Skip to main content
sharethis

รายการเช้าทันโลก FM 96.5 MHz


http://radio.mcot.net/fm965/__programView.php?cliptype=40


สัมภาษณ์ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


7-8 พฤษภาคม 2551


 


 


ชื่อของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏขึ้นคู่กับชื่อของ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวาศักดิ์ อาจารยืประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแถลงการณ์สั้นๆ ฉบับหนึ่งที่ระบุถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของสื่อมวลชนหากแต่ไม่ได้เอ่ยนามใด เป็นแถลงการณ์ที่ออกมาในช่วงเวลาที่แหลมคมพอสมควร เพื่อเตือนสติถึงการทำหน้าที่สื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งที่พร้อมจะนำพาทุกอย่างไปสู่ความรุนแรงได้ไม่ยาก (ชัยวัฒน์- อุบลรัตน์ ส่ง จม.เปิดผนึกถึงสื่อ- องค์กรสื่อ หยุดคุกคามความคิดที่แตกต่าง)


 


แถลงการณ์ฉบับนั้นอาจไม่ใช่ข่าวเด่นดังอะไรมากมาย แต่สั่นสะเทือนวงการสื่อได้อย่างสำคัญ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการเช้าทันโลก ได้สัมภาษณ์อาจารย์ชัยวัฒน์ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคม เพื่อขยายความวิธีคิด วิธีมองสื่อและสถานการณ์ปัจจุบันของอาจารย์ท่านนี้ว่ามีปัญหาและความล่อแหลมอย่างไร


 


 


 


กรรณิการ์ : พูดถึงสื่อมวลชนกับความรุนแรง สื่อมวลชนมีบทบาทอย่างไรกับความรุนแรง กระตุ้นหรือทำให้ความรุนแรงลดน้อยลง ?


รศ. ชัยวัฒน์ : เล่านิดหนึ่งเพราะเห็นเกริ่นเรื่องจดหมาย ผมสอนวิชาความรุนแรงกับสันติวิธีที่ธรรมศาสตร์ และทำงานกับอาจารย์อุบลรัตน์เรื่องสื่อเพื่อสันติภาพมานานมากแล้ว ในภาคการศึกษาที่ผ่านมาก็สอนวิชาเกี่ยวกับความขัดแย้งความรุนแรงในระดับนานาชาติ และอ่านเอกสาร หนังสือใหม่ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงที่เขาพิมพ์กันในระยะหลัง  ที่น่าสนใจคือ คำถามเขาเปลี่ยนไป  เขาถามว่าในประเทศต่างๆ ที่เกิดความรุนแรงแบบสุดๆ ไปเลย คนทำเป็นอย่างไร แต่เดิมเราไปสนใจตัวเหยื่อ แต่ตอนนี้เขาเริ่มสนใจสิ่งที่เรียกว่า perpetrator หรือตัวคนทำ และยังถามต่อไปว่าอะไรเป็นสาเหตุให้คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงแบบที่นึกไม่ถึง โจทย์ที่เขาถามนั้นถามถึงคนธรรมดาๆ ที่มีเงื่อนไขอะไรทำให้อยู่ดีๆ ลุกขึ้นมาเป็นฆาตกรฆ่าคนอื่นได้ เห็นเพื่อนบ้านซึ่งอยู่กันมาแต่เล็กแต่น้อยเป็นคนอื่นแล้วกระทำความรุนแรงได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศรวันดาเมื่อปี 1994 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว


 


พอตอบเรื่องสื่อ ผมอยากจะเริ่มอย่างนี้ว่า ในรวันดาปี 2003 ศาลอาญาระหว่างประเทศของรวันดา ตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ได้ตัดสินลงโทษคน 3 คน ซึ่งเป็นผู้ประกาศสถานีวิทยุ 2 คนและเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ 1 คน ข้อหาคือ มีความผิดฐานยุยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็เลยเกิดคำถามว่า ตกลงสื่อทำอะไร คำถามนี้น่าสนใจ เพราะสื่อในการศึกษาแม้แต่ในประเทศรวันดาเอง ถ้าใครบอกว่าสื่อเท่านั้นทำให้เกิดความรุนแรง อันนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ตรงกับหลักทฤษฎี แต่ถ้าบอกว่าสื่อมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงระดับนั้น อันนี้เป็นไปได้


 


สื่ออาจจะไม่ใช้ตัวแกนหลัก แต่เป็นตัวเร่งให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น พูดอย่างนี้ได้ไหม ?


อาจจะบอกไม่ได้ว่าเป็นตัวแกนหรือไม่ แต่พูดได้ว่าสื่อไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิด ทีนี้เขาไปสัมภาษณ์ในรวันดา ต้องเล่าก่อนว่าในรวันดาตอนนั้น ภายในเวลา 2 เดือนเกิดการฆ่ากันอย่างขนานใหญ่ ระหว่างคนฮูตูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กับชาวตุ๊ดซี่ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจปกครอง มีประมาณ 15% ของประชากร ภายใน 2 เดือนชาวฮูตูลุกมาฆ่าคนตุ๊ดซี่ตายไปครึ่งล้าน อาวุธที่ใช้น่าสนใจมาก บางอันเป็นมีดพร้าสั่งมาจากเมืองจีน นั่นหมายความว่า อาวุธเหล่านี้มันไปอยู่ในมือของชาวบ้านธรรมดาแล้วเปลี่ยนคนเหล่านั้นให้เป็นฆาตกร


 


เขามีการไปสัมภาษณ์คนทำว่า สถานีวิทยุทำให้คุณจับอาวุธไปฆ่าคนอื่นหรือเปล่า คนทำประมาณ 15% บอกว่าใช่ 85% บอกไม่ใช่ ที่น่าสนใจคือ สื่อมันมีส่วนแน่ ระดับหนึ่ง แล้วก็ยังมีคำถามประเภทว่า ตอนที่ทำคิดว่ากำลังทำเพื่อชาติหรือเปล่าไอ้การที่จับอาวุธไปไล่ฆ่าเพื่อนบ้าน คำตอบ 42.5% บอกว่าใช่ ทำเพื่อชาติ


 


แล้วเขารู้ได้ยังไงว่าทำเพื่อชาติ สื่อบอกเขาอย่างนั้นหรือ ?


ก็ต้องเข้าไปดูว่าตกลงสื่อเขาพูดอะไร ผมจะอ่านบันทึกของสถานีวิทยุบางแห่งให้ฟัง สถานีวิทยุพูดไว้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1994 พูดว่า "พวกท่านจะต้องยืนหยัดให้มั่นคง จะต้องต่อสู้กับศัตรูเหล่านี้ ต้องทำลายให้สิ้นสร้าง พูดง่ายๆ ต้องป้องกันตัวเอง"


 


"ทหารนักรบชาวรวันดาทั้งหลายต้องต่อสู้กับศัตรูร่วม ศัตรูร่วมของเราคือคนคนเดียวกันนี่แหละ คนที่พยายามทำ...." ผมขอไม่พูดบางอันเพราะไม่เหมาะสม


 


" กระทรวงกลาโหมของรวันดาขอให้ชาวรวันดาในสิ่งต่อไปนี้ พลเมืองทุกคนต้องทำงานร่วมกัน คอยดูแลสอดส่องพื้นที่ และต่อต้านต่อสู้กับศัตรูของเรา"


 


อันนี้ออกมาชัดเจนว่าเรียกร้องให้ทำอะไร แล้วก็พูดต่อไปในสถานีวิทยุเดือนพฤษภาคม "ใครก็ตามที่ไม่มีบัตรประจำตัว ควรจะถูกจับและอาจจะตัดหัวที่ตรงนั้น"


 


"เราจะต้องมีบัตรประจำตัวของเขา บอกว่าเขาเป็นชาวรวันดา บอกว่าเขาเป็นลูกของเกษตรกร และไม่ใช่ศัตรู และไม่ใช่ผู้สมรู้ร่วมคิดกับศัตรู และไม่ใช่ อิงโคตัน ก็คือ อีกฝ่ายหนึ่ง"


 


ในการศึกษาเรื่องความรุนแรง หนังสือซึ่ง Allan Thompson เป็นบรรณาธิการเมื่อปีที่ผ่านมา อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แกวิจารณ์งานนี้ไว้น่าสนใจมาก โดยสรุปก็ถามว่าสื่อได้ทำหน้าที่อะไร อย่างหนึ่งคือสื่อทำหน้าที่จงใจแพร่กระจายความเกลียดชัง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด จนสถานีวิทยุนี้ถูกเรียกในรวันดาว่า วิทยุแห่งความตาย


 


อันนี้คือคนที่เป็นตุ๊ดซี่ใช่ไหม ?


คนที่เป็นฮูตู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ใช้สถานีวิทยุนี้เป็นเครื่องมือแล้วตั้งเป้าไปที่คนส่วนน้อย ถ้าคุณจำหนัง "โฮเตล รวันดา" ได้ จะเรียกอีกพวกหนึ่งว่าเป็น "แมลงสาป" คือ วาดภาพอีกฝ่ายให้น่าเกลียด เวลาเราเรียกอีกฝ่ายว่าเป็นแมลงสาป คนทรยศ คนไม่รักชาติ หรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้คนเหล่านี้น่ารังเกียจ ไม่ใช่มนุษย์ อีกส่วนหนึ่งที่ทำคือสถานีวิทยุจะคอยรายงานว่าพวกตุ๊ดซี่จะสังหารหมู่ชาวฮูตูแล้ว จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว วาดภาพอีกฝ่ายให้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว นี่คือสิ่งหนึ่งที่สื่อทำ


 


สิ่งที่สองคือ สื่อทำหน้าที่ประสานงานความรุนแรงระหว่างนักการเมืองสุดโต่งบางพวกกับเครือข่ายของเขา เขาไม่ได้ทำหน้าที่รายงาน แต่เป็นศูนย์บัญชาการในเวลาเกิดเหตุ ส่วนการเรียกแมลงสาปอะไรนั่นทำมาเป็นเวลานาน แล้วพอถึงวันจริงเปิดสถานีนี้ก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ที่สำคัญ สื่อทำหน้าที่ชี้ให้สาธารณชนเห็นว่าความรุนแรงเป็นทางออก แล้วไปจำกัดทางเลือกแบบอื่น โดยเฉพาะทางเลือกสันติวิธี ให้เห็นว่าทางเลือกกลายเป็น ถ้าพูดในภาษาที่รายงานวิจัยนี้เสนอก็คือ ต้องฆ่าหรือต้องถูกฆ่า ฉะนั้น คนก็ไม่มีทางเลือก


 


ที่น่าสนใจ คือสิ่งที่ผมเล่าไม่ได้เกิดในรวันดาอย่างเดียว ในโลกนี้เกิดอะไรแบบนี้เยอะในหลายที่ ยกตัวอย่างเมื่อปี 1966 ก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในในไนจีเรีย เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอีโบ แล้วคนภาคเหนือก็พูดถึงชาวอีโบเป็นไส้เดือน กิ้งกือ เป็นอาชญากร เป็นคนขูดรีดทางการเงิน เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะไม่รักไนจีเรีย ไม่มีวัฒนธรรม อะไรต่อมิอะไร ข้ามไปสมัยก่อน ฮิตเลอร์ก็ทำแบบนี้ เขาเขียนอย่างนี้เลย นี่เราพูดถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นะ เขาบอกว่า "ชาวยิว ดูจากภายนอกก็รู้แล้วว่าไม่ชอบน้ำ แล้วปิดตาก็รู้เลย เวลาได้กลิ่นคนพวกนี้ ฉันรู้สึกปั่นป่วนมวนในท้อง" ในกรณีฮิตเลอร์กับยิวแตกต่างกันในชาติพันธุ์เห็นได้ชัด แต่กรณีอื่นๆ ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น ดูหน้าตาแทบบอกไม่ได้ว่าฝ่ายไหน


 


ฉะนั้นแปลว่า มนุษย์สามารถถูกกระตุ้นให้เกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่งได้มากขนาดถึงขั้นจะใช้ความรุนแรง ในกระบวนการนี้ที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์ น่าสะพรึงกลัว สื่อมีบทบาทแน่


 


อาจารย์เห็นอะไรในสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทย อาจารย์ถึงเขียนจดหมายฉบับนี้ ?


ผมเห็น 2 อย่าง 1. อันที่จริงใครๆ ก็เห็นว่าเวลานี้มีลักษณะแบ่งขั้วมากขึ้น การแบ่งขั้วหรือความแตกต่างทางความคิดอันเป็นลักษณะสามัญ แต่การแบ่งขั้วแล้วทำให้ฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกับเราเป็นฝ่ายชั่วร้ายมันเริ่มจะเป็นปัญหา และมันปรากฏให้เห็นในหลายๆ ที่ และทำกันหลายฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บางฝ่ายอาจทำมากกว่าบางฝ่าย 2. ในงานวิจัยที่ผมทำเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยตลอดมา และในฐานะเมธีวิจัยอาวุโสของ สกว.ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมไทยในปีที่2 สิ่งที่อยากนำเสนอคือ อยากจะเตือนให้สังคมไทยคิดว่า สังคมเราไม่ได้ต่างจากสังคมมนุษย์ที่อื่น บางทีเราชอบคิดว่าสังคมไทยไม่มีวันเกิดเหตุแบบนี้ เราชอบคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่ได้ดีหรือเลวกว่าคนอื่น หมายความว่า ในแง่ของความรุนแรง เราก็มีร่องรอยในทางสังคมวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความรุนแรงและเอื้อต่อสันติวิธีเหมือนกัน ปัญหามันจึงอยู่ที่ว่า ร่องรอยหรือรากฐานเหล่านี้มันถูกกระตุ้นเร้าหรือไม่ ถ้ามันไปผลักอันหนึ่งกดอีกอันหนึ่ง อย่างที่ผมว่า ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่ลดทอนทางเลือกของสังคมไทย  บอกว่าไม่มีทางเลือกแล้วอย่างที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ หรือเคยเกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในสังคมของเราเองในอดีต มันก็จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงให้ง่ายขึ้น


 


อาจารย์เห็นว่าสื่อกำลังลดทอนทางเลือกในสังคมไทยอยู่ ยังไงบ้าง ?


ถามว่าสื่อที่จะเอื้อให้เกิดความรุนแรงทำอะไรบ้าง ผมคิดว่า สื่อที่เอื้อต่อแนวทางความรุนแรง และลดทอนแนวทางสันติวิธี ทำอยู่ 3-4 อย่าง คือ 1. ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นปีศาจ สังคมมันมีความขัดแย้งอยู่แล้ว ทั้งความขัดแย้งใหญ่และความขัดแย้งย่อย ในบ้านเมืองของเราหลายปีที่ผ่านมาความขัดแย้งมันเป็นความขัดแย้งใหญ่ในทางการเมือง และสั่นสะเทือนคำถามสำคัญๆ หลายเรื่องในบ้านเมืองของเรา รวมทั้งขณะนี้เรื่องจะแก้กติกาหรือไม่แก้ การแก้ไม่แก้มันมีความหมายอื่นด้วย มันมีปัญหาความชอบธรรมของหลายสิ่ง มันผูกพันเราทุกคน แต่ในความขัดแย้งนี้เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง สื่อบางอันทำหน้าที่เปลี่ยนคู่ตรงข้ามให้เป็นศัตรู แล้วทำให้ศัตรูกลายเป็นอะไรที่ไม่ใช่มนุษย์


 


อีกอย่างหนึ่งที่สื่อทำ คือ พอทำแบบนี้มันไปซ่อนปัญหาหรือความอยุติธรรมในเชิงโครงสร้างไว้เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ หมายความว่า ปัญหาจริงๆ ในบ้านเมืองอาจไม่ได้มาจากคนซึ่งก่อเรื่องแบบนี้ แต่มันมาจากปัญหาจริงๆ ซึ่งมีอยู่ สื่อก็ทำหน้าที่บดบังสิ่งเหล่านี้ สมมติบอกว่า ฝ่ายตรงข้ามมันเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นตัวก่อเรื่อง แต่ปัญหาจริงๆ มันอาจจะมาจากอย่างอื่นก็ได้ คนชนบทอาจจะคิดอีกอย่าง หรือมันอาจจะต้องการการดูแลแก้ไขปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็ได้ แล้วก็มองเห็นว่ามีคนบางคนกุมปัญหาชักใยอยู่ ผมไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนพวกนั้น แต่ที่สำคัญคือ คนพวกนั้นไม่รู้จะชักใยได้จริงหรือเปล่าถ้ามันไม่มีเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาจริงๆ ในบ้านเมือง


 


ตอนนี้สิ่งที่อาจารย์เห็น สื่อมวลชนไทยกำลังทำอะไร ทำให้อาจารย์คิดว่ามันอาจนำไปสู่ความรุนแรง ?


ผมคิดว่าคงต้องประเมินสถานการณ์ของสังคมไทยหน่อยว่าตอนนี้อยู่ตรงไหนของปัญหาต่างๆ บางทีเวลาผมสอนหรืออธิบายที่อื่น ก็อธิบายว่า มันมีความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงหลักอยู่หลายเรื่องในประเทศนี้ ยกตัวอย่าง เรื่องภัยธรรมชาติซึ่งก็เป็นปัญหา เวลาสื่อมวลชนทำงานเรื่องภัยธรรมชาติก็เป็นแบบหนึ่ง เวลาเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง คำถามก็คือสื่อมวลชนควรทำหน้าที่อย่างไรในเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง มันคล้ายกับ ในสงครามอิรักที่ผ่านมา นักข่าวของสหรัฐอเมริกา เข้าไปทำข่าวสงครามในลักษณะที่เรียกว่า ฝังตัว แต่คำถามง่ายๆ ของผมก็คือ ฝังอยู่ข้างไหน ซึ่งในแง่ความปลอดภัย และความที่เป็นนักข่าวฝรั่งก็ต้องฝังตัวอยู่ข้างกองทัพอเมริกัน เมื่อฝังตัวอยู่ข้างนั้น อะไรคือภาพที่นักข่าวเห็น


 


ก็จะเป็นภาพที่กลุ่มก่อการร้ายสร้างความวุ่นวาย แล้วรัฐบาลอเมริกันก็ส่งกองทัพเข้าไปช่วยเหลือ


คือมันจะเห็นภาพสงครามอิรักในด้านหนึ่ง เวลารายงานข่าวมันก็เป็นข้อความจริงบางอย่างที่ออกมาจากสถานการณ์สงคราม ฉะนั้น รายงานส่วนใหญ่ที่จะเห็นก็คือ ฝั่งทหารอเมริกันถูกยิง แต่ประเด็นของมันคือ พออยู่แนวหน้าเห็นละเอียด อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ข้อเท็จความจริงที่เห็นจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยที่สื่อพยายามจะรายงานสิ่งต่างๆ อย่างที่เห็นมันยังมีคุณภาพในแง่นี้เลย คือ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความจริง ยิ่งกว่านั้น ถ้าสื่ออยู่ในสภาพที่เป็นฝักฝ่ายของการต่อสู้ครั้งนี้ในสงครามนี้ สิ่งที่จะเห็นยิ่งเป็นภาพเดียวหนักเข้าไปใหญ่ ฉะนั้น ถ้าพูดถึงรูปธรรมที่สุดอย่างจำนวนคนเจ็บก็จะเห็นแต่จำนวนของทหารอเมริกัน แต่ลูกเล็กเด็กแดงในอิรักที่ตายเป็นแสนมันไม่ได้ปรากฏเท่าไหร่ อันนี้คือสภาพคล้ายๆ กัน


 


สมมติสังคมไทยเรายังไม่ได้อยู่ในภาพสงคราม เป็นเพียงสภาพความขัดแย้ง แต่ก็เป็นความขัดแย้งสำคัญๆ หลายเรื่อง เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้มันเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าเราบอกว่าความขัดแย้งทางการเมืองนี้ได้แบ่งคนในสังคมไทยออกเป็นฝักฝ่ายพอสมควร อย่างน้อยก็ซึมมาเป็นเวลาสี่ห้าปี คำถามของผมก็คือ สื่อในสภาพของการแบ่งแยกฝักฝ่ายควรทำหน้าที่อย่างไร ส่งเสริมการแบ่งแยกฝักฝ่ายนี้ หรือพยายามจะทำหน้าที่ในอีกลักษณะหนึ่ง


 


แล้วตอนนี้สื่อทำอะไรอยู่ ?


อันนี้ผมตั้งข้อสังเกต คนในสังคมไทยคงต้องถามว่าสื่อทำหน้าที่อย่างไรอยู่ในสถานการณ์นี้ มันอาจจะตอบง่ายๆ ก็ได้ คล้ายๆ บอกว่าไม่ควรเป็นฝ่ายที่เลือกข้าง ถ้าย้อนไปในการศึกษาที่พูดถึงในช่วงต้น เวลาที่บอกว่าสื่อมีผลต่อความรุนแรง เราไม่ได้หมายความว่าสื่อเป็นเหตุของความรุนแรง แต่ถามว่าสื่อมีส่วนไหม คำตอบคือ มี มีเท่าไหร่ ในบางกรณี อย่างในรวันดาที่มีการสัมภาษณ์กันระบุว่า 15% เชื่อสื่อ อีก 40% เชื่อว่าตนเองทำในสิ่งที่ถูก ซึ่งก็น่าจะมาจากการฟังสื่อมากๆ เหมือนกัน คำถามคือ แล้วสื่อที่ก่อให้เกิดความรุนแรงทำอะไรบ้าง เพื่อจะมาดูว่าในสังคมไทยสื่อเป็นแบบนั้นไหม ผมอยากชวนให้ท่านผู้ฟังตรวจสอบเอง คือ 1. สื่อแพร่กระจายความเกลียดชังอย่างตั้งใจหรือไม่ 2. สื่อเป็นตัวประสานให้ใช้ความรุนแรง ระหว่างนักการเมืองกับเครือข่ายของตัวหรือเปล่า อันนี้จะเป็นสถานการณ์ในระหว่างที่เกิด ตีกัน สู้กันแล้ว คนไม่รู้จะหันไปไหนก็เปิดวิทยุฟัง ย้อนไป 30 ปี ก็มีสถานีวิทยุบางแห่งทำแบบนี้ 3.สื่อทำให้สังคมไทยหมดทางเลือกหรือเปล่า


 


เราก็รู้กันว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรายงานความจริง หรือข้อเท็จจริงในสังคม อาจารย์บุญรักษ์ บุญเขตมาลา นักวิชาการสื่อสารมวลชนคนสำคัญเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ระหว่างกระจกกับตะเกียง" การใช้คำว่า "ระหว่าง" ก็ถูกแล้ว ผมว่ามันไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง มันเป็นทั้งคู่ แต่เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็เป็นคำถามที่ประชาชนต้องคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น สื่อที่เราดูหรือฟังหรืออ่านทำให้เราเห็นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นยักษ์เป็นมาร ใจทมิฬหรือเปล่า เราต้องตั้งข้อสงสัยก่อนล่ะ หรือสื่อนั้นทำให้เราเห็นว่าในที่สุดสังคมการเมืองไทยไม่มีทางเลือกเลย ต้องฆ่ากันอย่างเดียว สังคมควรจะตรวจสอบด้วยตัวเอง


 


แต่ว่าวันนี้อยากชวนอาจารย์ตรวจสอบด้วย หลังจากอธิบาย 3 ข้อนี้แล้วว่า สื่อไทยกำลังทำแบบนั้นหรือเปล่า ?


3 ข้อนี้ ข้อสองเป็นสถานการณ์ที่ต้องขัดแย้งกันในตอนนี้ถึงจะเห็น เช่นตีกันอยู่แล้วเปิดสถานีนี้แล้วจะเห็น แต่อันที่หนึ่งกำลังทำอยู่ไหม ก็น่าสนใจ อาจจะมีสื่อบางส่วนไปในลักษณะนั้น หมายความว่า เงื่อนไขที่น่าจะดูว่าไปหรือไม่ไป ก็คือ ในความขัดแย้งนี้ได้เปลี่ยนคู่ขัดแย้งเป็นศัตรูไหม เมื่อทำแล้ววางสถานะของศัตรูไว้อย่างไร ทำให้ศัตรูเป็นคนหลงผิด เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นปีศาจร้าย แก้ไขไม่ได้ เป็นคนทรยศหรือเปล่า มันมีปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรอยู่ เอาเรื่องนั้นไปไว้เบื้องหลังศัตรูหรือเปล่า ให้ความชอบธรรมเนื้อหาของฝ่ายเรามากเหลือเกินหรือเปล่า โดยไม่ได้สงสัยเลยว่าข้อมูลที่ส่งออกไปถูกต้องหรือไม่ ผิดพลาดอย่างไร


 


ถ้าบางคนบอกว่ามันอาจเป็นเพียงส่วนน้อยของสื่อมวลชนในเมืองไทยที่มีพฤติกรรมแบบนี้ เราควรวางเฉยได้ไหม หรือจะทำยังไงดี ?


มันมีภาพเขียนโบราณที่เมืองปาโดวา เรื่องความอยุติธรรม ข้างล่างเป็นภาพคนถูกข่มขืน ถูกลักขโมย ถูกความอยุติธรรมต่างๆ นานา แล้วมีผู้พิพากษาใส่หมวกกลับด้านหรืออะไรก็แล้วแต่ ดูแล้วเป็นภาพของความอยุติธรรม แต่ในนั้นมันมีภาพตำรวจหรือทหารสองคนยืนอยู่แล้วหันหน้าไปทางอื่นเวลาที่คนถูกรังแกหรือถูกทำร้าย ถ้าภาพนี้มันบอกอะไรเรา มันก็จะตอบคำถามคุณได้ 2-3 อย่างคือ 1.ส่วนน้อยมันขยายตัวได้ 2.ส่วนน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบต่อสังคมวงกว้างมีน้อยตามส่วนนั้นไปด้วย เราก็ทราบดีว่าในสังคมไทยสัดส่วนการตลาดในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นน่าสนใจมาก ลองพิจารณาดูสิ่งเหล่านี้แล้วจะเห็นว่าที่เรียกว่า "ส่วนน้อย" มันอาจจะมีนัยยะสำคัญเหลือเกิน 3. ปัญหามันอาจจะอยู่ที่ว่า แล้วส่วนใหญ่คิดยังไงกับสิ่งที่ส่วนน้อยทำอยู่


 


ถ้าส่วนใหญ่คิดว่า เราก็ทำหน้าที่ของเราไป เขาอยากจะทำอะไรก็เรื่องของเขา


มันก็เหมือนภาพที่ผมว่าไง คือสองคนที่หันหน้าอีกทางก็ทำหน้าที่ของตัวไป คือ เฝ้าประตู แล้วก็ปล่อยให้สิ่งร้ายๆ เกิดขึ้น ในที่สุดจะไม่มีประตูให้เฝ้า


 


แต่ต้องมีคนอย่างนี้แน่ว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่แค่เสนอข่าว แต่ไม่ได้มีหน้าที่แก้ปัญหา อาจารย์คิดยังไงกับประเด็นนี้ ?


ในทางกลับกันมันเลยยิ่งน่าสนใจ ผมพยายามนั่งคิดเรื่องนี้เหมือนกันว่า ตกลงตัวอย่างต่างประเทศที่เราดูกันนั้น มันเป็นเพราะสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเท่านั้น ไม่ใช่หรือ สิ่งที่เราไล่มาคือสื่อคิดไปเองว่า ตัวเองเป็น "อาวุธ" และต้องต่อสู้ในการต่อสู้ครั้งนี้ พอคิดแบบนี้มันเลยยุ่ง สื่ออเมริกันที่ทำหน้าที่ในสงคราม ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ถ่ายทอด แต่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการทำหน้าที่หรือเปล่า มันเลยเป็นข้อที่อันตราย สมมติว่ามีปืน 3 กระบอก กับสถานีวิทยุ ปืน 3 กระบอกก็สามารถยิงได้เท่าที่กระสุนอนุญาต แต่สถานีวิทยุมันทำให้คนไปจับไม้จับมีดอีกมหาศาล ฉะนั้น ในฐานะอาวุธมันต่างกันเยอะเลยในฐานะของอำนาจ


 


แล้วสื่อมวลชนควรทำยังไงในสถานการณ์ปัจจุบัน ?


ในสังคมมันก็มีนะ ระหว่างความถูกกับความผิด ฉะนั้น ข้อเสนอมองจากมุมสันติวิธี คือ ทำยังไงถึงจะทำให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เรากำลังเผชิญอยู่ มีทางออกอื่นนอกจากการใช้ความรุนแรง ทำไมเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องกันไม่ให้สื่อเป็น "อาวุธ" แต่เป็นอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน มันคนละแบบกันนะ อันที่สองที่ค่อนข้างสำคัญคือ สื่อทำหน้าที่ทำให้เห็นความถูกความผิด ใช่ ทำให้เห็นเหตุของปัญหา ใช่ ทำให้เห็นเหตุของควาอยุติธรรม ความฉ้อฉล คดโกง ใช่ แต่ต้องทำอันนั้นโดยไม่สร้างความเกลียดชัง สมมติว่ามีคดีฆาตกรรมข่มขืนเกิดขึ้น สื่อควรทำหน้าที่เป็นนิยามโทรทัศน์บอกว่าไอ้หมอนี่เป็นคนชั่วร้ายเลวทราม แล้วบอกว่าทุกคนควรจะไปดูแผนประทุษกรรม หรือสื่อควรจะบอกว่าทำยังไงถึงจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้อีก และไอ้คนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ พูดให้ชัดเจน ผมไม่ได้บอกว่าสื่อไม่ควรทำหน้าที่พิทักษ์ความถูกต้อง แต่ทำยังไงที่จะไม่พิทักษ์ความถูกต้องไป สร้างความเกลียดชังไป ตั้งเป้าไปที่ตัวบุคคลตัวกลุ่มจนเกินไป เพราะการทำแบบนั้นเราเห็นจากตัวอย่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศเราเองด้วยว่ามันนำพาประเทศไปสู่ความรุนแรง


 


ในฐานะปัจเจกชน คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เป็นคนรับสื่อ เราควรจะต้องทำยังไงในสถานการณ์แบบนี้?


ผมพูดแทนคนอื่นไม่ได้นะ สำหรับผม ผมเห็นว่าสื่อเป็นอาวุธที่ทรงพลังมาก มันก็เหมือนกับที่เราเห็นบุหรี่มีอันตราย ก็ควรมีโฆษณาข้างๆ เสพสื่อมากเกินไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่าน สาธารณชนควรจะตระหนักสิ่งเหล่านี้ และควรตระหนักว่าในสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเราอยากให้สื่อทำหน้าที่อะไร และสื่อกำลังทำหน้าที่เช่นนั้นหรือไม่


 


ในฐานะนักสันติวิธี อาจารย์มีไกด์ไลน์สำหรับคนที่เผชิญภาวะแบบนี้ คือ เราไม่อยากอยู่เฉยๆ หลายคนพูดว่า ตอนนี้เป็นไปได้ที่สองข้างจะปะทะกัน หนังสือพิมพ์ก็บอกว่ากลิ่นรัฐประหารหึ่ง บางคนอาจบอกว่า หรือเรารอเช็ดเลือดดีไหม ?


เช็ดเลือกมันหลังเหตุการณ์ และความสูญเสียก็เกิดขึ้นแล้ว อย่างนั้นที่สูญเสียมันเป็นตัวบุคคลจริงๆ เหตุการณ์พฤษภาก็ต้องเช็ดกันไปแล้ว ผมอยากจะเตือนว่ามันไม่ใช่แค่คนตาย มันมีคนถูกยิงเป็นอัมพาต ลูกหลานเขาก็ลำบากตลอดมา เยอะแยะไปหมด ด้วยเหตุนี้ถึงต้องพูดเรื่องนี้ เพราะเราเห็นว่าอาวุธที่เราพูดถึงมันเป็นอาวุธที่มีพลัง อาวุธอย่างสื่อทำอย่างไรให้สังคมควบคุมมัน ไม่ใช่รัฐบาลนะ เพราะรัฐบาลผมก็ไม่ค่อยเชื่อ บางทีก็ใช้พวกนี้เป็นประโยชน์


 


ดังนั้น ปัจเจกชนทำอะไรได้บ้าง ในแง่ของตัวเองเวลาฟังสิ่งต่างๆ ก็ควรจะมีแนวคิดในทางวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง อย่าเชื่อเสียหมด เพราะนี่กำลังเป็นสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้ง โบราณเขาบอกว่า ในสถานการณ์สงคราม ความจริงกลายเป็นเหยื่อรายแรก ผมคิดว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งก็เหมือนกัน ความจริงก็เป็นเหยื่อ สิ่งที่เราเห็นมันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง การตรวจสอบก็จำเป็น และผมยังอยากเสนอว่า ดูให้ดีว่า อันไหนจะพาให้เราเกลียดชังอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายไม่เป็นผู้เป็นคน ชวนเราให้ไปทำร้ายอีกฝ่าย อันนี้ผิดแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net