Skip to main content
sharethis


เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อ พ.ศ. 2535 มีความหมายและความสำคัญอย่างไรเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว แต่งเพลง "ราชดำเนิน" ขึ้นภายหลังเหตุการณ์นองเลือด ณ ถนนราชดำเนินในครั้งนั้น บทเพลงที่เรียบง่ายด้วยเสียงร้องและเครื่องดนตรีน้อยชิ้นแต่กินใจทั้งในถ้อยคำและอารมณ์ของเพลง ให้คำตอบสำหรับพฤษภาทมิฬว่าเป็นการต่อสู้


 


"เพื่อประชาชน เพื่อชาติประชาธิปไตย"


 


การเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อ พ.ศ. 2534 จึงเป็นการต่อสู้เพื่อทวงคืน - ชาติประชาธิปไตย - ในความหมายนี้ประชาธิปไตยจึงควรไม่ใช่เรื่องของการใช้อำนาจนอกระบบคุกคามต่อระบบรัฐสภา คณะนายทหารไม่ควรมีบทบาทในทางการเมืองหากต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของทหารอาชีพ


 


ภายหลังจากเดือนพฤษภา เมื่อรัฐบาลของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร พ้นไปจากตำแหน่ง ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การลดทอนอำนาจข้าราชการประจำในระบบการเมือง พร้อมกับการเพิ่มอำนาจของนักการเมืองจากระบบการเลือกตั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง, ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา เป็นตัวอย่างของการสร้างประชาธิปไตยแบบเต็มใบให้บังเกิดขึ้น


 


คำอธิบายถึงพฤษภาทมิฬจึงถูกอธิบายและจดจำในฐานะของการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือความพยายามหวนกลับของเผด็จการทหาร คำอธิบายว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬคือ "14 ตุลา เฟส 2" ให้ความหมายที่กระชับต่อการจัดวางสถานะของพฤษภาทมิฬในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


แต่ที่กล่าวมา แทบจะหาความเชื่อมโยงกับอารมณ์และความเห็นที่มีต่อการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้เอาเสียเลย เราจะสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กันได้หรือไม่ อย่างไร


 


หรือจะพึงพอใจต่อคำตอบว่าสังคมไทยลืมง่าย ไม่สนใจเก็บรับบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นเลย        ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ได้เสนอเค้าโครงการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้ในการสัมมนา "โครงการเปลี่ยนประเทศไทย" ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2549 (ก่อนเกิดการรัฐประหาร) โดยสำหรับพฤษภาทมิฬจะดำรงอยู่ใน 2 สถานะของประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


สถานะแรก พฤษภาทมิฬเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างทหารกับการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งเริ่มต้นในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงแรกทหารเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงในทางการเมือง แต่หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ระบบรัฐสภาเริ่มมีความสำคัญในทางการเมือง แม้จะมีการยึดอำนาจเกิดขึ้นแต่ก็จำเป็นต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยทหารทำหน้าที่เป็น caretaker และสถานการณ์นี้มาสิ้นสุดลงที่พฤษภาทมิฬ


 


สถานะที่สอง พฤษภาทมิฬเป็นจุดหนึ่งของโจทย์การเมืองชุดใหม่ ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ของ 3 สถาบันทางการเมืองสำคัญ หรือในภาษาของธงชัยเรียกว่าประชาธิปไตยแบบ 3 M ได้แก่ M1- Money ธุรกิจการเมือง, M2 - Mass ประชาชน และ M3 - Monarchy


 


ในประชาธิปไตยแบบ 3M นั้น ธุรกิจการเมืองได้กลายเป็นปัญหาใจกลางหลักของสังคมการเมืองไทยที่ต้องได้รับการจัดการ โดยประชาชนจะเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปควบคุม การเคลื่อนไหวของสังคมไทยในห้วงระยะเวลานับตั้งแต่นักการเมืองเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี จวบจนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองและนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินอยู่ในแนวทางนี้


 


ท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ระหว่าง M1กับ M2 สถาบันกษัตริย์ได้สถาปนาความชอบธรรมเหนือระบอบการเมืองและมีอำนาจในเชิงธรรมะ (moral authority) ที่ทุกฝ่ายในสังคมต่างให้การยอมรับ


 


ข้อเสนอของธงชัย ที่มองเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในฐานะจุดหนึ่งในปฏิสัมพันธ์ของประชาธิปไตยแบบ 3M ทำให้การพิจารณาเหตุการณ์นี้ในฐานะของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดยประชาชนกับฝ่ายเผด็จการทหารจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบเพิ่มมากขึ้น


 


ซึ่งภายใต้กรอบอธิบายแบบประชาธิปไตยกับเผด็จการจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดบรรดาผู้มีบทบาทสำคัญในเดือนพฤษภาจำนวนหนึ่งจึงหันมาเป็นผู้เสนอ สนับสนุน และรวมไปถึงความยินดีปรีดาต่อการใช้มาตรา 7 ก่อนการรัฐประหารและรวมไปถึงการสนับสนุนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา


 


จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจต่อพฤษภาทมิฬในแง่มุมที่ต่างไปจากเดิม เฉพาะอย่างยิ่งบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันสำคัญอื่นๆ ฉากสุดท้ายของพฤษภาทมิฬอาจมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเหตุการณ์นี้มากขึ้นว่า "ชาติประชาธิปไตย" ที่เรียกร้องกันอาจไม่ได้หมายถึงรูปแบบการเมืองของตะวันตกที่รับรู้และเข้าใจกัน หากมีความหมายของรูปแบบการเมืองที่มีธรรมะราชาอยู่เหนือการเมือง ทำหน้าที่คอยปกปักษ์รักษาบ้านเมืองในยามเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆ และเป็นอำนาจสูงสุดของระบอบการเมือง


 


หากพิจารณาในแง่นี้ จะพบว่าประชาธิปไตยที่ถูกหล่อหลอมขึ้นให้ความหมายใน 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านแรก มีความหมายถึงการต่อสู้กับเผด็จการทหารโดยฝ่ายประชาธิปไตย ด้านที่สอง เป็นการจัดการกับธุรกิจการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งฝ่ายประชาชนเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในด้านใดล้วนอยู่ภายใต้อำนาจของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ทั้งสิ้น


 


แม้จะห่างจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเพียงแค่ 14 ปี แต่ข้อเสนอเรื่องมาตรา 7 หรือความเต็มใจกับการรัฐประหาร 19 กันยา ล้วนอยู่ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ทางอำนาจของการเมืองไทยร่วมสมัยชุดหนึ่งที่มักไม่ค่อยได้รับความสำคัญ การเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาทมิฬจึงได้นำไปสู่ผลในบั้นปลายหลายประการซึ่งยากต่อการพูดถึง ไม่ต้องเอ่ยถึงการถกเถียงซึ่งเป็นไปได้ยากในสังคมปัจจุบัน


 


เพดานความคิดในการสถาปนาระบบการเมืองของสังคมไทยจึงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการสร้างสถาบันการเมืองเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งหรือปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ด้วยอำนาจของประชาชน


 


ตราบเท่าที่ยังไม่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ครอบครองพื้นที่อยู่ในสังคมไทย ก็จะไม่เป็นเรื่องแปลกที่มีแต่ "สวรรค์เบื้องบน รู้ดีเราสู้เพื่อใคร" ในเหตุการณ์เดือนพฤษภา


 


…………………………………….


 


 


หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2551


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net