Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม : การปรากฏตัวของฝ่ายที่สามในสถานการณ์ความขัดแย้ง กรณีการเสียชีวิตของโต๊ะอิหม่าม ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส


 


สันติอาสาสักขีพยาน


 


เหตุการณ์โต๊ะอิหม่ามเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ (ฉก.) 39 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้รับความสนใจจากสื่อและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศจนเป็นข่าวใหญ่


 


กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มักไม่ได้รับความสนใจจากโลกภายนอก จนกระทั่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นและกลายมาเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามอง ไม่ว่าจะมองด้วยความสงสัยหรือมองด้วยความหวังว่า "คราวนี้ความจริงจะได้เปิดเผยสักที"


 


นอกเสียจาก ผู้ตายซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนาที่ได้รับการเคารพจากคนในพื้นที่ อ.รือเสาะแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็เป็นเพราะมีฝ่ายที่สามเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย


 


ฝ่ายที่สามที่ว่านี้ ก็คือ อาสาสมัครจากคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และ เจ้าหน้าที่โครงการสันติอาสาสักขีพยาน โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ซึ่งทั้งสองคนไปเยี่ยมชาวบ้านในเขตพื้นที่ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ ก่อนวันเกิดเหตุการณ์นี้หนึ่งวัน (20 มีนาคม 2551) และตัดสินใจนอนค้างคืนในหมู่บ้าน เพราะการเดินทางกลับในเวลากลางคืนนั้นเสี่ยงเกินไป


 


ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับในเวลาเช้าของวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านได้มาบอกว่า มีคนเสียชีวิต ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 นั่นหมายความว่า เขาเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ พอรับทราบข่าว คณะฯ จึงประสานกับสื่อ เพื่อให้มาเป็นพยานในเหตุการณ์


 


เมื่อคณะเดินทางไปถึงหน้าค่ายทหารฉก. 39 ชาวบ้านและญาติๆ ก็แจ้งให้ทราบว่า มีรถพยาบาลของโรงพยาบาลรือเสาะเข้าไปในค่ายทหารเพื่อทำการชันสูตรศพแล้ว โดยที่ภรรยาของโต๊ะอิหม่ามขอเข้าไปร่วมด้วย แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ทางคณะ จึงไปพบกับเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ด้านหน้าค่าย เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างใน และขออนุญาตให้ญาติของอิหม่ามได้เข้าไปร่วมในการชันสูตรด้วย ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวตอบเพียงแค่ว่า "ผมไม่ทราบครับ ผมตอบอะไรไม่ได้ตอนนี้ ต้องรอหัวหน้าก่อน" ทางคณะจึงขออนุญาตพบหัวหน้าคนดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีปฏิกิริยาที่จะดำเนินการดังที่ได้บอกกับเรา แต่ระหว่างนั้นเอง เจ้าหน้าที่ก็ให้ภรรยา ลูกสาว และน้องสาวของผู้เสียชีวิต ได้เข้าไปดูสภาพศพและเป็นพยานในการชันสูตร


 


แต่คณะต้องรออยู่ด้านหน้าค่ายฉก. 39 เป็นเวลานาน เกือบ 2 ชม. ก่อนที่ญาติของอิหม่ามจะออกมาปรึกษาเรื่องนำศพไปโรงพยาบาลเพื่อการเอ็กซเรย์ ซึ่งทุกคนลงความเห็นว่าดีกว่าอยู่ในค่ายทหาร หนึ่งเพราะต้องการเอ็กซเรย์ร่างกายเพื่อพิสูจน์ว่าภายในบอบช้ำอะไรหรือไม่ สองคือการไปโรงพยาบาลสามารถนำศพกลับออกจากค่ายไปทำพิธีทางศาสนาได้ง่ายขึ้น เมื่อตกลงกันได้ ก็เพียงรอให้รถของโรงพยาบาลเคลื่อนศพไปที่โรงพยาบาลเท่านั้น


 


เที่ยงของวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2551 นั้น เราได้เห็นการรวมตัวกันของชายหญิงมุสลิม ที่หน้าโรงพยาบาลรือเสาะ โดยมีชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 100 คนขึ้นไป ทางคณะฯ เดินทางออกจากค่ายฉก.39 ตามหลังรถของมูลนิธิอิลัลอะฮะหมัด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ใช้เป็นพาหะนะนำศพไปโรงพยาบาล แต่เมื่อถึงทางเข้าโรงพยาบาลก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และทหารพราน ประจำการรักษาความปลอดภัยหน้าโรงพยาบาลอย่างหนาแน่น โดยมีรถหุ้มเกราะจอดเตรียมพร้อมอยู่ใกล้ๆ รถของทางคณะฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป จึงต้องจอดฝั่งตรงข้ามแทน และพยายามเข้าไปเจรจาขอเข้าไปภายในโรงพยาบาล เนื่องจากตอนที่อยู่ที่ค่ายทหาร ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ทางคณะจะสามารถเข้าไปเป็นพยานได้ แต่เจ้าหน้าที่หน้าโรงพยาบาลก็ตอบคำถามแบบเดิมเหมือนที่หน้าค่าย คือ "ผมไม่ทราบครับ ผมตอบอะไรไม่ได้ตอนนี้ ต้องรอหัวหน้าก่อน"


 


ความจริงเราก็เข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แต่ที่ประชาชนอยากจะเห็นคือ ความกระตือรือร้นของเจ้าหน้าที่ที่จะสอบถามความเป็นจริงจากหัวหน้าของตน ไม่ใช่พูดเช่นนั้นแล้วไม่ต้องทำอะไร ขณะที่กำลังพยายามเข้าไปนั่นเอง ทีมนักข่าวนอกพื้นที่ก็เดินทางมาถึง พร้อมๆ กับขบวนประท้วงย่อยๆ ของผู้หญิงประมาณ 50 คน ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการเสียชีวิตของโต๊ะอิหม่าม เมื่อมาถึงหน้าโรงพยาบาล กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรวมตัวกับชาวบ้านที่รออยู่แล้ว และปักหลักกันอยู่ตรงนั้น ส่วนนักข่าวก็เข้าไปเจรจาขอเข้าไปภายใน ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานนัก ทางคณะจึงเข้าไปดูศพพร้อมกับนักข่าวด้วย


 


ภายในโรงพยาบาล มีความวุ่นวายมากอยู่ทีเดียว เพราะไม่เพียงมีแต่ญาติของโต๊ะอิหม่ามเท่านั้น ยังรวมถึงญาติผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาลรือเสาะ พร้อมด้วยกำลังตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อีกเป็นจำนวนมาก ที่กระจายกำลังกันเต็มโรงพยาบาล ทันทีที่ทางคณะได้เข้าไปภายในอาคาร ก็ได้พบกับนายอำเภอ รือเสาะพอดี และพยายามสอบถามความคืบหน้า แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบใดๆ


 


ไม่นานหลังจากนายอำเภอเดินจากไป ร่างไร้วิญญาณของอิหม่ามก็ผ่านหน้าพวกเราเข้าสู่ห้องฉุกเฉิน พร้อมกับคำพูดของญาติอิหม่ามว่าให้ทางคณะตามเธอเข้าไปในห้องฉุกเฉิน แต่ไม่ทันทีที่เราเข้าใกล้ประตูห้องฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าอยู่บริเวณนั้น ทั้งนอกและในเครื่องแบบ ก็เข้ามาประชิดและไม่อนุญาตให้คณะฯ เข้าไปเด็ดขาด แม้ว่าญาติจะออกมาเรียกด้วยตัวเองก็ตาม กว่าจะยอมให้เข้าไปได้ ต้องเชิญหมอมาเรียกเองถึงประตู และชี้ว่าจะให้ใครเขาไป ภายในห้องฉุกเฉิน ทางคณะฯ ก็ได้อธิบายให้คุณหมอและเจ้าหน้าที่ฟังว่าเราเข้ามาทำอะไร และอยากจะขออนุญาตดูสภาพศพพร้อมกับถ่ายรูปเป็นหลักฐาน คุณหมออนุญาตบอกว่าให้ถามญาติเพราะหมอเองก็ไม่มีอำนาจใดๆ ญาติพยักหน้าตอบรับเมื่อเราหันไปถาม แต่เจ้าหน้าที่ทหารภายในห้อง กลับบอกว่าที่นี่เป็นสถานที่ราชการการจะทำอะไร มันอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ถ้าอยากจะได้รูป ตำรวจได้ถ่ายไว้เป็นหลักฐานแล้ว สามารถขอสำเนาได้ภายหลัง ทางคณะเลยให้ญาติเป็นผู้ถ่ายภาพแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่อนุญาต และในขณะที่กำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมในการถ่ายภาพ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารอีกนายหนึ่งเดินมาบอกว่า ญาติข้างนอกจะนำศพออกไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว โดยที่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือมูลนิธิอิลัลอะหะหมัด เป็นผู้เข็ญศพออกไป ทั้งๆ ที่ญาติภายในห้องและคณะฯ ยังคงงงกับเหตุการณ์ดังกล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ทางคณะฯ ก็ได้ตามออกไปด้านนอก ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังนำศพขึ้นบนรถของมูลนิธิอิลัลอะหะหมัด ขณะนั้นญาติของโต๊ะอิหม่ามบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าชาวบ้านจะขอแบกศพไปกันเอง ทว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมฟัง ทางคณะฯ พยายามเข้าไปช่วยพูดคุยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและหาข้อตกลงร่วมกัน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆ เข้ามาขวางบอกว่า "คุณไม่เกี่ยว ให้เขาคุยกันเอง"


 


ในที่สุด รถของมูลนิธิอิลัลอะหะหมัด ก็นำศพเคลื่อนออกไปจากโรงพยาบาล ความชุลมุนวุ่นวายเกิดขึ้นบริเวณหน้าโรงพยาบาล เพราะรถของมูลนิธิฯ ถูกสกัดไม่ให้ผ่านโดยขบวนของชาวบ้านที่ยืนรอกันอยู่หน้าโรงพยาบาลประมาณ 500 คน ชาวบ้านผู้ชายจำนวนหนึ่งเดินนำแคร่ออกมาเพื่อรับศพของโต๊ะอิหม่าม โดยที่ในตอนแรกก็โดนขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ แต่ที่สุดก็สามารถนำศพออกมาได้ โดยไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น


 


บทบาทของฝ่ายที่สามในเหตุการณ์นี้ได้พยายาม


 


1. เข้าเป็นพยานความจริงเพื่อไม่ให้เกิดการครหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจบทบาทนี้ จึงขัดขวางการทำงานของฝ่ายที่สาม กลายเป็นข้อพิรุธ ว่าเหตุใดจึงพยายามปกป้องข้อเท็จจริงไม่ให้ปรากฏแก่สาธารณะ


 


2. พยายามเป็นตัวกลาง เจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ


 


3. การปรากฏตัวของฝ่ายที่สามนั้นสามารถลดการกระทำความรุนแรงต่อกัน ระหว่างคู่ขัดแย้งได้ สังเกตจากขณะเกิดความวุ่นวายขึ้นหน้าโรงพยาบาล มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุกเมื่อ เพราะชาวบ้านมีอารมณ์ตึงเครียด ขณะที่เจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือ แต่ความรุนแรงก็ไม่เกิดขึ้น นั่นอาจเพราะเห็นว่ามีการปรากฏตัวของฝ่ายที่สามเกิดขึ้น (เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชน, นักข่าว, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, สันติอาสาสักขีพยาน เป็นต้น)


 


แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อมีฝ่ายที่สามปรากฏตัวเท่านั้น ในความเป็นจริง การยุติความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน คู่ขัดแย้งต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน มีการพูดคุยกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและสันติวิธี อันจะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net