Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. 20 พฤษภาคม 2551 ที่สมาคมประมงจังหวัดสงขลา นายพิศ นพรัตน์ ประมงจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางชดเชยทำประมงบริเวณแหล่งผลิตปิโตรเลียมของบริษัท นิวคาสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานหมายเลข G5/43 ในอ่าวไทย จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน โดยจะสร้างแท่นขุดเจาะห่างจากชายฝั่ง อ.สะทิงพระ จ.สงขลา 30 กิโลเมตร โดยมีตัวแทนบริษัทฯ ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่งและประมงอวนลาก นายวิโรจน์ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย นายเริงชัย ตันสกุล นกวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เข้าร่วมหารือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกันแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป


โดยที่ประชุมตัวแทนบริษัทฯ ระบุว่า บริษัทจะให้เงินค่าชดเชยแก่ชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่สามารถเข้าไปจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวจำนวน 1,100,000 บาทเศษ โดยได้คำนวณจากข้อมูลรายได้และปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำจากกรมประมง ที่คาดการณ์รายได้ที่ชาวประมงต้องสูญเสียไปในระยะเวลาก่อสร้างแท่นขุดเจ้าเป็นเวลา 3 ปี โดยทางบริษัท มีแผนจะเริ่มติดตั้งแท่นขุดเจาะในวันที่ 20 มิถุนายน 2551


ในขณะที่นายเจริญ ทองมา ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านระบุว่า เป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านมีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น และหากต้องสูญเสียพื้นที่จับปลาในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีสัตว์อุดมสมบูรณ์ จะทำให้ชาวประมงหลายร้อยลำเรือที่จับปลาในบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้ จึงได้ขอค่าชดเชยสำหรับเรือประมงขนาดเล็กลำละ 700 บาทต่อวัน ส่วนเรืออวนลากลำละ 15,000 บาทต่อวัน เป็นเวลา 3 ปี รวมค่าใช่จ่ายประมาณ 800 ล้านบาท


นายเจริญ กล่าวว่า นอกจากจะไม่สามารถจับปลาในบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังเป็นห่วงในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากในการขุดเจาะต้องมีการใช้สารเคมีด้วย รวมทั้งตะกอนที่จะฟุ้งกระจาย ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ อีกทั้งแม้บริษัทจะกันเขตห้ามเข้าใกล้แท่นขุดเจาะแต่อวนปลาทูของชาวบ้านจะลอยไปตามกระแสน้ำ หากลอยไปกระแทกกับแท่นก็จะเกิดความเสียหายได้


ส่วนนายบุญช่วย ทองเจริญ แกนนำประมงอวนลาก เสนอขอเวลาอีก 1 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจริง เพื่อจะได้คำนวณตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงได้


ขณะที่นายอลัน อามิเทต ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ ระบุว่าไม่สามารถให้ตามที่เรียกร้องได้ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป


พร้อมกันนี้ได้ระบุว่า บริษัทฯ ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลไทยถึงปี 200 ล้านบาท หากต้องการได้รับส่วนแบ่งตรงนี้ให้ไปขอจากรัฐบาลเอง ส่วนความเสียหายของเครื่องมือประมงที่เกิดขึ้น บริษัทฯจะจ่ายค่าเสียหายเป็นรายๆไป


ส่วนหากต้องใช้เวลาอีก 1 ปี เพื่อเก็บข้อมูลอีกนั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทฯ มีกำหนดเวลาที่ต้องติดตั้งแท่นขุดเจาะ หากไม่ทำตามแผนที่วางไว้ จะต้องเสียค่าปรับเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ นายพิศ จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้อีกครั้ง ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วย แต่ฝ่ายประมงพื้นบ้านยืนยันว่า บริษัทฯ ต้องยุติการติดตั้งแท่นขุดเจาะไปก่อน หากในวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ยังจะมีการติดตั้งแท่นขุดเจาะต่อไป ชาวประมงพื้นในจังหวัดสงขลาจะชุมนุมคัดค้านแน่นอน ถึงแม้จะต้องใช้ความรุนแรงก็ตาม


ส่วนผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ เปิดเผยกับ โฟกัสภาคใต้ว่า เรื่องนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมของบริษัทโดยเร็ว


สำหรับโครงการผลิตปิดตรงเลียมดังกล่าว ประกอบด้วยการติดตั้งแท่นหลุมผลิต 1 หลุม แท่นผลิตอีก 1 หลุม เรือกักเก็บปิโตรเลียม โดยน้ำมันที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังเรือกักเก็บน้ำมันโดยทางท่อ เป็นท่อขนาด 6 นิ้ว ยาว 1,000 เมตร โดยไม่มีการฝังท่อในพื้นที่ทะเล และน้ำมันดิบในเรือจะถูกส่งไปยังโรงกลั่น โดยไม่มีการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันขึ้นมาบนฝั่งแต่อย่างใด


คาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 3 ล้านบาเรลในระยะเวลา 36 เดือน โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดที่อัตรา 4,500 บาเรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศได้ถึงร้อยละ 2.9


ระยะเวลาดำเนินการประมาณปี 2551 - 2554 สำหรับการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิตจะใช้เวลา 16 วัน การขุดเจาะหลุมประเมินผล 5 หลุม ใช้เวลาประมาณ 72 วัน ขุดเจาะหลุมผลิต 6 หลุม ใช้เวลาประมาณ 75 วัน


ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อการประมงอันเนื่องมาจากการดำเนินงาน เศษหินและโคลานที่เกิดจากการขุดเจาะ การขุดเจาะหลุมระดับบน จะน้ำทะเลในการขุดเจาะเท่านั้น และจะใช้โคลนเพียงเล็กน้อยเพื่อทำการล้างทำความสะอาดหลุมหลังจากการขุดเจาะแล้วเสร็จ ซึ่งโคลนประเภทนี้ไม่เป็นพิษและใช้กันทั่วไปในการขุดเจาะ และได้รับการยอมรับจากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน รวมทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมว่าไม่เป็นพิษ และไม่สะสมในสิ่งแวดล้อม โดยน้ำโคลนและเศษหินที่เกิดขึ้น จะถูกระบายออกสู่ทะเล ณ ตรงบริเวณปากหลุมที่ทำการขุดเจาะ ซึ่งจะทำให้เศษหินส่วนใหญ่กองอยู่บริเวณปากหลุมและน้ำโคลนจะถูกพัดไปไม่ไกลจากปากหลุม


การขุดเจาะระดับกลาง จะใช้น้ำทะเลผสมกับสารเพิ่มความหนืด โดยไม่มีการใช้โคลน โดยน้ำทะเลและเศษหินที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะจะถูกนำขึ้นมาบนแท่น และระบายลงสู่ทะเลผ่านท่อระบายที่ระดับ 15 เมตรต่อกว่าระดับน้ำทะเล เพื่อป้องกันการกระจายตัวของเศษหิน (ระดับน้ำในพื้นที่โครงการอยู่ที่ 24 เมตร)


การขุดเจาะหลุมระดับสุดท้าย จะใช้โคลนที่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์ซึ่งไม่มีความเป็นพิษ โดยน้ำโคลนและเศษหินที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะจะถูกนำขึ้นมาบนแท่นเพื่อผ่านการแยก ซึ่งน้ำโคลนจะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนเศษหินที่แยกได้จะถูกเก็บไว้ในถังบรรจุเพื่อรอส่งขึ้นฝั่ง และนำไปกำจัดโดยการเผาที่ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่มีการปล่อยทิ้งน้ำโคลนและเศษหินจากการขุดเจาะในช่วงนี้ลงสู่ทะเล


ปริมาณโคลนและเศษหินที่ต้องปล่อยลงสู่ทะเล หลุมระดับบน โคลน 77 ลูกบาศก์เมตร เศษหิน 44 ลูกบาศก์เมตร หลุมระดับกลาง มีเฉพาะเศษหิน 125 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยต่อหลุมมีโคลน 24 ลูกบาศก์เมตร เศษหิน 169 ลูกบาศก์เมตร รวม 11 หลุม (6 หลุมผลิตและ 5 หลุมประเมินผล) มีโคลน 264 ลูกบาศก์เมตร เศษหิน 1,859 ลูกบาศก์เมตร


จากผลการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ หลังจากลดขนาดหลุม ลดปริมาณการใช้โคลนและเพิ่มความยาวท่อระบายเศษหิน พบว่า เศษหินและโคลนถูกพัดไปจากจุดที่ทำการขุดเจาะได้ไม่เกิน 2 กิโลเมตร


ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ตะกอนพื้นทะเล รวมทั้งโลหะหนักในเนื้อเยื่อปลา ทั้งในพื้นที่โครงการและตามแนวปะการังเทียมในช่วงก่อนและหลังดำเนินโครงการหลังจากเริ่มดำเนินโครงการ โดยผลการตรวจสอบจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลการตรวจสอบของหน่วยงานราชการที่เก็บตัวอย่างในบริเวณใกล้เคียง และส่งตรวจตามระยะเวลาที่กำหนด


การเก็บตัวอย่างจะจ้างเรือประมงมาเก็บตัวอย่างทุกปี โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อใช้เก็บตัวอย่าง และยินดีที่จะจะให้ตัวแทนชาวประมงและหน่วยงานราชการเข้ามาสังเกตการณ์ในการดำเนินการเก็บตัวอย่าง


จากการดำเนินโครงการจะมีการสูญเสียพื้นที่ประมงมากที่สุด ไม่เกิน 1.98 ตารางกิโลเมตร สำหรับมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการประมง จะแจ้งเวลา ตำแหน่งที่ดำเนินโครงการล่วงหน้าให้ทราบ ติดตั้งทุนลอย สัญญาณไฟส่องสว่าง จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ หรือเครื่องมือประมงเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการ


ปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อน เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ สนับสนุนโครงการเกี่ยวกับปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การจัดทำปะการังเทียม การจ่ายชดเชย ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพื่อความเป็นธรรม


ดังนั้นทางโครงการจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อปรึกษาหารือในการกำหนดค่าชดเชยตามความเสียหาย ประกอบด้วยตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานอื่นๆ ตามที่ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบต้องการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net