Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดงานสัมมนาและเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง "ผลกระทบของห้างค้าปลีกยักษ์ต่อชุมชนและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้าเป็นการอภิปรายหัวข้อ "เปิดคำให้การ 3 ผู้ต้องหาคดีเทสโก้ โลตัส และผลกระทบของห้างค้าปลีกขนาดยักษ์"



         


โดยมีนายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นผู้เปิดงาน ส่วนวิทยากร ได้แก่ นายกมล กมลตระกูล นักสิทธิมนุษยชน ร.อ.จิตร ศิรธรานนท์ รองเลขาธิการหอการค้าไทย นางนงค์นาถ ห่านวิไล บรรณาธิการข่าวธุรกิจการตลาด หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นผู้ดำเนินรายการ



         


นายกมลกล่าวว่า กรณีของตนนั้นถูกฟ้องเมื่อเดือนตุลาคม 2550 และสิ่งที่ตนเขียนนั้นก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะหมิ่นประมาทใคร เพียงแต่วิเคราะห์และสงสัยว่าทำไมถึงขณะนี้ พ.ร.บ.ค้าปลีกถึงยังไม่ออกมาเสียที และในบทความที่เขียนนี้ก็ได้ยกตัวอย่างการขยายตัวของเทสโก้ โลตัส จนท้ายที่สุดก็ถูกฟ้อง เชื่อว่าการฟ้องครั้งนี้เป็นเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อปิดปากและเป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชน ซึ่งการถูกฟ้องนี้ได้รับความสนใจจากสื่อในต่างประเทศจำนวนมาก



         


ร.อ.จิตรกล่าวว่า เห็นด้วยว่าการถูกฟ้องครั้งนี้เพื่อต้องการปิดปาก และสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะไม่เคยมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีหุ้นอยู่ในบริษัทคู่แข่ง และสิ่งที่ได้ศึกษาเรื่องระบบค้าปลีกในไทยมาตลอดระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา ก็ได้รับรู้ว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะชุมชน และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งในต่างประเทศไม่มีประเทศไหนที่ยอมให้ค้าปลีกขยายได้รวดเร็วเท่ากับเมืองไทย



         


นางนงค์นาถกล่าวว่า ตั้งแต่เป็นสื่อมา 20 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกฟ้อง แต่ขอยืนยันว่าตลอดการเป็นสื่อมวลชนที่ผ่านมาไม่เคยมีผลประโยชน์ใดๆ กับบริษัทไหนทั้งสิ้น ทุกสิ่งที่นำเสนอตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณ โดยปกติแล้วหากหนังสือพิมพ์มีการลงข่าวผิดจริง ทางผู้ประกอบการจะต้องโทรศัพท์กลับมายังบรรณาธิการเพื่อชี้แจงสิ่งต่างๆ ที่หนังสือพิมพ์ได้ลงไป แต่ในกรณีนี้ไม่เคยได้รับการชี้แจงกลับมาจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่รายนี้เลย



         


"ทุกคนจะรู้ดีว่าเราทำงานอยู่ภายใต้กรอบกติกาของความเป็นจริง และอยู่บนพื้นฐานของจรรยาบรรณ ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของเนชั่นกรุ๊ปที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ได้บอกไว้กับทุกคน และจะขอสู้กับคดีนี้ให้ถึงที่สุด และจะทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีต่อไป และยืนยันที่จะช่วยกระทุ้งให้ พ.ร.บ.ค้าปลีกได้เกิดขึ้น"



         


น.ส.รสนากล่าวว่า การฟ้องสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ครั้งนี้ถือเป็นการคุกคามสื่อมวลชนอย่างแท้จริง และสิ่งที่ทุกคนได้เขียนนั้นถือเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก เป็นการตื่นกลัว เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นมายาภาพ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในไทยวันนี้ถือว่าสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมไทยอย่างแท้จริง ธุรกิจและวัฒนธรรมของคนไทยกำลังถูกกลืน หากยังไม่ช่วยกันแก้ไขอนาคตสังคมไทยและวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยจะหายหมด



         


"พ.ร.บ.ค้าปลีกถูกเตะถ่วงมานาน ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งตอนนั้นก็ได้มีการให้นำกฎหมายผังเมืองเข้ามาใช้ แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะห้างค้าปลีกก็หันไปขยายขนาดเล็กแทน รุกคืบเข้าไปสู่ชุมชน จากนั้นก็หายไป 6 เดือนและกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง แต่จนป่านนี้กฎหมายค้าปลีกก็ยังไม่มีวี่แววจะออก เพราะนักการเมืองให้ความสนใจแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"



         


น.ส.รสนายังให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 แม้จะเห็นว่ามีประชาธิปไตย แต่ในแง่ของสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญตามที่กฎหมายบัญญัติกลับไม่มี กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชนลองสังเกตดูว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ซึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ชุมชนจะต้องให้ความเห็นชอบกับนักธุรกิจใดก็ได้ที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่นั้นๆ



         


"การรุกเข้าไปเปิดของห้างใหญ่ในชุมชนส่งผลกระทบอย่างชัดเจนกับชุมชน ดังนั้นชุมชนจะต้องเข้มแข็งและสร้างทางเลือกให้เกิดขึ้น เช่น การรวมตัวกันทำตลาดสดให้มีในชุมชนเพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค และผู้บริโภคก็ต้องตระหนักว่าการซื้อของถูกนั้นเกิดจากการขายต่ำกว่าทุน ซึ่งในเมืองนอกไม่มีใครสามารถทำเช่นนี้ได้ การบีบซัพพลายเออร์ก็ไม่ใช่การทำธุรกิจที่ถูกต้อง เชื่อว่าการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมในอนาคต และนำไปสู่ความเป็นธรรมต่อไป ที่สำคัญข้อมูลที่แท้จริงจะถูกเปิดเผย"



         


ด้านนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการจุดประเด็นเรื่องความสัมพันธ์การค้าระหว่างชุมชนและข้ามชาติ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ประจักษ์แล้วถึงความไม่ยุติธรรมกับชุมชน ซึ่งเห็นได้จากการที่โชห่วยปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลต่อวัฒนธรรมสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ หากวัฒนธรรมสังคมไทยหายไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การหายไปของการท่องเที่ยวด้วย เพราะวิถีการดำเนินชีวิตหรือสังคมเป็นสิ่งที่ดึงดูดการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น


 


 


……


ที่มา: http://www.komchadluek.net

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net