Skip to main content
sharethis

คนเชียงดาวเต้น กรมน้ำดันอุโมงค์ผันน้ำกกจากพม่าเข้ามายังแม่อาย-ฝาง-ไชยปราการ ผ่าป่าอุทยานฯ ต้นน้ำชั้น1 A ลงแม่น้ำปิง โวยงุบงิบแอบลงพื้นที่ประชุมกลุ่มเล็กแต่ไม่ได้ฟังเสียงส่วนใหญ่ ชี้ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ระหว่างไทย-พม่า


 


สืบเนื่องจากในปี 2547 รัฐบาลไทยในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ร่วมลงนามกับรัฐบาลพม่าในด้านเทคนิควิชาการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงก่อให้เกิดการดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำไทย-พม่าขึ้น โดยการจัดตั้งโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้าง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน


 


ต่อมา กรมทรัพยากรน้ำ ได้มีการพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศ โดยบอกเหตุผลว่าเนื่องจากประเทศไทยประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำหลักของประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้จะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และมีแนวโน้มจะมีการขาดแคลนน้ำมากขึ้นในอนาคต 


 


 


 


ล่าสุด กรมทรัพยากรน้ำ กำลังดำเนินการ "โครงข่ายการเชื่อมโยงลุ่มน้ำจากแม่น้ำกกและลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงไปยังแม่น้ำปิงลงเขื่อนภูมิพล" ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาโดยนำน้ำจากลุ่มน้ำในประเทศสหภาพพม่าที่มีปริมาณน้ำมาก มาเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยที่ยังคงมีความสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มเติมได้ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ โดยระบุว่า แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การพิจารณา โครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำกก ด้วยระบบโครงข่ายการเชื่อมโยงลุ่มน้ำ(Water grid line)และการจัดการน้ำในภาคเหนือจากลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำโขง (ตอนเหนือ) ในประเทศสหภาพพม่า แล้วผันเข้าลำน้ำต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งโครงข่ายการเชื่อมโยงลุ่มน้ำจากแม่น้ำกกและลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงไปยังแม่น้ำปิงลงเขื่อนภูมิพล และจากแม่น้ำกกและลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขงไปยังแม่น้ำอิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่านลงเขื่อนสิริกิติ์ โดยคาดว่าจะสามารถบรรเทาอุทกภัยและปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยได้นั้น


 


จากโครงการดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่เขตอำเภอเชียงดาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการอุโมงค์ผันน้ำกก-แม่น้ำฝาง-แม่น้ำปิง นี้โดยตรง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตของชาวบ้านในอนาคต


 


ชาวบ้านลุ่มน้ำเต้นไม่รู้เรื่องมาก่อน


นายทองคำ กาทู สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ซึ่งตัวแทนชาวบ้านป่าตึงงาม ม.14 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้มาก่อนเลยว่าจะมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำกกผ่านอำเภอแม่อาย ฝาง ไชยปราการ ก่อนปล่อยลงแม่น้ำปิงในเขตพื้นที่ อ.เชียงดาว


 


"จู่ๆ ก็มีข่าวมาว่าจะมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเข้า ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าจะลงที่บ้านป่าตึงงาม โดยปากอุโมงค์ จะอยู่บริเวณห้วยเมี่ยง ตั้งแต่หัวฝาย-ดอยหัวโท และไหลลงแม่น้ำป๋ามให้เป็นที่พักน้ำโดยเขาอ้างว่าจะสร้างกระแสไฟฟ้าด้วย ซึ่งตนเห็นว่า ถ้ามีการผันน้ำกกมาลงแม่น้ำป๋าม ก่อนไหลลงไปสู่แม่น้ำปิงซึ่งถือว่าเป็นการผันน้ำมาผ่านบ้านเรา ซึ่งชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะอาจจะเกิดปัญหาน้ำท่วมได้ เพราะขนาดเมื่อปี 2548 เฉพาะน้ำแม่ป๋าม ยังมีปริมาณน้ำมากจนเกิดน้ำท่วม ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่นี่จะเอาน้ำกกมาลงที่นี่อีก"


 


โวยแอบส่งจนท.เข้ามาช็อตปลา เจาะทุ่งนาโดยไม่บอกกล่าว


ด้าน นายเสาร์แก้ว มูแป ผู้ใหญ่บ้านป่าตึงงาม ม.14 ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งขับรถตู้เข้ามา 4-5 คนเข้ามาเจาะที่นาของนายพล พะโย นอกจากนั้นยังมีสำรวจพื้นที่ป่า ลำห้วยตอนกลางคืน เข้ามาช็อตปลา ชาวบ้านจึงแจ้งประสานไปยังทหาร ร.7 เข้ามาตั้งด่าน ร่วมกับชุดชรบ.เพื่อเข้าไปเคลียร์ และทำการปรับ ก่อนปล่อยตัวไป หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป


 


นายเสาร์แก้ว กล่าวอีกว่า จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 11-12 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางกรมน้ำได้เชิญตนให้ไปเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อย ที่ อ.ไชยปราการ ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นการประชุมมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว จึงรู้ว่าจะมีการสร้างอุโมงค์ขนาดยักษ์เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำกกลงแม่น้ำปิง ซึ่งการประชุมที่ผ่านมา ก็มีการพูดกันแต่ผลดีของตัวโครงการ แต่ไม่ได้พูดถึงผลเสียผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต


 


"ซึ่งตนเชื่อว่าที่แน่ๆ มี 3 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ก็คือบ้านป่าตึงงาม บ้านออน และแม่ป๋าม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ท้ายน้ำของอุโมงค์ เพราะในวันที่ประชุม มีคนตั้งคำถามว่า ถ้าทางชุมชนลุ่มน้ำเสียหายจะรับผิดชอบให้หรือไม่ เขาก็เลี่ยงไม่ตอบ"


 


ชี้กระทบต่อป่าต้นน้ำ ชั้น 1 A ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา


นอกจากนั้น ผู้ใหญ่บ้านป่าตึงงาม ยังได้ตั้งข้อสังเกตและสงสัยด้วยว่า การสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จะกระทบต่อผืนป่าบริเวณนี้หรือไม่ เพราะถือว่าป่าผืนนี้อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชั้น 1 A และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนาอีกด้วยนั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่นำเสนอในที่ประชุมกลับบอกว่าป่าไม้ไม่เกี่ยว อุทยานไม่เกี่ยว เราเข้ามาทำได้เลย


 


"จากการที่ตนดูข้อมูลในเอกสารแล้ว จะรู้เลยว่าพื้นที่ป่าจะเสียหายมาก เพราะเขาบอกว่าจะมีการเจาะอุโมงค์กว้างมาก ขนาดรถสิบล้อวิ่งผ่านเข้าไปได้สบาย ซึ่งสรุปแล้วหมู่บ้านเราไม่เห็นด้วยแน่นอน รวมทั้งหมู่บ้านออน ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และผลกระทบที่คิดว่าจะได้รับอย่างชัดเจน ก็คือ พื้นที่ทำกิน ที่นา รวมทั้งผืนป่าซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิงจะต้องได้รับความเสียหาย และถ้ามีการเจาะดินข้างล่าง อาจจะทำให้ป่าล่ม ดินพังได้"


 


ย้ำโครงการขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ ยิ่งต้องฟังเสียงคนท้องถิ่น-คนทั้งประเทศ


ในขณะที่ นายภาคภูมิ  โปธา ผู้ประสานงานโครงการแรงโน้มถ่วงทางสังคม ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ปัญหาที่สำคัญตอนนี้ก็คือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของโครงการนี้ ทั้งๆที่เป็นหมู่บ้านในเขต อ.เชียงดาว นี้อยู่ในจุดสิ้นสุดของโครงการ และดูเหมือนอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ที่ผ่านมา แสดงว่ามีการกล่าวอ้างเรื่องของการมีส่วนรวมของชาวบ้านเป็นเพียงแค่ลมปากของบริษัทที่รับมาทำตามกระบวนการ เพื่อให้ผ่านพ้นไปตามระเบียบของการศึกษาเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เน้นถึงกระบวนการจัดเวทีที่ให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


 


"ถ้าโครงการทำเพื่อชาวบ้านจริงๆ ทำไมไม่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ ได้รับทราบและให้โอกาสตัดสินใจเอง งบประมาณที่จะสร้างมันคุ้มกันหรือไม่กับการแก้ไข และควรเปิดประเด็นให้สังคมได้รับรู้ เพราะว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ระหว่างประเทศไทยกับพม่า ก็ควรให้คนเชียงใหม่ รวมทั้งคนทั้งประเทศได้มีโอกาสตัดสินใจร่วมด้วย"


 


อนึ่ง โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า หรือที่หลายคนเรียกกันว่าโครงการอุโมงค์ผันน้ำนี้ ทางกรมทรัพยากรน้ำ ได้ให้บริษัท ซันยู คอนซัลแตนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 2 ช่วงที่ 1 เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเฉพาะส่วนที่ 1 ดังนี้ คือ โครงข่ายที่ 1: แม่น้ำสาย-แม่น้ำกก-แม่น้ำอิงตอนบน และโครงข่ายที่ 2: แม่น้ำกก-แม่น้ำฝาง-แม่น้ำปิงตอนบน


 


โดยการศึกษาแนวทางการผันน้ำทั้ง 2 โครงข่ายนี้ ก็เพื่อการรองรับการผันน้ำในอนาคตของแนวทาง กก-อิง-ยม-น่าน ด้วย


 


ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ในรายละเอียดของโครงข่ายที่ 2: แม่น้ำกก-แม่น้ำฝาง-แม่น้ำปิงตอนบน นั้น จะมีการทำท่อส่งน้ำให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 4.00 ม.จำนวน 4 แถว พร้อมระบบทิ้งน้ำลงลำน้ำแม่ป๋าม และมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อีกด้วย ซึ่งทำให้ชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ออกมาตั้งคำถามไปต่างๆ นานากันว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระบบชลประทาน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อนำงบประมาณจำนวนมหาศาลมาละเลงละลายหายไปกับอุโมงค์ผันน้ำ


 


 


 


ข้อมูลประกอบ


เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 3 โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า,กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


ที่มาภาพแผนที่ประกอบ  


http://202.129.59.150/fs/index.php

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net