Skip to main content
sharethis

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแก้ รธน.50 ทั้งฉบับ และทำให้กระบวนการแก้ รธน. ประชาชนมีส่วนร่วม ชี้หากแก้ รธน. ด้วยสมมติฐาน "เอา" หรือ "ไม่เอา" ทักษิณ ก็ได้แค่กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการ สังคมไม่ไปไหน

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ นายจอม เพชรประดับ ในรายการ "ถามจริง ตอบตรง" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เกี่ยวประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยอาจารย์วรเจตน์เสนอแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ และทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนได้มีส่วนร่วม ชี้หากแก้รัฐธรรมนูญด้วยสมมติฐาน "เอา" หรือ "ไม่เอา" ทักษิณ ก็ได้แค่กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการ สังคมไม่ไปไหน

 

ทั้งนี้ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น 1 ใน 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษ กกต.ชุด พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ และถือเป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในช่วงการลงประชามติ จากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ รศ.ดร.วรเจตน์ เว็บไซต์"ผู้จัดการ"รายงานบทสัมภาษณ์โดยพาดหัวว่า "ธาตุแท้ "วรเจตน์" ป้อง "ระบอบแม้ว" สุดตัว ขวางพันธมิตรฯ ยื่นถอดถอน ส.ส."

 

000

 

ถ้าแก้ทั้งฉบับ ต้องแก้ที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกระบุไว้ใน ม.291 ซึ่งระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำอย่างไรบ้าง และเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แต่ความมุ่งหมายนั้นคงเป็นเพียงการแก้บางมาตรา แต่ถ้าจะแก้ทั้งฉบับเราต้องย้อนกลับไปเหมือนกับที่เรามีประสบการณ์ก่อนปี 2540 นั่นคือต้องมีการตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วก็เอาทุกภาคส่วนเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

รัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ไขเฉพาะบางมาตราจะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาบางอย่างอาจจะไปปะทุขึ้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อยๆ อีกประเด็นคือหากการแก้เฉพาะบางมาตรา อาจจะมองได้ว่าเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง การแก้ทั้งฉบับจะเป็นการนำประเทศออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญ

 

ม.237 คงเป็นมาตราหนึ่งที่ควรแก้ไขแน่นอน เพราะหลักการมันไม่ถูกต้อง หมายความว่าหากตีความตัวบทของมาตรานี้ตามถ้อยคำก็คือ สมมติผมเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่พรรคหนึ่ง คุณจอมก็เป็นด้วยอยู่ในพรรคเดียวกัน แล้วผมไปมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง อาจไปกระทำการโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้องมา แล้วก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผลก็คือว่าถ้าตีความตามถ้อยคำใน ม.237 มันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เมื่อยุบพรรคแล้วคุณจอมก็จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งที่คุณจอมไม่ได้ทำอะไรผิด

 

ม.309 ถ้าอ่านดูแล้วมีความหมายรับรองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการรับรองการกระทำซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บอกให้มันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขียนกฎหมายแบบนี้ มีแต่รัฐธรรมนูญของเราที่เขียนแบบนี้ ซึ่งมันผิดหลัก

 

ไม่มีข้อกฎหมายที่บอกว่าถ้าลูกจ้างไปกระทำความผิด ลูกจ้างติดคุก นายจ้างต้องติดคุกด้วย หรือไปตัดสิทธิการประกอบอาชีพของนายจ้าง มันไม่มีข้อกฎหมายแบบนี้

 

ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมบอกกับผู้ร่างบางท่านว่า ถ้าจะเขียนเรื่อง คตส. ก็รับรององค์กรไป รับรองให้ คตส. มีอยู่ อย่าไปรับรองการกระทำ เพราะเราไม่รู้ว่า การกระทำนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ เราไม่ควรเขียนเช็คเปล่าให้ใคร ว่าสิ่งที่เขาไปถูกต้อง หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ควรเป็นแบบนี้

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำในสังคมไทยทุกส่วน ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปอย่างมาก ทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างไปจัดการกับคุณทักษิณ เราละเลยคุณค่า ละเลยหลักการที่ควรจะเป็น วันนี้สังคมไทยมีปัญหามาก ถึงที่สุดใครพูดอะไรก็ไม่มีใครฟังใคร ผมคิดว่ายังไม่สายถ้าเราจะย้อนกลับมาดู ทำอย่างที่มันควรจะเป็น อย่าไปปักธง อย่ามีอคติกันไว้ก่อน ใช้กฎหมายให้มันเสมอกันกับทุกฝ่าย

 

อย่าปักธงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขไม่ได้ โดยที่มีการอ้างเรื่องของการออกเสียงประชามตินั้น ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเห็นว่าการอ้างดังกล่าวมันอ้างไม่ได้ เพราะการทำประชามติที่ทำในคราวที่แล้ว ไม่ใช่การทำประชามติในระดับมาตรฐานสากล เราคงรู้ว่าหลายคนรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเพียงเพื่อให้ประเทศพ้นสภาพที่พ้นสภาวะรัฐประหาร ให้ประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตยไปก่อน

 

เราอาจต้องย้อนเวลากลับไป อย่างยุคก่อน 2540 เรามีประสบการณ์ที่จะผ่านตัวรัฐธรรมนูญจาก 2534 มาเป็น 2540 อย่างไร อีกทีหนึ่งคือย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. ที่มีการพูดเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราน่าจะย้อนกลับไปตรงจุดเวลานั้น และทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสาธารณะ ทำองค์กรที่มีความชอบธรม ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้สังคมไทยมีเป้าหมายเดินกันไป ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างเท่านั้นเอง แล้วมันก็แก้ไม่ได้

 

000

 

วานนี้ (7 เม.ย.) รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ถามจริง ตอบตรง" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ดำเนินรายการโดย นายจอม เพรชประดับ เกี่ยวประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

 

หนุนแก้ รธน. ทั้งฉบับเพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

นายวรเจตน์กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ การดีเบตร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. ฝ่ายคัดค้านมองว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างและหลักการหลายเรื่อง ใช้ไปนานจะมีปัญหาต่อบ้านเมืองในระยะยาว

 

ประเด็นในขณะนี้มี ประการที่หนึ่ง จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ประการที่สอง หากจะมีการแก้จะแก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ แต่ขณะนี้ก็มีเสียงคัดค้านว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งประกาศใช้มา เพราะฉะนั้นอย่าแก้ ให้ใช้บังคับไปก่อน เพราะฉะนั้นการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะมีต่อไป แต่ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะดังกว่า ปัญหาคงอยู่ที่จะแก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ

 

ซึ่งผมเห็นว่าควรจะแก้ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ไขเฉพาะบางมาตราจะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาบางอย่างอาจจะไปปะทุขึ้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อยๆ อีกประเด็นคือหากการแก้เฉพาะบางมาตรา อาจจะมองได้ว่าเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง การแก้ทั้งฉบับจะเป็นการนำประเทศออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญ

 

สำหรับระยะเวลาในการแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความจริงตั้งแต่การเลือกตั้งเลย เราเห็นความแปลกประหลาดและความผิดปกติของระบบเลือกตั้ง ประชาชนหลายคนคงข้องใจว่าทำไมเวลามีการเลือกตั้ง จังหวัดของเขาไปรวมกับจังหวัดอื่น การเลือกตั้ง ส.ว. ทำไมจังหวัดใหญ่ จังหวัดเล็กถึงมี ส.ว. ได้คนเดียวเหมือนกัน นี่คงเป็นปัญหาที่มีมาอยู่แล้ว ตามมาด้วยปัญหาการยุบพรรค ซึ่งมีการกระทบประเทศเราด้วย หากรอช้าต่อไป ยิ่งช้าไปเท่าไหร่ ความเสียหายก็จะยิ่งเกิดขึ้น

 

เวลาที่เราพูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ แน่นอนมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นรูปธรรมโดยตรงเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่จะมีปัญหาในระยะยาว คือปัญหาพวกนี้เราจะมองไม่เห็น เราจะเห็นก็ต่อเมื่อมันเป็นกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบต่อปากท้องไปในที่สุด เมื่อถึงตรงนี้นายจอมถามว่าจึงต้องแก้ตอนนี้ นายวรเจตน์กล่าวว่า "ถูกต้องครับ"

 

 

หากแก้ทั้งฉบับ ต้องแก้ "กระบวนการ" แก้

นายวรเจตน์กล่าวต่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญถ้าแก้ทั้งฉบับ ต้องแก้ที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกระบุไว้ใน ม.291 ซึ่งระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำอย่างไรบ้าง และเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แต่ความมุ่งหมายนั้นคงเป็นเพียงการแก้บางมาตรา แต่ถ้าจะแก้ทั้งฉบับเราต้องย้อนกลับไปเหมือนกับที่เรามีประสบการณ์ก่อนปี 2540 นั่นคือต้องมีการตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วก็เอาทุกภาคส่วนเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

นายจอมถามว่า คิดอย่างไรที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอว่าให้เอาญัตติในสภาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์ตอบว่า ผมไม่แน่ใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการแก้บางส่วนหรือทั้งฉบับ แต่เห็นว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เห็นด้วย แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับน่าจะเห็นด้วย ผมจำได้ว่าตอนที่ดีเบตเรื่องนี้กันที่เชียงใหม่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางท่านก็บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาอยู่ แต่อยากให้มันผ่านประชามติไปก่อนแล้วค่อยไปแก้

 

ความเข้าใจของผมคือถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีการจัดตั้งองค์กรที่ยกร่างกันขึ้นมาใหม่ แล้วก็มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย น่าจะไม่มีใครคัดค้าน โดยนายวรเจตน์คาดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างต่ำคงใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี

 

นายจอมถามว่าหากใช้เวลาแก้รัฐธรรมนูญนานจะมีปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายวรเจตน์ตอบว่า "เสถียรภาพของรัฐบาลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง แต่อย่างที่บอกถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหาแล้วใช้วิธีแก้แบบ "ปะชุน" บางมาตรามันก็ไม่แก้ปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมาร่วมกันทำขึ้นมาใหม่ แล้วก็ให้มีกระบวนการที่มีความชอบธรรมกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 คิดว่าในที่สุดน่าจะดีกว่า"

 

 

แก้ ม.237 ทำตามหลักการ เพื่อให้คนผิดรับผิดไม่เกี่ยวกับคนไม่ทำผิด

ต่อคำถามว่า หากรัฐบาลคิดจะแก้เพียง ม.237 มาตราเดียว อาจถูกมองได้ว่าแก้เพื่อให้พรรคการเมืองของตัวเองพ้นผิดหรือไม่ ดร.วรเจตน์กล่าวว่า หากแก้เพียงมาตรานี้มาตราเดียวก็คงมองได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหากับบทบัญญัติใน ม.237 เป็นการแก้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดไป แล้วตอนนี้หลายส่วนในสังคมก็พูดแบบนี้ นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็อธิบายแบบนี้ แต่ผมอยากให้เราดูปัญหาในระดับหลักการมากกว่าดูว่าบทบัญญัติมาตรานี้เขียนไว้ว่าอย่างไร

 

ผมเห็นว่า ม.237 คงเป็นมาตราหนึ่งที่ควรแก้ไขแน่นอน เพราะหลักการมันไม่ถูกต้อง หมายความว่าหากตีความตัวบทของมาตรานี้ตามถ้อยคำก็คือ สมมติผมเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่พรรคหนึ่ง คุณจอมก็เป็นด้วยอยู่ในพรรคเดียวกัน แล้วผมไปมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง อาจไปกระทำการโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้องมา แล้วก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผลก็คือว่าถ้าตีความตามถ้อยคำใน ม.237 มันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เมื่อยุบพรรคแล้วคุณจอมก็จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งที่คุณจอมไม่ได้ทำอะไรผิด

 

นายจอม ถามต่อว่า แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ ได้เทียบเคียงกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระดับการบริหารองค์กร ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิด ย่อมมาจากการสั่งการหรือนโยบายของผู้บริหาร หมายความว่าผู้บริหารต้องรับผิดชอบ

 

นายวรเจตน์ตอบว่า ผมยังไม่พบกฎหมายหรือข้อกฎหมายแบบนี้เลย ที่อ้างกันอยู่นี้มีสองเรื่องคือ กรณีที่ลูกจ้างไปกระทำละเมิดบุคคลภายนอก แล้วให้นายจ้างรับผิดแทนลูกจ้างไปก่อน กฎหมายนี้มีเพื่อคุ้มครองคนที่ได้รับความเสียหายจากลูกจ้าง คือลูกจ้างไปขับรถชนคนอื่นในทางการที่จ้าง ผู้ได้รับความเสียหายเขาอาจมาฟ้องนายจ้างได้ พอนายจ้างได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแล้ว ก็อาจไปไล่เบี้ยกับลูกจ้างได้

 

แต่ไม่มีข้อกฎหมายที่บอกว่าถ้าลูกจ้างไปกระทำความผิด ลูกจ้างติดคุก นายจ้างต้องติดคุกด้วย หรือไปตัดสิทธิการประกอบอาชีพของนายจ้าง มันไม่มีข้อกฎหมายแบบนี้ แม้แต่เรื่องกฎหมายฮั้วหรือเรื่องอื่น กฎหมายก็ยอมให้คนซึ่งเกี่ยวพันพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนผิด แต่ตามรัฐธรรมนูญโดยถ้อยคำ ถ้าคุณจอมไปทำการบริหารพรรคการเมือง คุณจอมไม่มีสิทธิพิสูจน์ จริงๆ ที่มีปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คือกรณีพรรคชาติไทย ก็ชัดเจนว่าในทางข้อเท็จจริงกรรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่ได้รับรู้ด้วย นี่จึงเป็นความอึดอัดใจในข้อกฎหมายที่ว่ายุบพรรคแล้วตัดสิทธิ์คนอื่นที่เขาไม่ได้ผิด

 

นายจอมถามว่า ทำไมกรรมการบริหารพรรคจึงไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับลูกพรรค นายวรเจตน์ตอบว่า กฎหมายตามถ้อยคำเขียนว่า ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรค เมื่อยุบพรรคแล้วให้ตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเลย ถ้าตีความตามถ้อยคำ

 

ซึ่งผมได้ออกแถลงการณ์ไปว่าการตีความรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ตีความไปตามถ้อยคำไม่ได้ ถ้อยคำเขียนลักษณะนี้จริง ถ้าจะเขียนให้มีผลในทางกฎหมายแบบนี้ ต้องไปยกเลิกหลักการหลายหลักการในรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องเลิกหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม เลิกหลักประกันสิทธิเสรีภาพ เลิกหลักประชาธิปไตย เราจะประกาศไม่ได้ว่าเป็นรัฐชนิดนี้นะฮะ เราต้องประกาศว่าเราเป็นรัฐเผด็จการและอื่นๆ ก่อน ถึงจะใช้กฎหมายมาตรานี้ได้ตามถ้อยคำ เพราะฉะนั้นผมจึงมีความเห็นว่า เรื่องนี้หาทางออกได้โดยการตีความเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว แล้วไม่มีใครคิดหาทางออกทางกฎหมายแบบนี้

 

เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันก็ถูกต้องตามหลักการที่มันควรจะเป็น และผมไม่เห็นว่าจะทำให้เกิดคนที่มีส่วนได้เสีย จนแก้ไม่ได้แต่อย่างใดอย่างที่มีการกล่าวอ้าง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้คนผิดได้พ้นผิดไป กรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดก็ยังต้องรับผิดต่อไป แต่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเขาไม่ควรรับผิด ผมยังไม่เห็นว่าการแก้ไขตรงนี้มันบกพร่องตรงไหน เหมือนที่พูดกันว่าแก้ให้พ้นผิด เพราะเขาไม่ได้ผิดอยู่แล้ว กฎหมายไม่ได้ไปแก้ว่าคนซึ่งไปซื้อเสียงแล้วถูกตัดสินว่าผิดห้ามไม่ให้เขารับผิด เขาก็ต้องรับผิดอยู่ แต่คนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยไม่ควรต้องรับผิด

 

ต่อข้อถามของนายจอม ที่ว่ามีนักกฎหมายออกมาระบุว่าถ้าแก้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ม. 237 เท่ากับทำลายระบบกฎหมายของชาติ นายวรเจตน์ตอบว่า ถ้าการรัฐธรรมนูญแล้วมีผลแบบนั้นจริง ผมคงเป็นคนแรกๆ คงออกมาคัดค้านเคลื่อนไหว ถ้าคุณจอมติดตามดูอยู่ จะเห็นผมวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่มาตรา 309 ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่ามาตรานี้มาก อย่างที่บอกการแก้มาตรานี้ไม่ได้แก้เพื่อล้างความผิดของคนกระทำผิด ตัวสมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งยังคงต้องรับผิดอยู่ ไม่ได้แก้ว่าถ้าเขาทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด แต่เขาทำให้ถ้อยคำที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนที่จะไปเอาผิดกรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่ไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งสอดคล้องกับ "หลักทั่วไป"

 

ปัญหาที่พูดกันอยู่ตอนนี้คือ แล้วคนเหล่านี้มีส่วนได้เสียไหม ถ้าตีความเรื่อง "ส่วนได้เสีย" แบบที่เข้าใจกันอยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้เลย มีบางคนบอกว่าให้แก้ไขเสียก่อนที่การกระทำจะเกิดขึ้น ก็ยังไม่ทันมีสภาเลยก็มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว มันจะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าตีความกันแบบนี้ ผมเรียนว่าแม้แต่ ส.ส.จะแก้กฎหมายเรื่องพรรคการเมือง เรื่องนักการเมืองก็ทำไม่ได้ แม้แต่จะแก้กฎหมายภาษีก็ไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นผู้เสียภาษา ดังนั้นผมจึงมองไม่ออกว่ามันจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องส่วนได้เสียอย่างไร

 

 

ม.309 ไม่มีที่ไหนในโลกเขียนแบบนี้

ส่วนกรณี ม.309 ที่มีการมองว่า หากแก้กฎหมายข้อนี้ จะเป็นการนิรโทษกรรม ให้กับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหรือไม่นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ม.309 เขียนไว้ว่าอย่างไร ตอนที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญกัน ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญก็พูดชัดในวันที่ดีเบตว่า ม.309 รับรองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายให้มันชอบ ผมยังถามว่าถ้าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วจะไปเขียนรับรองทำไม ไม่มีความจำเป็นต้องเขียน ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง 111 คน ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง คตส.

 

ที่นี้ปัญหาคือ ม.309 ในทางถ้อยคำไม่ได้มีความหมายเท่านี้ ม.309 ถ้าอ่านดูแล้วมีความหมายรับรองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการรับรองการกระทำซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บอกให้มันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขียนกฎหมายแบบนี้ มีแต่รัฐธรรมนูญของเราที่เขียนแบบนี้ ซึ่งมันผิดหลัก

 

ประเด็นก็คือ ตอนนี้มีคนกลัวว่าหากมีการแก้ไข จะไปกระทบ 111 คน และ คตส. ผมเรียนว่าไม่กระทบ เพราะว่า 111 คน ถูกเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งยังมีผลในทางกฎหมายอยู่ จะทำลายผลตรงนี้ได้ต้องมีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อทำลายผลของกฎหมาย อย่างที่เรียกกันว่าการนิรโทษกรรม

 

 

เลิก ม.309 ไม่กระทบ คตส. แต่เพื่อให้ คตส. ถูกตรวจสอบตามระบบ

ส่วน คตส. เกิดขึ้นจากประกาศของ คปค. ความจริงผมไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจแบบนี้ขึ้นมา แต่เขาเกิดขึ้นจากตัวประกาศของ คปค. หมายความว่า แม้เลิก ม.309 นี้ ตัวองค์กรนี้ก็จะอยู่ต่อไป เพราะได้รับการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติตอนที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่ดีก็คือ ม.309 เดิมรับรองการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดพรุ่งนี้หรือเมื่อวาน ให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อเลิกมาตรานี้ไป กระบวนการต่างๆ ของ คตส. ที่ทำกันไป ถ้าชอบด้วยกฎหมายมันก็ใช้ได้ไม่มีปัญหา ก็ถูกต้อง มันไม่ได้ไปลบล้างหรือล้มเลิก

 

แต่ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเราในฐานะคนที่มโนสำนึกธรรมดาเหมือนกัน สิ่งที่ไม่ชอบก็ควรไม่ชอบ ถ้า คตส. ดำเนินกระบวนการสอบสวนโดยไม่ถูกต้อง โดยไม่ชอบ ผลการสอบสวนก็ต้องไม่ชอบ มันไม่ควรถูกรับรองเอาไว้ล่วงหน้าว่ามันชอบ

 

นายจอมถามต่อว่า ถ้ายกเลิกมาตรานี้ หลายคนกลัวว่า สิ่งที่ คมช. หรือประกาศ คปค. ก็เริ่มต้นกันใหม่หมด นายวรเจตน์ตอบว่า ต้องไปดูว่าประกาศต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมาตรวจวัดกับ "มาตร" ในทางรัฐธรรมนูญแล้ว มันมีประกาศไหนที่ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ต้องไปดูทีละเรื่อง กรณี คตส. เขาตั้งขึ้นมา ตัวประกาศ คปค.  คตส. ยังอยู่ แต่การกระทำของ คตส. ต่างหากจะถูกตรวจสอบว่าที่ คตส. ทำไปนั้น ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซี่งเป็นหลักปกติ เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว กระบวนการต่างๆ ที่ทำกันไปโดยองค์กรต่างๆ ควรที่จะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

 

ผมเรียนว่าถ้า คมช. ทำอะไรโดยที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องเกรงว่าจะมีปัญหา แต่กระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ควรต้องมีปัญหาใช่ไหมครับ

 

ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญกันจริง กว่าที่รัฐธรรมนูญจะแก้ไข คตส. ก็หมดวาระไปแล้ว เขาอยู่ในวาระอีกแค่ 2 เดือน คตส.เป็นองค์กรเฉพาะกิจ แรกเริ่มเดิมที่จะตั้งขึ้นมา 1 ปี ก็จะได้ระยะเวลาพอดีกับที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงควรจะเลิกไปตั้งแต่ครบปีหนึ่งแล้ว แล้วส่งเรื่องให้ ปปช. ดำเนินการต่อไป เพราะ ปปช. เป็นองค์กรในระบบ แต่ สนช. ไปต่ออายุ คตส. จนอยู่มาทุกวันนี้ เลยทำให้ คตส. เป็นองค์กรที่มีปัญหากับระบบรัฐธรรมนูญที่มันเริ่มเดิน

 

ต่อข้อถามที่ว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ม.309 จะเกิดปัญหากับเอกภาพของรัฐบาลไหม นายวรเจตน์ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่เถียงในทางกฎหมาย บางกรณีก็ยากแก่การทำความเข้าใจของคนทั่วไป ต้องฟังผู้ที่มีเสียงดังในทางสังคมเป็นสำคัญ ว่าคนเหล่านั้นอธิบายอย่างไร ซึ่งเสียงส่วนใหญ่จะอธิบายในลักษณะตรงกันข้ามกับผม

 

ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมบอกกับผู้ร่างบางท่านว่า ถ้าจะเขียนเรื่อง คตส. ก็รับรององค์กรไป รับรองให้ คตส. มีอยู่ อย่าไปรับรองการกระทำ เพราะเราไม่รู้ว่า การกระทำนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ เราไม่ควรเขียนเช็คเปล่าให้ใคร ว่าสิ่งที่เขาไปถูกต้อง หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ควรเป็นแบบนี้

 

เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ากังวล และเพื่อให้ระบบกฎหมายเดินไป ผมคิดว่าก็แก้ไป ยกเลิก ม.309 ไป ถ้ากังวลเรื่อง คตส. ก็เขียนรับรอง คตส. ให้เขาอยู่จนครบวาระ แต่การกระทำของเขาต้องถูกตรวจสอบโดยเกณฑ์ทางกฎหมายว่าชอบหรือไมชอบ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ประกาศตัวไม่ได้ว่าเราเป็นนิติรัฐ

 

 

ขืนตีความ "ส.ส.แก้ไข รธน. คือประโยชน์ทับซ้อน" จะไม่มีใครแก้กฎหมายอะไรได้

ต่อข้อถามที่ว่า กรณีที่มีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญบอกว่าจะใช้วิธีรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ส.ที่ยื่นญัตติแก้ไข รธน. โดยบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ (แก้ ม.237 เพื่อให้พ้นจากการยุบพรรค) เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขัดกันซึ่งผลประโยชน์นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะ ม.122 พูดเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในอาณัติมอบหมาย หรือครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ มาตรานีเขียนรับรองสถานะของ ส.ส. และ ส.ว. เอาไว้ให้เขาทำหน้าที่อย่างอิสระ

 

ประเด็นคือ การที่ตีความเรื่องนี้ ต้องดูว่าการที่เขากระทำการนั้นเป็นเหตุถอดถอนหรือไม่ ถ้าเขาใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งไปในทางมิชอบถอดถอนได้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญ มันคงเอาเรื่องนี้มากล่าวอ้างไม่ได้ อย่างที่ผมบอก ถ้าตีความแบบนี้ ใครๆ ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราจะถูกมองว่ากระทำการแก้ไขเพื่อตัวทั้งสิ้น กฎหมายพรรคการเมือง หรือ การออกฎหมายบางฉบับ ก็จะกระทำมิได้เลย ความมุ่งหมายคงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามีการเข้าชื่อกันจริง ถามว่าใครจะเป็นคนถอดถอน เพราะจะกลายเป็นว่าทุกคนกลายเป็นคนที่มีส่วนได้เสียกันหมดทั้งสภา

 

 

พรรคการเมืองเป็นที่ร่วมของคนคิดอ่านเหมือนกัน ตั้งมาแล้วไม่ควรให้ยุบง่ายๆ

เรื่องการยุบพรรคนั้น พรรคการเมืองเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว หลักทั่วไปในโลกเขาไม่ให้ยุบกันง่ายๆ เพราะพรรคเป็นที่รวมของคนที่มีความคิดความอ่านทางการเมืองคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะบ้านเราที่สถาบันทางการเมืองมันค่อยๆ พัฒนาไป ลองนึกดูถ้ายุบพรรคทำได้ง่ายๆ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองโดยบัญญัติในมาตรานี้ก็อาจถูกยุบพรรคเหมือนกันทั้งที่มีอายุมากว่า 60 ปี มันคงไม่ถูกต้อง ใครทำผิดต้องเอาผิดคนนั้น แล้วการตีความเรื่องนี้ต้องตีความให้สอดคล้องกับหลักการที่มันควรจะเป็น สังคมจะได้มีทางออก ขอให้พูดกันในหลักการ อย่าพูดในผลประโยชน์เฉพาะหน้าใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

นายจอมถามว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้เป็นธรรม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมโดยประชาชน นายวรเจตน์ตอบว่าโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการแก้ไขแล้วว่าให้ญัตติมาจากใคร พิจารณากันอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ถ้าเดินตามกลุ่มของผู้ที่ต้องการแก้ไขบางมาตรา โอกาสที่ประชาชนมีส่วนร่วมอาจจะน้อย เขาอาจไปฟังความเห็นความเห็นของประชาชน แต่อาจจะน้อย ถ้าเกิดว่าดำเนินกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญกันทั้งฉบับ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในหลายลักษณะ

 

ในความเห็นผม คนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีที่มาตามความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเข้ามาส่วนหนึ่ง บวกกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ประกอบกันขึ้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบทำ ไม่ใช่การให้ผู้มีอำนาจตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งขึ้นมายกร่าง

 

ผมคิดว่าหากทุกคนต่างถอยกันคนละก้าวแล้ว และยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมันมีปัญหาจริงๆ ในทางหลักการ ปัญหาคือ บางฝ่ายคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา แต่ผมเองเห็นว่าเป็นปัญหา และปัญหาที่เห็นมันไม่ใช่ปัญหาที่มองย้อนในอดีต แต่มันเป็นปัญหาระดับหลักการ เราจะไม่ทะเลาะกัน ถ้าหากเราพูดเรื่องหลักการที่ควรจะเป็นว่ามันจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญควรเขียนหลักการก่อน รัฐธรรมนูญควรมองไปข้างหน้าว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมไทยใฝ่ฝันจะไปให้ถึงอาจไม่ต้องยาวมาก ที่เหลือก็ทำเป็นกฎหมายในระดับรองลงมา เวลามีปัญหาทางการเมืองจะไม่กระทบกับรัฐธรรมนูญ

 

 

ชี้การเมืองแบ่งสองขั้ว แต่สังคมไทยต้องพ้นไปจากเรื่อง "เอา" หรือ "ไม่เอา" ทักษิณ

นายวรเจตน์กล่าวต่อไปว่า สภาพทางการเมืองตอนนี้มันแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งมีอำนาจทางการเมือง ขั้วหนึ่งมีอำนาจในทางกฎหมาย แล้วสองขั้วนี้ปะทะกัน แล้วตอนนี้ฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนขั้วที่มีอำนาจทางกฎหมายไม่ต้องการแก้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันในระบบการเมือง ซึ่งประชาชนต้องรู้เท่าทัน และยกระดับปัญหานี้ไปสู่ปัญหาในระดับเชิงหลักการ ถ้าจะเถียงกันเชิงหลักการว่าไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ไปจนสุดอย่างเรื่องยุบพรรคการเมือง ที่ยุบไปแล้วก็เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาซึ่งสืบสาวมาจากพรรคการเมืองเดิมซึ่งประชาชนก็ยังเลือกอยู่ ถามว่าที่สุดประเทศชาติได้อะไรจากการเล่นเกมการเมืองและกฎหมายในลักษณะเช่นนี้

 

นายจอมถามต่อว่า กลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาหลายกลุ่มในขณะนี้จะเผชิญหน้ากันหรือไม่ในอนาคต นายวรเจตน์ตอบว่า ประเมินยาก ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะและวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือตอนนี้บ้านเมืองเรายังไปไม่พ้นจากปัญหา "เอา" หรือ "ไม่เอา" คุณทักษิณ ยังเป็นแบบนี้ เพียงแต่มันแปรรูปไปเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การออกเสียงลงประชามติ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมองไปไหนปัญหาเรื่องหลักการ ไม่ได้มองว่า "เอา" หรือ "ไม่เอา" คุณทักษิณ แต่ตอนนี้ปัญหานี้ยังดำรงอยู่และต่อสู้กันต่อไป

 

ถ้าคนที่เป็นชนชั้นนำในสังคมยังมองไปไม่พ้นจากปัญหานี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะปะทะกัน

 

พรรคการเมืองซึ่งร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่สุดคือพรรคพลังประชาชน ได้หาเสียงเอาไว้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาลสิ่งหนึ่งแก้ไขคือแก้รัฐธรรมนูญ แต่น่าเสียดายไม่มีการพูดกัน ในที่วันแรกๆ ที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าทำตั้งแต่ตอนนั้น และกำหนดกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลจะน้อย แต่ตอนนี้ในเชิงระยะเวลามาเกิดเอาในช่วงที่มีปัญหายุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค ซึ่งยังไม่ได้ยุบพรรคกลไกยังอีกหลายขั้นตอน แต่ข้อกฎหมายมันพอมองไปได้

 

ตอนนี้เลยเป็นปัญหา ทุกคนเลยหวาดระแวงกันหมด ไม่คิดว่าจะดำเนินการไปเพื่อหลักการที่มันควรจะเป็น ในที่สุด ทุกฝ่าย รัฐบาลเองคงทำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นระบบ ขั้นตอนที่จะเสนอเป็นอย่างไร ให้พ้นไปจากปัญหาเรื่องแก้เพื่อตัวเอง อีกเรื่องต้องฟังคำอธิบาย และพ้นไปจากเรื่อง "เอา" หรือ "ไม่เอา" คุณทักษิณ คุณทักษิณไม่ได้อยู่กับเราตลอดกาล บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้าอีก เรามาทะเลาะกันด้วยเรื่องแค่นี้ เอามาเป็นปัญหาหลักทางสังคม ก็ได้กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการและทำให้สังคมไม่ไปไหน

 

 

เรื่องเรียกร้องให้ยึดอำนาจ สะท้อนวุฒิภาวะทางสังคมว่าไม่ยอมโต

นายจอมถามว่า คิดว่ากองทัพกังวลแค่ไหนกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์กล่าวว่า กองทัพคงกังวล และได้รับบทเรียนจากการยึดอำนาจว่า การยึดอำนาจใน พ.ศ. นี้ไม่แก้ปัญหาทางการเมือง การใช้กำลังยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่แก้ปัญหาอะไรเลยในช่วงปีที่ผ่านมา

 

ต่อข้อถามที่ว่า ยังคงมีการเรียกร้องให้มีการยึดอำนาจกรุ่นๆ อยู่นั้น นายวรเจตน์กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทางสังคม เรายังเด็กอยู่มาก ไม่ยอมโต หลายคนคิดว่ามีปัญหาต้องแก้ด้วยการยึดอำนาจ ซึ่งมันไม่แก้ปัญหา และปัญหาที่มันอยู่มันก็ยิ่งอยู่

 

พัฒนาการในทางประชาธิปไตย มันไปไกลพอสมควร จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกหลายอย่างที่เป็นปัญหาทางประชาธิปไตยแฝงเร้นในรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องหนีไม่พ้นกระแสให้ยอมรับหลักนิติรัฐและนิติธรรมในประชาธิปไตย ก็ต้องเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ดี เลยเป็นปัญหาเวลาตีความทางกฎหมาย ว่าคุณจะให้คุณค่ากับหลักการพวกนี้อย่างไร

 

ผมเองเห็นยังว่าเพื่อให้ระบบเดินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการสูญเสีย ปัญหาระดับหลักการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ควรว่ากันไปตามระบบ ไปตามหลักที่ควรจะเป็น เอาเหตุเอาผลมาพูดกัน อย่าตั้งธง มันก็จะไปได้

 

 

ชี้ชนชั้นนำไทยเสียรังวัดไปมาก หลังทุ่มกำลังกำจัดทักษิณ

นายจอมถามว่า สังไทยขาดที่พึ่ง ขาดคนชี้แนะ ขาดอะไรที่พอออกมาแสดงความคิดเห็นทุกคนยอมรับและไปร่วมกัน เราขาดกลุ่มคนกลุ่มนี้ไหมครับ

 

นายวรเจตน์ตอบว่า ก็อาจเป็นไปได้ ผมเห็นว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำในสังคมไทยทุกส่วน ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปอย่างมาก ทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างไปจัดการกับคุณทักษิณ เราละเลยคุณค่า ละเลยหลักการที่ควรจะเป็น วันนี้สังคมไทยมีปัญหามาก ถึงที่สุดใครพูดอะไรก็ไม่มีใครฟังใคร ผมคิดว่ายังไม่สายถ้าเราจะย้อนกลับมาดู ทำอย่างที่มันควรจะเป็น อย่าไปปักธง อย่ามีอคติกันไว้ก่อน ใช้กฎหมายให้มันเสมอกันกับทุกฝ่าย ในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.) กตต. จะประชุมกันเรื่องการยุบพรรค ผมเห็นว่าประเด็นในข้อกฎหมายที่ผมและเพื่อนๆ 4 คน เสนอว่าจะการตีความ ม.237 ต้องคำนึงหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐนั้น ถ้า กกต. ตีความในหลักการนี้น่าจะแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง

 

 

วอนฝ่ายค้านแก้ รธน. อย่าอ้างผลประชามติ เพราะไม่ได้มาตรฐานสากล

นายวรเจตน์ยังเสนอแนะว่า รัฐบาลก็คงต้องฟังทุกๆ ฝ่าย และพยายามหาคนซึ่งน่าจะเป็นกลางหรือคนพอฟังอยู่บ้างมาพูดคุยกัน เพื่อออกไปจากสภาพความขัดแย้งแบบนี้ แต่อย่างที่บอกว่าอย่าปักธงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขไม่ได้ โดยที่มีการอ้างเรื่องของการออกเสียงประชามตินั้น ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเห็นว่าการอ้างดังกล่าวมันอ้างไม่ได้

                                                                                                            

เพราะการทำประชามติที่ทำในคราวที่แล้ว ไม่ใช่การทำประชามติในระดับมาตรฐานสากล เราคงรู้ว่าหลายคนรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเพียงเพื่อให้ประเทศพ้นสภาพที่พ้นสภาวะรัฐประหาร ให้ประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตยไปก่อน ถึงตอนนี้เมื่อกลับมาสู่ระบบแบบนี้มันคงต้องเดินต่อไป ถ้าใครคิดว่าเป็นนักประชาธิปไตย เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องมองประเด็นนี้เป็นหลัก ถ้ามองประเด็นนี้เป็นหลักแล้วจะคุยกันได้ ถ้ามองประเด็นอื่นเป็นหลักจะคุยกันไม่ได้ทั้งสองข้าง

 

 

ชวนสังคมจินตนาการเปลี่ยนผ่าน รธน. จากเวอร์ชั่น 2534 มาเป็น 2540

ในช่วงสุดท้าย นายจอมถามว่า ทุกฝ่ายจะทำอย่างไรให้ประเทศพ้นไปจากหนทางตันจากการแก้รัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์ตอบว่า เราอาจต้องย้อนเวลากลับไป อย่างยุคก่อน 2540 เรามีประสบการณ์ที่จะผ่านตัวรัฐธรรมนูญจาก 2534 มาเป็น 2540 อย่างไร อีกทีหนึ่งคือย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. ที่มีการพูดเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราน่าจะย้อนกลับไปตรงจุดเวลานั้น และทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสาธารณะ ทำองค์กรที่มีความชอบธรม ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้สังคมไทยมีเป้าหมายเดินกันไป ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างเท่านั้นเอง แล้วมันก็แก้ไม่ได้

 

ที่เหลือเป็นเรื่องในระดับกฎหมาย แม้ผมเองส่วนตัวจะเห็นว่า เรื่องนี้ ในภาวะการณ์ที่สู้กันทางการเมืองแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ว่าเราต้องใช้ความพยายาม อย่าได้กลายเป็นว่า เมื่อผ่านอีกหลายปีข้างหน้าแล้วมองย้อนกลับมาในอดีตต่างสำนึกเสียใจกันหมด ว่าเราไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเอาบ้านเมืองออกจากปัญหา แล้วมานั่งเสียใจกันภายหลัง

 

อ่านย้อนหลัง

สัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ว่าด้วย มาตรา 1 "อำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย", ประชาไท

24/1/2551

สัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (2) : แล่เนื้อเถือหนัง "ตุลาการภิวัตน์" แบบไทยๆ, ประชาไท, 27/1/2551

อีกสักครั้งกับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เรื่องตุลาการภิวัตน์, ประชาไท 8/4/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net