บินข้ามลวดหนาม (ตอนที่ 2) : คอนเสิร์ตจากศิลปินประจำอัลบั้ม ไร้พรมแดน

ประชาไท ภาคเหนือ รายงาน

 

 

 

 

ยามบ่ายของวันที่ 29 มี.ค. ในลานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของหอศิลป์เชียงใหม่ ใต้ร่มไม้ใหญ่มีเสื่อปูนั่งและขันโตกสาน รอบๆ มีซุ้มไม้ขายอาหารและผลิตพันธ์จากฝีมือของผู้คนหลายเชื้อชาติ เรียงรายอยู่กันอย่างไม่มีพรมแดนขวางกั้น มีอาหารของไทยใหญ่ข้าวส้มนวด เปรี้ยวอมหวานต้องกินกับถั่วเน่าเค็มและฉุนกลิ่นขิงนิดๆ รสชาติถึงจะกลมกลืนกัน มีขนมเส้นของชาวยะไข่ ถัดไปจากอาหารการกิน ก็มีสิ่งทอ มีซีดีจากศิลปินอิสระ และมีซุ้มหนึ่งเป็นของ Studio Xang ที่เป็นผลงานศิลปะของเด็กๆ ผู้มีพ่อแม่เป็นแรงงานก่อสร้างที่อพยพเข้ามาทำงาน

 

อีกฟากหนึ่งก็มีนิทรรศการภาพถ่ายพร้อมคำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ชนกลุ่มน้อยต้องประสบพบพาน จากรัฐบาลเผด็จการพม่าที่มาปล้นชิงเอาสิ่งต่าง ๆ จากชีวิตพวกเขาไป บางส่วนต้องระหกระเหินอยู่ตามป่าเขาต่อสู้กับความหวาดกลัวและความยากลำบาก บางส่วนก็ต้องระหกระเหินข้ามแดนเข้ามาหางานในเมือง กับคุณภาพชีวิตที่ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ และขาดการคุ้มครองจากรัฐ

 

นี่คืองาน "บินข้ามลวดหนาม" ที่จัดโดย "เพื่อนไร้พรมแดน" ที่ช่วงเช้าจะมีงานเสวนาและการจัดฉายภาพยนตร์ ส่วนในช่วงเย็นจะเป็นงานนิทรรศการและการแสดงดนตรีจากหลากหลายศิลปิน

 

พอถึงช่วงใกล้ ๆ สี่โมงเย็น หลังจากกิจกรรมช่วงเช้าในอาคารเสวนาเสร็จสิ้นลง ผู้คนก็ทยอยเดินจากอีกด้านของหอศิลป์ฯ เชียงใหม่ มาสู่ด้านที่เรียกว่าลานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พวกเขาข้ามสะพานเล็ก ๆ กระท่อนกระแท่นที่มีป้ายเขียนบอกไว้ว่า ข้ามพรมแดนมาสู่อีกฟาก ซึ่งการข้ามพรมแดนของพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งหลายคงลำบากยากเข็ญกว่าหลายเท่านัก

 

บางคนจับจองที่นั่งใต้เงาไม้ใหญ่ บางส่วนเดินชมนิทรรศการ จับจ่ายซักถามถึงสินค้าจากหลากเชื้อชาติ จนถึงเพลาโพล้เพล้เครื่องเสียงก็เซ็ทเรียบร้อยพร้อมเปิดเวทีคอนเสิร์ต "บินข้ามลวดหนาม" ที่โดยรอบบริเวณมีการเอาลวดหนามจริงมาขึงขั้นไว้

 

ศิลปินรายแรกที่ขึ้นแสดงคือ ชิ สุวิชาน (ซี่งหลังจากนั้นก็กลับมารับหน้าที่พีธีกรต่อทันที) ขึ้นมาเล่นเตหน่า พร้อมเอ่ยประโยคย้ำเตือนสำนึกผู้คนว่าในทุกวันนี้ "คนกินข้าวไม่รู้จักต้นข้าว คนกินน้ำไม่รู้จักต้นน้ำ" ชวนให้เจ็บจี๊ดเมื่อนึกถึง พรบ. ทรัพยากรน้ำ ที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่สุดจะไร้ความรับผิดชอบ และคำนึงถึงประชาชนแม้สักกระผีก

 

ตามมาด้วยการแสดงของนายไปรษณีย์ กับเพลง "ฝุ่น" พูดถึงชีวิตของผู้อพยพที่ถูกมองราวกับเม็ดฝุ่น ต่อด้วยวงซึงหลวงจากร้านบ้านไร่ยามเย็น ที่มากับแนวดนตรี คันทรี่, บลูกลาสส์ (ดนตรีโฟล์คอเมริกันประเภทหนึ่ง มีต้นกำเนิดจากชาวยุโรปที่อพยพไปอยู่อเมริกาแล้วได้อิทธิพลจากดนตรีท้องถิ่นเดิมมาประยุกต์ เน้นเครื่องดีดกับเครื่องสายอะคูสติกเป็นหลัก) ร้องทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า

 

หลังจากนั้นจึงเป็นคิวของเอ้ สุดสะแนน มากับสมาชิกวงอีกสองคนคือ ฮวด กับ ชวด สุดสะแนน ในเพลงโฟล์คร็อคที่พูดถึงพี่น้องแรงงานพม่าในมหาชัยด้วยชื่อเพลงสื่อตรงตัวว่า "เขาก็คือคน" เพลงต่อมาถึงได้พูดถึงประสบการณ์และความรู้สึกเมื่อครั้งได้เห็นเด็กๆ ในหมู่บ้านของชาวลาหู่ ในชื่อเพลง "ผูกพัน"

 

เวทีเริ่มมืดสลัวลงตามโมงยามที่ผันผ่าน แสงไฟสีนวลสาดส่องเวที พร้อมกับศิลปินคนต่อไปคือ เยนี นักดนตรีชาวพม่า บอกขอบคุณที่ให้โอกาสชาวพม่าได้ขึ้นมาบนเวทีนี้ เพลงแรกที่เขาร้องนั้น เขาบอกว่าได้อุทิศให้กับคนที่เสียชีวิตในค่ายพักกลางป่าทึบ เขาเคยเห็นคนอายุน้อยที่เสียชีวิตไป มองเห็นคนประท้วงตามท้องถนนที่เสียชีวิตไป รับรู้ถึงการเสียชีวิตจากเอดส์ เสียชีวิตตอนอยู่ในคุก

 

ก่อนจะเติมคำตอบของสันติภาพด้วยเพลง "กระท่อมหลังเล็กในป่าสน" ที่เกิดมาจากความคิดที่อยากให้คนที่ต่างกันเข้ามาอยู่รวมในกระท่อมนี้อย่างสงบสุข ทำลายกำแพงที่ขวางกั้นอยู่ซะ

 

งานดนตรีในครั้งนี้ที่มากับชื่อ "ไร้พรมแดน" ก็ดูเหมือนจะไร้พรมแดนสมนาม เพราะนอกจากศิลปินไทย ศิลปินพม่าแล้ว ก็ยังมี "ครูส่างคำ" จากกลุ่มสืบสานลายไท กับดนตรีเทรดิชันนัลของไทใหญ่ ขึ้นมาร่วมบรรเลงกับวงของเขา มีเพลงอยู่หนึ่งที่เขาใช้ "ตียอ" เครื่องดนตรีที่มีลักษณะผสมระหว่างไวโอลินกับลำโพงขนาดเล็ก ประกอบด้วย

 

ในค่ำคืนนี้ ยังมีนักดนตรีโฟล์คขวัญใจนักกิจกรรมอย่าง สุวิชานนท์ ขึ้นเวทีพร้อมแขกรับเชิญอีกสองราย รายแรกคือไวท์ซี้ดนักดนตรีจากบันนังสตาขึ้นมาร่วมแจมกีต้าร์ ส่วนอีกคนคือภู เชียงดาว มาพร้อมกับพิมพ์ดีดหนึ่งเครื่องเพื่อใช้สร้างเสียงปืนเป็นฉากหลังของเพลง และที่ขาดไม่ได้คือเพลงที่มักได้ยินประจำจากศิลปินจากภาคใต้ผู้นี้คือ "สาละวิน" เพลงที่พูดถึงที่พูดถึงโครงการสร้างเขื่อนว่าส่งผลผลกระทบต่อกลุ่มผู้อพยพอย่างไร

 

เปลี่ยนจากบรรยากาศแบบโฟล์คๆ ไปเป็นร็อคที่ชวนคึกคักขึ้นมาหน่อยเมื่อกลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์ ที่เพิ่งได้รางวัลจากงาน Music Express มาขึ้นเวทีอย่างวง Over me หรือที่เรียกชื่อไทยง่ายๆ ว่า "โอม" วงจากนิสิตจุฬาที่พบปะกันผ่านชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัย

 

จากร็อคมันๆ ก็ ผันมาสู่เร็กเก้ชวนโยก กับวง Ugly Bug จากร้าน Rasta Art Bar แถว ๆ เชียงใหม่นี่เอง ขึ้นมากล่าวถึงหัวใจของความเป็นราสต้าด้วยเพลง "สีของหัวใจ" ก่อนที่ชัยบลูส์ กีต้าร์มือฉมังอีกคนจะขึ้นมาร่วมแจม และเดี่ยวเพลงของตัวเองอีกสองสามเพลง ชัยบลูส์พูดเกริ่นความรู้สึกก่อนขึ้นเพลงถึงความไม่พอใจในรัฐบาลแย่ ๆ ของพม่า

 

ยังมีศิลปินอีกหลากหลายผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาร้องเล่น สลับกับการฉายสไลด์ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพข้ามแดน ทีดูแล้วสะท้อนใจ เสียงร้องในภาษาถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะ ปกาเกอะญอ , ไทใหญ่ , กำเมือง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่พยายามจะสื่อความหมายร่วมกันคือ ความมุ่งหมายสู่อิสระที่ไม่มีพรมแดนขวางกัน , เรียกร้องความเข้าใจในตัวกลุ่มผู้อพยพ, อยากเห็นดอกไม้แห่งสันติภาพเบ่งบาน ไปจนถึง ความต้องการให้หลุดพ้นจากสภาพความเป็นอยู่ที่เหมือนฝันร้าย

 

ในช่วงสุดท้ายศิลปินทั้งหลายก็พากันขึ้นมาร้องเล่นบนเวทีเดียวกัน ด้วยความหลากหลาย เกื้อกูลกัน อย่างไร้พรมแดน

 

 

000

 

 

ภาพบรรยากาศในงาน

 

 

ป้ายบอกทางเข้าไปสู่งานเขียนไว้ว่า "ข้ามพรมแดน"

 

 

ข้าวส้มนวด แนมกับถั่วเน่าและผัก

 

 

 

ภาพแขวนลวดหนามข้างเวที และแกลลอรี่กลางแจ้ง

จัดแสดงงานสะท้อนภาพความเจ็บปวดของผู้ลี้ภัยและอพยพ

 

 

ซุ้ม Studio Xang โรงเรียนสอนศิลปะให้กับเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานอพยพ

 

 

ชิ สุวิชาน ขึ้นเวทีร่วมกับภรรยา "คือวา"

 

 

นายไปรษณีย์

 

 

บ้านไร่ยามเย็น

 

 

สุดสะแนน

 

 

สุวิชานนท์ และ ภู เชียงดาว

 

 

ไวท์ซี้ด

 

 

Over me

 

 

 

Ugly Bug และชัย บลูส์

 

 

 

 

การแสดงของศิลปินคนอื่น ๆ

 

 

ทุกคนขึ้นรวมกันบนเวทีท้ายงาน

 

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

รายงาน : ฟังเสียง "บินข้ามลวดหนาม" เสียงเพื่อเสรีภาพและสันติภาพ, ประชาไท, 24 มี.ค. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท