Skip to main content
sharethis

 






ข้อความจากบรรณาธิการ แดน ริเวอร์ส นักข่าวประจำซีเอ็นเอ็น กรุงเทพ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงเกี่ยวกับเด็กชายที่เขาพบในประเทศไทย ถอดความโดย รัตนพร พวงพัฒน์ (องค์การยูเอสซีอาร์ไอ) 


 


 


ขิ่น ซอ ลิน เด็กผู้ชายคนที่สองจากทางขวา มีชีวิตอยู่บนกองขยะ


ร่วมกับเด็กกำพร้ามากมายในที่ทิ้งขยะ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก


 


เด็กน้อยไม่รู้ว่าอายุแน่นอนของตนเอง แต่คิดว่าตนเองมี 7 ขวบแล้ว ชื่อของเขาคือ ขิ่น ซอ ลิน (Khin Zaw Lin) ได้อาศัยอยู่ในกองขยะมาตลอดทั้งชีวิต


 


ผมพบลินขณะที่เขากำลังเดินอยู่บนกองขยะที่เน่าเปื่อยเต็มไปด้วยเศษอาหารที่กำลังเน่า ถุงขยะ และเศษขยะในที่ทิ้งขยะของอำเภอแม่สอด ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ลินไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มานานแล้ว ที่อยู่อาศัยของเขาเป็นเพิงสร้างขึ้นจากถุง เสื้อผ้า และไม้ที่เก็บมา


 


ลินเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยจำนวน 300 คนที่อยู่ในที่ทิ้งขยะ พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยขยะของคนอื่น หลายคนเป็นเด็ก บางคนเป็นแม่ลูกติด


 


ชีวิตประจำวันของพวกเขาดำเนินไปคล้ายกัน พวกเขาจะเดินอยู่ในบริเวณที่ทิ้งขยะ เพื่อรอคอยการมาถึงของรถขนขยะคันต่อไป และหวังว่าในกองขยะนั้นจะมีเศษอาหารเหลือพอให้พวกเขากินประทังชีวิตไปวันหนึ่ง


ลินเขี่ยกองขยะด้วยมีดด้ามใหญ่ เขากล่าวว่าขวดและพลาสติกที่เขาเก็บขายได้ 3 เซนต์ต่อหนึ่งกระสอบ ลินให้ผมดูเท้าของเขาที่สกปรกและมีบาดแผลอยู่ทั่ว


 


เขาพูดกับผมผ่านล่ามว่าเขาไม่มีเงินพอซื้อรองเท้า ในขณะที่เขากำลังย่ำเท้าที่เปล่าเปลือยลงบนกองขยะเน่าเปื่อยนั้น 


 


ผู้ช่วยของผมแจ้งให้ผมทราบเกี่ยวกับที่อยู่ของลินในขณะที่เขากำลังหาข้อมูลเรื่องอื่นในพื้นที่ชายแดนในฝั่งประเทศพม่า ในตอนแรก ผมแทบจะไม่อยากเชื่อ แต่ก็ยังมีความสงสัยใคร่รู้ จึงได้ชักชวนให้ทีมตากล้องขับรถเกือบ 6 ชั่วโมงจากกรุงเทพมาที่นี่


 


เมื่อเราถึงที่ทิ้งขยะ คนที่นั่นกลัวเรา เราได้รับการบอกเล่าว่ามีเด็กมากมายที่อาศัยอยู่ในที่ทิ้งขยะเป็นเด็กกำพร้า แต่พวกเขาระมัดระวังตัวมาก พวกเขาคิดว่าเรามาที่นั่นเพื่อเอาเด็กกำพร้าไป หรือมาขูดรีดเอาสินบน


ผมบอกพวกเขาว่าผมต้องการช่วย ท้ายที่สุดผมถูกแนะให้ไปเจอลิน เขาทักทายผมด้วยเสียงที่เบาและแหบห้าว แต่เมื่อกลับไปดึงขวดออกจากกองภูเขาขยะ เขาใช้พลังงานและความตั้งใจทั้งหมดไปกับมัน


บริษัทรีไซเคิลขยะจ้างลินและครอบครัวของเขาด้วยรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการจ้างที่มั่นคง บริษัทจะรับซื้อขวดและพลาสติกที่ลินและคนอื่นๆ เก็บรวบรวมมา


 


ลินจะเอาเงินที่ได้มาให้แม่เลี้ยง เธอกล่าวกับผมว่าแม่แท้ๆ ของลินยกลินให้เธอตอนที่อยู่ในประเทศพม่า ตั้งแต่ลินยังแบเบาะ เพราะเธอไม่สามารถดูแลลินได้


 


ชีวิตภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่านั้นโหดร้าย เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศ และการทรมานและการข่มขืนภายใต้ระบอบทหารเกิดขึ้นทุกวัน แม่ใหม่ของลินตัดสินใจจะหนีไปประเทศไทยเพื่อหาชีวิตใหม่ อย่างไรก็ตาม เธอมาเจอที่ทิ้งขยะแทน


 


กระนั้น เธอกล่าวว่า ที่จริงแล้ว ชีวิตใหม่ของเธอที่ดำรงอยู่ด้วยการเก็บขยะและหาอาหารจากกองขยะนั้นยังดีกว่าชีวิตที่ผ่านมา


 


เมื่อผมได้ฟังเรื่องราวชีวิตของลิน มีคำถามหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในใจของฉัน คำถามนั้นก็คือ เด็กอายุ 7 ปีคนหนึ่งจะสามารถใช้ชีวิตตลอกทั้งชีวิตของเขาอยู่บนกองขยะได้อย่างไร?


 


บางที มันเป็นเพราะว่าลินเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตน เนื่องจากเขาไม่มีพาสปอร์ตหรือเอกสารใดๆ เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าที่ไม่มีตัวตนอย่างเป็นทางการ


 


องค์การสหประชาชาติก่อตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยสำหรับผู้ที่ลี้ภัยมาจากประเทศพม่า แต่ค่ายเหล่านี้จะรับเฉพาะเหยื่อการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางการเมือง ผู้ลี้ภัยมากมายที่ไม่ได้ลี้ภัยมาจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงกลัวว่าถ้าพวกเขาเข้าไปในค่าย พวกเขาจะถูกจัดว่าเป็นแรงงานอพยพและถูกส่งกลับ


 


ผลที่ตามมาคือ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จึงต้องติดอยู่ในที่ทิ้งขยะ ไม่มีเงินที่จะไปที่อื่นๆ และไม่มีโอกาสที่จะกลับไปบ้าน


ผมเคยคิดว่าตนเองคุ้นเคยกับความยากจนข้นแค้นต่างๆ อย่างที่ได้เคยพบมาในหลายแห่งของเอเชีย ผมเคยเห็นใจเมื่อพบเด็กกลุ่มอื่นๆที่ถูกปฏิเสธซึ่งความหวังและความใฝ่ฝันที่บรรเจิด แต่เรื่องของลินทำให้ผมโกรธ ผมรู้สึกเหมือนว่าตนเองไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องงานกับความรู้สึกส่วนตัวได้เลยในเรื่องนี้


 


เมื่อเวลาพูดคุยระหว่างผมกับลินใกล้จะสิ้นสุด ผมถามแม่เลี้ยงของลินว่า เธอและลินจะสามารถออกไปจากภูเขาขยะนี้ได้รึไม่


 


คำตอบของเธอนั้นช่างยากลำบากเหมือนโลกที่เธอและลินอาศัยอยู่


 


"ไม่มีวัน"


         


 


 






 


ที่มา "Orphan boy lives in garbage dump" By Dan Rivers CNN


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net