Skip to main content
sharethis


เป็นโชคร้ายของชาวกะเหรี่ยงโปว์รุ่นนี้ในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ที่แม้อาศัยอยู่ในป่าลึกก็ยังต้องเผชิญกับสารพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักหน่วง สารตะกั่วในลำห้วย ในเลือดของพวกเขายังเป็นปัญหาค้างคาจนปัจจุบัน และแว่วว่าจะมีการฟื้นโรงแต่งแร่ขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง


 


นับจากปี 2541 ที่เป็นข่าวโด่งดังกรณีโรงแต่งแร่คลิตี้ปล่อยหางแร่ตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ ถึงวันนี้ชีวิตของชาวบ้านราว 300 คนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก พวกเขามีสารตะกั่วในเลือดสูงผิดปกติ เจ็บไข้ออดๆ แอดๆ โดยเฉพาะเด็กๆ ในหมู่บ้านที่พัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ


 


ขณะที่ตะกั่วยังคงนอนก้นอยู่เต็มท้องน้ำราว 833 ตัน ยาวตลอด 19 กิโลเมตรของลำห้วย สะสมอยู่ในสัตว์น้ำ ปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงกองแร่ตะกั่วกว่า 60,429 ตันที่ขนย้ายมาจากโรงแต่งแร่คลิตี้ที่ถูกสั่งปิดกิจการไปเมื่อเกิดกรณีปนเปื้อนนี้ ยังไม่ได้รับการจัดการอันใดและพร้อมจะปนเปื้อนสู่ธรรมชาติเรื่อยๆ


 


หมู่บ้านคลิตี้ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ลงหลักปักฐานกันมาหลายร้อยปี ผืนป่าขนาดมหึมานี้มีการทำเหมืองแร่ตะกั่ว พลวง รวมแล้วถึง 6 แห่งตั้งแต่อดีตมา โรงแต่งแร่ 3 แห่ง ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น หากแต่กรณีอื่นไม่ส่งผลกระทบชัดเจนเท่าโรงแต่งแร่คลิตี้เพราะอยู่บนพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหลุมยุบ


 


การแก้ไขที่ผ่านมาเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่สัมฤทธิ์ผล จนท้ายที่สุดสะดุดหยุดชะงักอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่ปี 2546 และอันที่จริงในทางปฏิบัติหยุดมาก่อนหน้านั้น จากนั้นจึงมีการถกเถียงกันก่อนที่ทั้งฝ่ายเจ้าของโรงแต่งแร่และหน่วยงานรัฐจะสรุปว่า ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง เรื่องนี้นำไปสู่การฟ้องร้องของชาวบ้าน 22 คนต่อกรมควบคุมมลพิษ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยศาลปกครองกลางเพิ่งตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดีไปเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ฟ้องร้องทั้ง 22 คน ในส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ในอัตรารายละ 350 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังต้องชดเชยในส่วนค่าเสียหายต่อสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอัตรารายละ 1,000 บาทต่อเดือน โดยชดเชยนับเป็นระยะเวลา 22 เดือน (ตั้งแต่ พ.ย.2545-27 ส.ค.2547 ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้องคดีเพิ่มเติม) รวมค่าเสียหายต่อรายเป็นเงิน 33,783 บาท


 


ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษต้องชดเชยรวมทั้งสิ้น 743,226 บาท


 


ก่อนหน้านั้นก็มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่าพันล้านบาท โดยชาวบ้านจากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง 151 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแพ่ง ต่อบริษัทตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และกรรมการบริหาร ในข้อหาละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ.2535 โดยเรียกร้องให้โรงแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้ รับผิดชอบในการกระทำที่ละเมิดต่อผู้เสียหายทั้ง 151 คน หลังจากชาวบ้าน 8 คนชนะคดีไปแล้วในรอบแรก


 


ชาวบ้าน 151 คนให้เหตุผลว่า บริษัททำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตสุขภาพอนามัย ทำให้ชาวบ้านได้รับสารพิษตะกั่วสะสมในร่างกาย สัตว์เลี้ยงตายหลังจากดื่มน้ำในลำห้วยและตายด้วยอาการผิดปกติ รวมทั้งความเสียหายที่เกิดแก่ลำห้วยของหมู่บ้านอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อเกิดการปนเปื้อนสารตะกั่ว ก็ยากแก่การฟื้นฟูตัวตามธรรมชาติ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนอนาถา


 


แม้ในกรณีของการฟ้องกรมควบคุมมลพิษจะได้ค่าชดเชยกันอยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นความต้องการสูงสุดของชาวบ้าน คือ การฟื้นฟูลำห้วย ซึ่งเปรียบดังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขา ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่ปัญหาเก่ายังคาราคาซัง คดีเก่ายังไม่เป็นที่สิ้นสุด ก็มีข่าวการฟื้นคืนชีพของโรงแต่งแร่แห่งใหม่ "เค็มโก"


 


ฟื้น "โรงแต่งแร่ใหม่" ท่ามกลางปัญหาเก่าจากโรงแต่งแร่เดิม


นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า การอนุญาตให้บริษัท กาญจนบุรีเอ็กซ์โพลเรชั่นแอนด์ไมนิ่ง (เค็มโก) จำกัด แต่งแร่ที่กองอยู่ 60,429 ตัน ซึ่งขนย้ายมาจากเหมืองคลิตี้ หลังเกิดปัญหาการปนเปื้อนจากหางแร่ตะกั่วที่ไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้นั้นเป็นไปตามมติเมื่อครั้งเกิดเหตุปัญหาการปนเปื้อนของตะกั่วจากหางแร่ตะกั่วที่โรงแต่งคลิตี้ ซึ่งเป็นมติร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


 


อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปถึงมติที่ว่า เห็นจะหนีไม่พ้นมติการประชุมร่วมของ 4 รัฐมนตรี (กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ที่ออกมาเมื่อ 9 พ.ย.2544 ซึ่งมีดังนี้ 1.ให้โรงแต่งแร่คลิตี้หยุดดำเนินการ และยกเลิกใบอนุญาต/ประทานบัตร 2. ให้ขนย้ายแร่ดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้งหมดออกนอกพื้นที่โดยดำเนินการอย่างเหมาะสมปลอดภัย เจ้าของเหมืองเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย


 


3.ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยการสร้างเขื่อนดักตะกอนกึ่งถาวร 4.กระทรวงสาธารณสุขสำรวจและเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยรอบ 5.สำรวจเฝ้าระวังระดับสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและแหล่งอาหาร 6.การพิจารณาใบอนุญาต/ ประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่จำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีการศึกษาให้รอบคอบก่อน


 


สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงศึกษาและพัฒนา เอ็นจีโอผู้ซึ่งเกาะติดกับกรณีปัญหามายาวนาน ระบุว่า การที่ผู้ว่าฯ อนุญาตให้ใช้พื้นที่นั้นขัดกับมติที่ผ่านมาของรัฐมนตรีอย่างชัดเจน นอกจากนี้เขายังระบุถึงความสัมพันธ์ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ เจ้าของโรงแต่งแร่คลิตี้ที่มีปัญหาเดิม กับ บริษัทเค็มโกว่าล้วนดำเนินการโดยกรรมการชุดเดียวกัน คนในตระกูลเดียวกัน เรียกได้ว่าทั้ง 2 แห่งดำเนินการโดยบุคคลกลุ่มเดียวกัน ใช้เทคนิคเหมือนกัน จึงอยู่บนความกังวลว่าจะเกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมาแน่นอน


 


"อันที่จริงสัมปทานเหมืองแร่เค็มโกก็หมดแล้วตั้งแต่ปี 2545 เมื่อหมดแล้วก็จบ ทุกคนก็คิดว่าหลังจากสัมปทาน 2545 เหมืองแร่ในบริเวณนี้จะจบหมดแล้ว แต่ก็ตั้งแต่ปี 2535-2545 เป็นเวลา 10 ปีที่เค็มโกประกอบการทำแร่ตลอดมา เหมือนเป็นเหมืองแร่เถื่อน


 


สุรพงษ์ ยังระบุอีกว่า ตอนที่เกิดกรณีคลิตี้เมื่อปี 2541 กรมควบคุมมลพิษได้ทำการตรวจสารพิษในน้ำและในสัตว์น้ำ ไล่จากลำห้วยคลิตี้ลงมาจนถึงอ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ ในช่วงปี 2541-2542 ก็พบว่าปลาในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์มีค่าตะกั่วเกินค่ามาตรฐานถึงเกือบ 100 เท่า และหลังจากตรวจพบในปริมาณมากอย่างนี้ก็ไม่ได้มีการตรวจอีก


 


หลังจากนั้นเมื่อปี 2546-2547 มีข่าวเรื่องการตัดถนนลงไปภาคใต้โดยผ่านอ่าวไทย "โครงการก่อสร้างเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ) หรือโครงการแหลมผักเบี้ย ซึ่งมีการโต้เถียงกันมาก และเหตุผลสุดท้ายที่ทำให้โครงการนี้เงียบไปคือเมื่อขุดตอหม้อลงไปตะกอนตะกั่วจะฟุ้งขึ้นมา คำถามคือ ตะกั่วในอ่าวไทยตรงนั้นมาจากไหน ก็เพราะบริเวณนั้นเป็นบริเวณปากน้ำแม่กลองไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย และธารน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลองนั้นไหลผ่านเหมืองตะกั่วที่ทำมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และปัจจุบันมีการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาใช้ผลิตเป็นน้ำประปาให้ชาวกรุงเทพฯ และเขตธนบุรีใช้ด้วย


 


"พูดง่ายๆ ปัจจุบันนี้บ้านอดีตนายกฯ บรรหาร อดีตนายกฯ ทักษิณใช้น้ำจากลำห้วยคลิตี้นะ" สุรพงษ์กล่าว


 


แผนการฟื้นฟูที่ไม่ประสบความสำเร็จ ที่มาของการปล่อยเลยตามเลย


สุรพงษ์ยังย้ำถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหาที่ผ่านมาก หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษสรุปออกมาว่าปล่อยธรรมชาติฟื้นฟูไม่ได้แล้ว และให้บริษัทเข้ามารับผิดชอบฟื้นฟู โดยการขุดลอกลำห้วยหลังการศึกษามาแล้ว 1 ปี ในแผนฟื้นฟูแผนแรกใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท โดยมีการวางแผนในการขุดรอกแบบไม่ให้ตะกั่วฟุ้งกระจายเป็นที่เรียบร้อย แต่ปรากฏว่าเจ้าของเหมืองแร่ไม่ยอมจ่าย จึงนำไปสู่การทำแผนที่สองในการฟื้นฟู คือการขุดใน 2-3 กิโลเมตรแรก เฉพาะบริเวณที่มีตะกอนตกค้างมาก และให้นำไปฝังกลบให้ห่างจากลำห้วยไม่น้อยกว่า 100 เมตร กระนั้นก็ปรากฏว่าแทนที่จะไปขุดในลำห้วย กลับขุดบริเวณริมตลิ่งแล้วเอาดินไปวางถมไว้บนตลิ่งเล็กน้อย แล้วเอาป้ายไปปักว่าการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว


 


จากนั้นนำมาสู่แผน 3 คือการทำฝายกั้นทางน้ำไว้ แล้วค่อยทำการดูดตะกอนหน้าฝายออก อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาดูดตะกอนออกได้มีการทำหนังสือเตือนไปทางบริษัทหลายครั้ง แต่บริษัทก็นิ่งเฉย หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน กรมควบคุมมลพิษก็ออกมาประกาศว่าฟื้นฟูไม่ได้ หากฟื้นฟูแล้วตะกั่วจะฟุ้ง ต้องให้ธรรมชาติฟื้นฟู ข้อมูลที่ว่าฟื้นฟูแล้วฟุ้งออกมาหลังจากที่บริษัทยืนยันไม่ยอมดำเนินการแน่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างต้องมาฟ้องศาลปกครองอย่างที่เป็นข่าว


 


"หากเราดูตามแผนที่ในกูเกิลเอิร์ท แถบจังหวัดกาญจนบุรีไล่ไปให้เห็นอ่างเก็บน้ำ 2 อ่างคือเขื่อนศรีนครินทร์และเขาแหลม จะเห็นจุดขาวๆ ของทะเลตะกั่วของเหมืองเค็มโก ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะมองเห็นในแผนที่ เป็นกากตะกั่วที่ติดอยู่บนผิวดินหนาหลายเมตร ใหญ่ขนาดเป็นลานเครื่องบินได้ และไม่มีแผนที่จะฟื้นฟูตรงนี้เลย ไม่ว่าเหมืองเค็มโกจะเสร็จแล้วหรือไม่เสร็จ หมดประทานบัตรหรือไม่" สุรพงษ์กล่าว


 


ข้อเท็จจริงต่างๆ กำลังจะชัดเจนขึ้นในเร็ววัน ขณะที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างก็คงจะลุ้นระทึกว่าชีวิตพวกเขาจะย่ำแย่กว่าที่เคยย่ำแย่หรือไม่ และต้องวิ่งฟ้องร้อง เฝ้ารอการแก้ปัญหาอีกนานกี่ชั่วรุ่น


 


 


 


 


 


ข้อมูลจาก


เว็บไซต์ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา www.karencenter.com


สัมภาษณ์สุรพงษ์ กองจันทึก เมื่อ 14 พฤษภาคม 2551


หนังสือ "คลิตี้ สายน้ำ ชุมชน และพิษตะกั่ว" โดย เกื้อเมธา ฤกษ์พรพิพัฒน์, มกราคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net