Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


หนึ่งในปัญหาที่เรื้อรังยืดเยื้อมาตั้งแต่ในอดีต ที่อยู่ในความสนใจในปัญหาของเพื่อนบ้านเรา ก็คือ ปัญหาของชนกลุ่มน้อยในพม่า ซึ่งบางคนที่ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงมีปัญหาการปะทะกันในประเทศพม่าอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้เกิดการอพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยเราผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศอยู่ในปัจจุบันนี้


 


ที่มาที่ไปของปัญหานั้นสืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนการประกาศเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม ซึ่งก็คืออังกฤษนั่นเอง โดยแต่เดิมนั้นประเทศพม่าไม่ได้มีประเทศเดียวดังเช่นปัจจุบัน แต่ประกอบไปด้วย รัฐอิสระต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งก่อนการประกาศเอกราชก็ได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2490 เพื่อหารือกันถึงการเรียกร้องเอกราชคืนจากอังกฤษ


 


แต่ระหว่างนั้น อังกฤษได้ส่งสารถึงผู้เข้าร่วมประชุม ว่า หากรัฐฉานมีข้อเรียกร้องหรือมีข้อเสนออันใดก็ขอให้จัดการประชุมอย่างเป็นทางการที่เมืองตองยี ที่มีข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษเป็นประธาน ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินขึ้น โดยได้ชี้แจงถึงข้อเรียกร้องอังกฤษดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายต่างไม่เห็นด้วยกับอังกฤษ และได้มีมติร่วมกันว่า "รัฐฉานจะไม่ขออยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกต่อไป" เพราะเห็นว่าไม่มีสิทธิตัดสินใจได้ด้วยตนเอง


 


พร้อมกันนั้น ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์จัดตั้งสภาสหพันธรัฐภายในวันนั้น (7 ก.พ.2490) โดยมีตัวแทนเจ้าฟ้า 7 ท่าน และตัวแทนประชาชนอีก 7 ท่านเป็นผู้ลงนาม นอกจากนั้น ในวันนี้ ขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าชาวปะหล่องซึ่งปกครองเมืองน้ำสั่น ทางภาคเหนือรัฐฉาน และเป็นประธานสภาสหพันธรัฐฉานขณะนั้น ได้กำหนดให้พื้นธงสีเหลือง เขียว แดง และวงกลม สีขาว พร้อมด้วยเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของชาวรัฐฉานทั้งมวล และชนชาติในรัฐฉานได้ถือเอาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันชาติรัฐฉานพร้อมจัดงานฉลองทุกปีนับแต่นั้นมา


 


โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2490 ที่ประชุมของตัวแทนเจ้าฟ้าไทยใหญ่ และผู้แทนประชาชนในรัฐฉานได้ก่อตั้งสภาสหพันธ์รัฐเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill People-SCOUHP) ขึ้น มีสมาชิก 18 คน จากไทยใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น ฝ่ายละ 6 คน ซึ่งสภาสหพันธรัฐเทือกเขานี้เองเป็นผู้ลงนามในสัญญาปางโหลงร่วมกับนายพลอองซาน ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เพื่อขอเอกราชจากอังกฤษ


 


พ.อ.เจ้ายอดศึก บันทึกผ่านบทความ "60 ปีวันชาติรัฐฉาน-60 ปีสัญญาปางโหลง : ต้นรากปัญหาในพม่า" ในหนังสือ ก่อนตะวันฉาย "ฉาน" ไว้ว่า "ผู้นำรัฐฉานทั้งไทยใหญ่ คะฉิ่น ฉิ่น ได้จัดตั้งสหภาพเพื่อขอเอกราชจากอังกฤษ และก่อตั้งประเทศของตนมาแต่แรกเริ่ม โดยที่ยังไม่มีฝ่ายพม่าเข้ารวมตัดสินใจใดๆ ด้วยเลย"


 


ซึ่งตัวแทนจากพม่าคือ นายพลอองซาน พร้อมด้วยผู้แทนจากรัฐบาลอังกฤษ นายบ็อตทอมเลย์ (Bottomley) และผู้แทนจากพรรคแรงงานอังกฤษ นายวิลเลียมส์ (Williams) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ได้เข้าร่วมประชุมกับสภาสหพันธรัฐเทือกเขาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แต่มีประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างสภาสหพันธรัฐเทือกเขา และนายพลอองซาน คือ


 


1. ถ้าสภาสหพันธรัฐเทือกเขาร่วมกับพม่าขอเอกราชจากอังกฤษได้เรียบร้อยแล้ว จะมีสิทธิแยกจากพม่า และก่อตั้งประเทศของตนเป็นเอกราชเมื่อใดก็ได้


 


2. คะฉิ่นขอแผ่นดินตัวเอง เพื่อตั้งประเทศเป็นเอกราชของตัวเอง


 


โดยนายพลอองซานไม่ยอมทั้งสองประเด็นนี้ โดยกล่าวว่ายังไม่ทันได้เอกราชก็แยกจากกันไปแล้ว อย่างนี้ไม่สมควร และเตรียมเดินทางกลับในคืนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แต่ผู้แทนประชาชน 7 คนของสภาสหพันธรัฐเทือกเขาขอร้องไม่ให้กลับ โดยการประชุมตกลงกันได้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และข้อเรียกร้องที่ถกเถียงกันบางส่วน จะนำไปดำเนินการให้ยุติในการร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีการลงนามระหว่างนายพลอองซานตัวแทนฝ่ายพม่ากับสภาสหพันธรัฐเทือกเขา ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 คือ "สัญญาปางโหลง"


 


ซึ่งสัญญาปางโหลงนี้เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญสหภาพพม่าในระหว่าง 10 มิถุนายนถึง 24 กันยายนปีเดียวกันนั้นเอง ทำให้บรรดารัฐต่างๆ ที่รวมกันในสหภาพพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2491


 


ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหภาพพม่ามีเงื่อนไขให้รัฐของชนกลุ่มน้อยใช้ "สิทธิแยกตัว" (Right of Secession) ได้ต่อเมื่อหลัง 10 ปี ที่ได้รับเอกราช หากรัฐของชนชาติต่างๆ ในสหภาพพม่าต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกสภาแห่งรัฐนั้นๆ (State of Council) 2 ใน 3 และผู้นำของรัฐนั้นต้องแจ้งให้ผู้นำสูงสุดแห่งสหภาพรับทราบมติให้ผู้นำสูงสุดแห่งสหภาพจัดการลงประชามติขึ้นในรัฐนั้น หากได้รับเสียง 2 ใน 3 จึงจะสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลพม่าอีกที


 


ยังไม่ทันที่นายพลอองซานจะได้พิสูจน์คำมั่นสัญญาว่าจะให้เอกราชกับรัฐฉานและรัฐชนชาติต่างๆ หากต้องการแยกตัวออกจากสหภาพพม่า นายพลอองซานก็เสียชีวิตไปเสียก่อนที่สหภาพพม่าจะได้รับเอกราช โดยเขาเสียชีวิตหลังเหตุการณ์มือปืนบุกกราดยิงระหว่างการประชุมสภาบริหาร (Executive Council) แห่งรัฐบาลชั่วคราว เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 จนออง ซาน และที่ปรึกษาทางบริหารอื่นๆ อีกคน 6 รวมทั้งเจ้าสามตุนแห่งเมืองปอนเสียชีวิต


 


แม้จะครบ 10 ปีตามหลักเกณฑ์ใช้ "สิทธิแยกตัว" ออกจากสหภาพพม่าแล้ว แต่ผู้นำจากรัฐฉานไม่มีโอกาสได้ใช้ "สิทธิแยกตัว" นั้น ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเลย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในพม่าและในรัฐฉานก็ประสบกับความยุ่งยาก รัฐบาลสหภาพพม่าไม่ให้อำนาจชนชาติต่างๆ ได้สิทธิการปกครองอย่างแท้จริง และมีพยายามขยายอิทธิพล ส่งกำลังทหารเข้าไปในชนชาติต่างๆ


 


กระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ.2505 นายพลเนวินได้ทำรัฐประหารยกเลิกรัฐสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ "สิทธิแยกตัว" กับชนกลุ่มน้อย และการรัฐประหารโดยนายพลเนวินครั้งนั้นเอง ได้นำสหภาพพม่าออกจากเส้นทางประชาธิปไตย และมีการสู้รบต่อเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้


 


จึงควรที่เราจะเข้าใจและเห็นใจต่อชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย ที่ถูกละเมิดสัญญาหรือถูกเบี้ยวหน้าตาเฉยจากผู้นำทหารพม่า ดังเช่นพรรคการเมืองของอองซาน ซูจี บุตรีของอองซาน ที่แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้บริหารบ้านเมืองกลับต้องถูกกักบริเวณในบ้านพักของตนเอง (House Arrested) เป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วนั่นเอง


 


 


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  22 เมษายน 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net