Skip to main content
sharethis


หมายเหตุ: บทความแปลชุด "สื่อในเอเซีย" แปลและเรียบเรียงโดย สุภัตรา ภูมิประภาส นี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน (สิทธิชุมชน) ในประเทศไทย


 


 


สื่อฟิลิปปินส์ กับ ความรุนแรงหลากชนิด[1]


โดย โรวินา ซี ปาราอัน[2]


 


 


ความจริง จะทำให้คุณเป็นอิสระ


 


แต่ในประเทศฟิลิปปินส์ การรายงานความจริงสามารถทำให้คุณตายได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 (1986) นักข่าว จำนวนอย่างน้อยสุด 93 คนตายด้วยกระสุนปืนของผู้ลอบสังหาร พวกเขาไม่ได้ตายเพราะอุบัติเหตุ หรือจาการทะเลาะวิวาท พวกเขาถูกไล่ล่าและสังหารโดยฆาตกรที่ถูกจ้างวานโดยนักการเมือง กลุ่มคนที่ร่วมกันก่ออาชญากรรม และผู้ที่ต้องการทำให้ความจริงไร้เสียง


 


ความจริง จะทำให้คุณเป็นอิสระ


 


แต่ในประเทศฟิลิปปินส์ การรายงานความจริงสามารถทำให้คุณถูกคุกคามสารพัดรูปแบบ: อย่างโจ่งแจ้ง (เช่น ส่งข้อความคุกคาม หรือฝากข้อความผ่านตัวแทน) และ บางรูปแบบที่ต้องยอมรับว่าผู้คุกคามช่างมีความคิดสร้างสรรค์ เช่น ส่งพวงหรีดงานศพ ริบบิ้นสีดำ หรือกระสุนปืนมาให้ครอบครัวของคุณ หรือโยนระเบิดของเล่นใส่บ้านคุณ หรือแม้แต่ลงประกาศแจ้งข่าวมรณกรรมของคุณในหนังสือพิมพ์


 


สำนักงานเพื่อความปลอดภัยสื่อ (The Media Safety Office) ที่สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ หรือ ไอเอฟเจ (The International Federation of Journalists- IFJ) และองค์กรแนวร่วมของไอเอฟเจ ในประเทศฟิลิปปินส์ คือ สหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (The National Union of Journalists of the Philippines - NUJP) ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพราะสถานการณ์ที่นักข่าวถูกฆาตกรรมอย่างทารุณ มีหลักฐานยืนยันว่ามีการคุกคามที่รุนแรงต่อนักข่าวโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คำว่า "รุนแรง" หมายถึง กรณีที่จะต้องมีการจัดเตรียมแผนรองรับอย่างเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยของนักข่าว


 


ความจริง จะทำให้คุณเป็นอิสระ


ในประเทศฟิลิปปินส์ การรายงานความจริงสามารถที่จะจุดชนวนความรุนแรงชนิดอื่นได้ ชนิดที่การใช้กฎหมายและศาลมาปิดเสียงความจริง ชนิดที่ส่งนักข่าวไปสู่กรงขัง ชนิดที่มากับโทษอาญาสำหรับการหมิ่นประมาท


 


ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 (2005) ขณะที่ผู้ดำเนินรายการวิทยุคนหนึ่งในเมืองมินดาเนากำลังดำเนินรายการปกติของเขาที่ออกอากาศเป็นประจำทุกเช้า โดยที่เขากำลังนั่งอยู่ในห้องส่งสัญญาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าไปในห้องฯและจับกุมเขาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทที่ถูกแจ้งความโดยภรรยาของเจ้าหน้าที่องค์กรท่องเที่ยว ผู้ฟังรายการของเขาต่างได้ยินเหตุการณ์การจับกุมนี้


 


ปีที่แล้ว บรรณาธิการนิตยสารข่าว Newsbreak ถูกลากไปเข้าห้องขังหลังจากที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำหมายจับมาแสดงในเวลาเย็นมากเกินกว่าที่จะขอประกันตัวได้ทัน เหตุผล: คดีหมิ่นประมาทที่เรียกค่าเสียหายสองล้านเปโซนี้ ผู้ฟ้องคือผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นที่รู้กันดีว่ามีความเกี่ยวดองกับประธานาธิบดี อีกกรณีหนึ่ง นักข่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในคุกนานกว่า 10 ชั่วโมง (สถานที่นั้นไม่ได้เป็นที่ควบคุมตัวเฉพาะ แต่เป็นสถานที่คุมขังปกติที่ถูกขังร่วมกับผู้ต้องหาทั่วไปในคดีอาชญากรรม) ทั้งๆที่มีการยื่นขอประกันตัวไปตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ผู้พิพากษาเซ็นคำสั่งอนุญาตในตอนบ่าย


 


อีกด้านหนึ่ง นักข่าวสองคนที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้รับการประกันตัวทันทำให้พวกเขาสามารถกลับไปทำงานตามปกติได้ แต่ในวันรุ่งขึ้นขณะที่ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่อยู่ในงานแถลงข่าว ตำรวจได้จู่โจมเข้าไปจับกุมทั้งสองคน เป็นการจับกุมกลางที่สาธารณะที่ทำให้นักข่าวตกเป็นข่าวเสียเอง แทนที่จะเป็นผู้เขียนข่าว


 


อีกกรณีหนึ่ง นักข่าววิทยุถูกโทษจำคุกหกเดือน สำหรับคดีหมิ่นประมาทที่เขาถูกฟ้องร้องเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว


 


กรณีที่สะเทือนใจมากที่สุด คือคดีของ อเล็กซ์ อโดนิส (Alex Adonis) ผู้ดำเนินรายการวิทยุที่ปัจจุบันถูกจำคุกอยู่ที่ Davao Penal Colony เป็นปีที่สองของโทษที่เขาได้รับทั้งหมด 6 ปี อโดนิสและผู้ร่วมดำเนินรายการถูกฟ้องหมิ่นประมาทโดย Prospero Nograles (ปัจจุบันเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร) หลังจากที่พวกเขาอ่านและแสดงความเห็นต่อรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีสามาชิกสภานิติบัญญัติวิ่งเปลือยกายในโรงแรมมนิลาโดยพยายามที่จะหนีสามีที่กำลังโกรธเกรี้ยว ในช่วงต้นของการพิจารณาคดี เป็นช่วงที่ทางสถานีย้าย อนิสไปอยู่ที่จังหวัดอื่นทำให้เขามีปัญหามากในการมาฟังการพิจารณาคดีเพราะไม่มีเงินค่าเดินทาง ส่วนผู้ร่วมดำเนินรายการอีกคนหนึ่งนั้นศาลสั่งยกฟ้อง อโดนิสถูกพิพากษาลงโทษโดยที่ตัวเองไม่ได้มาฟังคำพิพากษา ที่แย่ไปกว่านั้น สตรีที่ถูกกล่าวถึงว่าอยู่กับ Nograles ในรายงานข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งจะยื่นฟ้องอโดนิสในคดีหมิ่นประมาทจากเหตุการณ์เดียวกัน


 


คดีหมิ่นประมาททางอาญาเป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้มีอำนาจที่ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก


 


ในปี พ.ศ. 2543 (2000) เรื่องเกี่ยวกับผลของยาฆ่าแมลงที่แพร่พิษในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองมินดาเนาถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน บริษัทที่เกี่ยวข้องทำการฟ้องร้องหมิ่นประมาทบรรณาธิการและนักข่าวที่เขียนข่าวนี้โดยทันทีทันใด ศาลสั่งยกฟ้อง โดยระบุว่ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฟังขึ้นซึ่งสาธารณชนมีสิทธิที่จะได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ สองสามปีต่อมา เมื่อผู้บริหารสูงสุดของบริษัทได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการกระทรวงเกษตร กระทรวงยุติธรรมได้สั่งกลับคำพิพากษา และสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่


 


และมีคดีหมิ่นประมาทจำนวนมากที่ฟ้องร้องโดย Mike Arroyo สามีของประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปาเกล-อาโรโย่ สามีของประธานาธิบดีฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท 11 คดีต่อนักข่าว คอลัมนิสต์ ผู้พิมพ์ และบรรณาธิการรวมทั้งหมด 46 คน ทุกคดีถูกฟ้องในช่วงสามปีและมีการเรียกค่าเสียหายรวมทั้งหมด 141 ล้านเปโซ บรรณาธิการและนักข่าวบางคนถูกฟ้องมากกว่าหนึ่งคดี ข้อมูลจำนวนการฟ้องร้องที่มากมายนี้กลายเป็นประเด็นในความสนใจของสหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (NJUP) โดยคอลัมนิสต์คนหนึ่งที่มาขอคำปรึกษาจากสหภาพฯ เมื่อเขาอ้างว่าจะต้องมีสื่อไม่น้อยกว่า 20 คนที่ถูกนายอาโรโย่ฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาท ทางสหภาพฯจึงได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทที่นายอาโรโย่เป็นผู้ฟ้องร้องและมีการโพสต์ไว้บนเวบไซด์ เราพบว่าจริงๆแล้วมีนักข่าวมากกว่า 40 คนที่ถูกเขาฟ้องร้อง จึงได้มีการทำการรณรงค์เข้าชื่อกันเรียกร้องให้มีการยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาทและกดดันให้นายอาโรโย่ถอนฟ้อง การรณรงค์นี้เน้นประเด็นโทษหมิ่นประมาททางอาญาได้สำเร็จและค่อยๆนำไปสู่ประเด็นการฟ้องคดีในนามกลุ่มบุคคล


 


แต่ไม่ได้มีแต่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐในระดับชาติเท่านั้นที่ชอบใช้คดีหมิ่นประมาททางอาญาเป็นอาวุธจัดการกับหนังสือพิมพ์ พวกผู้บริหารในระดับท้องถิ่นก็ใช้คดีหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อรักษาอำนาจโดยการสกัดกั้นรายงานข่าวที่เป็นด้านลบเกี่ยวกับพวกเขาผ่านด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท ในเมืองมินดาเนา นายกเทศมนตรีฟ้องร้องนักข่าว 22 คนในคดีหมิ่นประมาท ในจังหวัด Cavite ที่อยู่ติดกับมนิลา ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักข่าว 10 คนในคดีหมิ่นประมาท


 


ยังมีอีกหลายคดีที่ใครได้ยินก็ต้องหัวเราะด้วยความขบขัน แต่ไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะสำหรับสถานการณ์เสรีภาพสื่อในประเทศฟิลิปปินส์ กรณีหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารส่วนท้องถิ่นคนหนึ่งถูกบันทึกภาพไว้ขณะที่กำลังไล่ทุบตีนักข่าว หลังจากที่มีการเผยแพร่ภาพและข่าวนี้ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ฟ้องร้องนักข่าวคนที่ถูกทุบตีอยู่ในภาพในข้อหาหมิ่นประมาท ในอีกกรณีที่คล้ายๆกัน นักข่าว 2 คน คือ Sonny Mallari และ Johnny Glorioso ที่รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทภายหลังที่พวกเขาเปิดเผยชื่อบุคคลที่พวกเขาสงสัยว่าเป็นผู้บงการ Mallari กล่าวว่าฟิลิปปินส์คงเป็นประเทศเดียวที่คุณจะเห็นเหยื่อกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทเมื่อพวกเขาพยายามเรียกร้องหาความยุติธรรม


 


และมีประเทศใดในเอเชียบ้างที่ประธานาธิบดีฟ้องหมิ่นปะมาทนักข่าว? ที่ฟิลิปปินส์มี ไม่ใช่คนเดียว แต่อดีตประธานาธิบดีถึง 2 คนที่ฟ้องร้องนักข่าว คืออดีตประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน และโจเซฟ เอสทราดา


 


อะไรคือผลของทั้งหมดนี้?


Newsbreak นิตยาสารที่เคยออกทุกสองสัปดาห์ต้องประสบกับปัญหาทางการเงินซึ่งเป็นผลมาจากการถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทโดยเพื่อนของครอบครัวอาโรโย่ บรรณาธิการของนิตยสารบอกว่าผู้ลงโฆษณา โดยเฉพาะ บริษัทที่อยู่ในกำกับของรัฐบาล ไม่ต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับ Newsbreak อีกต่อไป ในที่สุด Newsbreak ต้องยุติการพิมพ์ และดำเนินกิจการผ่านเวบไซด์ในชื่อเดิม ปัจจุบัน การดำเนินกิจการของ Newsbreak ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่ได้รับจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างชาติ โดยจะมีการพิมพ์ฉบับพิเศษเผยแพร่ในบางโอกาส


 


สำหรับนักข่าว ผลกระทบสะท้อนให้เห็นจากการตัดสินใจยุติการทำงานในวิชาชีพสื่อ หรือไม่ก็เปลี่ยนจังหวัดหรือย้ายไปอยู่ต่างประเทศ บางคนจำต้องกล้ำกลืนหลักการและออกประกาศสาธารณะขอขมาต่อผู้ฟ้องร้อง เพียงเพื่อที่จะให้รอดพ้นจากคดีหมิ่นประมาทเพื่อประโยชน์และความอยู่รอดปลอดภัยของครอบครัว ขณะที่ Mallari กำลังไตร่ตรองที่จะเจรจากับบุคคลที่เขาเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารเขา หากจะมีการถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาท


 


เพียงการคุกคามด้วยการฟ้องร้องคดีอาญาก็มากเกินพอที่จะก่อให้เกิดผลที่น่าหวาดหวั่นต่อสื่อ ดังคำกล่าวของ Jose Manuel Diokno ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวฟิลิปปินส์ที่ว่า "กฎหมายอาญาได้รับการสนับสนุนโดยอำนาจรัฐ เมื่อนักข่าวถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาททางอาญา รัฐนั้นแหละที่เป็นผู้ชี้นิ้วกล่าวหาไปที่เธอ รัฐอีกเช่นกันที่มีเครื่องมือมากมายที่จะจับเธอ ฟ้องดำเนินคดีเธอ ตัดสินให้เธอเป็นผู้บริสุทธิ์หรือผู้ทำความผิด และถ้าเป็นประการหลัง รัฐก็จะจำคุกเธอ"


 


ในความจริง ผลที่น่าหวาดหวั่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่มีการขู่ว่าจะฟ้องหมิ่นประมาท


 


สำหรับนักข่าวที่ทำงานในสถานีวิทยุชุมชนเล็กๆ หรือหนังสือพิมพ์ชุมชน ความไม่มั่นคงทบทวีอีกหลายเท่า ไม่เพียงเพราะมีทรัพยากรที่น้อยกว่ามากเท่านั้น แต่นักธุรกิจหรือนักการเมืองบางคนจะเลือกที่จะฟ้องร้องหมิ่นประมาทกับหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่นมากกว่าฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ทั้งๆที่เรื่องที่เป็นข้องถกเถียงนั้นถูกตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ระดับชาติ


 


เหมือนกับการฆ่านักข่าว


คดีหมิ่นประมาททางอาญาไม่ควรมีที่ทางในสังคมประชาธิปไตยซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานของรัฐควรต้องเปิดกว้างสำหรับการถูกตรวจสอบสาธารณะอยู่เสมอ


สุดท้าย ผู้สูญเสียไม่ได้มีเพียงนักข่าวที่ต้องเสี่ยงว่าจะถูกคุมขังหรือต้องเตรียมเงินไว้ประกันตัว


สุดท้าย ผู้สูญเสียคือประชาชนที่จะไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับประเด็นที่สื่อควรที่จะต้องรายงาน แต่ไม่ได้รายงานเพราะความหวาดกลัวคดีหมิ่นประมาท


 


เพื่อรับมือกับการคุกคามของคดีหมิ่นประมาท สหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์ (NJUP) ได้ทำการสรุปประเด็นไว้ดังต่อไปนี้


 



  1. นักข่าวควรต้องเตรียม

ก.     เบอร์โทรศัพท์และที่ติดต่อของผู้ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ คือ ทนายความ, โทรศัพท์สายด่วนของสหภาพนักข่าว, บรรณาธิการ, ผู้จัดพิมพ์, ผู้จัดการสถานี


ข.     เตรียมเงินสำหรับประกันตัวไว้


ค.     เตรียมแบบฟอร์มสำหรับการยื่นขอประกันตัว


ง.      ในบางพื้นที่ ให้สำรวจศาลที่การปฏิบัติงานในช่วงกลางคืนไว้fh;p


 



  1. นักข่าวต้องตระหนักไว้ว่านอกจากการต่อสู้ในและนอกห้องข่าวแล้ว คดีหมิ่นประมาณทำให้ศาลกลายเป็นสนามต่อสู้แห่งใหม่เพื่อเสรีภาพสื่อ
  2. ความจำเป็นสำหรับกลุ่มสื่อและองค์กรข่าวที่จะต้องรณรงค์ให้มากขึ้นต่อการเรียกร้องให้ยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาท ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
  3. ความต้องการสำหรับการศึกษาและการจัดอบรมให้นักข่าว (โดยเฉพาะนักข่าววิทยุและโทรทัศน์) เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท - กฎหมาย, มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง, เครื่องมือต่างๆ, และจรรยาบรรณ การจัดอบรมควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จบในครั้งเดียว
  4. ความจำเป็นที่ต้องสร้างเครือข่ายทนายความที่จะช่วยต่อสู้คดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ รวมถึงคดีหมิ่นประมาท
  5. ส่งเสริมการใช้กลไกภายในต่างๆ เช่น ผู้ตรวจการรัฐสภา (ombudsman), การแก้ข้อความที่ผิดพลาด และการขอขมา, และสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรควบคุมกันเอง เช่น สภาการหนังสือพิมพ์
  6. ความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและทำการวิจัยว่ากรณีคุกคามต่างๆนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อเสรีภาพสื่อและสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศ

 


ความจริงจะทำให้คุณเป็นอิสระ


 


ดังนั้น เราอย่ายอมปล่อยให้ผู้ที่ปรารถนาจะซ่อนเร้นความจริงได้สมหวัง


 


เราอย่ายอมปล่อยให้ผู้รายงานความจริงถูกทำให้เงียบเสียง - ไม่ใช่ด้วยกระสุนของผู้ลอบสังหาร ไม่ใช่ด้วยการคุกคาม ไม่ใช่ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ละเมิดเสรีภาพสื่อ และไม่ใช่ด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท



 


 


 


.......................................


งานที่เกี่ยวข้อง


มองสื่อนอก: บทนำ ว่าด้วย "การหมิ่นประมาท: การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ"


มองสื่อนอก #1: บทเรียนการต่อสู้ของสภาการ นสพ.แห่งอินโดนีเซีย ว่าด้วยโทษหมิ่นประมาททางอาญากับสื่อ


มองสื่อนอก #2: สถานการณ์สื่อในอินโดนีเซีย: "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว?"


 


โปรดติดตามตอนต่อไป


มองสื่อนอก #4: สื่อ กับกฎหมายหมิ่นประมาทในติมอร์ตะวันออก






[1] แปลจากรายงานเรื่อง "A Different kind of violence" นำเสนอที่การสัมมนานานาชาติ International Seminar on Defamation: Building a Regional Advocacy Platform ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองจ็อกจาการ์ต้า (Yogyakarta) ประเทศอินโดนิเซีย



[2] Rowena C. Paraan เป็นเลขาธิการของสหภาพนักข่าวแห่งฟิลิปปินส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net