Skip to main content
sharethis

ปธ.กตต.เผย 8 เม.ย.ชี้ชะตาคดียุบพรรค


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายเกรียงไกร ฉางข้าวคำ บุตรชายนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ พยานปากสำคัญในคดีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจาก กกต.มาร้องขอให้คุ้มครองเนื่องจากถูกข่มขู่ว่า ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการเลขาธิการ กกต. ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้คุ้มครองพยานดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากคำร้องเรียนของนายเกรียงไกร ระบุว่า ตำรวจที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามนายหนึ่งถูกย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่จ.เชียงราย ดังนั้นตัวเขาจึงเกรงว่าจะไม่มีความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้เราได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความคุ้มครองแล้ว



 


อย่างไรก็ตาม กกต.คงไม่มีอำนาจเข้าไปคุ้มครองพยานได้ เพราะไม่ใช่อำนาจโดยตรง ซึ่งเกรงว่ากรณีที่ กกต.ไม่มีอำนาจตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาในภายหน้า ส่วนกรณีที่นายเกรียงไกรระบุว่าคำขู่จะส่งผลให้นายชัยวัฒน์ พยานปากสำคัญกลับคำให้การว่า ถือเป็นรายละเอียดหนึ่งที่อยู่ในคำร้องเรียนของนายเกรียงไกร แต่เราคงไม่สามารถทำอะไรได้



 


นายอภิชาต ยังกล่าวถึงการประชุม กกต.เพื่อพิจารณายุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในวันที่ 8 เม.ย. ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ว่า ยังไม่ทราบ แต่ทราบว่าจะมีตัวแทนจากทั้งสองพรรคมาชี้แจงต่อ กกต.ทั้ง 5 คน ซึ่งไม่คิดว่าหลังจากการชี้แจงครั้งนั้นเราจะให้ใครมาชี้แจงเพิ่มเติมแล้ว และในวันเดียวกันนี้นตนในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะทำความเห็นตามมาตรา 95 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เสนอต่อที่ประชุม กกต.ให้พิจารณาด้วย และคาดว่าจะสามารถลงมติ ว่าจะส่งเรื่องยุบพรรคให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 



ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 นั้น ขณะนี้ยังไม่กระทบกับการทำงานของ กกต. แต่หากมีการแก้ไขก็อาจจะส่งผลกระทบ ทั้งนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะก่อให้เกิดวิกฤติหรือไม่ แต่อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันประคองสถานการณ์ เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้เกิดความรุนแรงอะไร



นายอภิชาต กล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.ได้มีมติให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อสมาชิกกิตติมศักดิ์ ที่ก่อนหน้านี้ทางพรรคการเมืองไม่ได้แจ้งต่อ กกต. เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองส่งชื่อมา ทาง กกต.ก็เปิดเผยต่อสาธารณชน


 


 


วิปรัฐบาล มีแนวโน้มจะแก้รธน. ทั้งฉบับ เตรียมหารืออีกครั้งสัปดาห์หน้า                   


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค -  นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า ภายหลังจากที่วิปรัฐบาล ได้มอบหมายให้ช่วยยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อวันพฤหัสที่ 3 เม.ย.ได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยและส่งให้พรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง 5 พรรคไปพิจารณาพร้อมลงมติข้อเสนอความเห็นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกพรรคจะนำเข้าที่ประชุมพรรคในวันอังคารที่ 8 เม.ย. ก่อนจะนำมติแต่ละพรรคมาหารือร่วมกันในการประชุมวิปในวันพุธที่ 9 เม.ย. โดยเบื้องต้นคณะยกร่างแก้ไขรธน.ยังไม่มีมติว่าจะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง แต่ในส่วนของวิปรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะแก้รธน.เกือบทั้งฉบับและหลายมาตรา ซึ่งจะแก้แน่ๆ ใน 7 ประเด็น 11 มาตรา


 


นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ไม่กังวลกับกระแสความขัดแย้งของสังคมที่ออกมาต่อต้าน เพราะพลังประชาชน ได้รณรงค์โหวตโนตั้งแต่ลงประชามติรัฐธรรมนูญ และในการหาเสียงก็ได้ประกาศเป็นนโยบายสัญญาประชาคมต่อประชาชน ดังนั้น การที่ประชาชนเลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาก็เท่ากับว่าประชาชนให้สิทธิในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากพรรคไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นปัญหามากกว่า และอาจทำให้ประชาชนที่ไว้วางใจผิดหวัง


 


 


"อ๋อย" หนุนเลิก รธน.ทั้งฉบับ โวย "พระปราชิก" รูปเดียวถูกยุบวัด อัด อ.นิติ "อ่อนประชาธิปไตย"


เว็บไซต์มติชน - นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่โรงแรมเรดิสัน  ย่านพระราม 9 ว่า ประเทศไทยที่เสียหายครั้งใหญ่จากการยึดอำนาจและผลของการยึดอำนาจยังไม่จบ โดยเฉพาะการฝากสิ่งที่ต้องติดอยู่กับสังคมคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นผลิตผลของการรัฐประหารยังคงอยู่และยังมีผลต่อเนื่องไม่หยุด แม้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วประเทศก็ยังเป็นประชาธิปไตยเพียงบางส่วนเนื่องจากกติกาที่ใช้นั้นมาจากการรัฐประหาร ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารนั้นไม่มีความชอบธรรมในแง่ของทีมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งหลักการหลายอย่างทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากอำนาจอธิปไตยยังอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และผู้ที่มาจาการเลือกตั้งยังถูกควบคุมจากพวกแต่งตั้ง องค์กรอิสระไม่อิสระจริง รวมไปถึงองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นจากคณะรัฐประหารยังคงอยู่


 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต่างเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรแก้ไขส่วนที่สำคัญๆ ทั้งหมดและควรให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน และต่อไปจะเริ่มส่งผลให้เกิดวิกฤติกับบ้านเมืองมากกว่านี้ ดังนั้นจึงควร 1.ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบยกเครื่องหรือทั้งฉบับ โดยหมวด 1 และหมวด 2 นั้นเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาเป็นหลัก 2.ควรเร่งแก้ไขให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 180 วัน หากรอเวลาไปอีก 1-2 ปีซึ่งวิกฤติต่างๆ ที่ถูกซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญจะเริ่มออกมาแล้วจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 


 


3.ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยพรรคการเมือง หารือกับองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ว่า สมควรที่จะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนปี 2540 อีกหรือไม่ ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่จะการแก้ไข 4-5 มาตรานั้นยังไม่ครอบคลุมให้เป็นประชาธิปไตยได้ และตนเองก็สับสนกับข้อเสนอของวิปรัฐบาลที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง และมีเพียงแต่การพูดกันเรื่องการแก้ไขกี่มาตราเท่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดเวลาในการแก้ไข รวมทั้งที่ผ่านมายังไม่มีการอธิบายหลักเหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเข้าใจอย่างจริงจัง


 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนที่สำคัญที่จำเป็นตะต้องแก้ไขนั้นคืออำนาจ หน้าที่และบทบาทของสมาชิกรัฐสภา กับอำนาจ หน้าที่และบทบาทของผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งไม่ต้องไปเป็นห่วงเรื่องที่มีการวิจารณ์ว่า ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง เพราะทั่วโลกต่างยอมรับเป็นกติกาว่าสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง และปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไขครั้งนี้คือรัฐธรรมนูญนี้คนที่ไม่ทำผิดจะต้องถูกลงโทษ จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขไม่ให้คนที่ไม่ได้ทำผิดนั้นต้องถูกลงโทษ เหมือนอย่างคำที่ว่า พระปราชิกรูปหนึ่งไม่ใช่หมายความว่าพระจะต้องปราชิกทั้งวัดหรือต้องไปยุบวัด


 


'ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีการยุบพรรคการเมืองง่ายดายไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นขัดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรงคือคนทำผิดเพียงคนเดียวเขตเดียว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทั้งคณะ เกิดการเปลี่ยนนตัวนายกฯและบังคับให้ ส.ส.กว่าครึ่งสภาฯเปลี่ยนพรรคการเมือง ทั้งหมดเกิดขึ้นได้จากการกระทำของคนๆ เดียว และตัดสินโดยคน 14 คน ซึ่งจะทำให้คน 14 คนสามารถเป็นผู้กำหนดได้ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาธิปไตยและประชาชนออกมาเรียกร้อง ซึ่งจะเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นต้องถามว่าใครเขียน ใช้ปืนเขียนหรือใช้ปากกาเขียน' อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าว


 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนกระแสต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นธรรมดาที่จะต้องมีอยู่แล้ว  แต่สำหรับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์หลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนั้น ส่วนใหญ่ยังใช้มุมมองของกฎหมายแพ่งในการเสนอความเห็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ซึ่งหลายคนเคยร่วมงานและร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะออกมาปกป้องสิ่งที่เคยทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่ปัญหาสำคัญของนักนิติศาสตร์เมืองไทยคือขาดการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย ซึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านนั้นมีมาตั้งแต่ความพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าอยู่ในกรอบของกฎหมายก็ถือว่าสามารถยอมรับกันได้  แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสัวงคมไทยจะต้องไม่อ้างเป็นเหตุผลไปสู่การยึดอำนาจอีกครั้ง


 


 


ธีรยุทธแนะสมัครหารือนักวิชาการก่อนแก้ รธน.


โพสต์ทูเดย์ - นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดของบ้านเมือง ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรใช้โอกาสนี้ในการปรึกษาหารือกับหลายๆ ฝ่าย อาทิ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และกลุ่มนักวิชาการต่างๆ ถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้มีความเหมาะสมและดีที่สุด เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของนักการเมือง


 


นอกจากนี้ นายธีรยุทธ เปิดเผยว่า ในอีก 2 สัปดาห์จะประเมินสถานการณ์บ้านเมือง และผลงานการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี


 


 


"ปชป." สนับสนุนแก้ รธน. แต่ต้องใช้กระบวนการของรัฐสภาฯ


เว็บไซต์เดลินิวส์ - นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้จะต้องใช้กระบวนการของรัฐสภา ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการบังคับใช้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีสมาชิกเป็นส.ส. และบุคลากรภายนอกที่มีความรู้ ร่วมพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง


 


นอกจากนั้น ขอตั้งข้อสังเกตถึงความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชาชนในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า 1. การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชนมีลักษณะสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก แกนนำที่เสนอตัวเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พยายามที่จะช่วงชิงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัว 2.มีการเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินความจำเป็น 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสาระเพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ และ 4.มีการหวังผลทางการเมืองรวมอยู่ด้วย



 


"การเคลื่อนไหวของคนรัฐบาลที่ใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ยืนยันว่าจะต้องมีการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติจับตาและเป็นกังวลหากมีการยุบพรรคเกิดขึ้น ผมมองว่าสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติกังวลน่าจะเป็นที่มีกลุ่มคนที่พยายามใช้เล่ห์เพทุบายเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะช้า หรือ เร็ว ไม่ได้มีผลกระทบต่อการลงทุนแต่ประการใด" นายองอาจ กล่าว


 


 


หวั่นสถานการณ์การเมืองปมปฏิวัติ


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่มีโหรทำนายว่าจะเกิดปฏิวัติรอบสองว่า หมอดูคงทำนาย โดยนำสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ไปผูกกับดวงเมือง ซึ่งคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่อาจทำให้เกิดการปฏิวัติได้ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดวิกฤติการเมืองในสภาเอง พฤติกรรมนักการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ 309 เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเองที่จะถูกตรวจสอบการกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง การคอรัปชั่น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทย ฝ่ายทหารยังมีอิทธิพลกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ จนกว่าพรรคการเมืองไม่ใช่พรรคของใครคนใดคนหนึ่งที่จะใช้แสวงหาประโยชน์



 


ส่วนการรัฐประหารที่ผ่านมา แม้จะล้มเหลวเพราะผู้นำการรัฐประหารไม่เก่งพอ แต่บางส่วนก็ถือว่าก้าวหน้า เช่น พัฒนาเรื่องสิทธิเสรีภาพให้ดีขึ้น กล้าที่จะแสดง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มากกว่าในปี 2540 องค์กรอิสระปลอดจากการเมืองยิ่งขึ้น สังคมเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางความคิดที่จะแก้ปัญหาเพื่อจะนำประเทศไปสู่นิติรัฐ



 


นายพิภพย้ำว่า แม้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันอาจจะนำไปสู่การปฏิวัติยึดอำนาจได้อีก แต่ส่วนตัวก็ไม่อยากให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ซึ่งฝ่ายการเมืองสามารถใช้การยุบสภายุติความขัดแย้งได้ ส่วนทหารไม่ต้องเข้ามายึดอำนาจแต่ใช้วิธีการตะล่อมกดดันการเมือง ไม่ให้นักการเมืองทำตามใจชอบ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตัวเอง



 


"ที่ผ่านมา 3 อำนาจอธิปไตย อำนาจบริหารโดยรัฐบาล อำนาจนิติบัญญัติ ถูกรวมไว้ด้วยกัน แต่อำนาจตุลาการถูกละทิ้งไปด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และ 309 ที่จะเข้ามาตรวจสอบการกระทำผิดของนักการเมือง ทั้งที่อำนาจตุลาการเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นายพิภพกล่าว



 


ชี้แก้ ม.309 ชนวน ปชช.ต้าน


เว็บไซต์คมชัดลึก - นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรียืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา จะทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นดุเดือด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ว่าด้วยการยุบพรรค ไม่ได้มีคำอธิบายตรงไหนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่หากรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ว่าด้วยเรื่องการเซ็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือแก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส.เขตกลับไปเป็นแบบเดิม คือ แบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น คิดว่าประชาชนจะสามารถเข้าใจได้ และไม่ติดใจในการเลือกแก้บางมาตรา



 


"หากรัฐบาลยังดึงดันที่จะแก้ไขมาตรา 309 นั้นเป็นเรื่องใหญ่แน่ เพราะนัยสำคัญไม่ได้เป็นเพียงการตัดถ้อยคำ หรือเพิ่มถ้อยคำในมาตราดังกล่าวเท่านั้น เพราะมองว่าเจตนาเพื่อแก้ไขประกาศ คปค.บางฉบับ เช่น ประกาศที่ว่าด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน และประกาศ คปค.ที่ว่าด้วยการจัดตั้ง คตส. อาจจะเกิดวิกฤติใหญ่ทางการเมือง ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านมาก" นายสมคิดกล่าว



 


 


"มท.1" ยันปราบยาเสพติดไม่มีฆ่าตัดตอน


เว็บไซต์คมชัดลึก - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมรวมพลคนกรุงเทพฯ ไม่เสพยา (แบ็งค็อกเคลียร์) โดยกล่าวถึงปัญหาการฆ่าตัดตอนที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เห็นว่ามีตัวเลขการฆ่าตัดตอนถึง 2,600 ราย ขอชี้แจงว่า การดำเนินการใดๆ อยู่บนพื้นฐานการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งยืนยันว่าไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัดตอนเกิดขึ้น และก็ไม่ต้องการเห็นใครเสียชีวิต


 


ทั้งนี้ การแก้ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องดำเนินการแบบตารางหมากรุก หรือแม๊ปปิ้ง โดยดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศที่ต้องร่วมกัน ในการสกัดกั้นการขนยาเสพติดและสารตั้งต้นที่ใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติด โดยการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งตนจะให้นโยบายในการบำบัดรักษา ไม่ให้รังเกียจผู้ติดยา และหาวิธีรักษาที่ไม่เป็นการตั้งข้อรังเกียจของชุมชนเพื่อลดจำนวนผู้ค้า ฟื้นฟูผู้เสพ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงให้ห่างไกลจากยาเสพติด นอกจากนี้จะต้องมีการกวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงตามนโยบายการจัดระเบียบควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการจำหน่ายและมั่วสุมของเยาวชน


 



ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การกำหนดให้ยาเสพติดเป็นวาระความมั่นคงแห่งชาติสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที โดยจะทำเป็นแผนงานเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดกรอบการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จะต้องควบคุมสารตั้งต้นที่จะนำมาผลิตยาเสพติด ตำรวจตระเวนชายแดนจะป้องกันเรื่องการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กองทัพ ตำรวจ จะดูแลเรื่องการปราบปรามภายในประเทศ นอกจากนี้จะประเมินผลภายใน 3 เดือน โดยจะนำความรู้สึกของประชาชนมาเป็นเครื่องชี้วัดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่



 


 


ปชป.สอบ "จักรภพ" ส่อขัด รธน. จ้างบ.ผลิตข่าวช่อง11


มติชน - นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของสื่อและสืบสวนกรณีเข้าข่ายแทรกแซงสื่อมวลชน กล่าวถึงการทำสัญญาระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) กับบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮล ดิ้ง จำกัด ว่า เบื้องต้นเห็นว่ามีหลายกรณีที่ส่อให้เห็นว่า นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ


 


โดยจะเริ่มสอบสวนอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า กรณีที่ให้บริษัทเอกชนผูกขาดการเข้ามาผลิตข่าวของช่อง 11 หรือเอ็นบีที ใน 2 ประเด็น คือ 1.ความไม่โปร่งใสของขั้นตอนการจัดจ้างและการทำสัญญา และ 2.สัญญานี้ให้เอกชนผลิตข่าวขั้นต่ำวันละ 9 ชั่วโมงครึ่งแต่เพียงผู้เดียว โดยเสนอผลประโยชน์ปีละ 40 ล้านบาท รวมไปถึงการโฆษณา 7 นาทีต่อชั่วโมง จะถือว่าทำให้รัฐบาลเสียผลประโยชน์หรือไม่


 


ทั้งนี้สัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม มีระยะเวลา 2 ปี และใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการอนุมัติ นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า กปส.มีการพิจารณาให้เอกชนร่วมผลิตข่าวประจำวันที่เปิดกว้างตามระเบียบสำนักนายกฯหรือไม่ เพราะมีเพียง 2 บริษัทเสนอเข้ารับการพิจารณา


 


นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน กล่าวว่า นายเผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดี กปส. เคยให้ข้อมูลกับกรรมาธิการยกร่างการข้อบังคับการประชุมสภาว่า กปส.จัดให้เช่าเวลาราคา 30,000-100,000 บาทต่อชั่วโมง หากดูค่าเช่าเวลาตามปกติแล้ว กปส.ต้องได้รายได้จากบริษัท ดิจิตอล โฮลดิ้ง มีเดีย จำกัด จำนวน 104-346 ล้านบาทต่อปี แต่บริษัทดังกล่าวเสนอให้ 46 ล้านบาท นอกจากนี้ ในสัญญายังระบุว่า กปส.จะสนับสนุนเครื่องมือทั้งหมด โดยบริษัทดังกล่าวไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปี


 


 


ผู้นำรัสเซีย ปฏิเสธข่าวสงครามเย็น


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยืนยันต่อบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ จะไม่ดึงนานาประเทศเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ เนื่องจากสงครามเย็นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ หรือรัสเซีย โดยเห็นว่าทุกฝ่ายควรเป็นมิตรที่ดีต่อกัน และร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลังมีสัญญาณการเกิดสงครามเย็นระลอกใหม่ขึ้น จากการที่เกิดความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการขยายจำนวนสมาชิกของนาโต้ และการย้ายฐานติดตั้งระบบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลเข้าไปในยุโรปตะวันออกของสหรัฐฯ


 


ขณะเดียวกัน ผู้นำรัสเซีย ยังเตือนนาโต้ด้วยว่า การรับประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เช่น ยูเครน และจอร์เจีย เข้าเป็นสมาชิกใหม่ขององค์การนาโต้ อาจจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของรัสเซียโดยตรง แม้นาโต้ จะยืนยันว่าการรับทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ จะไม่มีผลต่อรัสเซียก็ตาม แต่เขากลับไม่เชื่อเช่นนั้น


 


ทั้งนี้ นาโต้ได้ลงมติก่อนหน้านี้ว่า ยังไม่รับทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในขณะนี้ เพื่อรักษาน้ำใจรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้ตัดโอกาสแก่ทั้งสองประเทศไป


 


 


ผู้นำอังกฤษ เตือนวิกฤติทางการเงินทั่วโลก


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค - นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตือนว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติทางการเงินที่แท้จริงเป็นครั้งแรกในโลกยุคใหม่นี้ พร้อมเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ ธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ เร่งปฏิรูปองค์กรเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ และภาวะโลกร้อน เนื่องจากเห็นว่า องค์กรเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน


 


ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังเสนอแนะให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถสร้างระบบการเตือนภัยวิกฤติทางการเงินล่วงหน้า แก่ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และแนะให้ธนาคารโลกช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนเสนอแนะให้มีการสำรองเงินระหว่างประเทศเพื่อพร้อมช่วยฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำทางเศรษฐกิจ อาทิ รวันดา และบอสเนียอย่างเร่งด่วน


 


คำกล่าวของผู้นำอังกฤษมีขึ้น ระหว่างการเป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยการปกครองแบบก้าวหน้าที่เมืองวัตฟอร์ด ของอังกฤษ ระหว่างวันนี้ถึงวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีผู้แทนประเทศต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ แห่งออสเตรเลีย ผู้แทนรัฐบาลแอฟริกาใต้และนิวซีแลนด์ และคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป โดยสาระสำคัญตลอดระยะเวลา 2 วันของการประชุมจะอยู่ที่เรื่องภาวะโลกร้อน และการพัฒนาประเทศกำลังพัฒนา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net