Skip to main content
sharethis

 


กษัตริย์คยาเนนทราแห่งเนปาลได้รับการต้อนรับจากประชาชน ระหว่างเข้ามายังวิหารในกรุงกาฏมาณฑุเพื่อร่วมพิธีปัญจพลีบวงสรวงเจ้าแม่กาลี (REUTERS/Gopal Chitrakar)


 



 


กษัตริย์คยาเนนทราและราชินีโคมาล ระหว่างพิธีปัญจพลี (REUTERS/Gopal Chitrakar)


 


รัฐบาลเนปาลกำหนดจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์แบบฮินดูแห่งสุดท้ายของโลกให้วันที่ 28 พ.ค. นี้ แต่กษัตริย์เนปาลยังต้องการคงบทบาทของสถาบันกษัตริย์เอาไว้แต่ในทางพิธีการ


 


"ระหว่างการหารือของฉันกับประจันดา (ผู้นำกลุ่มเหมาอิสต์) ฉันกล่าวว่ากษัตริย์ไม่ควรมีบทบาททางการเมือง แต่พระองค์ควรมีสถานภาพที่ยังคงได้รับการเคารพ และอนุญาตให้พระองค์ยังคงมีเสรีภาพในการเข้าร่วมประเพณีและพิธีทางศาสนา" นายคามาล ทาพา (Kamal Thapa) กล่าวกับเอเอฟพีเมื่อวันอังคาร (13 พ.ค.) ที่ผ่านมา


 


เขาผู้นี้เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสำนักพระราชวัง และปัจจุบันเป็นทูตอย่างไม่เป็นทางการของฝ่ายวังในเนปาลกับกลุ่มเหมาอิสต์


 


ขณะที่ พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลหรืออดีตกบฎเหมาอิสต์ปรากฏตัวขึ้นหลังชนะการเลือกตั้งครั้งสำคัญของเนปาลเมื่อเดือนก่อนชนิดเหนือความคาดหมาย โดยได้ที่นั่งกว่า 220 ที่นั่งจากทั้งหมด 601 ที่นั่งของสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมากกว่าพรรคคู่แข่งถึงสองเท่า


 


พรรคซ้ายจัดพรรคนี้ยืนกรานให้มีการประกาศยกเลิกสถาบันกษัตริย์เนปาลในการประชุมสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญนัดแรก แต่ทาพาเชื่อว่าการด่วนกระทำเช่นนี้มีแต่จะสร้างอันตรายร้ายแรงให้กับประเทศบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้


 


"ประเทศจะเผชิญกับอุบัติเหตุใหญ่หากเกิดการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแบบปัจจุบันทันด่วนโดยปราศจากกลไกรองรับอื่นๆ" นายทาพากล่าว


 


"มันจะเป็นเหตุเป็นผลกว่าหากเขายกเลิกสถาบันกษัตริย์ต่อเมื่อมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุด" ทาพากล่าว โดยตัวเขาเป็นผู้นำของพรรคนิยมสถาบันกษัตริย์ ที่ตัวเขาและสมาชิกพรรคได้รับเลือกเข้าสู่สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญด้วยจำนวนน้อยนิดคือ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 601 ที่นั่ง


 


แต่พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกลุ่มเหมาอิสต์ซึ่งมีอิทธิพลหลังจากชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็พยายามขัดขวางการมีบทบาทของกษัตริย์คยาเนนทราวัย 61 ชันษา


 


"ไม่ควรจะมีคำถามใดๆ ต่อเรื่องจะให้สิทธิแก่กษัตริย์ สาธารณรัฐกำลังก่อรูปขึ้นและกษัตริย์ไม่มีสิทธิที่จะถามถึงสิทธิใดๆ" นายโมหัน เวท์ยา (Mohan Vaidya) ผู้นำกลุ่มเหมาอิสต์อาวุโสด้านยุทธศาสตร์กล่าวกับเอเอฟพี


 


ทั้งนี้พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ต้องการให้กษัตริย์คยาเนนทราสละราชสมบัติด้วยพระองค์เองก่อนที่จะยกเลิกอย่างเป็นทางการ ในการประชุมสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นสมัยแรกในวันที่ 28 พ.ค. นี้


 


"เราต้องการพระองค์สละราชสมบัติอย่างสง่างาม พระองค์ควรสละราชสมบัติโดยเป็นที่รับรู้และได้รับการเคารพจากประชาชน


 


ขณะที่เวลาแห่งการโค่นบัลลังก์ของพระองค์จวนจะมาถึง แต่กษัตริย์คยาเนนทราก็ไม่ทรงมีแผนที่จะเสด็จลี้ภัยไปต่างประเทศหากพระองค์หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว


 


"ระหว่างที่ข้าพเจ้าพบกับพระองค์ ข้าพเจ้าพบว่าพระองค์ยังคงมั่นใจและมีรับสั่งกับข้าพเจ้าว่าไม่ว่าจะเป็นอย่างไรพระองค์จะไม่เสด็จออกนอกประเทศ" นายทาพาผู้จงรักภักดีกล่าว


 


ทั้งนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 พ.ค.) กษัตริย์คยาเนนทราทรงรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เองพร้อมขบวนติดตามคณะเล็กๆ เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ไปยังทางใต้ของกรุงกาฏมาณฑุเพื่อร่วมพิธีบูชายัญ "ปัจญพลี" เพื่อเจ้าแม่กาลี เทพเจ้าในศาสนาฮินดูอันเป็นเทพแห่งความตายและการทำลายล้าง และมีคุณทางปกปักษ์รักษาอำนาจดังกล่าว


 


โดยในพิธีมีการเชือดเป็ด ไก่ ห่าน แกะ และกระบือต่อหน้าพระพักตร์เพื่อบวงสรวงเจ้าแม่กาลี ตลอดพิธีพระองค์ทรงแย้มพระสรวลเสมอ ทรงพนมมือและกล่าว "นมัสเต" เพื่อทักทายผู้คนที่มาร่วมงานและยามตอบคำถามนักข่าว นับว่าไม่บ่อยครั้งนักที่พระองค์จะปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะ


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


King seeks a role in new Nepal, by Sam Taylor, AFP, Tue May 13, 4:18 AM ET

Nepal's king attends sacrifice in rare public appearance, AFP, Mon May 12, 6:56 AM ET

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net