บทความ: การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนอย่าหลงประเด็น

ศราวุฒิ ประทุมราช

 

เดิมทีผมคิดว่าจะไม่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะมีความขัดแย้งกันหลายประเด็นจนเข้าตำรา "น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ" แต่ก็อดไม่ได้ถ้าไม่เตือนสติกันเสียก่อน บ้านเมืองจะเข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้

 

อย่างที่ทราบกันดีแล้ว ขณะนี้ประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของบ้านเมืองอีกคำรบหนึ่ง ที่ฝ่ายการเมืองหรือนักการเมืองมักหยิบยกประเด็นนี้มาใช้เป็นเกมแห่งอำนาจ เพื่อการต่อรองทางการเมือง โดยไม่สนใจว่าประเทศชาติจะเดินหน้าไปในทางใด

 

ถูกแล้วครับผมกำลังพูดถึงการยื่นญัตติของสมาชิกพรรคพลังประชาชนและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งเข้ายื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อให้ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาจัดชุมนุมคัดค้านที่ถนนราชดำเนิน จนมีการปะทะกับฝ่ายต่อต้านพันธมิตร หลายครั้ง ผมให้รู้สึกสงสารประชาชนไทยเป็นยิ่งนัก ที่เราต่างมีฝ่ายมีข้างของตน และยิ่งน่าสงสารมากขึ้นเมื่อสิ่งที่เราเลือกข้างนั้น คือ พัฒนาการของสังคมประชาธิปไตย หรืออนาคตทางการเมืองของสังคมทั้งระบบนั่นเอง

 

ประชาชนที่เป็นพลังบริสุทธิ์มักไม่วิเคราะห์ปัญหาอย่างซับซ้อนมากนัก เห็นอะไรขวางหูขวางตา หรือชื่นชมนักการเมืองคนไหน ก็คิดไม่ซับซ้อนว่าเขาจะมาหลอกหรือไม่ เช่น กลุ่มที่ชื่นชอบนายทักษิณ ก็หลงใหลได้ปลื้มไปกับนโยบายประชานิยม ที่คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ซึ่งมีความจริงใจและจริงจังมากว่า โครงการโคล้านตัว ที่กลายเป็นวัวพลาสติกในอดีต หรือใครที่ชื่นชอบวาทกรรมของนายสมัคร สุนทรเวช ก็ยังไปเทคะแนนให้มากมายเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าไม่แปลกใจนัก เพราะคนรุ่นพ่อรุ่นปู่ ยังนิยมเผด็จการอำนาจนิยมอย่างสฤษดิ์ ธนรัชต์ ทำนองเดียวกับการมองไม่เห็นว่า การรับเงินซื้อเสียงนั้น เป็นความผิดอะไรมากมาย นักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงยังทำได้เลย อะไรทำนองนี้

 

ปมปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น เกิดจากการที่ประชาชนไม่เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ เพราะความซับซ้อนของเนื้อหาและการเล่นเกมของหลายฝ่าย จึงทำให้คนที่ไม่ค่อยได้ศึกษาเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และก็ อะไรก็ได้ขอให้มันดีก็แล้วกัน หรืออย่าให้มีความวุ่นวายในบ้านเมืองก็แล้วกัน

 

ในหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนนั้นมีหลักหนึ่งใน 6 ประการ ที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมและการเป็นส่วนหนึ่งของสิทธินั้น (Participation& Inclusion) หมายความว่าประชาชนแต่ละคนและกลุ่มของประชาชนหรือประชาสังคมย่อมมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 

การมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งในสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 

ผมกำลังจะเรียนว่าเราต้องเข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า เมื่อพูดถึง สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น หมายถึงสิทธิต่างๆ ดังต่อไปนี้ โดยไม่แยกเป็นส่วนๆ ได้แก่

 

สิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึง พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และโดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่สมควร ตามหลักการที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิพลเมืองข้อ 25 ที่ระบุว่า สิทธินี้รวมถึง

            () ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี

                        () ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ ซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับ เพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก

            () ในการที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแห่งความเสมอภาค

 

การจะเข้าถึงสิทธิทางการเมืองนี้ จะไม่มีผลจริงจังหาก ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นและสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตามข้อ 19 ของกติกาฯดังกล่าว ที่ว่า

            1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

            2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

            3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อกำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

                        () การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

                        () การรักษาความมั่นคงของชาติ  หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

 

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่กำลังจะมีการแก้ไขนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำน้อยมาก และไม่มีส่วนร่วมรับรู้สาระสำคัญอันนำไปสู่การลงประชามติเลย ผิดกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

 

ดังนั้นต้องตั้งต้นกันเสียใหม่ก่อนที่จะหลงประเด็นว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ต้องคิดกันเสียแต่ต้นว่าจะแก้มาตรานั้น มาตรานี้ก่อน หรือ การขอให้แก้ไขทั้งฉบับ ก็ยังไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นก็คือ ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เสียก่อน จะได้หรือไม่ ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด จากนั้นค่อยคิดกันว่าแล้ว จะให้มีกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอย่างไร จะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร

 

ซึ่งในใจผมอยากให้คิดถึงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วค่อยมาว่ากันเรื่องเนื้อหาสาระสำคัญ ก็ยังไม่สายครับ เราสะดุดล้มในด้านพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไปแล้วหลายครั้ง นับแต่พฤษภา 2535 จนมาถึง 19 กันยายน 2549 และนี่ยังไม่จดจำบทเรียนกันอีกหรือว่า ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองอีกคำรบหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท