Skip to main content
sharethis

อานุภาพ นุ่นสง


สำนักข่าวประชาธรรม


 


กระแสวิกฤตอาหารโลกกำลังเป็นประเด็นสาธารณะที่แผ่ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับการขยายตัวของพืชพลังงาน อาทิ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เริ่มกว้านซื้อที่ดินกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทยการขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชเหล่านี้ในเรื่องนี้ก็เริ่มขึ้นแล้วในหลายๆ พื้นที่


 


เป็นเรื่องน่าฉงนไม่น้อยที่ปัจจุบันภาครัฐเองมีแนวคิดและส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตแบบพึ่งตนเอง โดยใช้ระบบเกษตรผสมผสาน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ลดละเลิกการใช้สารเคมี แต่ในเวลาเดียวกันรัฐกลับมีนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส ยิ่งโดยเฉพาะยุคที่กระแสพลังงานทดแทนกำลังได้รับความนิยม ไม่เฉพาะรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้สนับสนุน แต่ยังรวมไปถึงบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีที่ร่วมกระตุ้นเกษตรกรโดยใช้กลไกราคาผลผลิตที่สูงจนน่าพอใจเป็นสิ่งล่อใจ ดังนั้น สบู่ดำ อ้อย และพืชพลังงานชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะ "ข้าวโพด" จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่


 


สำหรับนโยบายและการรณรงค์การใช้พลังงานทดแทนฝนประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 เม.ย.2550 รายงานว่า ช่วงเดือน มี.ค.2550 ราคาข้าวโพดสูงถึงกิโลกรัมละ 7.10 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 8 บาท ขณะที่ในปี 2549 ราคาข้าวโพดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น


 


ขณะที่การผลิตข้าวโพดของไทย ปัจจุบันสามารถผลิตได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศประมาณ 6 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศที่ต้องการประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ 60% ที่เหลือ 40% ส่งออกนอกประเทศ ซึ่งจากความต้องการของตลาดโดยเฉพาะเพื่อการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์นั้นส่งผลให้พื้นที่สำหรับการปลูกข้าวโพดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 7.8 ล้านไร่ต่อปี


 


กรณีดังกล่าวนับว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาปลูกข้าวโพด และสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ตามมาจากนั้น นั่นคือการหายไปของพื้นที่ป่า !


 


ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดนั้นปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการส่งเสริมทั้งจากรัฐและบริษัทเอกชนอย่างเช่นกรณี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากซีพี หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่เกษตรกรรมเดิมที่เคยใช้ปลูกพืชนานาชนิด อาทิ หอมแดง กระเทียม ขิง ฯลฯ ก็ถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพด ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ป่าอีกจำนวนมากก็ถูกลักลอบแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเช่นเดียวกัน


 


แม่แจ่ม : แหล่งปลูกข้าวโพดสำคัญของซีพี


 


อ.แม่แจ่ม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 3,361 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,100,625 ไร่ มีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 126,685 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว 106,059.25 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งที่ผ่านมาช่วงปี 2538-2539 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ "ซีพี" ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในลักษณะการทำพันธสัญญา หรือ คอนแทรกฟาร์มมิ่ง กรณีดังกล่าวส่งผลให้ข้าวโพดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอำเภอ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุว่า เกษตรกร อ.แม่แจ่ม ประมาณ 80% มีอาชีพหลักปลูกข้าวโพด ซึ่งมีทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ ส่วนที่เหลือ 20% จะเป็นหอมแดง ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ


 












































ลำดับที่


พืชเศรษฐกิจ


พื้นที่ปลูก (ไร่)


เปอร์เซ็นต์


1


ข้าวโพด


82,904


78.16


2


หอมแดง


19,937


18.80


3


ลิ้นจี่


1,586


1.50


4


ลำไย


1,391.75


1.31


5


กระเทียม


198.5


0.20


6


ส้มเขียวหวาน


42


0.03


 


รวม


106,059.25


100


 


ดังนั้น กล่าวได้ว่าหลังจากปี 2539 เป็นต้นมา ภายหลังซีพีเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรชาว อ.แม่แจ่มปลูกข้าวโพด วิถีการผลิตของเกษตรกรแต่ละตำบลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น มีการใช้สารเคมีขนานใหญ่ พื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้างถูกแทนที่ด้วยไร่ข้าวโพด ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุอีกว่า ปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งอำเภอมีจำนวน 82,904 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,316 กิโลกรัม ผลผลิตรวม 97,986,900 กิโลกรัม โดยแยกข้อมูลการผลิตรายตำบลได้ดังนี้


 
































































ลำดับที่


ตำบล


พื้นที่ปลูก (ไร่)


ผลผลิต (กิโลกรัม)


1


แม่นาจร


14,135


16,300,800


2


ท่าผา


13,608


16,135,800


3


ช่างเคิ่ง


13,350


15,564,000


4


แม่ศึก


12,100


13,866,000


5


ปางหินฝน


11,550


13,844,400


6


บ้านทับ


8,465


9,933,900


7


กองแขก


8,136


9,426,000


8


แม่แดด


630


756,000


9


แจ่มหลวง


580


1,740,000


10


บ้านจันทร์


350


420,000


 


รวม


82,904


97,986,900


 


ผลจากการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาเฉลี่ยต่อไร่ที่สูงถึง 6,500 บาท จากเดิมช่วงปี 2547-2548 ที่มีราคาเฉลี่ยไร่ละ 4,606 บาทเท่านั้น และที่สำคัญการสนับสนุนจากซีพีในการดูแล จัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งแหล่งเงินทุนให้ ดังนั้นแรงจูงใจดังกล่าวนอกจากทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกในที่ดินที่มีอยู่แล้ว ยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก


 


เมื่อป่าถูกแทนที่ด้วยไร่ข้าวโพด


 


สถานการณ์การปลูกข้าวโพดด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังช่วงปี 2544-2545 โดยเห็นได้ชัดเจนจากการเปิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน ต.แม่นาจร ซึ่งมีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดและมีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากที่สุดด้วย


 


นายประชา จันทอแสง ผู้นำหมู่บ้านเซโดซา ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า สภาพพื้นที่ป่า อ.แม่แจ่ม หลังมีการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดจากซีพีพื้นที่ป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแนวโน้มในอนาคตหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว การบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดยิ่งจะลุกลามเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นภาครัฐต้องมีนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน


 


นายประชา กล่าวต่อว่า สำหรับชุมชนเซโดซาของตนนั้นเป็นชุมชนปกากะญอ ซึ่งทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการผลิตในแบบดั้งเดิม แต่ปัจจุบันการเข้ามาสนับสนุนปลูกข้าวโพดจากซีพีทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับระบบทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะต้านทานกระแสนี้ได้ ดังนั้นหากในอนาคตการผลิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยมแล้วผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวบ้านนั่นเอง และตนเชื่อว่าในอนาคตหากพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม เกิดการเสื่อมสภาพ ดินไม่มีธาตุอาหาร เกิดสารเคมีตกค้างจนไม่สามารถปลูกพืชชนิดใดได้ ซีพีก็ต้องไปหาและสนับสนุนพื้นที่ปลูกแห่งใหม่ ขณะที่ชาวบ้านก็ต้องอยู่ที่แม่แจ่มต่อไป หากเป็นเช่นนี้อะไรจะเกิดขึ้นนี้


 


นายประเสริฐ ทะนะมูล ผู้ใหญ่บ้านหัวดอย ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า พื้นที่ป่า อ.แม่แจ่ม ในปัจจุบันลงลงถึงร้อยละ 50 มี แต่ส่วนที่เป็นเขตอุทยานฯ อาจยังมีความอุดมสมบูรณ์บ้าง สาเหตุการลดลงของป่าเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านจากการสนับสนุนของนายทุนโดยเฉพาะการสนับสนุนปลูกข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพืชหลักของ อ.แม่แจ่มไปแล้ว


 


ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น นายประเสริฐ เสนอแนะว่า ภาครัฐและส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีระบบป้องกันเพื่อไม่ให้การปลูกข้าวโพดรุกล้ำไปในเขตป่า ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมก็ต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย


 


ด้านตัวแทนซีพี ซึ่งกล่าวในเวทีประชุมเชิงบูรณาการ เพื่อจัดระเบียบการใช้ที่ดิน การป้องกันการปลูกพืชเศรษฐกิจ การป้องกันการตัดไม้ทำทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย ณ สวนป่าแม่แจ่ม องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.แม่แจ่ม เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นว่าปัญหาใหญ่ของ อ.แม่แจ่ม คือเรื่องที่ดินและยาเสพติด ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น ซีพีมีส่วนร่วมในการสร้างวิถีชุมชนคือการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพด แต่ก็มีการเน้นย้ำมาตลอดว่าซีพีไม่สนับสนุนให้ไปปลูกโดยการไปบุกรุกป่า ขณะเดียวกันปัจจุบันเรื่องการเกษตรนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไปแล้ว กล่าวคือรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งทางซีพีเองก็สนับสนุนนโยบายนี้ และไม่เฉพาะ อ.แม่แจ่ม เท่านั้น ที่ผ่านมาซีพีไปสำรวจพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อที่จะปลูกข้าวโพดด้วย


 


ขณะที่นายวิมล มาจันทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 สำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม เกษตรกรจะปลูกปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกปลูกเดือน พ.ค.และเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ครั้งที่สองปลูกเดือน มิ.ย.เก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค. และนับวันยิ่งจะราคาดีขึ้น อย่างปี 2550 ที่ผ่านมา ราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท ขณะที่ต้นทุนต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 2,500-3,000 บาท ส่วนผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่ และในปี 2551 นี้มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ขณะที่ปีที่แล้วๆ มาราคาจะอยู่ที่ 3.5-5 บาท ซึ่งจากราคาที่สูงอย่างนี้ทำให้ชาวบ้านปลูกกันเยอะมาก และมีผลต่อการบุกรุกป่าด้วย


 


นายวิมล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานั้น การส่งเสริมของซีพีใน อ.แม่แจ่ม ซีพีจะประสานกับ ธกส.รวมทั้งสหกรณ์เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากซีพีในราคากิโลกรัมละ 80-85 บาท ใน 1 ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัม นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าแมลงด้วย


 


นอกจากนี้ นายวิมล กล่าวอีกว่า การลดลงของพื้นที่จากการเข้ามาส่งเสริมของซีพีนั้น ตนเห็นว่าจะไปโทษซีพีทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องมีจิตสำนึก อาจปลูกในพื้นที่เดิมที่มีอยู่แต่ให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องไปบุกรุกป่า ซึ่งที่ผ่านมาเราเข้าไปให้คำแนะนำโดยตลอด แต่ชาวบ้านก็ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นตนเห็นว่าในอนาคตหากต้องการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต้องนำแนวคิดการไม่ขยายพื้นที่ปลูกแต่ต้องเพื่อผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นจะสามารถแก้ปัญหาได้


 


อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่า ผลจากการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นมักเกิดขึ้นควบคู่กับการหายไปของพื้นที่เสมอ ซึ่งปัญหาดังกล่าวกลุ่มผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือบริษัทเอกชนเองก็ตามมักมองข้ามหรือแสร้งมองไม่เห็นปัญหาผลกระทบที่จะตามมา ทั้งป่าถูกทำลาย ดินเสื่อมสภาพ สารเคมีตกค้าง เหล่านี้ล้วนมีบทเรียนเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่เหล่านั้นชัดเจนว่าผู้ได้รับผลกระทบก็เป็นเกษตรกรนั่นเอง ดังนั้นกรณีการปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม สังคมคงต้องช่วยกันพิจารณากันว่าในระยะต่อไปจากนี้เราจะสร้างมาตรการ และทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net