เจาะโศกนาฏกรรมชีวิต...แรงงานเพื่อนบ้านกับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย

มุทิตา  เชื้อชั่ง


 

 

 

ข่าวการเสียชีวิตของชาวพม่า 54 ศพในรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างหลบหนีเข้าเมืองมาทำงานฝั่งไทยเป็นเรื่องสลดหดหู่ยิ่ง

 

ผลพวงที่เกิดขึ้นพาเราจินตนาการไปไกล ถึงชีวิตที่ยากลำเค็ญของพวกเขาในดินแดนมืดดำอีกฟากฝั่ง ซึ่งเต็มไปด้วยการรบพุ่ง การละเมิดสิทธิ การกดขี่ กระทั่งนึกถึงฉากของการหนีเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานราคาถูก ประชาชนชั้นสอง ในประเทศไทย ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกกันสั้นๆ ว่า  "ตายเอาดาบหน้า"

 

ชีวิตเล็กๆ ที่ไม่ (เคย) งดงาม

มีการประมาณการกันว่าแรงงานข้ามชาติในไทยอาจมีถึงสองสามล้านคน ส่วนใหญ่เดินทางหนีความแร้นแค้นมาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ พวกเขาอยู่ทั้งในภาคการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว หรืออาจจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่านั้น เช่น คนทำงานบ้าน ซึ่งล้วนเป็นงานหนัก หรืองานที่แรงงานไทยไม่ทำ

 

แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ มีทั้งแบบที่ถูกกฎหมาย และลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอย่างหลัง ทำกันเป็นขบวนการและมีจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ที่ต้องใช้คำว่า "รุนแรง" เพราะสภาพทั่วไปในการทำงานของพวกเขาเมื่ออยู่ในประเทศไทยก็มักถูกกดขี่ ขูดรีดอย่างหนักเสมือนว่ามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

 

ทุน อาสาสมัครชาวมอญ จากเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งอยู่เมืองไทยมาเกือบ 20 ปี และทำงานที่มหาชัย แหล่งใหญ่ของแรงงานมอญ พม่า เล่าประสบการณ์ที่เขาพบเจอให้ฟังว่า ปัญหาใหญ่ของแรงงานคือ การถูกขูดรีดจากทั้งนายหน้าและเจ้าของกิจการ

 

งานที่มหาชัย มีทั้งการแกะกุ้ง ตัดหัวปลา แร่ปลาหมึก ฯลฯ ผู้ชายบึกบึนบางส่วนก็ไปเป็นลูกเรือประมง เมื่อเริ่มทำงานค่าจ้างของพวกเขาเกือบทั้งหมดถูกหักไปเป็นค่านายหน้าที่พาเข้าประเทศและมาส่งถึงมือนายจ้าง โดยนายหน้าส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าเองที่มีเส้นสายโยงใยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการ

 

ค่านายหน้ามีตั้งแต่ 12,000 - 25,000 บาท แล้วแต่ว่าเข้าจากชายแดนด้านไหน หากเป็นแถบระนอง ราคาอาจถูกลงบ้าง แรงงานบางส่วนขายนาไร่มาจ่ายค่านายหน้า แต่ส่วนใหญ่ไม่มีทรัพย์สมบัติ อาศัยมาทำงานก่อนใช้หนี้ทีหลัง

 

ทุนเล่าว่า แถวมหาชัยพวกเขาเริ่มทำงานกันตั้งแต่ตีสอง ตีสาม กว่าจะเลิกงานก็สี่ห้าทุ่ม สำหรับคนใหม่ๆ ที่เข้ามาค่าแรงจะอยู่ประมาณ 30-50 บาทต่อวัน แต่ถ้าชำนาญแล้วก็อาจจะได้เป็นร้อยบาท  ขณะที่แรงงานบางส่วนเข้าไปทำงานในโรงงาน มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกข่มขู่ไม่ให้ออกไปไหน เนื่องจากไม่มีหลักฐานใดๆ พวกเขาจะมีรายได้อยู่ราว 60-200 บาท ต่อสัปดาห์ และการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากหนี้สินติดพันของค่านายหน้า และค่าอะไรต่อมิอะไรจิปาถะ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายประเภท "ค่าคุ้มครอง" ที่จะให้กับนายหน้าที่คอยช่วยเหลือ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเวลาถูกจับ หรือมีปัญหา

 

"อยู่ที่นู่นมันไม่มีกิน ก็ต้องดิ้นรน มาเสี่ยง ลำบากอยู่ที่นี่อาจจะดีกว่า...เห็นข่าวนี้แล้ว ผมน้ำตาไหลเลย สงสารเขา เขาก็ทิ้งพ่อทิ้งแม่มาหาเงินเหมือนๆ กับคนอื่น"

 

สำหรับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้ ทางสภาทนายความได้ส่งทนายเข้าไปช่วยเหลือและตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และองค์กรที่ทำงานเรื่องดังกล่าวหลายกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐทบทวนนโยบายและการจัดการกับแรงงานต่างด้าวใหม่ พร้อมทั้งชดเชยความเสียหายแก่ผู้สูญเสียอย่างเป็นธรรม ขณะที่ผู้ที่รอดชีวิตแม้จะมีความผิดจากการหลบหนีเข้าเมืองก็ควรได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของความเป็นมนุษย์ก่อนในเบื้องต้น

 

ปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

โดยระบบ กฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่ รัฐไทยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนได้ แต่ก็ยังมีปัญหามากมาย ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงมีแรงงานข้ามชาติแบบลักลอบเข้ามาทำงานกันเป็นจำนวนมาก

 

สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ให้ข้อมูลรูปธรรมการจัดระบบแรงงานว่า เมื่อปี 2547 รัฐไทยเริ่มขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ "ทั้งหมด" รวมถึงลูกเล็กเด็กแดงที่ติดตามมาด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยจะจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎรของแรงงานต่างด้าว และให้เอกสารรับรองเรียกว่า ทร.38/1 เพื่อให้รู้แหล่งที่พักพิง สามารถตรวจสอบได้

 

จากนั้นแรงงานข้ามชาติจึงสามารถนำใบ ทร. ดังกล่าวมาขอใบอนุญาตทำงาน โดยแรงงานเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,300 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท จากนั้นต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียนใบอนุญาตทำงานที่เรียกว่า ตท.14 อีก 1,800 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาท รวมทั้งหมด 3,800 บาท แต่แรงงานส่วนใหญ่จ่ายแพงกว่านั้นมาก เพราะต้องเสียค่านายหน้าในการจัดการ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้

 

นี่เป็นภาระ (เบาะๆ) ของแรงงานข้ามชาติที่มีโอกาสขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ปัญหาก็คือ รัฐบาลไทยเปิดให้มีการจดทะเบียนเพื่อทำ ทร.38/1 เพียงเดือนเดียว (กุมภาพันธ์ 2547) ซึ่งสั้นและฉุกละหุกมาก จากนั้นก็มีอีกทีช่วงเดือนมีนาคม 2549 จากนั้นมาก็ไม่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนใหม่อีกเลย เพราะต้องการจำกัดจำนวนแรงงานข้ามชาติ แรงงานที่เข้ามาใหม่จึงหมดสิทธิอย่างเด็ดขาด

 

เมื่อรัฐไม่ยอมรับความจริง บีบลง "ใต้ดิน"

เหตุผลที่เรามักได้ยินในการควบคุมจำนวนแรงงานข้ามชาติ คือ เรื่องความมั่นคง และภาระที่รัฐเกรงว่าจะต้องแบกรับ  ยังไม่นับรวม "ภาพ" ที่สังคมมักมองพวกเขาเป็นต้นเหตุของอาชญกรรม ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของความไม่มั่นคงในสายตาของรัฐ

 

อดิศร เกิดมงคล จากกลุ่มเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (MWG) ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้สะท้อนเฉพาะปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ แต่ทำให้เห็นถึงปัญหาของระบบทั้งหมด นโยบายของรัฐที่มีความคับแคบในการมองเรื่อง " ความมั่นคง" การไม่ยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจของไทยต้องการแรงงานเหล่านี้จำนวนมาก เพราะคนพวกนี้ถ้าเลือกได้ ก็อยากเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย แต่ถูกนโยบาย "ล็อค" เอาไว้

 

ส่วนเรื่องภาระที่จะต้องแบกรับนั้น อดิศร มองว่า แรงงานต่างด้าวนั้นมีการจ่ายเงินเพื่อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถึง 1,300 บาทต่อปี หากรัฐทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบทั้งหมด เงินที่ได้จะสามารถจัดการเรื่องสาธารณสุขกับแรงงานข้ามชาติทั้งหมด และอาจรวมไปถึงผู้ลี้ภัย คนไร้สัญชาติ ด้วย

 

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาทัศนคติและการจัดการของรัฐ ก็คือ มายาติของสังคมไทย อดิศรยืนยันว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว กลุ่มแรงงานข้ามชาติก่ออาชญากรรมต่ำมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวน เพราะพวกเขาพยายามจะรักษาตัวเองให้อยู่รอดให้ได้ท่ามกลางข้อจำกัดที่มีมากมายอยู่แล้ว

 

คนทำงานด้านนี้ต่างก็ประสานเสียงกันเสนอให้รัฐจัดระบบแรงงานข้ามชาติใหม่ โดยเน้นให้เปิดการขึ้นทะเบียน นำแรงงานทั้งหมดเข้าสู่ระบบ

 

สรุพล กองจันทึก จากสภาทนายความ ยังเสนอด้วยว่า ระบบต้องออนไลน์ให้สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด และจะต้องให้สิทธิแก่แรงงานเหล่านั้นตามสมควรในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะเรื่องค่าแรง สิทธิในการเปลี่ยนนายจ้าง ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อจัดการกับขบวนการ "ใต้ดิน" ที่เป็นอยู่  และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมากมาย ในระดับนโยบายยังต้องมีการประสานงานกัน โดยเฉพาะส่วนของแรงงานและความมั่นคง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ

 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ให้กับ "เขา" ผู้เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นมนุษย์ของ "เรา" เองด้วย.....

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท