รายงาน : 54 ความตายในตู้คอนเทนเนอร์ และอีกมากความตายที่ชายขอบ


หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม : 54 ความตายในตู้คอนเทนเนอร์ และอีกมากมายความตายที่ชายขอบ

 

 

อดิศร เกิดมงคล

International Rescue Committee (IRC)

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

Peaceway Foundation (Burma Issues)

 

 

 

Thingyan

เธอบอกฉันว่าจะข้ามไปเมืองไทย

เก็บเงินหางาน ส่งให้พ่อแม่

เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบาก เวลาถูกเรียกเก็บเงินจากทหารอีก

เพื่อให้ที่บ้านมีอยู่มีกิน

 

Thingyan

เธอจากไปตอนกำลังใกล้สงกรานต์ทุกที

ดอก Padauk บานแล้ว

สายน้ำไหลเย็น กระทบต้องกาย

เสียงหัวเราะร่าเริง เธอจะได้สัมผัสมันไหม

 

Thingyan

ข่าวจากอีกฟากฝั่ง

เพื่อนเราล้มตายขณะเดินทางไปทำงาน

ฉันยังเป็นห่วงเธอเสมอ หวังว่าเธอคงไม่ใช่ผู้โชคร้าย

ฉันรู้ ว่าฉันได้แต่หวัง

 

Thingyan

หวังว่าสงกรานต์ปีนี้ของเธอที่เมืองไทย

คงจะชุ่มเย็นสำหรับเธอนะ

 

 

 

9 เมษายน 2551 เกิดเหตุการณ์ชวนให้ตระหนกสำหรับสังคมไทยที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่นที่ไม่ถูกกฎหมายของแรงงานข้ามชาติระดับล่าง มีการพบศพแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจำนวน 54 คน เป็นชาย 17 คน และหญิง 37 คน รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีก 21 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งหมด 121 คน ในรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0619 ระนอง ของบริษัทรุ่งเรืองทรัพย์ที่ดัดแปลงเป็นรถตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น

 

แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้มีนายหน้าพาลักลอบเดินทางมาจากแพปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง เพื่อเดินทางไปทำงานที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ระหว่างที่รถได้แล่นมาถึงบริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง พบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต่างเบียดเสียดอย่างแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศหายใจนานกว่า 1-2 ชั่วโมง ทำให้คนขับรถคือนายสุชล บุญปล้อง ต้องหยุดรถและหลบหนีความผิดไปในที่สุด

 

กรณีนี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรก และไม่ใช่เหตุการณ์สุดท้ายสำหรับการย้ายถิ่นข้ามชาติ ที่ไม่ปลอดภัยเช่นนี้ หากย้อนหลังไปเพียง 2 ปี (2549-2551) ที่ผ่านมา พบว่าได้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศไทยมาแล้วอย่างน้อยถึง 14 ครั้ง (ที่สามารถตรวจสอบได้) มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิต 106 คน บาดเจ็บ 149 คน สูญหาย 15 คน

 

 

ย้อนรอยเส้นทางความตาย : ระหว่างลักลอบเดินทางกับหลบหนีตำรวจ

 

19 มีนาคม 2551 จังหวัดอุบลราชธานี: รถแหกโค้ง แรงงานลาวตาย 9 คน บาดเจ็บ 13 คน

บนถนนสายเขมราฐ-ตระการพืชผล บ้านทรายพูล ต.ขามป้อม อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เกิดอุบัติเหตุรถปิคอัพยี่ห้อมาสด้า สีบรอนซ์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งกำลังพาแรงงานชาวลาวไม่ถูกกฎหมายจากบ้านนางลาว เมืองละครเพ็ง แขวงสาละวัน สปป.ลาว รวมทั้งหมด 22 คน ลักลอบเข้าไปทำงานที่ร้านอาหารและรับจ้างทั่วไปที่กรุงเทพมหานคร ขณะคนขับรถขับมาตามถนนสายดังกล่าวซึ่งเป็นทางโค้ง ปรากฏว่ารถได้เสียหลักพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน และได้รับบาดเจ็บ 13 คน

 

26 มกราคม 2551 จังหวัดนครพนม: เรือล่มในแม่น้ำโขง แรงงานชาวเวียดนามตาย 3 คน สูญหาย 15 คน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2551 ประมาณตี 2 ที่บริเวณบ้านบัว หมู่ 4 ต.ดงขวาง อ.เมือง จ.นครพนม อยู่เยื้องกับบ.หนองดินจี่ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มกลางแม่น้ำโขงทำให้แรงงานหญิงชาวเวียดนามจำนวน 3 คนเสียชีวิต แรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ลักลอบไปทำงานที่กรุงเทพมหานครและนครปฐม ซึ่งกำลังจะเดินทางกลับประเทศเวียดนามที่ จ.วินห์ฮาตินห์ และเงอาน เพื่อไปร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนกับญาติพี่น้อง พร้อมกับเพื่อนแรงงานชาวเวียดนามที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอีก 23 คน เป็นหญิง 10 คน ชาย 13 คน ได้เดินทางมาลงเรือข้ามแม่น้ำโขงที่ฝั่งนครพนม แต่เรือเกิดล่มเพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน จนทำให้แรงงานสูญหายไปถึง 15 คน

 

17 มกราคม 2551 จังหวัดกาญจนบุรี: เรือล่มในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ตาย 7 คน

เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2551 พบศพแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจากพม่าจำนวน 7 คน ลอยอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ บริเวณบ้านทุ่งม้าเหาะ หมู่ 2 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน และเด็กอีก 2 ศพ ตำรวจสันนิษฐานว่าแรงงานกลุ่มนี้น่าจะใช้เส้นทางหลบหนีเข้าเมืองทางน้ำ เพื่อหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารและตม.ที่ตั้งด่านตามเส้นทางสัญจรทางบกทุกสาย ทำให้ขบวนการลักลอบพาแรงงานไม่ถูกกฎหมายที่โดยปกติมีการลักลอบเข้ามาทางชายแดนด้านอ.สังขละบุรีหรืออ.ทองผาภูมิ ที่ใช้การเดินเท้าหรือรถยนต์ผ่านเส้นทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรต้องหันมาใช้เส้นทางเรือผ่านอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์แทน ประกอบกับการเดินทางในช่วงกลางคืนซึ่งคนขับเรือไม่ชำนาญทางทำให้ชนตอไม้ใต้น้ำจนเรือล่มในที่สุด

 

22 ธันวาคม 2550 จังหวัดระนอง: เรือล่มในทะเลอันดามัน ตาย 22 คน

ที่บริเวณทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะช้าง หมู่ที่ 2 ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง ใกล้ชายแดนน่านน้ำพม่า ห่างจากฝั่ง จ.ระนอง ประมาณ 20 กม. ได้พบศพแรงงานข้ามชาติจากพม่าลอยอยู่ในทะเลอันดามันจำนวน 22 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 7 คน เด็ก 4 คน จากจำนวนแรงงานที่เดินทางจากเกาะสอง ประเทศพม่ามายัง จ.ระนอง รวมทั้งหมด 50 คน ซึ่งเรือประมงที่ลักลอบพาแรงงานหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมายได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงในทะเลอันดามัน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวในทะเลเกิดคลื่นลมแรงพัดเรือไปกระแทกกับโขดหินทำให้เรือที่บรรทุกคนมาเต็มลำเกิดล่มลง ซึ่งช่วงเกิดเหตุอยู่ในช่วงกลางคืนไม่มีใครเห็นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

16 ธันวาคม 2550 จังหวัดสระแก้ว: ขับด้วยความเร็วสูง พลิกคว่ำข้างทาง ตาย 1 คน บาดเจ็บ 13 คน

ที่บริเวณถนนบายพาส ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะทะเบียนบห 496 ชลบุรี ซึ่งนำพาแรงงานข้ามชาติชาวเขมรจำนวน 14 คน ซึ่งพามาจากตลาดเชไทย ตรงข้ามตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อลักลอบเดินทางไปทำงานที่ จ.ชลบุรี เมื่อมาถึงบริเวณดังกล่าว คนขับรถได้ขับด้วยความเร็วสูงประกอบกับยางล้อหน้าด้านขวาเกิดระเบิดทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ จนทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 13 คน

 

25 พฤศจิกายน 2550 จังหวัดเพชรบุรี: หนีตำรวจตกคลอง ตาย 6 คน บาดเจ็บ 14 คน

นายสมจิต สุทธานันทน์ อยู่บ้านเลขที่ 48 /14 หมู่ที่ 1 ต.บางบอน อ.เมือง จ.ระนอง ได้ขับรถกระบะอีซูซุตอนครึ่ง สีบรอนด์ทอง ป้ายแดงทะเบียน จ-9169 กรุงเทพฯ พาแรงงานข้ามชาติจากพม่ามาจาก จ.ระนอง ประมาณ 20 คน เพื่อไปทำงานที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อรถได้ขับมาถึงบริเวณจุดสกัดบนถนนเพชรเกษมฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ คนขับจึงได้ขับรถหลบหนีตำรวจไปตามถนนเลียบคลองชลประทานสายเขื่อนเพชร -หนองจอก และเสียหลักตกลงไปในคลองชลประทานบริเวณหมู่ที่ 7 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พบแรงงานเสียชีวิต 6 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน และเด็กชายอายุประมาณ 5 ขวบ อีก 2 คน และมีแรงงานบาดเจ็บอีก 14 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 3 คน เด็กชาย 2 คน เด็กหญิง 2 คน

 

29 ตุลาคม 2550 จังหวัดชลบุรี: หนีตำรวจ จมน้ำตาย 1 คน

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เข้าไปตรวจสอบแรงงานข้ามชาติที่ได้เข้ามาประกอบอาชีพประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี บริเวณสะพานจอดเรือประมง อู่ต่อเรือเขาสามมุข ภายในซอยถนนรอบเขาสามมุข เขตเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งในพื้นที่นั้นมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายทำงานอยู่ เมื่อพวกเขาพบเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจึงเกิดความหวาดกลัว และได้กระโดดน้ำหนีไป แต่เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวแรงทำให้แรงงานบางคนเป็นตะคริวและเสียชีวิต 1 คนในที่สุด

 

17 มิถุนายน 2550 จังหวัดปราจีนบุรี: รถพาแรงงานเขมรถูกไล่ยิงพลิกคว่ำ ตาย 2 คน บาดเจ็บ 22 คน

บริเวณถนนสายปราจีนบุรี-จันตคาม กิโลเมตรที่ 5-6 บ้านหนองกระจับ หมู่ 7 ต.ดงพระราม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะโตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ ทะเบียน บฉ 2138 สระแก้ว ซึ่งพาแรงงานชาวเขมรจำนวน 26 คน มาจากตลาดโรงเกลือเพื่อจะไปทำงานที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ได้ชนเข้ากับเสาไฟฟ้าข้างทาง เนื่องจากระหว่างทางที่ขับมาถึง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี มีรถกระบะ 2 คันขับมาตามหลังและส่งสัญญาณไฟให้จอดแต่คนขับกลับขับหนี กระทั่งก่อนถึงจุดเกิดเหตุคนบนรถกระบะที่ตามหลังมายิงปืนมายังรถหลายนัด คนขับจึงเร่งเครื่องเร็วขึ้นกว่าเดิมจนเสียหลักแหกโค้งทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 2 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 22 คน

 

14 มิถุนายน 2550 จังหวัดตาก: หลบหนีตำรวจ บาดเจ็บ 25 คน

นายผดุงเกียรติ ผันอักษร อายุ 29 ปี บ้านเลขที่ 395 หมู่ที่ 1 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิซิ แวน รุ่นจีวากอน สีขาว หมายเลขทะเบียน กข 8173 ตาก พาแรงงานข้ามชาติจากพม่าจำนวน 30 คน มาจากตลาดริมเมย ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยแรงงานต้องจ่ายเงินให้นายหน้าคนละ 13,000 บาท เมื่อขับมาถึงบริเวณด่านตรวจตรงบ้านห้วยนึ่ง ต.แม่ท้อ เส้นทางตาก-แม่สอด คนขับกลัวความผิดจึงได้ขับรถหลบหนีออกไปตามเส้นทางหมู่บ้านบ้านคลองเชียงทอง หมู่ที่ 2 ต.ประดาง กิ่ง อ.วังเจ้า จ.ตาก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงออกติดตามจับกุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ติดตามไปจนถึงทางแยกเข้าหมู่บ้าน รถคันดังกล่าวได้หักเลี้ยวเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทาง ทำให้มีแรงงานจากพม่า จำนวน 25 คน อายุระหว่าง 15-30 ปี ได้รับบาดเจ็บ

 

8 มิถุนายน 2550 จังหวัดตาก: หนีตำรวจ ประสานงารถพ่วงบรรทุกน้ำมัน ตาย 10 คนบาดเจ็บ 5 คน

นายวุฒินันท์ รักษ์นทีทอง อยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ 7 ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ขับรถกระบะนิสสันฟรอนเทียร์ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน บฉ 119 ตาก นำแรงงานข้ามชาติจากพม่าจำนวน 14 คน ที่นั่งเบียดกันอยู่ที่กระบะด้านหลังและในแค็บ เดินทางจาก อ.แม่สอดมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ประสบอุบัติเหตุที่บริเวณหลักก.ม.17-18 ถนนสายตาก-แม่สอด ต.แม่ท้อ หรือที่เรียกกันว่าดอยรวกซึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขาสูงชัน ได้ชนกับรถพ่วง 22 ล้อบรรทุกน้ำมัน ยี่ห้อสแกนเนีย หมายเลขทะเบียน 70-3088 นครสวรรค์ ของ หจก.โน้ตน้องแนนทรานสปอร์ต เนื่องจากระหว่างทางได้เจอด่านตำรวจทางหลวงบริเวณ กิ่งอ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร ทำให้คนขับตัดสินใจหลบหนีไปตามเส้นทางสายตาก-แม่สอด ซึ่งในขณะนั้นได้มีรถพ่วงบรรทุกน้ำมันวิ่งสวนทางมา แต่คนขับรถหักหลบไม่ทันเลยชนกับรถพ่วง จนทำให้มีแรงงานเสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บสาหัสอีก 5 คน

 

5 พฤษภาคม 2550 จังหวัดกาญจนบุรี: รถพาแรงงานข้ามชาติชนกันเอง ตาย 4 คน

บริเวณถนนสายกาญจนบุรี-บ้านเก่า หมู่ 1 ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้เกิดอุบัติเหตุรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าไมตี้เอ็กซ์ สีน้ำเงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ที่พาแรงงานข้ามชาติชาวมอญมาจากแนวตะเข็บชายแดนบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง ได้พลิกคว่ำจนมีแรงงานเสียชีวิต 4 คน เป็นหญิง 1 คน ชาย 3 คน จากแรงงานทั้งหมด 20 คน เนื่องจากคนขับได้ขับมาด้วยความเร็วสูง เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจค้นประกอบกับบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้ง มีหมอกหนา จึงทำให้ไปชนท้ายรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ สีดำ ทะเบียน กง 8501 กาญจนบุรี ซึ่งเป็นรถอีกคันหนึ่งที่พาแรงงานข้ามชาติมาพร้อมกัน จนรถคันดังกล่าวกระเด็นตกลงไปข้างทางจนมีผู้เสียชีวิตในที่สุด

 

23 มีนาคม 2550 จังหวัดกาญจนบุรี: รถพาแรงงานข้ามชาติส่งกลับ เบรคแตกพลิกคว่ำ บาดเจ็บ 11 คน

เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุหมายเลขทะเบียน 10-1844 สมุทรสาคร ที่บรรทุกแรงงานข้ามชาติจากพม่ามาจากด่านตรวจคนเข้าเมืองกาญจนบุรี จำนวน 29 คน เป็นชาย 17 คน หญิง 12 คน ได้เกิดเบรคแตกจนพลิกคว่ำ ขณะนำแรงงานข้ามชาติผลักดันออกนอกประเทศด้านด่านเจดีย์สามองค์ โดยรถดังกล่าววิ่งมาตามเส้นทางสายสังขละบุรี-ด่านเจดีย์สามองค์ ก่อนถึงด่านตรวจราว 200 เมตร รถเกิดเบรคแตกจึงเสียหลักพลิกคว่ำ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 11 คนเป็นชาย 4 คนหญิง 3 คน

 

23 ตุลาคม 2549 จังหวัดสิงห์บุรี: เมาสุรา ขับความเร็วสูง พุ่งชนรถบรรทุกที่จอดเสียข้างทาง ตาย 5 คน บาดเจ็บ 30 คน

เกิดเหตุการณ์รถกระบะทะเบียน บท 5605 กำแพงเพชร ที่นำแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมายจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตากไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยเสียค่าใช้จ่ายให้นายหน้าคนละ 5,000 บาท ได้ประสบอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุก 18 ล้อ ยี่ห้อฮีโน่ สีขาว ทะเบียน 81-4854 กำแพงเพชร ซึ่งบรรทุกแร่มาเต็มคันรถได้จอดเสียอยู่ที่ริมถนนสายเอเชีย กม.ที่ 156-157 หมู่ 3 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 15 คน และเด็ก 2 คน จากจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 43 คน เนื่องจากคนขับรถขับด้วยความเร็วสูงประกอบกับดื่มสุรามาตลอดทาง

 

2 พฤษภาคม 2549 จังหวัดสระแก้ว: หนีตำรวจ บาดเจ็บ 16 คน

บริเวณตลาดโรงเกลือ ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้มีตำรวจจากกองปราบฯเข้าตรวจสอบขบวนการลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศ พบรถปิกอัพนิสสันบิ๊กเอ็ม สีเขียว ทะเบียน บฉ 1835 ยโสธร ที่มีลักษณะผิดปกติ ตำรวจจึงเข้าไปตรวจสอบแต่คนขับรถคันดังกล่าวได้ขับหลบหนีไป ขณะรถแล่นมาถึงทางแยกเข้าทางลัดสาย อ.วัฒนานคร-อ.คลองหาด รถคันดังกล่าวได้เสียหลักพลิกคว่ำลงข้างทาง ทำให้แรงงานชาวเขมรจำนวน 16 คน เป็นชาย 12 หญิง 4 ที่กำลังจะลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานที่ตลาดรุ่งเจริญ ย่านสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ ได้รับบาดเจ็บทุกคน

 

ความตายที่ถูกกำหนดตั้งแต่ต้นทาง

หลังจากเกิดเหตุการณ์ 54 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ หยิบหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับขึ้นมาอ่าน เรื่องราววนเวียนอยู่แค่เพียงไม่กี่ประเด็น

(1)    เป็นเรื่องของกระบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ หากินกับแรงงานต่างด้าว

(2)    ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเจ้าของรถมรณะ

(3)    พิพากษาจำคุกแรงงานพม่าผู้รอดชีวิตจากรถห้องเย็นคนละ 2 เดือนปรับคนละ 2,000 บาท

(4)    ประเทศพม่ามีปัญหาภายใน ชาวพม่ามีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบากจึงหนีร้อนมาพึ่งเย็น อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยก็ไม่สามารถหาคนไทยมาทำงานได้

 

...เขาจะรู้บ้างไหม? บางเรื่องราวหายไปไม่ปรากฎและสำคัญกว่ายิ่งนัก...

 

สำคัญกว่าตัวเลขของผู้เสียชีวิต สำคัญกว่ารางวัลนำจับคนขับรถตู้คอนเทนเนอร์ 50,000 บาท สำคัญกว่าการตรวจสอบข้าราชการท้องถิ่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์ สำคัญกว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยส่งสารแสดงความเสียใจต่อประเทศพม่า

 

แต่สังคมกลับไม่เคยสนใจ และผู้ถูกกระทำก็เหนื่อยเกินไปที่จะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวเดิมๆอีกครั้งหนึ่ง

 

สิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาและตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง คือ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของโศกนาฏกรรมนั้น

 

เรื่องเล่าจากฝั่งพม่า

10 พฤษภาคม 2551 อีก 1 เดือนข้างหน้า ประเทศพม่าจะมีการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารพม่าก็เริ่มดำเนินการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ขัดขวางการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ พร้อมๆ ไปกับการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ นี้ไม่ใช่ครั้งแรก ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย มันดำเนินมาเนิ่นนานจนหลายคนชาชิน นานกว่า 20 ปีแล้ว มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531

 

26 มิถุนายน 2531 สหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง สหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมัณฑะเล เขียนจดหมายถึงประชาชนให้ลุกขึ้นทวงถามความเป็นธรรมจากนายพลเนวิน ชีวิตในพม่าช่วงเวลานั้น สภาพเศรษฐกิจสังคมและการเมืองได้มาถึงจุดซึ่งตกต่ำอย่างถึงที่สุด ในขณะที่ประชาชนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาของชีวิต เผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พม่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์กลับเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

 

8 สิงหาคม 2531 ประชาชนพม่าต่างสิ้นสุดความอดทนต่อการถูกจองจำเสรีภาพจากระบบเผด็จการทหารและคณาธิปไตยของรัฐบาลเนวินที่ดำรงอยู่มายาวนานนับ 26 ปี

 

จากวันที่เลือดนองท่วมแผ่นดินในปี 2531 ตามมาด้วยการยึดอำนาจของ SLORC ซึ่งได้ขยับชื่อตนให้นุ่มนวลขึ้นเป็นสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ (SPDC) นั้น พม่าก็ได้ก้าวเข้าสู่กลียุคในความรู้สึกของประชาชนรากหญ้าทุกชาติพันธุ์ ไฟสงคราม ความหิวโหยและความยากแค้นได้รุมเร้าพม่ามากยิ่งขึ้น การบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน การใช้แรงงานทาส การเข่นฆ่าประหัตประหารอย่างเหี้ยมโหด การข่มขืน การจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม การบังคับให้เป็นทหารเด็ก การจับกุมคุมขัง เหยื่อจากกับระเบิด ก็ยังดำเนินไปอย่างโหดร้าย

 

พร้อมๆ ไปกับการที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากประเทศไทย ทั้งโครงการท่อก๊าซ โครงการสร้างเขื่อนสาละวิน โครงการ Contact Farming ก็นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารพม่าในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับโครงการพัฒนาเหล่านั้น ทั้งในรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉาน รัฐคะเรนนี เมื่อทหารพม่าเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโครงการต่างๆเหล่านี้ได้นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นที่รุนแรงตามมา เช่น การข่มขืนผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์

 

ประชาชนรากหญ้าของพม่าเหล่านี้จึงได้พร้อมใจกันเคลื่อนขบวนอพยพจากบ้านตนเองสู่ชายป่า หวังเพียงว่าจะปลอดภัยจากน้ำมือทหารพม่าที่เหี้ยมโหด แต่นั่นเองใครบ้างจะรู้ว่าชีวิตชายป่าในนามของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displace Persons: IDPs) จะทุกข์ทรมานเช่นนั้น เฉพาะเพียงในปี 2550 ตลอดแนวชายแดนประเทศพม่ากับประเทศไทยมี IDPs อย่างน้อยหลบซ่อนอยู่ถึง 503,000 คน

 

IDPs เหล่านี้จะต้องเคลื่อนย้ายหลบหนีการคุกคามของทหารพม่าอย่างน้อยทุกหกเดือน บางครอบครัวปีหนึ่งต้องเคลื่อนย้ายสองถึงสามครั้ง เนื่องจากเกิดการสู้รบในพื้นที่บริเวณที่หลบซ่อนอยู่ หลายครอบครัวไม่สามารถกลับไปยังพื้นที่หลบซ่อนเดิมได้เนื่องจากเต็มไปด้วยกับระเบิด และอีกหลายครอบครัวที่ไม่สามารถเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิตในเรื่องต่างๆได้ เช่น การขาดปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต (อาหาร เสื้อผ้าที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค) พวกเขาจะหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยเพื่ออาศัยอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนแทน (Refugee Camp)

 

เป็นความโชคดีของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงและชาวคะเรนนี ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้พวกเขาและเธออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย/พม่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี กุมภาพันธ์ 2551 มีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าอย่างน้อย 141,736 คน ยังคงอยู่ในค่าย

 

ชีวิตในค่ายต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมาก ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดให้อยู่ได้เพียงเฉพาะในค่ายเท่านั้น ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภคจากภายนอก เช่น ข้าวสาร เกลือ พริกแห้ง ปลาร้า ถั่ว เชื้อเพลิงหุงต้ม เตาไฟ เสื้อผ้า ผ้าห่ม มุ้ง เสื่อ ปัจจุบัน(เมษายน 2551) มีข่าวยืนยันแน่ชัดว่าองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศจะตัดความช่วยเหลือบางส่วนออกไป เช่น ข้าว เกลือ ปลาร้า พริกแห้ง สบู่ ยาสระผม ไม้ไผ่ มุ้ง

 

ความกดดันที่เผชิญนำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา ยาเสพติด ความรุนแรงและอาชญากรรม ปัญหาด้านความคุ้มครองและความปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัย ผู้หญิงและเด็กมักจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ที่กลไกของระบบความยุติธรรมในค่ายยังทำงานไม่เป็นผลพอที่จะคุ้มครองเหยื่อและดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้กระทำผิดได้

 

จากสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นในค่าย ความหวาดกลัวต่อกองกำลังจากพม่าที่เข้ามาก่อกวน ความหวาดกลัวต่อการถูกส่งกลับ และความสิ้นหวังเมื่อต้องใช้ชีวิตอย่างผู้ลี้ภัยอยู่เป็นเวลานาน แม้ค่ายจะตั้งอยู่ห่างไกลและถูกควบคุมเข้มงวดเพียงใด ผู้ลี้ภัยวัยแรงงานบางคนจะเกิดความกดดันกับการเฝ้ารอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ทำให้พวกเขาพยายามเล็ดรอดออกมาเป็นแรงงานข้ามชาติในที่สุด

 

นี้ยังไม่นับรวมถึงผู้ลี้ภัยนอกค่ายที่กระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านชายแดนและเขตเมือง รวมทั้งชาวไทใหญ่ที่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยได้พักพิง พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอฝาง อย่างไม่สามารถประมาณจำนวนที่แน่ชัดไม่ได้

 

แม้นจะมีคำร่ำลือถึงอนาคตที่หวาดหวั่นควบคู่ไปกับคำชักชวนที่งดงามเกินจริงของเหล่านายหน้าทั้งหลาย แต่พวกเขาและเธอต่างก็ตัดสินใจดั้นด้นมาเพื่อที่จะใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ภายใต้ความหวาดกลัวทั้งยามหลับและลืมตาตื่น เพราะอย่างไรก็อาจจะยังดีกว่าชีวิตที่หิวโหยและสิ้นหวัง ชีวิตที่ดิ้นรนต่อลมหายใจไปแต่ละวันโดยมองไม่เห็นอนาคต ประเทศไทย คือ ดินแดนแห่งความหวังที่จะได้มาซึ่งเงินออมอันจะสามารถแปรเป็นเงินจั๊ตก้อนโต เผื่อไว้ซื้อสถานภาพตนเองให้รอดพ้นจากความเป็นทาสแห่งประเทศพม่าได้บ้าง

 

แต่นั่นเองคำสวยหรูที่เขียนว่า "สิทธิมนุษยชน" "มนุษยธรรม" ที่แปะไว้บนแผ่นดินด้ามขวานทอง เดินทางมาพร้อมกับนโยบายรัฐบาลไทยแบบปากว่าตาขยิบทุกยุคทุกสมัย

 

 

(1)

เราผลักดันให้ผู้ลี้ภัยอยู่ในค่ายที่แออัด พร้อมๆ ไปกับการชักชวนให้พวกเขาเดินทางไปประเทศที่สามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงเพราะเราไม่เคยสนใจอนุสัญญาที่เรียกว่า สถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (The 1951 Convention relating to the Status of Refugees) แต่นั่นเองจะมีสักกี่คนที่มีโอกาสได้ไป นอกจากนี้เรายังมีนโยบายที่จะปิดค่ายผู้ลี้ภัยในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งๆที่สถานการณ์ในประเทศพม่าไม่เคยหยุดความโหดร้ายแม้เพียงชั่วขณะ

 

(2)

เราผลักดันให้ผู้ลี้ภัยชาวมอญกลับไปตั้งค่ายอพยพในเขตมอญ ทั้งๆ ที่รัฐมอญในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการยึดที่ดิน เราผลักดันให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่เป็นเหยื่อของการทารุณกรรมกลับไปตาย เพียงเพราะเราปฏิเสธไม่ให้พวกเขาข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย เราส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนีที่พึ่งเดินทางมาถึงค่ายที่แม่ฮ่องสอน เพียงเพราะเราไม่มีนโยบายรับผู้ลี้ภัยเพิ่ม เราบังคับให้ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่โยกย้ายออกจากเนินดอยสันจุ๊ ตรงข้ามกับอำเภอฝาง เพียงเพราะที่พักพิงของพวกเขาสามารถมองเห็นได้ง่ายจากบริเวณพรมแดนฝั่งไทย

 

(3)

เราไม่เคยสนใจเหลียวมองอย่างจริงจังพร้อมทั้งยอมรับว่า ยังคงมีผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นๆ จากประเทศพม่า ทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน ผู้ลี้ภัยชาวปะโอ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่อาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่เรา "มองไม่เห็น" (Hidden Refugee) ไม่รับรู้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

 

(4)

เรายังคงจับกุมแรงงานข้ามชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จับกุม ส่งกลับ ผลักดันไม่ให้เข้ามาใหม่ พร้อมๆ ไปกับการออกกฎหมายตัวใหม่ที่ชื่อว่า พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ที่ให้อำนาจคนชี้นำ ชี้ช่องทางในการจับกุมแรงงานที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย แต่เราก็ไม่เคยหยุดคลื่นอพยพได้แม้แต่น้อย แม้เราจะทำทุกวิธีการ เพราะจริงๆแล้วเราต่างหาก เราที่ไม่เคยสนใจเหตุการณ์อีกฟากฝั่งหนึ่งอย่างจริงจัง

 

สถานการณ์ข้างต้นดังที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนกดดันให้ประชาชนรากหญ้าจากพม่าต้องกลายมาเป็นแรงงานข้ามชาติ (Migrant workers) ในประเทศไทยแทบทั้งสิ้น และต้องเผชิญชะตากรรมที่บางครั้งก็โชคดี แต่หลายครั้งก็โชคร้ายเหมือนดั่ง 54 ศพ ในตู้คอนเทนเนอร์

 

เราปฏิเสธได้หรือไม่ว่า "พวกเรานี้เอง" ที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งในการก่อความรุนแรง ในการหยิบยื่นความตายให้เกิดขึ้นกับประชาชนจากพม่า 54 คนในครั้งนี้ และครั้งอื่นๆที่ผ่านมา

 

เรากล้ายอมรับไหมว่า "เราทำผิดกับประชาชนจากพม่าและกล้าขอโทษพวกเขา เหมือนดั่งเหตุการณ์ตากใบ"

 

เราไม่กล้าหรอก เรากลัวความจริงที่จะหลอกหลอนเราไปทั้งชีวิต

 

อีกไม่นาน อีกไม่นานหรอก เหตุการณ์ 54 ศพก็หายไป และเราก็ไม่เคยสนใจประชาชนจากพม่าอย่างจริงจังเหมือนที่ผ่านมา

 

เราสามารถเข้าใจและข้ามพ้นความตายนี้ได้อย่างไร?

 

เราจะทำความเข้าใจเรื่องราวเล่านี้ได้อย่างไร? สังคมบางส่วนอาจจะเลือกเข้าใจว่า เพราะพวกเขาเหล่านั้นลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นถ้าเข้าเมืองถูกกฎหมายเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็จะต้องหาคำตอบมาตอบสถานการณ์ที่กล่าวมาแล้วว่า อำนาจรัฐ "พม่า" ก็ไม่ได้ใยดีต่อพวกเขามากนัก นอกจากจะไม่ปกป้องแล้วหลายครั้งเองยังเป็นผู้หยิบยื่นความตายและชีวิตที่ยากลำบากให้ ในขณะที่อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐไทยก็ไม่อาจจะทำให้ "อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ" หรือ "ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย" ในนิยามแบบรัฐไทย ถูกกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจทางการเมืองเหล่านี้มาล่วงละเมิดได้

 

แล้วอะไรเล่า จะทำให้เขาสามารถเดินทางเข้ามาอย่างสง่าผ่าเผย เฉกเช่นผู้เดินทางข้ามแดนคนอื่นๆ ได้ เพราะดูราวกับว่าช่องทางเหล่านั้นได้ถูกปิดไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งรัฐทั้งสองฝากฝั่ง

 

ใช่หรือไม่ว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้อาจจะต่างกันเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งถือกระดาษที่มีตราสารแห่งอำนาจรัฐประทับไว้เท่านั้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง ของสังคมก็อาจจะมองประเด็นจากแง่มุมแห่งความเป็นมนุษย์ มองเห็นความทุกข์ยาก มองเห็นความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ ก็ไม่อาจจะทะลุผ่านกรอบอำนาจของแนวคิดแรกได้ สิ่งที่พอทำได้ก็คือให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับเมื่อประสบเหตุการณ์ เท่าที่ความปราณีของอำนาจที่ตั้งตระหง่านจะเอื้ออาทรมาให้เท่านั้นเอง

 

ในภาวะความอึดอัดที่สังคมไทยต้องเผชิญกับสองสิ่งพร้อมกัน นั่นคือกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ที่สิ่งต่าง ๆ ไหล่ผ่าน ข้ามรัฐ ลอดรัฐอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี อุดมการณ์ และการเคลื่อนย้ายของคน ในขณะที่การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เราประสบอยู่กลับเป็นผู้คนที่อำนาจอันตระหง่านอยู่ทั้งสองฟากฝังต่างมิพึงปรารถนา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธอยู่ในที

 

พวกเขาเหล่านั้นจึงเป็นผู้คนที่ "อยู่ระหว่าง" (In -between) พรมแดนสองฝั่งที่ผลัดกันผลักไปผลักมาราวกับเป็นตุ๊กตาล้มลุก มากที่สุดก็คงมายืนอยู่ได้เพียงชายขอบของระหว่างกลาง ที่พร้อมจะถูกผลักกลับไปเป็นตุ๊กตาล้มลุกเช่นเดิม

 

สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น อาจจะเป็นความเข้าใจในภาวการณ์ "อยู่ระหว่าง" ของพวกเขาเหล่านั้น เข้าใจว่าการจากมาของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นเรียบง่าย เหมือนเวลาที่พวกเราจะจากบ้านไป และเข้าใจว่าเพราะความไม่ราบรื่นและไม่ปรกติของการจากลาก็ทำให้เขาเดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเราอย่างไม่ราบรื่น และ "ไม่ปรกติ" ตามข้อกำหนดของกฎหมายแห่งรัฐได้ และอาจจะทำให้เข้าใจว่าทำไมวงจรนี้จึงวนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

นอกจากนั้นแล้ว หากเรามองในเชิงตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอะไร

 

คำตอบนั้นอาจจะได้ว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอำนาจการจัดการแห่งรัฐ ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจและตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ภายใต้กรอบคิดที่จำกัดแค่เส้นแดนสมมติของพวกเราและเขาเท่านั้น ทำให้เรามองไม่เห็นภาวะความเป็นสีเทาๆของความเป็นตัวเขา (ระหว่างความเป็นผู้ลี้ภัย ความเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือความเป็นผู้ลี้ภัยที่มองไม่เห็น) ไม่เข้าใจภาวะของการ "อยู่ระหว่างกลาง" ของพวกเขาเหล่านั้น

 

หรือแม้จะเข้าใจเราก็ไม่อาจจะเปิดรับให้เขาขยับข้ามกรอบแห่งความเป็น "ระหว่างกลาง" ออกมาได้ นั่นก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถที่จะมีจินตนาการต่อการแสวงหานโยบายหรือแนวทางที่เหมาะสมต่อการจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ในช่วงที่ผ่านมา

 

ท้ายที่สุด ความเข้าใจของเราอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติความตายที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่เมื่อใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจินตนาการชุดใหม่ต่อภาวการณ์ข้ามพรมแดนแห่งรัฐ และพรมแดนแห่งความเข้าใจของพวกเรา

 

แม้เราไม่อาจจะก้าวข้ามพ้นความตายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่มันก็ทำให้เราตระหนักถึงความตายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

 

 

อ้างอิง :

การย้ายถิ่นข้ามชาติที่ไม่ปกติ ในที่นี้หมายถึง การย้ายถิ่นที่มีลักษณะเป็นการลักลอบเข้าเมืองที่ผู้ย้ายถิ่นไม่มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้อง อันเนื่องมาจากปัญหาจากประเทศต้นทางที่ไม่สามารถออกเอกสารการเดินทางที่ถูกต้องให้ผู้ย้ายถิ่นได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท