่อยังชีพ ซึ่งภาคหลังเป็นภาคที่มีส่วนของประเพณีและภูมิปัญญา ส่วนภาคสมัยใหม่เป็นภาคที่เกษตรกรต้องใช้เครื่องจักรกลการเกษตร หรือสายพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิต ในลักษณะวิวัฒน์วนเวียน(1) (Agricultural innovation) จึงเป็นผลที่เกิดขึ้น คือเมื่อวิวัฒนาการเศรษฐกิจสังคมนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ แล้วนำไปสู่ความซับซ้อนยิ่งขึ้น ทั้งในเชิงชาติพันธุ์ นิเวศวัฒนธรรมและกระบวนการก่อเกิดเศรษฐกิจทวิภาคในไทย ภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ 

 

ขณะที่ผลผลิตข้าวไทยออกสู่ตลาดโลก วิธีการดังกล่าวสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ทวิภาคทางเศรษฐกิจ" หน่วยงานราชการสนับสนุนนโยบายในภาคการส่งออก มีการจัดการแบบทุนนิยมซึ่งบริษัทเป็นผู้ครองทุน ทำหน้าที่ควบคุมราคาขาย ค่าแรงและปริมาณการผลิต แม้กระทั่งกระบวนการผลิต เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยและสารเคมี รวมทั้งที่ดินและน้ำเพื่อการเพาะปลูก ขณะที่ภาคการผลิตในประเทศมีหน่วยครอบครัวทำการผลิต และมีการรับจ้างนอกระบบ เมื่อราคาข้าวในตลาดโลกขยายตัว ภาคภายในประเทศยิ่งหดตัวแคบลง นโยบายของหน่วยงานราชการเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ  

 

จากรายงานวิจัย การเมืองเรื่องข้าว(2) ระบุว่า 80%ของภาคเกษตรเป็นเกษตรกรรายย่อยก็จริง และส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน โดยที่ประมาณ 15 ล้านคนทำงานในภาคเกษตร อีก 3 ล้านคนทำงานรับจ้าง และแรงงานนอกระบบ ที่เหลือคือ เกษตรกร 12 ล้านคนและมีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป 

 

จากโครงสร้างสัดส่วนอาชีพและประชากร น่าพิจารณาว่าเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงดูผู้คนในประเทศและคนทั่วโลก จึงควรมีฐานะและสถานภาพที่ดี  แต่ทำไมชาวนาไทยยังมีลักษณะที่เรียกว่า "แบ่งความจนร่วมกัน" ความแตกต่างระหว่างเกษตรกร กับชนชั้นอื่นในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำไมยังมีชาวนาไร้ที่ทำกินและครัวเรือนชาวนาต้องซื้อข้าวกินในลักษณะ "ขายข้าวเปลือกถูก ซื้อข้าวสารแพง" กันเป็นจำนวนมาก(3)

 

 

 

"โครงการข้าวคืนนา รับขวัญแม่โพสพกลับบ้าน" เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์และพลังของความเคลื่อนไหวเพื่อวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและวิถีชีวิตวัฒนธรรมเกษตร โดยมีเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน เหนือ กลางและภาคใต้ 20 จังหวัด 14 องค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภค ได้ร่วมกันฟื้นฟูและสร้างเงื่อนไขแนวทางเก็บรักษาพันธุ์ข้าว "พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน" ที่หลากหลายโดยการทำงานได้รับการประสานความร่วมมือกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

   

ในเบื้องต้น ธนาคารเมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าว ส่วนงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ได้ส่งมอบคืนพันธุ์ข้าว 104 สายพันธุ์สู่ถิ่นฐานเดิมของพันธุกรรมพื้นบ้าน โดยผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนได้ถกเถียงและมองหาการอนุรักษ์ชีวิตและวัฒนธรรม และพัฒนาระบบเกษตรจากรากเหง้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในสภาวะที่ทุกประเทศต่างประสบภาวะวิกฤติอาหารแพง ในบางประเทศเข้าขั้น "hungry Angry" เช่น เฮติ และอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดการจลาจลที่สั่นไหวถึงวิกฤติสังคมและการเมือง 

 

คุณเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้วิจัยพัฒนาสายพันธุ์และเก็บรวบรวมพันธุกรรมพื้นบ้านไว้ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ โครงการรัฐบาลเองเอาพันธุ์ใหม่มาแทนพันธุ์เก่า ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา พื้นที่ไหนที่ กข.6และสันป่าตองขยายไป พื้นที่นั้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจะหายไป ข้าว กข.1มาพร้อมโครงการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวในระบบชลประทาน จากนั้นพันธุ์พื้นบ้านหมดไปจากท้องถิ่นใน5 ปี บางส่วนหายไปอย่างถาวร แล้วลุกลามไปสู่เขตน้ำฝนอีสาน พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเดิมมีอยู่เท่าไหร่แน่เราไม่สามารถรู้ได้ โดยเฉพาะข้าวไร่ซึ่งมากที่สุด อาจมาจากพม่า จีนและลาวซึ่งหลากหลายมาก

   

"ตอนนี้ ในซีดแบงค์มีรายชื่อไม่ซ้ำอย่างน้อย 6,000ชื่อ คิดว่าประมาณร้อยปีผ่านมา เรามีพันธุ์ข้าวมากกว่าตอนนี้หนึ่งเท่าตัวและที่เหลือหายอย่างถาวร ที่อีสานเราอาจต้องไปตามพันธุ์ข้าวที่ลาว ซึ่งฝากข้าวในอีรี(4) มากที่สุดรองจากอินเดีย และแซงหน้าไทย ตอนนี้เขมรกำลังแซงเรา ความสูญหายมันมากขึ้นเรื่อยๆ ข้าวมีเบอร์เช่นนี้กระจายไปตามสถานีต่างๆ ต่อมามีข้าวให้ผลผลิตสูง (HVF-High Value Foods)  ข้าวพันธุ์ผสมใหม่ (hybrid rice)และมีแนวโน้มจะร่วมมือกับบริษัท ธนาคารเมล็ดพันธุ์ควรเป็นกองหนุน แล้วให้ชาวบ้านทำ 

 

คุณเดชา กล่าวอีกว่า งานวันนี้ยังไม่บรรลุเลยที่เดียว จนกว่าชาวนาไทยจะเอาข้าวเหล่านี้ลงสู่แปลงนาและคัดพันธุ์เอง ปลูกในพื้นที่จริง มันกลายพันธุ์ แล้วเราจะได้พันธุ์ใหม่ๆ และทุกส่วนต้องลงแรงด้วยกัน ยิ่งถ้าเราอยากจะแข่งขัน ต้องเอาขุมทรัพย์ที่แช่แข็งกลับมาและพัฒนาร่วมกับชาวนาแต่ละพื้นที่  

 

ด้านคุณประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวพร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์พื้นบ้าน อย่างข้าวสังหยดที่ภาคใต้ ถูกกำหนดในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ต่อมาเหลืองประทิว ลันป่าตอง เสาไห้ และข้าวขาวหอมมะลิห้าของทุ่งกุลา เราหาพันธุ์เด่นและหาสารที่เป็นแร่ธาตุและเน้นเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งกรมการข้าวไมได้ละเลย เราไปยืมพันธุ์ข้าวจากอีรี่เพื่อคัดพันธุ์ให้ผลผลิตสูง มาผสมกับพันธุ์พื้นบ้านและกระจายสู่พื้นที่ ข้าวจากอีรี่มาผสมพันธุ์กับเหลืองทองบ้านเรา มาเป็น พันธ์ กข.1 หรือปทุมธานี1 มาจากข้าวอีรี่และข้าวขาวดอกมะลิ105 เรานำส่วนดีมาใช้พัฒนาบ้านเรา และต่างประเทศก็มีความต้องการ 

 

ในขณะที่คุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ตัวแทนภาคเอกชน  กล่าวถึง "โครงการข้าวคืนนา รับขวัญแม่โพสพกลับบ้าน" ว่า งานวันนี้ได้เปิดมิติใหม่ ระบบการผลิตเพื่อการส่งออกเหลือข้าวอยู่ไม่กี่สายพันธุ์ และอ้างว่าให้ผลผลิตต่อไร่สูงแต่ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตอย่างอื่นตามไปด้วย ขณะที่พันธุ์ข้าวพื้นบ้านมีความทนทาน การปลูกข้าวจำนวนน้อยมีความเสี่ยงและอาศัยยาฆ่าแมลงตลอดเวลา  

 

"สังเกตพันธุ์ข้าวที่ส่งโรงสี อย่างข้าวชัยนาทมีความเสี่ยงสูง การคัดพันธุ์ที่เราคัดกันมาเหมาะสมทุกอย่างความหอมอร่อยด้วย เกษตรกรอาจต้องกลับไปเริ่มต้นวิจัยด้วยตนเองและคิดถึงความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และภูมิคุ้มกันชาวนาต่อระบบลิขสิทธิ์ผูกขาดแล้วเราจะถูกเอาเปรียบ อนาคตพันธุ์ข้าวจะไม่ขึ้นกับบริษัท หรือ จีเอ็มโอ แต่ขึ้นกับพันธุ์ข้าวที่หลากหลายที่เราจะร่วมกันพัฒนาและคืนชีวิตให้กับข้าวพันธุกรรมพื้นบ้าน" 

 

คุณสงกรานต์ จิตตรากรณ์ นักวิชาการเกษตร ที่ปรึกษากรมการข้าวด้านการอนุรักษ์ การปรับปรุงพันธุ์  กล่าวว่า ทั่วโลกมีสายพันธุ์ข้าวกว่า 120,000 พันธุ์ ไทยมี 17,000 พันธุ์แต่ต่างกันจริงๆ 6,000 พันธุ์ หน้าที่ของเราคือทำให้พันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ แต่มีความหลากหลายและสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร ส่วนจีเอ็มโอเรายังไม่มีเทคนิคที่เราทำได้ แม้แต่โกลเด้นไรซ์  เราจะดูความเหมาะสมกับสภาพที่ปลูก เพราะของดีย่อมอันตรายต่อการสูญเสีย จึงต้องมาทำงานร่วมกัน 

 


ด้านคุณกัญญา ตัวแทนเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์จังหวัดสุรินทร์  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ชาวนาได้ปรับตัวให้สอดคล้องการบริโภคและการผลิต เกษตรกรแต่ก่อนอย่างน้อยมีพันธุ์ข้าว 5 สายพันธุ์ในแต่ละรอบที่ปลูก   

"ที่หมู่บ้านดิฉันมีพันธุ์ข้าว 7 สายพันธุ์ ทำไมต้องหลากหลาย เพราะพันธุ์ข้าวเบาสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและนิเวศและวัฒนธรรม ปลายเดือนสิบ เราต้องทำข้าวกระยาสารท(5) หลังออกพรรษา เชื่อมกับศาสนาพุทธ แรงงาน และการเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งเพราะชุมชนเขมรยังอยู่ระหว่างประเพณีเดิมอยู่ จากนั้นข้าวกลาง และข้าวหนักเราต้องเลือกพันธุ์ข้าวกินตลอดปี อยู่ยงคงกระพันกับพื้นที่ คนเขมรจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชุมชนทั้งหมด" 

 

ในขณะที่ คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายประเทศเองมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว เพราะไม่ไว้ใจบริษัท และไม่แน่ใจว่ากรมการข้าวจะยืนยง นโยบายเกษตรต้องชัดเจนในการผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเลย มีแต่การปรับปรุงพันธุ์ที่ตอบสนองปุ๋ยยา ซึ่งขัดกับมาตรฐานเกษตรอินทร์โลกที่ไม่ใช้ปุ๋ยยา และพันธุวิศวกรรม  

 

"ทำอย่างไรที่จะให้ชาวบ้านเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวเอง และชาวนาก็มีศักยภาพ เป็นทั้งนักอนุรักษ์ นักปรับปรุงพันธุ์ ตัวเลขคร่าวๆ มีจังหวัดไม่ต่ำกว่า 20 คน ตอนนี้เป็นนักยุทธศาสตร์ข้าวด้วย และโครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงพันธุ์ข้าวมากขึ้น 

 

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ส่วนงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ส่งมอบพันธุ์ข้าว 104 สายพันธุ์กลับไปสู่แปลงนา รับมอบโดยตัวแทนเกษตรกรนักอนุรักษ์จากภาคต่างๆ ภาคเหนือ ได้แก่ นายปั๋น สิทธิจันทร์ บ้านป่าอ้อย อ.สันติสุข จ.น่าน เก็บรักษาพันธุ์ข้าว ข้าวแก้วดอ เล้าแตก กอแระ ขาวใบด่าง ข้าวแพรก ข้าวเลา ข้าวย่น ข้าวแห้งดอ ขาวมะนาว ข้าวเฮา ข้าวน้ำ

 

ภาคอีสานตอนล่าง มีพ่อบุญช่วย ศรีธร ชาวนาทุ่งกลาร้องไห้ จ.มหาสารคาม เก็บรักษาพันธุ์ข้าวขี้ตม ขาวใบลง ข้าวเล้าแตก ปลาซิว ข้าวหมัก ข้าวฮ้างฮี ฮีดอ ข้าวม่วย ดอกึม ซึ่งอยู่ในกลุ่มเกษตรกรทางเลือกยโสธรเก็บรักษาพันธุ์ข้าว 119 สายพันธุ์ และอาสาสมัครนักอนุรักษ์14ครัวเรือน 

 

ส่วนตัวแทนอีสานใต้ พ่อจันทรศรี กิตติโรธร จากสุรินทร์ อนุรักษ์พันธุ์ปกาอัมบึล(ดอกมะขาม) ลังอองขะเมา เนียงกวงกะเปิดมูน (สาวที่ปิดหน้า)  

 

ภาคกลาง พ่อสะอาด ห้าวหาญ รักษารวม 7สายพันธุ์ มะลิแดง ข้าวดอ หนองแซง หอมมะลิ เหลืองสุรินทร์ ฯล  

  

ภาคใต้ มีพ่อประพัฒน์ จันทร์อักษร ตัวแทนจากภาคใต้ อนุรักษ์ข้าวสังหยด เล็บนก หอมจันทร์ 20 สายพันธุ์  

 

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการทำพิธีกรรมรับขวัญข้าว แม่โพสพคืนนาโดยแต่ละภาคจะมีพิธีกรรมรับขวัญที่สะท้อนการปรับตัว และภูมิปัญญาของชาวนาแต่ละพื้นถิ่นอย่างมีสีสัน  

 

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของเกษตรกรยังไม่สิ้นสุด พันธุ์ข้าวพื้นบ้านจากซีดแบงค์จำนวนมากยังรอให้เกษตรกรแต่ละพื้นที่ ไม่ว่านาทาม พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ดอน และระบบไร่ในพื้นที่สูงมารับกลับ เพื่อคืนชีวิตและมีโอกาสพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านต่อไป ซึ่งโจทย์นี้ก็ยังคงวนเวียนทั้งชาวนา ผู้ที่ต้องการบริโภคข้าวอินทรีย์ และพ่อค้า!!!

 

 

 

อ้างอิง

 

(1) คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกาเอาแนวคิด วิวัฒน์วนเวียน มาจาก อเล็กซานเดอร์ โกลเดนไวเซอร์ โดยมองสังคมเกษตรที่มีความซับซ้อนขึ้นแต่ไม่ก้าวหน้า ใช้มองการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาและประวัติศาสตร์สังคมในหนังสือ Agriculture Inovation: The process of Ecological change in Indonesia Berkeley,Calif:University of California Press,1963

(2) การเมืองเรื่องข้าว ภายใต้อำนาจรัฐทุนผูกขาด ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐและคณะ กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, พ.ศ.2548

(3) รายงานวิจัย ความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิชีวิตไท

(4) สถาบันข้าวนานาชาติ ((International Rice Research Institute:IRRI) มีธนาคารข้าวที่รวบรวมพันธุกรรมทั่วโลก สำนักงานใหญ่อยู่ที่ฟิลิปปินส์

(5) ขนมกระยาสารทในประเพณีวันสารท ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ในทุกภาคยกเว้นภาคใต้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท