Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ธเนศวร์ เจริญเมือง

หมายเหตุ
ชื่อบทความเดิม: เชียงใหม่ 712 ปี (พ.ศ. 1839-2551)

000

6.45 น. เสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

            เส้นทางรอบสี่เหลี่ยมกำแพงเมืองเชียงใหม่ยังมีรถวิ่งไปมาไม่มากนัก อีกไม่กี่วันจะถึงเทศกาลปีใหม่เมือง แต่ทางเท้ารอบคูเมืองด้านถนนมณีนพรัตน์ จากแจ่งหัวลินจนถึงแจ่งศรีภูมิยังก่อสร้างไม่เสร็จ มีกองดิน กองทรายและแท่งซีเมนต์จำนวนมากพร้อมกับรถขุดดินและอุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ บนทางเท้าย่านนี้ตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาย่อมเกิดคำถามขึ้นทั่วไปว่า เขากำลังทำอะไรกัน และดูจากสภาพงาน ทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ 10-11 เมษายนหรือเพราะช่วงนั้นก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวลงเล่นสาดน้ำกันรอบคูเมืองแล้ว

            จากการสำรวจทางเท้ารอบคูเมืองที่ขณะนี้ได้มีการปรับริมฝั่งคูเมืองด้านนอกให้เป็นผนังคอนกรีตเพื่อกันดินถล่มเสร็จแล้ว 3 ด้าน คงค้างด้านเหนือคือถนนมณีนพรัตน์ พบปัญหาและคำถามถึงผู้บริหารเมืองอย่างน้อย 5 ข้อ คือ

            หนึ่ง ขาดการปลูกต้นไม้เพิ่ม ได้แต่ดูแลต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว วิธีการดูแลรักษาต้นไม้บนทางเท้ารอบคูเมืองทั้ง 4 ด้าน ด้วยการเว้นปูกระเบื้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมรอบๆต้นไม้แต่ละต้นโดยส่วนใหญ่มีลักษณะรักษาต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว แต่ขาดลักษณะริเริ่มในแง่ที่ว่าบางช่วงทิ้งระยะห่าง ไม่มีต้นไม้ ก็ไม่มีการเว้นช่องสี่เหลี่ยมไว้เพื่อนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มเติม วิธีการทำงานที่ปรากฏมี 2 ลักษณะคือ มองแบบผู้ก่อสร้างและผู้รักษาต้นไม้ที่มีอยู่ แต่ขาดมุมมองแบบเพิ่มเติมจำนวนต้นไม้ที่มีไม่ครบ จึงมิได้เจาะช่องสี่เหลี่ยมไว้

            มีบางจุดที่มีการเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมไว้และยังไม่มีต้นไม้ในช่องนั้น แต่ส่วนใหญ่ที่พบไม่มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมเพื่อการปลูกต้นไม้เพิ่มเติม

            สอง ดูแลต้นไม้ที่มีอยู่แล้วแบบขอไปที บนทางเท้า 3 ด้านที่ดูเหมือนว่างานจะเสร็จแล้ว เมื่อเข้าไปดูต้นไม้และช่องสี่เหลี่ยมใกล้ๆ พบว่ามีหลายช่องที่ภายในมีแผ่นคอนกรีตและปูนซีเมนต์รอบต้นไม้ แทนที่จะพบดินร่วนหรือต้นหญ้า หรืองานปรับปรุงคุณภาพดินรอบต้นไม้เพื่อช่วยให้รากของต้นไม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

            สาม จากสภาพ 2 ข้อแรกทำให้น่าเชื่อว่าการปรับปรุงทางเท้ารอบคูเมืองเป็นงานด้านเดียวคือเน้นด้านก่อสร้าง แต่ไม่ดึงงานปลูกและดูแลต้นไม้เข้าไปร่วมด้วย การดูแลต้นไม้และการเพิ่มจำนวนต้นไม้อันเป็นงานเชิงรุกจึงขาดหายไป นอกจากนี้ ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหน้าแล้ง ต้นไม้บางชนิดจะผลิดอกสร้างสีสันที่งดงาม เช่น ลมแล้ง (คูน) สีเหลือง, ซอมพอหลวง (หางนกยูง) สีแดง, และส้อหล้อ (ตะแบก) สีม่วงขาว ฯลฯ งานรักษาและดูแลต้นไม้บริเวณรอบคูเมืองทั้งสี่ด้าน ด้านนอกและด้านในควรคิดถึงจุดนี้ด้วยว่า จะปลูกต้นไม้ชนิดใดในบริเวณไหน หรือจะเพิ่มต้นไม้ประเภทอื่น ผลิดอกสีอื่น หรือจะสลับกัน โดยยึดหลักสำคัญ 3 ประการเป็นอย่างน้อย คือ 1.รักษาดูแลต้นไม้ทุกต้นให้ดี 2.เพิ่มจำนวนต้นไม้ให้รอบๆ คูเมืองเขียวชอุ่มตลอดปี และ 3.ต้นไม้ที่ปลูกควรเป็นไม้พื้นถิ่นเพราะดูแลรักษาง่าย ประหยัดงบประมาณ และส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น

            สี่ บนทางเท้าหลายจุดมีขดลวดโผล่ขึ้นมาวางเกะกะ เข้าใจว่าจะเป็นสายเคเบิ้ล แต่เหตุใดจึงไม่จัดการเก็บให้เรียบร้อย กลายเป็นสิ่งกีดขวาง

            ห้า ที่บริเวณแจ่งทั้งสี่ เหตุใดจึงต้องสร้างบันไดและเวทีหลายชั้นรุกเข้าไปในคูเมือง และเหตุใดต้องมีเครื่องยนต์คล้ายๆมิเตอร์ตั้งอยู่ในที่สูง และมีหลังคาคลุม หากว่านั่นคือเครื่องจักรกลที่จะช่วยให้น้ำไหลเวียน ถามว่ามีวิธีอื่นอีกไหมที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวเพราะคูเมืองสร้างมา 700 กว่าปีแล้ว ในอดีตระดับความสูงของพื้นน้ำแต่ละด้านไม่เท่ากันช่วยให้เกิดการไหลของน้ำตลอดเวลา และถามว่าหากจำเป็นต้องเครื่องจักรกลดังกล่าว ทำไมจะต้องตั้งสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นให้โดดเด่นทำลายภูมิทัศน์ของกำแพงเมืองเก่าอย่างสิ้นเชิง

            หก การเอาน้ำพุไปติดตั้งกลางคูเมืองแต่ละด้านเป็นอีกคำถามหนึ่งว่าจะจัดการสิ่งก่อสร้างแบบเก่าและแบบใหม่ให้อยู่ร่วมกันอย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่คูเมืองอันเก่าแก่จะต้องมีน้ำพุ ไปสร้างน้ำพุที่อื่นได้หรือไม่

            เจ็ด กำแพงเมืองมีอายุมากแล้ว เหตุใดจึงปล่อยให้มีการติดป้ายโลหะขนาดใหญ่บนแจ่งทั้ง 4 และปล่อยให้มีการปักธงทิวและป้ายถวายพระพรบนกำแพง ทำไมจะต้องทำความดีเทิดพระเกียรติผู้นำพร้อมๆ กับการทำลายโบราณสถานด้วย เราช่วยกันดูแลรักษาโบราณสถานและติดป้ายปักธงที่อื่นไม่ได้เลยหรือ และเช่นเดียวกัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่เมืองทุกปี จะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยขึ้นไปกระโดดโลดเต้นหรือเดินเล่นกระทั่งเล่นสาดน้ำกันบนกำแพงเมืองที่เก่าแก่ โดยไม่มีใครห้ามปราม และไม่มีตำรวจออกไปจับกุม

            แปด ในอดีต การเล่นสาดน้ำในเทศกาลปีใหม่เมืองทำกันริมน้ำปิงและกลางน้ำปิงโดยเฉพาะบริเวณใกล้สะพานนวรัฐ เนื่องจากที่นั่นมีขบวนแห่ทุกวันระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน และริมฝั่งมีหาดทรายกว้างเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเล่นสาดน้ำ

            กิจกรรมดังกล่าวหายไปในบริเวณนั้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 เนื่องจากมีการขุดลอกทราย น้ำปิงส่งกลิ่นเน่าเหม็นมีปลาลอยตาย ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ระดับประเทศหลายวัน คนหนุ่มสาวที่ชอบเล่นสาดน้ำจึงย้ายกิจกรรมไปที่ถนนรอบคูเมืองด้วยการขนน้ำใส่ถังบนรถปิ๊คอัพแล้วขับวนรอบคูเมือง

            กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะทำให้รถติดอย่างหนัก ยังเผาผลาญน้ำมันอย่างไม่จำเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะหน้าที่ยังหาจุดเล่นสาดน้ำริมฝั่งน้ำปิงไม่ได้ หรือการฟื้นฟูสภาพน้ำปิงยังไม่ประสบความสำเร็จ สมควรอย่างยิ่งที่จะห้ามรถวิ่งรอบคูเมือง หากการเล่นสาดน้ำรอบคูเมืองและห้ามรถวิ่งสร้างปัญหาใหญ่เกินไป ก็อาจปรับปรุงด้วยการกำหนดเวลา เช่นให้มีการเล่นสาดน้ำได้เฉพาะช่วงบ่ายเท่านั้น เป็นต้น

 

000

ผังเมืองรวมเชียงใหม่ 

            ผังเมืองรวมหมายถึงแผนผังและนโยบายการควบคุมการใช้พื้นที่ของเมืองและชนบท ในต่างประเทศ ท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถกำหนดผังเมืองของตนเองโดยมีการปรึกษาหารือกับส่วนกลาง จากนั้น ส่วนกลางก็เป็นผู้ควบคุมแผนผัง ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ ในประเทศไทย ผลของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ผังเมืองถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลาง โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ ท้องถิ่นและหน่วยราชการส่วนภูมิภาคคอยดูแลให้กิจกรรมต่างๆเป็นไปตามแผนผังนั้น ผังเมืองรวมออกเป็นกฎกระทรวงมีอายุบังคับใช้ 5 ปีต่อจากนั้นจึงพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหรือต่ออายุ [1]

            เมื่อ 200 กว่าปีก่อน สังคมตะวันตกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานอพยพเข้าไปกระจุกตัวรอบโรงงานเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างมาก นำไปสู่การปฏิรูปการบริหารจัดการเมืองโดยท้องถิ่น และมีการวางผังเมืองโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น กรณีของไทย รัฐนำการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน จึงรวมศูนย์อำนาจไว้ทุกด้าน อาคารบ้านเรือน ตึกสูงโรงงาน ร้านค้าถูกกำหนดจากกฎหมายผังเมืองของส่วนกลาง จึงเกิดปัญหาขึ้นในท้องถิ่น เช่น ปัญหาหุบเขา ถนนแคบ ทางน้ำไหลจากภูเขา ตึกสูงบดบังวัดและปิดกั้นการไหลเวียนของลม ฯลฯ

            ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2527 ครอบคลุมพื้นที่ 106 ตาราง กม. มีการปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปี 2532 ขยายพื้นที่ออกไปครอบคลุม 429 ตร.กม. ปรับปรุงครั้งที่ 2 ในปี 2542 และขณะนี้กำลังปรับปรุงครั้งที่ 3 สำหรับพื้นที่เท่าเดิมซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง และหลายตำบลของอำเภอสันทราย แม่ริม ดอยสะเก็ด สันกำแพง สารภี และหางดง [2]

            ในการกำหนดที่ดินแต่ละประเภท เช่น สีแดงเป็นเขตพาณิชย์ สีม่วงเป็นเขตอุตสาหกรรม สีเหลืองเขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ฯลฯ ปัญหาผังเมืองที่นับวันจะเป็นปัญหามากขึ้นก็คือ

1.       การกำหนดผังเมืองตัดสินใจโดยรัฐบาล แต่อาศัยการนำเสนอของหน่วยงานส่วนภูมิภาค เพราะต้องดูแลผังเมืองทั้งประเทศ จึงไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ [3]

2.       ครั้นเกิดปัญหาขึ้น (ดังกรณีตึกสูงริมแม่น้ำปิงและใกล้วัดฟ้าฮ่าม) การแก้ไขปัญหาก็ถูกกำหนดโดยรัฐบาลกลางเช่นเดิม จึงแก้ไม่ถูกจุดและใช้เวลานานในการแก้ไขแต่ละครั้ง ทำให้ปัญหาบานปลาย (ดังกรณีตึกสูงในเมืองเชียงใหม่)

3.       ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง เกิดปัญหาผลประโยชน์ขัดกันระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ เกิดโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน แต่ฝ่ายออกใบอนุญาตไม่แจ้งให้ชุมชนทราบ หรือทำผิดกฎหมายบางข้อในการก่อสร้าง ไม่เคยมีการประชุมระหว่างฝ่ายต่างๆ ประชาชนผู้เดือดร้อนไปขอข้อมูล แต่หน่วยราชการไม่ให้ มีการทำผิดกฎหมายบางข้อ เช่น จอดรถกีดขวาง คนในอาคารส่งเสียงดัง ปัญหาขยะ น้ำประปาไม่ไหล อาคารสูงบดบังแสงแดดและการไหลของลม ฯลฯ ฝ่ายหนึ่งต้องการขยายถนน อีกฝ่ายหนึ่งต้องการเก็บพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการสร้างตึกสูง ฝ่ายหนึ่งต้องการให้เป็นเขตที่อยู่อาศัย ไม่ปฏิเสธอาคารสูงแต่ไม่ควรเกิด 3-4 ชั้น อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ 8 ชั้น ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้มีรถยนต์ส่วนตัวจอดริมถนนเต็มไปหมด อีกฝ่ายต้องการให้อาคารสูงมีพื้นที่จอดรถจำกัด โดยอ้างงบประมาณจำกัด อ้างกฎหมายฉบับเก่า ฯลฯ

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 เมืองเชียงใหม่เกิดปัญหาใหญ่คือ ความเห็นที่ขัดแย้งกันเรื่องกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ ปัญหาอาคารสูงริมแม่น้ำ ริมวัดและโบราณสถานและในเขตเมืองเก่า หลายปีมานี้ ปัญหามิได้เกิดเป็นกรณีๆ เช่นอดีต แต่พื้นที่ถึง 3 ย่านกำลังประสบวิกฤตหนัก คือย่านวัดเกต ย่านนิมมานเหมินท์ และย่านซอยวัดอุโมงค์ ย่านแรกอยู่ติดแม่น้ำ มีกลุ่มธุรกิจเข้าไปลงทุนธุรกิจจำนวนมาก เช่นเดียวกับย่านที่สองซึ่งนับวันจะมีลักษณะเป็นย่านเศรษฐีใหม่ ส่วนย่านสุดท้ายซึ่งเคยเป็นผืนป่าบริเวณเชิงดอยสุเทพ สถาบันอุดมศึกษาใกล้ย่านนี้เปิดรับนักศึกษาจำนวนมาก ทำให้กลุ่มทุนสร้างหอพักและโรงแรมซึ่งเป็นอาคารสูงรองรับจำนวนนักศึกษาใหม่ ในพื้นที่จำกัด ถนนมีความกว้างเพียง 6 เมตร และสาธารณปูโภคจำกัด

เมื่อฝ่ายจังหวัดเชิญทุกฝ่ายมาร่วมประชุม วิธีการกำหนดผังเมืองรวมก็ยังคงเดิม ตามกฎหมายเดิม คือ รับฟังความเห็นแล้วส่งความเห็นเหล่านั้นไปให้ส่วนกลางตัดสิน แทนที่จะระดมความคิดเห็นของคนเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองที่ไม่ท่าทีว่าจะหยุดยั้ง และหาข้อสรุปในหมู่คนท้องถิ่นด้วยกันเอง

วิธีการแก้ไขปัญหาเช่นนี้ก็คือการเอาตัวรอดของข้าราชการส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะผู้ว่าฯ รองฯ และฝ่ายโยธาธิการ-ผังเมือง ที่ย้ายทุกๆ 2-3 ปี พวกเขาไม่ต้องการปะทะกับประชาชนซึ่งเป็นชาวบ้านต้องการอยู่อย่างสงบ ไม่ต้องการอาคารสูง และขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการขัดแย้งกับกลุ่มธุรกิจซึ่งทำทุกทางเพื่อหาผลประโยชน์จากการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ และในที่สุด ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไขหลังจากที่ส่วนกลางตัดสินเรื่องผังเมืองรวมฉบับใหม่ในไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่พยายามคิดว่าอะไรคือต้นตอของปัญหาความขัดแย้งตลอด 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา และจะต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านั้นมากขึ้นๆ หากไม่หาทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

 

000

วิกฤตหมอกควันของเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อม

            สภาพที่ท้องฟ้าหม่นมัวตลอดทั้งวัน มองเห็นดอยสุเทพเลือนราง และบางวันวิสัยทัศน์เลวร้าย แทบจะมองไม่เห็นดอยสุเทพ หรือมองไม่เห็นเลยได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการวัดว่าวิกฤตหมอกควันของเมืองเชียงใหม่ในแต่ละวันอยู่ในขั้นไหน ที่น่าตกใจก็คือ สภาพท้องฟ้าหม่นมัวเช่นนี้กลายเป็นเหตุการณ์ปกติเกือบตลอดช่วงฤดูร้อน ขณะที่เพื่อนชาวต่างประเทศของคนเชียงใหม่ที่มาเยือนเมืองนี้ตกใจมากที่มาเห็นสภาพท้องฟ้าเช่นนี้เพราะเขาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และหากย้อนไปถึงช่วงหลายปีที่แล้ว สภาพท้องฟ้าเมืองเชียงใหม่ก็ไม่เคยเป็นเช่นนี้

 ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10) / ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร/เฉลี่ยรอบวัน (พ.ศ. 2551)

 

 วันที่

 เชียงใหม่

 เชียงราย

 แม่ฮ่องสอน

 นครสวรรค์

 16 มกราคม

 72.0

 70.8

 28.5

 n.a.

 24 มกราคม

 107.15

 70.3

 39.9

 n.a.

 6 กุมภาพันธ์

 48.8

 36.4

 25.1

 62.2

 10 กุมภาพันธ์

 87.6

 75.3

 31.5

 54.0

 16 กุมภาพันธ์

 101.8

 49.8

 32.6

 59.8

 19 กุมภาพันธ์

 101.7

 75.6

 27.5

 44.7

 8 มีนาคม

 118.0

 105.2

 55.9

 97.0

 9 มีนาคม

 119.8

 92.9

 63.1

 69.1

10 มีนาคม

 77.4

 71.8

 64.8

 63.0

11 มีนาคม

 76.8

 81.2

 52.4

 84.4

12 มีนาคม

 75.5

 79.8

 49.9

 67.1

13 มีนาคม

 71.9*

 73.5

 49.5

 56.0

14 มีนาคม

 84.2

 88.4

 57.3

 62.3

15 มีนาคม

 103.2

 113.6

 60.2

 74.7

16 มีนาคม

 85.2

 110.5

 68.3

 58.5

17 มีนาคม

 72.2

 110.8

 65.9

 49.6

18 มีนาคม

 102.6

 98.2

 76.5

 54.5

19 มีนาคม

 63.2

 99.6

 69.3

 50.8

20 มีนาคม

 93.0

 110.3

 73.3

 61.0

21 มีนาคม

 99.7

 79.4

 74.2

 49.6

22 มีนาคม

 93.2

 69.1

 94.9

 64.1

23 มีนาคม

 145.7

 117.0

 130.6

 75.2

24 มีนาคม

 206.2

 137.9

 n.a.

 50.6

25 มีนาคม

 91.7

 74.9

 118.4

 55.8

26 มีนาคม

 93.7

 56.0

 106.7

 44.7

27 มีนาคม

 115.3

 88.0

 104.6

 66.0

28 มีนาคม

 89.8

 95.8

 101.8

 52.7

29 มีนาคม

 71.8*

 96.1

 87.2

 55.6

30 มีนาคม

 81.3

 96.4

 108.6

 56.2

31 มีนาคม

 106.2

 100.5

 115.8

 39.1

 1 เมษายน

 62.2

 87.7

 48.1

 42.6

 2 เมษายน

 27.5

 38.8

 20.8

 37.4

ที่มา: www.pcd.go.th ส่วน * หมายถึงวัดปริมาณฝุ่นที่สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่
n.a. หมายถึง ไม่มีข้อมูล (not available)

            สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กมีมากเกินไปตามตารางที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นว่า จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ปีนี้ ระดับปัญหามลพิษทางอากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ต่ำกว่าระยะเดียวกันในช่วงปีที่แล้วอย่างชัดเจน (โปรดดูบทที่ 23 ในเล่มนี้) กล่าวคือสถิติระหว่างวันที่ 1-27 มีนาคม 2550 มีวันที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาด PM10 สูงกว่า 120 ไมโครกรัมถึง 23 วัน เทียบกับปีนี้มีเพียง 2 วัน แต่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีปริมาณระหว่าง 70-120 ไมโครกรัมก็ยังถือว่าเกินค่ามาตรฐานในประเทศตะวันตก (60 ไมโครกรัม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศยังคงเป็นปัญหา แม้ว่าความรุนแรงจะลดลงจากปีที่แล้ว [4]

ือสถิติระหว่างวันที่ ่างจากปีก่อนๆ   ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กชนิดมองด้วยตาเปล่            ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า ผลการทำงานของภาคส่วนต่างๆได้ช่วยให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่สูงเช่นปีที่แล้ว แต่คำถามมีว่าในสภาพของเมืองในหุบเขาที่ปัจจุบันยังมีปัจจัยต่างๆ 9 ข้อ คือ 1. ประชาชนจำนวนไม่น้อยคุ้นเคยกับการเผาขยะและใบไม้มานานและไม่ยอมยุติ 2. การเผาป่ายังมีอยู่ทั้งเกิดจากผู้บุกรุกป่า การล่าสัตว์ การหาพืชผัก ฯลฯ 3. แม้จะมีการประกาศด้วยวิธีการต่างๆ แต่การตรวจสอบ กวดขัน ห้ามปราม และจับกุมลงโทษถือว่ายังไม่จริงจัง ส่งผลให้ข้อ 1 และ 2 ยังคงมีอยู่ 4. การเปิดทางให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกๆด้าน เกิดปัจจัยดูดและปัจจัยผลัก ส่งผลให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาจากทุกสารทิศ ทำให้กิจกรรมต่างๆเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มพูนของมลพิษทุกๆด้าน 5. องค์กรปกครองท้องถิ่นหลายแห่งไม่ยอมจัดเก็บใบไม้และกิ่งไม้โดยถือว่าไม่ใช่ขยะ หรือเห็นว่าขาดงบประมาณ 6. ระบบขนส่งมวลชนที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้ผู้คนใช้ยวดยานพาหนะส่วนตัวมากขึ้น 7. ระบบการบริหารแบบรวมศูนย์, แยกส่วน, ทับซ้อน และหาผู้รับผิดชอบได้ไม่ชัดเจน ทำให้การแก้ไขปัญหาขาดบูรณาการ ขาดความชัดเจนในการรวบรวมปัญหาและหาทางออก และเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญาหาเชิงยุทธศาสตร์ 8. สภาพภูมิศาสตร์คือการอยู่ในหุบเขายังคงเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนไม่ได้ และ 9. ดินแดนรอบๆเมืองเชียงใหม่เป็นหุบเขาเช่นกัน มีป่าเขามากมาย มีปัญหาการเผาป่าต่อไป และต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แตกต่างกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ [5]

            ล่าสุด การใช้ระบบฝนเทียมเพื่อช่วยชะล้างฝุ่นควันจะได้ผลเพียงใด ข้อน่าคิดคือ อาจช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทางจิตใจอย่างมากว่า ปัญหาหมอกควันจะไม่รุนแรง แต่หากมาตรการให้ความรู้ การปลุกจิตสำนึก การป้องกัน แก้ไขและปราบปรามขาดประสิทธิภาพ ระบบฝนเทียมอาจทำให้สังคมเกิดความหย่อนยานในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการและแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ จะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ต่อเนื่อง ไม่ให้ระบบฝนเทียมเหนี่ยวรั้งความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ได้ในระยะยาว

            และล่าสุด (อีกครั้ง) ฝนและพายุที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 30-31 มีนาคมที่ทำให้ตัวเลขปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลงอย่างฮวบฮาบใน 2 วันต่อมา และส่งผลให้คนเชียงใหม่มองเห็นดอยสุเทพได้อย่างชัดเจนในตอนเช้าวันที่ 2 เมษา และเป็นครั้งแรกในช่วงนานนับเดือนที่ท้องฟ้าหลายส่วนมีก้อนเมฆสีขาวและฟ้าสีฟ้าปรากฏขึ้นมา ควรจะทำให้คนเชียงใหม่ต้องไม่ลืม 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก ท้องฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนควรจะเป็นฟ้าที่สดใส ไม่ใช่ท้องฟ้าและภาพดอยสุเทพที่หม่นมัว มองไม่ค่อยเห็น ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดสภาพเช่นนั้นตลอดช่วง 3-4 เดือน ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียง 2-3 ครั้งในช่วง 100 กว่าวัน และเรื่องที่สอง หลังการเกิดขึ้นของฝนและพายุ ตัวเลขปริมาณฝุ่นละอองที่ลดลงมากในช่วง 2-3 วันแรกจะดีดกลับไปเป็นตัวเลขที่สูงเหมือนก่อนหน้านั้นหรือไม่ และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหายไปไหนเมื่อเกิดฝนและพายุ มันถูกกวาดออกไปจากหุบเขา หรือว่ามันเปียกปอนจนวัดไม่ได้ แต่จะกลับลอยขึ้นไปใหม่หลังจากอากาศกลับสู่ภาวะปกติ นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบ และถามต่อเช่นเดียวกับภาวะหลังฝนเทียมว่าดินแดนในหุบเขาจะแก้ไขปัญหาหมอกควันได้อย่างไรโดยไม่ต้องพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอก

            ทั้งหมดนี้ ชี้ให้เห็นปัญหา 3 ส่วนที่เกาะเกี่ยวกัน เริ่มตั้งแต่การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับถนนรอบคูเมืองและเทศกาลสงกรานต์ การวางผังเมืองที่ต้องการเมืองในมุมมองใหม่ และจะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้ได้อย่างไรในระยะยาว

 

000

ทางออกของเมืองเชียงใหม่

            ครบรอบวาระ 712 ปีของเมืองเชียงใหม่ ควรเป็นโอกาสที่ชาวเมือง นักธุรกิจหรือผู้แสวงโชคที่เข้ามาแสวงหารายได้และโอกาส คนมีเงินที่สร้างบ้านไว้ที่นี่แต่นานๆมาหนหนึ่ง ตลอดจนนักท่องเที่ยว จะได้พิจารณาปัญหาของเมืองในเชิงยุทธศาสตร์ นั่นคือ เมืองเชียงใหม่กำลังเกิดวิกฤตยืดเยื้อ (Protracted crises) ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ปัญหาหมอกควันพิษในฤดูร้อน ปัญหาจราจร ปัญหาย่านและชุมชนต่างๆได้รับความเดือดร้อนจากการขยายตัวของภาคธุรกิจ ปัญหาผังเมือง และปัญหาความไม่น่าอยู่เนื่องจากนโยบายรัฐที่ไม่ควบคุมการเติบโตของภาคธุรกิจทุกด้าน

            เมืองก็เหมือนร่างกายของคนเรา แต่ละคนมีขีดความสามารถในการแบกรับปัจจัยภายนอกต่างกัน แต่ขีดความสามารถดังกล่าว (Carrying capacity) ล้วนเกิดขึ้นกับทุกคน คนจะกินข้าวดื่มน้ำในแต่ละวันได้ขนาดไหน จะยกของหนักได้มากขนาดไหน จะทำงานได้นานวันละกี่ชั่วโมง ต้องการการพักผ่อนอย่างน้อยกี่ชั่วโมง และจะสามารถทำงานได้มากเท่าใดในแต่ละวัน และหากต้องแบกรับเกิดขีดจำกัดของตนเอง ร่างกายนั้นหรือเมืองนั้นจะอยู่ต่อไปอย่างไร (Limits to growth)

            เมืองเอกของล้านนาในอดีตได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ และน่าน เป็นศูนย์กลางด้านการปกครอง การทหาร ศาสนา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของล้านนาก็จริง แต่ก็มิได้ใหญ่โตจนถึงขั้นดึงดูดเอาปัจจัยทุกด้านของเมืองอื่นๆ เข้าไป แต่ในห้วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่การโหมกระพือเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2503 การสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทุกๆด้านของล้านนากระทั่งทั่วทั้งภาคเหนือส่งผลให้การพัฒนาระดับภาคขาดความสมดุล เกิดการพัฒนาอย่างไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเป็นลำดับ

            เมื่อเมืองที่อยู่รอบๆ ไม่ได้รับการเหลียวแลมากเท่าเชียงใหม่ ผู้คนในเมืองรอบๆ ก็อพยพมาลงทุน มาเรียนหนังสือ มาจำวัด มาค้าขาย มาขอทาน มาแสวงโอกาสในเมืองที่ได้รับการเหลียวแลสูงสุด คนมีเงินจากเมืองหลวงก็ปรารถนาจะมีบ้านพักในหุบเขา คนหวาดกลัวภาวะโลกร้อน กลัวน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่ง กลัวกรุงเทพฯจะอยู่ใต้ทะเล กลัวภัยสงครามใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็อพยพขึ้นเหนือ จะไปที่ไหนกันเล่า นอกจากเมืองที่ได้รับการอุ้มชูดูแล มีโครงการต่างๆ มากที่สุด

เมื่อทุกมือ ทุกแขนขาและทุกเสียง และทุนต่างๆ มาอยู่ที่นี่ ทุกคนก็ไขว่คว้าหาประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เร่งสร้างโรงแรมและหอพัก สร้างร้านอาหาร ร้านขายของ ตั้งบริษัททัวร์ รีสอร์ท สปา ฯลฯ หมายกอบโกยกำไรเต็มที่ สร้างตึกสูงบนถนนคับแคบ บุกรุกแม่น้ำปิง สร้างตึกสูงบังวัด เอาวิหาร โบสถ์และของวัดไปไว้ในโรงแรมและบ้าน สร้างคาราโอเกะข้างวัด ถมลำเหมืองและทางระบายน้ำสาธารณะ เอาดินประสิวใส่ต้นไม้ใหญ่ริมทาง บุกรุกป่าสงวน เปลี่ยนทุ่งนาเป็นสวนอาหารและบ้านจัดสรร ขนเบียร์เหล้าไปขายริมคูเมืองช่วงสงกรานต์ ฯลฯ ใครจะทำไม

ต้องคัดค้านสื่อมวลชนที่ลงข่าววิกฤตหมอกควัน เดี๋ยวคนจะไม่มาเที่ยวเชียงใหม่ โรงแรมจะไม่มีคนมาพัก สินค้าจะขายได้น้อย นักธุรกิจก็โวยรัฐ เรียกร้องให้รัฐจัดงานเพิ่มเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สถาบันอุดมศึกษาเปิดโครงการใหม่ รับนักศึกษาทั้งภาคค่ำและเสาร์อาทิตย์ เปิดโครงการโท-เอก ปริมาณนิยมครองเมือง คุณภาพการศึกษาเป็นเพียงคำโฆษณา ภาคธุรกิจ้านของเมืองอื่นๆเข้าไป  แต่ในหโห่ร้องต้อนรับ หอพัก ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง ศูนย์การค้า ศูนย์จำหน่ายยานยนต์ ฯลฯ เริงร่า

เชียงใหม่แบกรับผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มพูนได้อย่างไร

ถามว่าแผ่นดินล้านนาที่เป็นดินแดนหุบเขา มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ ครั้นเกิดสภาพการพัฒนาเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน ทุกอย่างกระจุกตัวอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ปัจจัยทุกด้านหนุนเนื่องเข้ามาอย่างรวดเร็วและไม่เคยหยุดยั้ง ส่งผลให้ปัญหาจราจรติดขัดทั้งเมือง ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาหมอกควัน ปัญหาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสิ้นสูญ ปัญหาอบายมุข และนับวันกิจกรรมต่างๆ ของเมืองจะแผ่ออกไปรุกรานที่ดินทำนาทำไร่รอบๆ คนอีกส่วนรุกเข้าไปในเชิงเขา

            วิกฤตของเมืองเชียงใหม่เกิดจากความอ่อนแอของระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่ผูกขาดอำนาจการบริหารจัดการเมืองโดยผ่านจังหวัด อำเภอ ตำรวจ หน่วยราชการส่วนภูมิภาคและหน่วยราชการส่วนกลางรวม 200 กว่าหน่วยที่รุมกันควบคุมเมืองไว้ มีแต่การหาประโยชน์จากเมือง แต่ไม่มีใคร ไม่มีหน่วยงานใดคิดแก้ปัญหาของเมือง การเมืองระดับประเทศขาดความมั่นคง ไม่รู้อนาคต แต่ชอบหวงอำนาจไว้ ไม่ยอมให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ไม่เคยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผู้ว่าฯแต่งตั้งมาดำรงเพียง 1-2 ปีก็ต้องย้าย ไม่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่สั่งสมมากขึ้นอย่างจริงจังและเร่งด่วน ข้าราชการส่วนอื่นๆก็ทำได้เพียงรับคำสั่งและนโยบาย ทำตามหน้าที่ จัดเวลาดูแลธุรกิจและทรัพย์สินของตนเองที่มั่งมีศรีสุขในจังหวัดนี้

ส่วนนายก อบจ. แม้มาจากการเลือกตั้งกลับมีภารกิจที่จำกัด จึงบริหารงบประมาณแบบหาประโยชน์เฉพาะกลุ่มและหาเสียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า โดยที่โครงการต่างๆ ไม่มีผลสำคัญต่อการแก้ไขโครงสร้างและปัญหาหลักๆของเมืองเชียงใหม่ ส่วนนายกเทศมนตรีก็มิได้เป็นตัวแทนของประชาชนในการปกป้องเมืองและชาวเมือง แต่ทำหน้าที่เพียงประสานประโยชน์ให้กลุ่มต่างๆ ปัญหาไหนแก้ไขไม่ได้ก็บอกว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยอื่น

ตกลง ใครคือผู้กุมอนาคตของบ้านเมืองนี้ ฝุ่นควันเต็มเมือง ก็เอาฝนมาไล่ ต่อจากนี้ รถก็จะติดเพราะคนเที่ยวสงกรานต์ คนมีเงินก็หนีไปทะเลหรือเมืองนอก ส่วนที่ดื่มสุราริมคูเมือง ไปกระโดดโลดเต้นบนกำแพงเมือง หรือนุ่งน้อยห่มน้อยเปียกปอนส่ายสะโพกที่ศูนย์การค้าข้างคูเมือง ในพิธีดำหัว ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังจะยื่นมือออกมาให้คนเมืองผู้เป็นข้าทาสรดน้ำจากขันต่อไป ทั้งๆ ที่รณรงค์กันมาหลายสิบปีแล้วว่าเขาไม่รดน้ำกันที่มือ ฯลฯ แล้วทั้งหมดนี้ก็จะเป็นปัญหาเพียงไม่กี่วัน ต่อจากนั้นค่อยจางหายไป มีปัญหาอื่นๆ ที่คั่งค้างกลายเป็นข่าวใหญ่ หมุนเวียนกันไป

            สรุป เมืองเชียงใหม่มีอายุเก่าแก่ถึงเพียงนี้ ควรจะมีอายุสมองที่ปราดเปรื่อง มองเห็นบทเรียนต่างๆ ที่ผ่านมา และหาทางออกได้อย่างถูกต้อง แต่เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันกลับขาดจิตวิญญาณและขาดการลงมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่หมักหมม คนมีอำนาจและมีหน้าที่รับผิดชอบรู้ว่าเมืองนี้ต้องการการผ่าตัดใหญ่ แต่พวกเขากลับคิดถึงผลประโยชน์ระยะสั้น ทุกคนคิดเอาตัวรอด ใครเล่าจะปกป้องเมืองนี้ได้ในระยะยาว ใครจะใส่ใจปัญหาของท้องถิ่นและลงมือแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างมีแผนการ ไม่ใช่สนใจแก้ไขปัญหาเฉพาะระยะสั้นเช่นที่ผ่านมา อันจะทำให้คนรุ่นปัจจุบันและลูกหลานต่อๆ ไปจะต้องเจ็บปวดอีกในปีหน้าและปีต่อๆ ไป เพราะปัญหาที่เรื้อรังจะบั่นทอนคุณภาพชีวิตของชาวเมืองและทำให้ชีวิตของพวกเขาสั้นลง ทำให้เมืองเต็มไปด้วยปัญหา ชื่อเสียงของเมืองที่เคยมีหดหายไป เหลือเพียงอดีตที่รำลึกถึงและอยากกลับไป แต่ปัญหาที่รุมเร้าทำให้ได้แต่คิด ต้องวิ่งไล่แก้พัลวัน ร่างกายและมันสมองก็ยิ่งอ่อนล้าลงเป็นลำดับ

712 ปีแล้ว คนเชียงใหม่ตื่นเสียที.

2 เมษายน 2551

 

เชิงอรรถ

[[1]] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, การผังเมืองกับการปกครองท้องถิ่น. เชียงใหม่: โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น, คณะสังคมศาสตร์ มช. ตุลาคม 2539

[2] ข้อมูลจากกลุ่มงานวิชาการผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 31 มีนาคม 2551

[3] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, อ้างแล้ว, หน้า 16-19

[4] โปรดดูเอกสารประกอบ เชียงใหม่ปริทัศน์ "เชียงใหม่ เมืองในหมอกควัน" ปีที่ 8 ฉบับที่ 84 เมษายน 2550; ฉบับพิเศษ ว่าด้วยหมอกควัน เมษายน 2550; และ "วิกฤตหมอกควันเชียงใหม่ ป้องกันได้แต่ไม่ได้ทำ" ปีที่ 9 ฉบับที่ 95 กุมภาพันธ์ 2551

[5] โปรดดู รศ.ดร.นพ. พงษ์เทพ วิวรรธนะเดช, สรุปบทเรียนการจัดการปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ. เชียงใหม่: ศูนย์ประสานข้อมูลปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ. ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์, มช. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net