พปช.ยื่นญัตติแก้ รธน. - พันธมิตรฯ วางแผนต้านวันนี้

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าว วานนี้ (20 พ.ค.) ว่า ขณะนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนได้รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้พร้อมแล้ว คาดว่าจะยื่นญัตติแก้ไขในวันนี้ (21 พ.ค.) อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนขอแจ้งให้ทราบว่า กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนจะไม่ร่วมลงชื่อในญัตติดังกล่าว เพราะคำนึงถึงข้อกล่าวหาว่าการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อตัวเองและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ ที่จะมีผู้ยื่นถอดถอนตามมาตรา 122

         

"เชื่อว่า การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมี ส.ว. ร่วมลงชื่อด้วย เพราะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกันของรัฐสภา"

         

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคพลังประชาชน กล่าวว่าขณะนี้รวบรวมรายชื่อ ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาล ได้แล้วประมาณ 120 คน พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ประมาณ 30 คนซึ่งการดำเนินการรวบรวมครั้งนี้ ไม่ได้ประสานในนามพรรคพลังประชาชน แต่เป็นการทำในส่วนของ ส.ส.ดังนั้น เมื่อรวบรวม รายชื่อได้ครบตามรัฐธรรมนูญม มาตรา 291กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อจำนวน 1 ใน 5 แล้ว ก็จะยื่นญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญในวันนี้ (21พ.ค.) ที่รัฐสภาในเวลา 09.00 น.อย่างแน่นอน โดยจะใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นร่างเดียวกับที่ภาคประชาชนหรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คพปร.) ได้ยื่นร่างแก้ไขให้กับ ส.ส.และ ส.ว.ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา สาระสำคัญ ให้คง หมวด1-2 ของรัฐธรรมนูญ2550 แล้วและตั้งแต่หมวดที่ 3 เป็นต้นไปจะเอานำรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือการบรรจ ให้พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติด้วย อย่างไรก็ตาม ในมาตราอื่นก็จะมีการแก้ไขปรับปรุงในรายละเอียดในวาระที่สองขั้นการแปรญัตติต่อไป

         

นายฉลาด ขามช่วง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ยืนยันว่าในวันที่21พ.ค. ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมด้วย ส.ว.จะร่วมกันยื่นญัตติขอแก้รัฐธรรมนูญ2550 อย่างแน่นอนซึ่งจะมี นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ดและนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคพลังประชาชน จะเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้เพื่อดำเนินการต่อไป

         

นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.นครพนม พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า พรรคเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่ช้าไม่เร็วเกินไปที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเราไม่กังวลกระแสคัดค้าน เพราะทุกคนมีสิทธิคัดค้านได้ ส่วนร่างที่พรรคจะใช้ยื่น จะมาจากหลายส่วนนำมาประกอบกัน รวมทั้งร่างของ คปพร. ที่มีนพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำมาใช้ประกอบด้วยเพราะมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540

          

ชูศักดิ์อ้างส.ส.แก้รธน.ตามม.291

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หาก ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนจะพิจารณาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

         

ส่วนที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยืนยันว่าหากมีการยื่นขอแก้ไข รัฐธรรมนูญเมื่อใด ก็จะมีการนัดชุมนุมปิดล้อมสภาทันทีนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของเขาไม่เป็นอะไร เพียงแต่ว่าเราต้องดูว่าเขาทำตามกติกาหรือไม่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก็ให้อำนาจ ส.ส.ไว้ เขาก็ทำตามนั้น

         

"มาตรา 291 ให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งยื่น และอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก็แปลว่ามาตรา 291 ไม่มีประโยชน์อะไร เขียนไว้อย่างนั้น ผมว่า เราต้องยอมรับกติกากัน ถ้าคุณไม่เห็นด้วยในประเด็นใดก็ไปว่ากันตรงนั้นดีกว่า ผมว่าไม่ควรมาตั้งข้อรังเกียจกันและนำไปสู่ความไม่เรียบร้อย ถ้ายังยืนยันจะมาชุมนุมกันก็แปลว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 291 ที่เขียนว่าสามารถแก้ได้ เพิ่มเติมได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนะสิ เลือกตั้งกันมา มีส.ส. และส.ว.ก็ไม่ต้องทำอะไร อย่างนั้นบ้านเมืองนี้ก็กลายเป็นอะไรไปไม่รู้ ผมว่าดีที่สุดก็ต้องปล่อยให้เขา ดำเนินการไป กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นใดก็ไปถกเถียงกันในขั้นตอนของ กรรมาธิการฯ ซึ่งผมเชื่อว่าเขาก็พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่ายอยู่แล้ว"

         

ส่วนรัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหากการชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรฯมีความรุนแรงและวุ่นวายอย่างไรนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงในวันนั้น ถ้าเราไม่ไปรุนแรงอะไรด้วย ไม่ไปทำอะไรที่ไปก่อให้เกิดเงื่อนไข ความรุนแรงก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม

         

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะต้องระงับการยื่นไว้ก่อน หากมีความ รุนแรงขึ้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ ส.ส.จะพิจารณาอย่างไร รัฐบาลก็แค่ดูอยู่ โดยจะไม่เข้าไปกำกับว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้ประเด็นใด

         

พันธมิตรฯลั่นยื่นแก้ไขชุมนุมค้านทันที

นายสุริยะใส กตะศิลาผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การเตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ถือเป็นการ ตัดสินใจแบบลุกลี้ลุกลนทั้งที่อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุม ก่อนหน้านี้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ และแกนนำพรรคพลังประชาชนหลายคนก็ดูเหมือนมีท่าทีจะชะลอเรื่อง แก้ไขรัฐรรมนูญไว้ก่อน แต่ต่อมากับให้ ส.ส.ของพรรคลักไก่ไปยื่นญัตติ ถือเป็นการตีสองหน้า วิธีการแบบนี้เป็นการตบตาและท้าทายประชาชน

         

นายสุริยะใส เชื่อว่าพรรคพลังประชาชนอาจจะประเมินสถานการณ์แล้ว คงเห็นว่าบริหารประเทศไปไม่รอด ประกอบกับสถานะของนายกฯ ก็เริ่มมีปัญหาทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาภาวะการนำ และปัญหาสถานภาพตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ชิงยุบสภาหนีหรือเกิดการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ จึงต้องใช้วิธีรวบรัดตัดตอนลักไก่เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

         

"แม้จะออกแบบให้ ส.ส.ของพรรคเท่านั้นร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติ โดยไม่ให้ กรรมการบริหารพรรคร่วมลงชื่อด้วยเพื่อหนีความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 นั้น คงหนีความผิดไม่พ้นเพราะเป็นเจตนารมณ์เดียวกัน และสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชาชนก็ตอกย้ำอยู่แล้วว่าต้องการฟอกผิดให้ตนเองและตัดตอนกระบวนการยุติธรรม"

         

นายสุริยะใส กล่าวว่าสำหรับท่าทีของพันธมิตรฯ นั้นวันนี้ (21 พ.ค.) จะมีการประชุม ที่บ้านพระอาทิตย์และมีการแถลงข่าวตอนเที่ยงเพื่อประเมินสถานการณ์ และกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวซึ่งเรายังยืนยันเช่นเดิมว่าทันทีที่มีการพิจารณาญัตตินี้ในสภาฯ พันธมิตรจะชุมนุมคัดค้านไปพร้อมๆ กับการเข้าชื่อถอดถอน

 

ชท.งง พปช.ยื่นแก้ รธน.ไม่ปรึกษา

นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) พรรคชาติไทย กล่าวว่าพรรคยังไม่ได้รับการประสานจากพรรคพลังประชาชนว่าจะมีการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 21 พ.ค.ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่พรรคร่วมารัฐบาลไม่มีใครทราบเรื่อง และพรรคชาติไทยก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยว่ามีเนื้อหาอย่างไร และมีการปรับแก้ไปจากเนื้อหาที่พรรคชาติไทยได้เห็นก่อนหน้านี้อย่างไร

         

"ความจริงแล้วการแก้รัฐธรรมนูญพรรคชาติไทยยินดีให้ความร่วมมือ เพียงแต่ต้องขอทราบเนื้อหาการแก้รัฐธรรมนูญด้วยว่ามันแตกต่างไปจากเดิม แค่ไหนอย่างไร"

         

นายเอกพจน์กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้พรรคชาติไทยได้มีส.ส.เซ็นชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว 4 คน ได้แก่ตน นายนพดล พลเสน ส.ส.อุทัยธานี นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.สุพรรณบุรี นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทย แต่เป็นการเซ็นรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบางมาตรา คือเฉพาะมาตรา 237 และ 309 เท่านั้น ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า ในวันที่ 21 พ.ค.นี้ จะมีการยื่นรายชื่อของ ส.ส.ชาติไทยชุดเดิมไปด้วยหรือไม่ คงต้องตรวจสอบต่อไป

         

นายเอกพจน์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าเมื่อจะมีการยื่นญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ก็ควรที่จะให้พรรคชาติไทยได้รับรู้ด้วย ซึ่งการเห็นด้วย หรือไม่นั้น คิดว่าเมื่อนำเรื่องเข้าที่ประชุมพรรคชาติไทยแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา สำหรับเรื่องแนวทางที่พรรคพลังประชาชนไม่นำกรรมการบริหารพรรคมาร่วมลงชื่อเพราะหวั่นถูกถอดถอนตามมาตรา 122 ตามรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองแล้วว่า ไม่น่าเข้าข่าย และไม่คิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 จะได้รับการถอดถอนจากการเป็นส.ส.ได้ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน

         

ปชป.ย้ำต้องมี ส.ส.ร. หรือ กมธ.ศึกษา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว่า ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหากมีกฎหมายที่เร่งด่วนจะหยิบยกมาพิจารณาทางพรรคก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งตนเห็นว่ายังมีเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญที่ยังไม่มีการแต่งตั้งก็ควรดำเนินการให้เสร็จในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ แต่หากมีการยื่นแก้ไขในลักษณะเดิมที่ตั้งใจจะยื่นแก้ไข ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย หากมีการยื่นจริงก็จะเรียกประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เพื่อกำหนดท่าทีทันที ซึ่งพรรคมีการเตรียมการไว้หลายทางเลือก

         

"พรรคยังเหมือนเดิมทุกอย่าง การแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้ที่มีส่วนร่วม ต้องเป็นการแก้เพื่อให้ระบบดีขึ้น ต้องไม่แก้เพื่อแก้ปัญหาตัวเอง หรือแก้การเมืองเฉพาะหน้า และการยื่นร่างแก้ไขแบบเหมารวม พูดง่ายๆ คือเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาจะมีปัญหา การพิจารณาของคณะกรรมาธิการในสภาจะยื่นเยื้อมาก เพราะทุกพรรค เคยแสดงท่าทีไว้ตั้งแต่ปี 2549 ว่าฉบับปี 2540 จะต้องแก้ไขครั้งใหญ่ จะทำให้การพิจารณาขาดภาพรวม ขาดทิศทาง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่เหมือนกับการมี ส.ส.ร.หรือมีกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อน เพราะเป็นการบีบ ให้พิจารณาแบบแปรญัตติ และถ้าจะปล่อยให้สภาพิจารณาในวาระที่ 2 เรียงมาตราจะเสียเวลามาก เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีกรรมาธิการศึกษาจะดีกว่า"

 

ชมรม ส.ส.ร.50 ขอดูร่างแก้ไข พปช.

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานชมรม ส.ส.ร.50 แถลงภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ทางชมรมได้สรุปเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เสร็จแล้ว โดยจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านเวปไซด์ WWW.SSR50.ORG เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อคิดเห็นและเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ 2550เบี่ยงเบน ทำให้เข้าใจในเนื้อหาสาระคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง

         

ส่วนกรณีส.ส.พรรคพลังประชาชนเตรียมยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏรในวันที่ 21 พ.ค.นั้น ทางส.ส.ร.50 ก็ต้องพิจารณา ดูเนื้อหาสาระดังกล่าวก่อนว่ามีการซ่อนเร้นแอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ โดยจะนำเข้าที่ประชุม ส.ส.ร.50 ในวันที่ 27 พ.ค.สำหรับกรณีที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.)ยื่นรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งทราบว่าขณะนี้ประธานวุฒิได้ส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาได้รับทราบแล้ว

เจิมศักดิ์ชี้ รธน.40 ข้อเสียอื้อ

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ส.ร.50 กล่าว่า จากการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเห็นว่าการจะยกเลิกฉบับปี 250 แล้วนำฉบับปี 2540 มาใช้จะเกิดความเสียหายดังต่อไปนี้คือ เปิดโอกาสให้มีการผูกขาดอำนาจรัฐไม่โปร่งใสไร้จริยธรรม ทำให้การตรวจสอบนายกฯและรัฐมนตรียากขึ้น เปิดช่องให้มีการซื้อเสียงและทุจริตเลือกตั้ง โดยไม่มีบทลงโทษเด็ดขาด และเปิดโอการให้มีการควบรวมพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง ปัญหาด้านจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง จะมีการทุจริตเชิงนโยบายผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้นักการเมือง พรรคการเมือง ครอบงำแทรกแซง ส.ว. รวมถึงข้าราชการและหน่วยงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

         

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงครอบงำ องค์กรอิสระผ่านกระบวนการสรรหา เปิดโอกาสให้มีการตัดตอนคดี ล้มคดี แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ลดทอนสิทธิประโยชน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทางการเมืองโดยตรงยากขึ้น เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนการเมืองฮุบสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และยังสามารถเข้าไปแทรกแซงครอบงำสื่อได้ ปิดโอกาสและตัดช่องทางในการคุ้มครองช่วยเหลือประชาชน

         

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 พ.ค.จริงเราจะพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 อย่างไร ซึ่งมีช่องทางที่จะดำเนินการถอดถอนหรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราคงต้องดูว่าจะมีใครดำเนินการหรือไม่ ถ้าไม่มีก็มีแนวโน้มว่าทาง ส.ส.ร.50 จะเป็นผู้ดำเนินการเอง นอกจากนี้ในการเปิดเวปไซด์จะเปิดช่องให้คนโหวตว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ด้วย

         

นักวิชาการยัน รธน.ปี 50 ดีกว่า 40

นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในการสัมมนาเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่กับมาตรการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ล้วนมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้โดยประชามติของประชาชน จึงควรจะเคารพเสียงของประชาชนโดยใช้ไประยะหนึ่งก่อน มิฉะนั้นจะลงประชามติไปทำไม ตนเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความเหมาะสมที่จะต้องแก้ไขเพราะยังใช้ได้ดีอยู่และมีหลายมาตราที่เพิ่มเข้ามาอาทิการให้ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายได้โดยตรงและมีประเด็นที่น่าสนใจคือมาตรา 164 ว่าด้วยการให้ประชาชนยื่นถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

         

มาตรา 265 , 266 ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจรัฐเข้ามาใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง รวมถึงเพิ่มหมวด ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะนักการเมืองมักอ้างว่า ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่มาตรา279 กำหนดว่าทำตามกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำให้ถูกตามครรลองครองธรรมด้วย

         

นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี2550เปิดกว้างในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากกว่าปี 2540 เพราะได้ให้อำนาจบุคคลสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐบาลปฏิบัติตามสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยได้แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายรองรับ โดยภาพรวมถือว่าให้สิทธิเสรีภาพมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดในอดีต แต่มีหลายเรื่อง ที่อาจเป็นการจัดสรรทรัพยากรมากกว่าสิ่งที่มีอยู่ อาทิสิทธิเสรีภาพในการศึกษาที่ให้จัดการศึกษา12 ปีอย่างมีคุณภาพ และมาตรฐานในการรักษาพยาบาล คำถามคืออะไรคือคุณภาพระดับใดเพราะมีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่เรียกเก็บค่าบริการ เสริมคุณภาพทางการศึกษา จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่ารัฐบาลกำลังจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน

         

"หรือกรณีการประกาศขึ้นราคาน้ำตาลทันที5 บาทจะถือว่าขัดกับหลักการประกอบอาชีพอย่างเสรีภาพและเป็นธรรมหรือไม่ เนื่องจากระหว่างการประกาศขึ้นราคา มีโรงงานน้ำตาลได้รับส้มหล่นกับส่วนต่างมากแค่ไหน ก่อนจะออกมาตรการใดรัฐบาลได้มีมาตรการรองรับกับเรื่องนี้ไว้หรือไม่เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการเก็บภาษีจากส่วนต่างดังกล่าวทันทีที่ประกาศขึ้นราคาลักษณะนี้"

         

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากระบบรัฐสภาไปเป็นกึ่งประธานาธิบดีเช่นเดียวกับปี 2540 คือต้องการให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง อยากทราบเหมือนกันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะตนเห็นว่าในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ดีกว่าปี 2540 เพราะเพิ่มความเข้มงวดหลังจากที่เรามีบทเรียน มาแล้ว และดีใจมากที่ศาลฎีกายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำงานของ คตส. เพราะในเมื่อประเทศไทยใช้หลักประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันกลับไปยึดกฎหมาย ของคณะปฏิวัติจะทำได้หรือไม่อย่างไร-

 

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท