Skip to main content
sharethis

ปนัดดา ขวัญทอง


 


เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 51 เครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปสื่อ จัดประชุมหารือเรื่องใบอนุญาตวิทยุชุมชน เพื่อกำหนดท่าทีต่อกฎหมายวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ กทช. มีอำนาจในการให้ใบอนุญาตเป็นการชั่วคราวให้กับวิทยุชุมชนทั่วประเทศ โดยมีตัวแทนเข้าร่วมจากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน ร่วมด้วยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มูลนิธิพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาวิทยุชุมชนไทย กลุ่มปฏิรูปสื่อภาคประชาชน จังหวัดกาญจนบุรี เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ


 


ผลการหารือจากที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิรูปสื่อเพื่อสร้างพื้นที่การสื่อสารภาคประชาชน โดยมีมติผลักดันการขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน และให้ยื่นข้อเสนอหลักเกณฑ์การประกอบกิจการต่อ กทช. ตามที่บทเฉพาะกาล มาตรา 78 ของ  พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมีอำนาจดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่รับใบอนุญาต ในประเภทการประกอบกิจการบริการชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นการชั่วคราว โดยใบอนุญาตมีอายุไม่เกินหนึ่งปี


 


ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่เครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปสื่อเตรียมเสนอให้กับ กทช. ได้กำหนดกรอบไว้เกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาต วัตถุประสงค์การดำเนินการ การผลิตรายการและเนื้อหารายการ ลักษณะและขนาดการประกอบกิจการ การมีส่วนร่วมของชุมชน และที่มาของรายได้ ซึ่งเน้นหลักการดำเนินการวิทยุชุมชนที่เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน และโดยชุมชน ตามหลักการขององค์การยูเนสโกและวิทยุชุมชนทั่วโลก


 


บุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี กลุ่มปฏิรูปสื่อภาคประชาชน จ.กาญจนบุรี ผู้ก่อตั้งวิทยุชุมชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเครือข่ายวิทยุชุมชนควรเคลื่อนไหวเพื่อกำกับดูแลกันเอง เบื้องต้นควรสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชนให้มีเอกภาพ มีทิศทางที่ชัดเจนเรื่องการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ของประชาชน ซึ่งควรยืนยันกับ กทช. ว่า วิทยุชุมชนที่ประชาชนทำเองนั้นพร้อมจะเคลื่อนไหวในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเนื้อหา กระบวนการ และเทคนิค รวมทั้งการจัดสรรคลื่น โดยประเมินว่าวิทยุชุมชนที่เป็นของชุมชนนั้นมีประมาณกว่าสองร้อยสถานี ที่เหลือเป็นวิทยุธุรกิจท้องถิ่น


 


"เจ็ดปีที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ไม่ถูกทำอย่างจริงจัง จนกระทั่งวันนี้เราเห็นแล้วว่าเราช้าเกิน อย่างที่เมืองกาญฯ ก็พยายามบังคับตัวเองมากกว่าที่ให้กรมประชาสัมพันธ์มาบังคับ แล้วให้เขาเป็นนายเรา เราเป็นลูกน้องเขา ตามแต่ท่านจะว่าอะไร ซึ่งเราก็บังคับตัวเองมาเจ็ดแปดปีไม่ให้เสียภาพพจน์ในการใช้สิทธิของภาคประชาชนเข้ามาทำวิทยุชุมชน"


 


สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ชี้แจงถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชนว่า กฎหมายวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม เป็นต้นมา ซึ่งจะเกิดความเคลื่อนไหวในสองส่วนได้แก่ ข้อแรกการต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการชั่วคราวของวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี ซึ่งต้องยื่นขอรับใบอนุญาตกับ กทช. ตามกฎหมาย ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตาคือการประกาศหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตของวิทยุชุมชนเพื่อบริการชุมชน รวมถึงความโปร่งใสในการจัดสรรคลื่นฯ ของ กทช.


 


ข้อที่สองคือ การแก้ไข  พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 เพื่อยุบรวมองค์กรอิสระสององค์กรคือ กทช. และ กสช. ที่ต้องเกิดขึ้นตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้ต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งในกรณีนี้จะมีผลต่อการปฏิรูปสื่อของภาคประชาชนเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 จึงควรมีความโปร่งใสและให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะหากผลออกมาแล้วกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระไม่เป็นธรรมและไม่ได้คณะกรรมการที่เป็นอิสระจริง รวมถึงไม่คงสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชนที่เดิมกำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ การปฏิรูปสื่อที่ผ่านมาก็อาจถือได้ว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


 


ด้านวิเชียร คุตวัส ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาวิทยุชุมชนไทย กล่าวว่า หลังจากการพาพี่น้องเข้าหารือส่วนตัวกับ เลขาฯ กทช. ได้รับคำชี้แจงว่ากระบวนการให้ใบอนุญาตนั้น ในเบื้องแรกจะให้ทุกกลุ่มจัดทำข้อเสนอเรื่องหลักเกณฑ์วิทยุชุมชนขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ หลังจากนั้นจะจัดทำหลักเกณฑ์และประกาศใช้ โดยจะให้แต่ละกลุ่มเสนอตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ กทช. ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้เนื่องจากติดขัดที่ ครม. ยังไม่มีมติแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 ท่าน มาเป็นคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตามกฎหมาย


 


"ในช่วงเดือนที่ผ่านมาตัวสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติได้ทำโครงการกับดีเอสไอ(กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ในทุกภาคก็ได้คุยกับเพื่อนมิตรทั่วทุกภาคแล้วว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง เช่น ต้องปรับผังรายการ จะให้ใครเป็นผู้ขอใบอนุญาต ใครเป็นนายสถานี และประวัติความเป็นมา อันนี้บอกในทุกภาคแล้ว"


 


ทั้งนี้ระหว่างการประชุม ผู้ประสานงานภาคของสหพันธ์ฯ ได้แจ้งที่ประชุมถึงการลาออกจากการเป็นผู้ประสานงานหลักสหพันธ์ฯ ของนายวิเชียร คุตวัส ที่ทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2545 โดยได้ยื่นหนังสือลาออกตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นผลให้ผู้ประสานงานสหพันธ์ฯ ของแต่ละภาคมีมติให้จัดสมัชชาสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวและมีบทบาทปกป้องสิทธิในการสื่อสารของภาคประชาชนได้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net