Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม


โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา


 


 


 


 



 


ธิดาทั้ง 7


 


....เสียงเพลงกระหึ่ม ประกอบภาพสาวน้อยใหญ่ในชุดจิ๋วตัวชุ่มโชก ส่ายสะบัดท่ามกลางสายน้ำ ร่ายมนตร์เร้าจิตรัดใจผู้พบเห็น แม้อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน "ระเบียบ- รัฐ- รัตน์" ไปบ้าง แต่ทุกวันนี้ การร่ายระบำของเหล่าหมาป่าไคโยตี้ กลับได้รับความนิยม จนกลายเป็นสีสัน เป็นกิจกรรมชั้นแม่เหล็ก สำหรับความรื่นเริงในวันสงกรานต์โดยเฉพาะบนลานน้ำเมา


 


แม้อาจกล่าวไม่เต็มปากว่า ไคโยตี้ ได้คืบคลานมาขโมยซีนจากเหล่า "สาวงามอย่างไทย" ที่สวมใส่อาภรณ์ประจำชาติ เยื้องกรายด้วยท่าทางเรียบร้อย ในฐานะตัวแทนธิดาทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหม ซึ่งพบเห็นได้ในริ้วขบวนแห่ หรือเวทีการประกวดนางสาวสงกรานต์นั้น แต่กรณี "ขุนสังขานต์" คติความเชื่อดั้งเดิมของคนล้านนาที่หลายฝ่ายมุ่งหวังฟื้นฟูความหมายและคุณค่าในแบบฉบับคนเมืองขึ้นมาให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้ศึกษาเรียนรู้ ย่อมต้องผ่านโจทย์สุดหิน เพื่อขอแบ่งพื้นที่ความเข้าใจในประเพณีสงกรานต์ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เราต่างเคยชิน และกระแสใหม่ที่ไหลบ่า


 


 


 



 


ขบวนแห่พระ


 



 


สำหรับ คนเมือง หรือ คนพื้นเมือง ในแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบน ก่อนที่จะคุ้นเคยกับคติความเชื่อของรัฐบาลส่วนกลาง หรือเสี้ยวส่วนหนึ่งของการเต้นรำในชาติตะวันตกนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวล้านนารับรู้กันมานานว่า คติความเชื่อล้านนา หาใช่เรื่องราวของการถามตอบระหว่างธรรมปาลกุมารกับท้าวกบิลพรหม จนนำไปสู่การหมุนเวียนทำหน้าที่ของ 7 ธิดาที่ต้องแห่เศียรของท้าวกบิลพรหมไปรอบจักรวาล หากแต่เป็นเรื่องราวเหล่าเทวดาที่มาต้อนรับขุนสังขาร หรือที่ผู้รู้เรียกกันว่า ขุนสังขานต์ หรือ ขุนสังกรานต์ ในฐานะเป็นบุคลาธิษฐานว่าหมายถึงพระอาทิตย์ ที่เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งนับเป็นวันแรกของประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือที่เรียกว่าวันสังขารล่อง


 


ในวันนี้ ตามประเพณีโบราณครั้งอดีตกาล กษัตริย์ที่ปกครองล้านนารวมถึงเจ้าใหญ่นายโต จะสรงน้ำ โดยหันหน้าไปตามทิศที่โหรหลวงคำนวณไว้ และจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำ แต่สำหรับเหล่าประชาสามัญชน คติความเชื่อและรายละเอียดของธรรมเนียมปฏิบัติในวันสังขารล่องอาจมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อยตามพื้นที่


 


โดยทั่วไปในวันสังขารล่อง บรรดาคนเมืองจะตื่นก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แม่บ้านจะนึ่งข้าว ส่วนพ่อบ้านและลูกหลานจะช่วยกันกวาดลานบ้านแล้วจุดไฟเผาขยะเศษใบไม้ หรือจุดประทัดยิงปืนขึ้นฟ้า ด้วยมีความเชื่อว่าเพื่อเป็นการไล่เสนียดจัญไร สิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้ายให้ไปกับสังกรานต์ และถือเป็นการส่งท้ายศักราชเก่า หรือส่งท้ายปีเก่า หรือชาวล้านนาบางรายเชื่อว่าช่วงเช้ามืดของวันนี้ "ปู่สังกรานต์ ย่าสังกรานต์" จะนุ่งด้วยผ้าแดง สูบกล้องยาเส้น สยายผม สะพายย่ามขนาดใหญ่ ถ่อแพล่องไปตามลำน้ำ เป็นต้น


 


เจริญ มาลาโรจน์ หรือ มาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์ชาวล้านนา บอกเล่าว่า ในตอนเช้ามืดของวันสังขานต์ล่อง เด็กๆ ที่บ้านดอย ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย จะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อมาคอยดูปู่สังขาร ย่าสังขารที่จะยกขบวนแห่งแหนกันมาบนฟ้า ไม่ได้ล่องมาตามลำน้ำเพราะในพื้นที่ต.เมืองพานไม่มีลำน้ำใหญ่ไหลผ่าน ปู่สังขารจะนุ่งชุดดำ หาบกระบาย กระบุงพะรุงพะรังมากันเป็นเส้น เราต้องกวาดขยะมากองรวมกันแล้วจุดไฟเผา เพื่อให้ปู่สังขารย่าสังขารรับเอาสิ่งที่ไม่ดี ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไปเททิ้งที่แม่สมุทรทะเลหลวงที่อยู่ไกลโพ้น เพื่อให้สิ่งไม่ดีต่างๆ ไม่กลับมาหาเราอีกเพราะมันทวนน้ำมาไม่ได้ แต่หากใครไม่ตื่นเช้า ไม่กวาดขยะ ความชั่วร้ายต่างๆ ก็จะหมักหมมอยู่กับเราตลอดไป


 


ขณะที่หนังสือเล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม ของฝอยทอง (สมบัติ) สมวถา อธิบายว่า เช้ามืดของวันสังขานต์ล่อง ทุกครัวเรือนจะเก็บผ้าห่ม มุ้ง ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้าไปซักที่แม่น้ำ ผู้ใหญ่จะปลุกลูกๆ ให้ไปซักผ้า โดยออกอุบายว่า จะพบปู่สังขารย่าสังขารถ่อแพล่องมาตามลำน้ำ รวมถึงช่วยกันเก็บกวาดขยะตามบ้าน ช่วงสายๆ จะช่วยกันเก็บกวาดบ้านเรือน ขนข้าวของที่ชำรุดไปทิ้ง เอาฟูกหมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ออกตาก ส่วนช่วงบ่ายมักจะชำระร่างกายให้สะอาด สระผม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ผู้หญิงก็จะเหน็บดอกไม้อันเป็นนามปี หรือเป็นพญาดอกไม้ของปีนั้นๆ เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม การไล่สังขารแบบชาวบ้านนั้น มีคำอธิบายว่าการไล่คือการส่งไปให้พ้น ส่วนสังขารคือส่วนที่มาปรุงแต่ง หรือมาประกอบกันแล้วเป็นสิ่งต่างๆ อายุคนเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังขาร การไล่สังขารตามนัยนี้จึงเจาะจงไปที่อายุ เพราะเดิมคนเมืองไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ก็จะนับอายุเมื่อมีการเปลี่ยนปี ดังนั้นเมื่อปีใหม่เมืองมาถึงแต่ละครั้งจึงเท่ากับเป็นการเตือนตนว่าเราโตขึ้นอีก 1 ปี หรือแก่ร่วงโรยราอีกปี ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักไตรลักษณ์ในพุทธศาสนา (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) กล่าวคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ความหนุ่มสาว ความสวยงาม ความแข็งแรงจะยึดถือไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลง จากเด็กสู่วัยชราและอีกไม่นานเราก็ต้องจากโลกนี้ไปในที่สุด


 


ในอีกด้านหนึ่ง วันสังขานต์ล่อง และการมาเยือนของขุนสังขานต์ ยังผูกโยงกับการทำนายโชคชะตาอีกด้วย อาทิ สารานุกรมไทยภาคเหนือ เล่มที่ 13 ระบุถึงความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันสังขารล่อง ซึ่งในปีนี้ (2551) ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายนว่า ขุนสังกรานต์จะขี่นาค มือซ้ายถือค้อนเหล็ก มือขวาถือปืน มุ่งหน้าจากทิศตะวันออกไปสู่ตะวันตก มีนางสิริเป็นผู้รับ ทำนายว่าปีนี้ฝนจะตกดีต้นปี ปลายปีฝนจะแล้ง ไม้ยางขาวเป็นใหญ่กว่าไม้ทั้งหลาย ลาจะเป็นใหญ่ นกยูงเป็นใหญ่ คนเกิดวันอังคารจะมีเคราะห์ คนเกิดวันศุกร์จะมีโชคลาภ ของเหลือของขาวจะแพง ของแดงจะถูก ปีนี้ดำหัว (สระผมในวันสังขานต์ล่อง) ให้หันหน้าไปทางตะวันตกจะอยู่ดีมีสุข


 


ขณะที่สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ทำนายว่า สังขารล่องวันอาทิตย์ มีชื่อว่า ทวารสสังการนต์ ปีนั้นข้าวจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ ไข้เจ็บหัวปวดท้อง สังกรานต์ขี่นาคขี่รถไปยามอังคาร มือหนึ่งถือแก้วมือหนึ่งถือผาลา จากหนอีสานไปสู่หนปัจจิม นางสงกรานต์ผู้มารับยืนไปมีชื่อว่า นางแพงศรี (ทุงษะเทวี) ปีนั้นช้าจักแพงมากนัก คนทั้งหลายจักเป็นพยาธิ ไข้เจ็บหัวปวดท้อง ข้าศึกจักเกิดมีกับบ้านเมือง แมงบ้งจักลงกินพืชไร่ข้าวนามากนัก ฝนตกบ่ทั่วเมือง จักแพ้สัตว์ 2 ตีน 4 ตีน จักตายด้วยห่าด้วยพยาธิ คนทั้งหลายมักเป็นตุ่มเป็นฝีแผล จักแพ้ผู้ใหญ่ คนมั่งมีเศรษฐีจักฉิบหาย หมายเกลือจักแพง ไม้ยางเป็นใหญ่แก่ไม้ทั้งหลาย ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่ สัตว์ 4 ตีนจักแพง ผู้เกิดวันพุธจักมีเคราะห์ ผู้เกิดวันเสาร์จักมีโชคลาภ


 


ข้อมูลบางประการของวันสังขานต์ล่อง และขุนสังขานต์ ที่หยิบยกมาบอกเล่า จึงสะท้อนเรื่องราวที่ผูกโยงกับวิถีชีวิตของคนเมืองในหลายมิติ ดังนั้นสงกรานต์หรือประเพณีปี๋ใหม่เมืองคราวนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นชาวเหนือ หรือผู้แวะเวียนมาเยือนแดนดินถิ่นล้านนา หากได้พบชายหนุ่มรูปร่างสำอางขี่หลังนาคท่ามกลางขบวนสงกรานต์ ก็หวังว่าท่านจะพบจุดเชื่อมโยงระหว่างความคิดความเชื่อของตัวท่านเองกับระบบคุณค่าคติของคนเมือง ที่ต้องการยืนอยู่เคียงข้างกับสิ่งใหม่ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นไคโยตี้ นางสงกรานต์ หรือขุนสังขานต์ ทั้งหมดต่างเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของผู้คนในสังคม ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้จะเป็นพลังได้เมื่อเรามองและตอบโต้อย่างเข้าใจ.


 


 


บทความย้อนหลัง
บทความชุด "องค์ความรู้ปีใหม่เมือง" ตอนที่ 1 "ปี๋ใหม่เมือง" กับสมดุลในสมการ "สงครามน้ำ", ประชาไท, 1 เม.ย. 2551


บทความชุด "องค์ความรู้ปีใหม่เมือง" ตอนที่ 2 รู้จักปีใหม่เมือง สงกรานต์ล้านนา, ประชาไท, 8 เม.ย. 2551


บทความชุด "องค์ความรู้ปีใหม่เมือง" ตอนที่ 3 สะป๊ะขนมปี๋ใหม่เมือง, ประชาไท, 12 เม.ย. 2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net