Skip to main content
sharethis

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร


 



หน้ามหาวิทยาลัย Sorbonne วันที่ 5พฤษภาคม 1968


 


ตามที่ผู้เขียนได้เขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับเทศกาลหนังเมืองคานนส์ในช่วงพฤษภา "68 (Mai 68) ของฝรั่งเศสไปเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเองตระหนักว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจบริบททางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่แวดล้อม และปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันจนเป็นเหตุให้เกิดการลุกขึ้นเรียกร้อง "การปฏิวัติสังคม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลทางความคิดที่มีต่อนักศึกษาในยุคนั้น


 


ดังนั้น ก่อนหน้าที่ละอองแห่งความทรงจำของพฤษภา "68 ในฝรั่งเศสจะจางหายไปเมื่อพ้นเดือนนี้ ผู้เขียนถือโอกาสแปลและเรียบเรียงบทความที่ว่าด้วยหนังสือสำคัญที่มีอิทธิพลต่อ "ความคิดปี 68" ทั้งหมด 3 เล่ม โดยเริ่มจากเล่มแรก มาให้อ่านประกอบความรู้กันในตอนนี้


 


 



De la misère en millieu étudiant ต้นฉบับ


 


ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายคู่มือมากกว่า เพราะมีเพียง 32 หน้า แต่หนังสือที่มีชื่อยาวมากอย่าง "De la misère en millieu étudiant, considéré sous ses aspects économique, politique, psychologique, sexuel et notamment intellectuel et quelques moyens pour y remédier" หรือ "ว่าด้วยทุกข์เข็ญในหมู่นักศึกษา เมื่อพิจารณาจากมุมมองเศรษฐกิจ, การเมือง, จิตวิทยา, ทางเพศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางปัญญาชน และวิธีการบางอย่างในการแก้ไข" ยังคงเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพฤษภา "68


 


De la misère en millieu étudiant เขียนโดย Mustapha Khayati สมาชิกคนหนึ่งของ Internationale Situationniste 1> (IS) ถูกนำออกเผยแพร่ครั้งแรกโดยเหล่าสมาชิกของ IS ที่เมืองสตราสบูร์กในเดือนพฤศจิกายนปี 1966 หนังสือเล่มนี้บอกเล่าสภาพชีวิตของนักศึกษาในขณะนั้นได้อย่างแยบคายและแสบสัน นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวคิดแบบ Situationniste 2>ได้เป็นอย่างดี เมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว หนังสือเล่มนี้มีส่วนโดยตรงต่อเหตุการณ์ scandale de Strasbourg 3> (แปล: scandal of Strasbourg) ซึ่งเป็นหนึ่งในปฐมบทของพฤษภา "68


 


ภายหลังจากแจกครั้งแรก De la misère en millieu étudiant ได้รับความสนใจอย่างสูง จนต้องมีการผลิตรอบสองกว่าหมื่นเล่มนับแต่เดือนมีนาคม 1967 และยังได้รับการแจกจ่ายไปยังต่างประเทศ


 


เนื่องจากหนังสือพยายามหยิบยกประเด็นหลากหลายขึ้นมา ด้วยพื้นที่ที่จำกัดจึงทำให้มีลักษณะค่อนข้างรวบรัดและอัดแน่น อย่างไรก็ตาม โดยสาระสำคัญแล้ว หนังสือกล่าวถึงการวิเคราะห์สถานะของนักศึกษา, วิกฤติของมหาวิทยาลัย, ลักษณะสุดโต่งของวัยรุ่น หรือแม้กระทั่งการวิจารณ์ "สินค้าทางวัฒนธรรม" ซึ่งในประเด็นนี้ เราสามารถพบการวิเคราะห์ เช่น


 


"ในการแสดงเชิงวัฒนธรรม นักศึกษาพบว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะสานุศิษย์ที่เชื่อฟังคำสอนอีกครั้ง [...] ในยุคที่ศิลปะได้ตายลง ยังมี (นักศึกษา) กลุ่มหลักที่เหนียวแน่นต่อโรงละครและคลับของคนรักหนัง ซึ่ง (นักศึกษา) เป็นผู้บริโภคที่กระหายอยากที่สุดต่อศพแช่แข็ง (ของศิลปะ) ที่ถูกกระจายออกไปภายใต้หีบห่อพลาสติกใสในห้างสรรพสินค้าสำหรับแม่บ้านที่ต้องการ (บริโภค) ปริมาณมากๆ [...] ที่ใดไม่มี "ศูนย์วัฒนธรรม" นักศึกษาก็จะสร้างมันขึ้น"


 


นอกจากนี้ ยังอาจถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการกล่อมเกลาและหล่อหลอมให้มองการปฏิวัติเฉกเช่นเดียวกับการเฉลิมฉลองและการละเล่น โดยหนังสือเล่มเล็กแต่ชื่อยาวนี้จบลงด้วยวลีสัญลักษณ์ที่กลายเป็นคำขวัญสำหรับคนในรุ่น 68 ว่า "ใช้ชีวิตอย่างไม่สูญเปล่าและรื่นรมย์อย่างเสรี ปราศจากอุปสรรค"


 


จากตอนหนึ่งของบทความเรื่อง Les Livres qui ont enflammé les esprits หรือ "หนังสือที่จุดดวงวิญญาณให้ลุกโชน" โดย FRÉDÉRIC MARTEL ในนิตยสาร Le Magazine Littéraire, Hors-série No 13 Avril- Mai 2008


 


 


...........................................


 


1> หรือที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า Situationist International คือ กลุ่มเคลื่อนไหวนานาชาติในทางการเมืองและศิลปะ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธินิยมมาร์กซ์และเลนิน ยังรวมถึงศิลปินและนักการเมืองหัวก้าวหน้าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ต้องการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง ก่อตั้งขึ้นในปี 1957 มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุโรปตลอดช่วงทศวรรษ 60 (ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Situationist_International)


2> ในวารสารของกลุ่ม Situationist International นิยามคำว่า situationist หรือในภาษาฝรั่งเศส situationniste ว่าหมายถึง การปฏิบัติการด้วยทฤษฎีหรือใช้วิธีการประยุกต์มาประกอบในการ "สร้างสถานการณ์"

3> สามารถอ่านและดาวโหลดคำแถลงการณ์ของกลุ่ม Internationale Situationniste ต่อเหตุการณ์ scandale de Strasbourg ได้ที่ http://www.larevuedesressources.org/article.php3?id_article=56

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net