Skip to main content
sharethis


 


หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นต้นมา เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม หลายองค์กร โดยเฉพาะองค์การเมืองภาคประชาชน ต่างร่วมกันจัดงานรำลึกเหตุการณ์การต่อสู้ของมวลมหาประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ 16 ปีก่อน ที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร


 


ในภาคใต้ก็มีหลายแห่งที่ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกนี้ขึ้น เช่นเดียวกับที่ลานหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ที่กลุ่มพันธมิตรสงขลาได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกด้วย โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ก็ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "จากพฤษภาทมิฬถึงการต่อสู้ระบอบทักษิณ" ขึ้นด้วย


 


โดยหากนับย้อนไปในอดีต ลานหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แห่งนั้น ไม่ได้มีบทบาทเป็นเวทีแสดงออกทางการเมืองเฉพาะช่วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ได้มีบทบาทร่วมกับสถานที่อื่นทั่วประเทศใช้การเป็นเวทีแสดงออกทางการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 กระทั่งเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ด้วย


 


 


"บรรจง นะแส" ยันพี่น้องสงขลายึดแนวการเมืองสันติ


นายบรรจง นะแส นักต่อสู้ภาคประชาสังคมในภาคใต้ หนึ่งในผู้ร่วมเวทีครั้งล่าสุด เล่าว่า เดือนพฤษภาคม ปี 2535 ที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ประชาชนในจังหวัดสงขลาเองก็ได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วย โดยจัดเวที ณ ลานสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)


 


โดยได้รวบรวมผู้คนหลากหลายที่ตื่นตัวเรื่องการเมืองและเป็นกำลังหนุนสำคัญในการต่อสู้ครั้งนั้น ก่อนจะมารวมตัวเป็นหนึ่ง ณ ลานรถไฟ เพื่อประกาศให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงกับการชุมนุมในกรุงเทพฯ มิฉะนั้น ต่างจังหวัดจะมีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน


 


จวบจนถึงวันนี้ ลานสถานีรถไฟและจังหวัดสงขลา ก็ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ใช้ในการขับไล่ระบอบทักษิณ ซึ่งขณะนี้ได้เปลี่ยนเป็นรัฐบาลนอมินีที่มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยเหลือนักการเมือง 111 คนที่ถูกยุติบทบาททางการเมือง


 


ปัญหาในท้องถิ่นที่เกิดจากนักการเมืองและสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนสงขลา อาทิ การจัดสรรทรัพยากรไทยให้ต่างชาติ โดยปกปิดข้อมูลไม่ให้ประชาชนรู้ เช่น ก๊าซในแหล่ง JDA ซึ่งปล่อยให้มาเลเซียนำไปใช้ก่อนล่วงหน้าถึง 5 ปี ไม่ได้เอื้อประโยชน์ถึงมือประชาชนโดยตรงเลย รวมถึงการฮุบที่ดินวะกัฟเพื่อใช้ในโครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย ซึ่งสร้างความเจ็บช้ำให้กับชาวบ้าน เบื้องหลังการเสียประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติล้วนเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลาทั้งสิ้น


 


"ปกติการชุมนุมทางการเมืองสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง แต่วิธีการแสดงออกมีการจัดตั้งและหวังจะทำให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งความตึงเครียดทางการเมืองข้างหน้านั้นค่อนข้างหนัก แต่พี่น้องสงขลาจะเป็นกำลังสำคัญที่มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ" นายบรรจงกล่าว


 


 


คนรถไฟยันรักประชาชนเหมือนเดิม


ขณะที่ในวงเสวนาที่มีนายสุพิเชษฐ์ สุวรรชาตรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์การรถไฟ สาขาหาดใหญ่ ชี้ว่าไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยคนรถไฟยังรักประชาชนเหมือนเดิม และยินดีที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับการต่อสู้การเมือง ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และเป็นองค์หลักในการขับเคลื่อน


 


"เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในครั้งนั้นเกิดวิกฤตด้านข่าวสารที่ถูกปิดกั้น เหมือนกับการต่อสู้กับระบอบทักษิณในช่วงปี 2549 แต่มีเคเบิ้ลทีวีไทยสกายที่นำภาพความรุนแรงในเหตุการณ์จริงที่กรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนต่างจังหวัดได้รับรู้ความรุนแรงจริงที่เกิดขึ้น และรัฐบาลได้ยุบสหภาพแรงงานของไทยทิ้งเพื่อลดทอนบทบาท ทำให้มีการต่อสู้เรียกร้องจนสามารถกู้กลับคืนมาได้ใน 10 ปีให้หลัง"


 


"ในส่วนของผู้ที่ร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ได้สร้างคนให้เติบโตด้านต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ วงการสื่อมวลชน แต่คุณูปการใหญ่ในเหตุการณ์นั้นคือปลุกให้ภาคประชาชนตื่นตัวทางการเมือง รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยที่ประชาชนต้องตื่นจากการหลับใหลและร่วมเฝ้าระวังการเมืองไม่ให้ถูกแทรกแซงอีกครั้ง"


 


สำหรับกิจกรรมในครั้งต่อไป แกนนำพันธมิตรสงขลาระบุว่า หากมีการเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาที่เอื้อต่อระบอบทักษิณ เพื่อปลดปล่อย 111 คนที่ถูกตีตรวน หรือล้มคดีความทั้งหลาย พันธมิตรสงขลาพร้อมจะเคลื่อนกำลังสนับสนุนการชุมนุมในกรุงเทพมหานครทันที โดยจะมีการวางแผนเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบและสันติเช่นเดิม


 


นอกจากนี้ ในวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2551 พันธมิตรสงขลายังจะมีกิจกรรมติดตามสถานการณ์บ้านเมืองต่อไป โดยมีนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายแพทย์ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนอีสาน และ อาจารย์ประโมทย์ สังหาญ แกนนำพันธมิตรสตูล ร่วมเวที


 


นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชนและบทบาทสำคัญของสถานที่ประวัติศาสตร์เฉกเช่นเดียวกับสถานที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยอื่นๆ ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net