Skip to main content
sharethis


 



 


ประชาไท - บรรยากาศวันกรรมกรสากลในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2551 ผู้ใช้แรงงานแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ โดยกลุ่มแรก ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง 12 สภา และ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย โดยมี นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิต ประธานสภาองค์กรลูกจ้างองค์การแรงงาน เป็นประธานในการจัดงาน โดยได้รับงบประมาณจากกระทรวงแรงงาน 1.6 ล้านบาท


 


กลุ่มนี้ชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีพิธีทางศาสนา มีนางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 9 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมพิธี


 


จากนั้น กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล รวม 8 ข้อ ประกอบด้วย (1) ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นวันละ 9 บาททั่วประเทศ (2) ขอให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยเร็ว (3) ขอให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 อาทิ การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87, 98 (4) ขอให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด (5) ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม (6) ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุ ขอให้ สปส.รักษาพยาบาลฟรี (7) ขอให้เร่งรัดประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน และ (8) ขอให้ตั้งคณะกรรมการฝ่ายรัฐบาลร่วมกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในการติดตามข้อเรียกร้อง


 




 


เวทีแรงงานอีกกลุ่ม นำโดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เริ่มจัดขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล


 


โดยข้อเรียกร้องได้แก่ (1) รัฐต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 233 บาท เท่ากันทั่วประเทศ (2) รัฐต้องควบคุมราคาสินค้า (3) ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องประกาศบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ต้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกฉบับ แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ (4) ต้องประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ....(ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


 


(5) ต้องประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ฉบับบูรณาการ ที่ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม) (6) ต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (7) ต้องปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม ในประเด็น ขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ปรับโครงสร้างประกันสังคมให้ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง และ (8) รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98 เพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ



ทั้งนี้ บริเวณข้างเวทีปราศรัย มีการตั้งโต๊ะสำหรับเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ. สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ... รวมทั้งร่วมกันลงชื่อเพื่อให้วุฒิสภาฯ ถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุขด้วย


 


นอกจากนี้ ยังมีการแสดงล้อเลียนพฤติกรรมของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ด้วยการนำโต๊ะจีนมาตั้งพร้อมอาหาร คาวหวานและใส่หมวกรูปหน้าของนายสมัคร และในส่วนของแรงงาน ลงไปนั่งกับพื้น แล้วกินข้าวกล่องกับซี่โครงไก่ต้มร่วมกัน โดยสื่อว่า ค่าแรงขั้นต่ำนั้น ซื้อได้เพียงข้าวกล่องเท่านั้น และที่นายสมัครเคยบอกให้กินซี่โครงไก่ต้มฟักแทนเนื้อหมูนั้น เงินที่มีซื้อได้แค่ซี่โครงไก่ เพราะฟักแพง


 



 


สำหรับข้อเสนอของแรงงานกลุ่มต่างๆ อาทิ


 


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ ระบุว่า เกิดจากการรวมตัวของคนยากคนจนในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากกลวิธีต่างๆ ของเหลือบมนุษย์ในคราบบริษัทจัดหางาน ที่สร้างความมั่งคั่งบนการค้าฝันและค้ามนุษย์ที่ใช้ทุกกลยุทธเกลี่ยกล่อมให้คนยากจน เชื่อว่าจะสามารถทำรายได้ปีละหลายแสนบาท จากการไปทำงานต่างประเทศ จนยอมขายที่นา บ้าน ทรัพย์สิน เพื่อจ่ายค่านายหน้าจำนวนมหาศาล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงาน ทบทวนนโยบายส่งออกแรงงาน และหามาตรการแก้ปัญหาความยากจนและภาวะหนี้สินของคนจนไทยด้วยวิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่สร้างผลระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความผาสุกของคนงานและครอบครัว


 


ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และกำลังเผชิญกับการถูกบีบคั้นจากหนี้สิน และปัญหาจากการไปทำงานต่างประเทศ ให้กระทรวงแรงงานจัดการกับเหลือบแรงงานที่มาในรูปแบบบริษัทจัดหางาน และยกเลิกระบบการจัดส่งแรงงานผ่านบริษัทจัดหางานในทุกรูปแบบ รวมทั้งรัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ ที่ยังมีหนี้สินผูกพันกับบริษัทจัดหางานและธนาคารที่ให้เงินกู้ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพในชุมชน และการเกษตรอินทรียเพื่อการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและระบบนิเวศน์


 


เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ และ เครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเสนอให้รัฐปรับนโยบายการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานให้เอื้อต่อการที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง และจะต้องเป็นการจดทะเบียนเพื่อการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม อาทิ จดทะเบียนประกันสังคม เช่นเดียวกับแรงงานไทย


 


รัฐบาลต้องแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ โดยต้องไม่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ และเพื่อเป็นการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและต่อรองของแรงงานทุกคนในประเทศไทย


 


รัฐบาลต้องลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ค.ศ.1990 เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการจัดการและให้การปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ


 


กระทรวงแรงงานโดยกรมจัดหางาน ต้องอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติทำหน้าที่ผู้ช่วยส่งเสริมสุขภาพแรงงานข้ามชาติ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีประสิทธิภาพมากขึ้น


 


รวมถึงกระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งกลไกคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่เข้าถึงง่าย เป็นมิตรและทำงานเชิงรุกในการให้ความรู้เรื่องสิทธิและความรับผิดชอบต่อแรงงานข้ามชาติในไทยด้วย สุดท้าย เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติทุกระดับ


 


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เรื่อง "แรงงานพม่าเป็นมิตรของเรา" อ้างถึงกรณีรัฐบาลไทยดำเนินคดี จับ และส่ง แรงงานชาวพม่าที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ "แรงงานชาวพม่าเสียชีวิต 54 คนในรถบรรทุกห้องเย็น" กลับประเทศอย่างไร้ศีลธรรรม และได้เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายทุกฉบับ ที่ควบคุมการเข้าเมืองของแรงงานอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน และให้ยกเลิกการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยให้เหตุผลว่า การจดทะเบียนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นแค่กลไกในการรีดไถโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเปิดช่องทางกอบโกยให้กับขบวนการค้ามนุษย์ เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครสามารถควบคุมการข้ามพรมแดนได้


 


นอกจากนี้ การมีกฎหมายควบคุมแรงงานข้ามชาติยังเป็นเพียงกลอุบายของรัฐและนายจ้าง ที่จะหลอกและแบ่งแยกแรงงานไทยออกจากแรงเพื่อนบ้าน เพื่อการกดขี่แรงงานทุกส่วน รวมทั้งรักษาสถานะผิดกฎหมายของแรงงานอพยพเพื่อให้มีการกดขี่ขูดรีดอย่างหนักเป็นพิเศษ ดังนั้นพรรคแนวร่วมภาคประชาชนได้มีการชักชวนเพื่อรณรงค์ให้ "แรงงานอพยพ" สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไทย โดยไม่ติดกับดักของแนวคิดชาตินิยมที่รัฐโฆษณาชวนเชื่อ


 


ทั้งนี้ พรรคแนวร่วมภาคประชาชนยังเสนอให้แรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงานในไทยควรได้บัตรประกันสังคมโดยอัตโนมัติ และในส่วนผู้ติดตาม (ผัว เมีย ลูก หลาน) ควรได้รับการบริการสาธารณสุขและการศึกษาเหมือนพลเมืองไทย


 


"ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันที่ข้าวของแพง เราต้องไม่ยอมให้ชนชั้นปกครองผลักภาระให้เราเสียสละให้คนรวยอีก ค่าจ้างทุกส่วนต้องเพิ่มสูงกว่าระดับเงินเฟ้อ และเราต้องรณรงค์ต่อไปเพื่อรัฐสวัสดิการ "ถ้วนหน้า-ครบวงจร" ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าสูงๆ จากคนรวย" ประกาศระบุ พร้อมเชิญชวนสมัครเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมภาคประชาชนเพื่อการเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net