Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 51 เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมโกล์ดเดนท์ซิตี้ ระยอง อ.เมือง จ.ระยอง ทางจังหวัดระยองร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ภาคประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ระยอง จัดเวที 1 ปี แผนการลดมลพิษ "รวมพลังทั่วทิศ ลดมลพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตชาวระยอง" มีผู้เข้าร่วมเวทีจำนวนทั้งสิ้น 600 คน


 


นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการทำงานตามแผนลดและขจัดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด โดยแสดงตัวเลขการลดค่าของสารอันตราย สารก่อมะเร็ง VOCs การกำจัดกากของเสียอันตราย และคุณภาพน้ำทะเล น้ำตามแหล่งน้ำ และน้ำบ่อตื้นในชุมชนต่างๆ รอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งได้ทำงานไปราว 6 เดือน สรุปได้ว่าสามารถลดสารที่ก่อมลพิษได้จนอยู่ในระดับมาตรฐาน แต่ยังมีสารปรอทที่สะสมเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งยังหาสาเหตุไม่ได้ว่ามาจากแหล่งใด


 


จากนั้น มีเวทีเสวนาในช่วงบ่าย โดยมี นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก, เรณู เวชรัตน์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานมูลนิธิกองทุนพัฒนามาบตาพุด, นายสุธา ตัวแทนหอการค้าบ้านฉาง


 


นายสุทธิ อัชฌาศัย กล่าวว่า จากที่นั่งฟังทางราชการรายงานผลการดำเนินการตามแผนลดมลพิษมาตลอดทั้งเช้า รู้สึกว่าเห็นแต่ตัวเลขที่นำมาโชว์ว่าลดค่าลงได้เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซนต์ แต่ตนในฐานะภาคประชาชนที่นี่ รู้สึกว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการเข้าไปรับรู้รับทราบและเห็นการทำงานมีน้อยมาก ฉะนั้น จึงอยากจะเห็นกระบวนการทำงานแต่ละขั้นตอนมากกว่า ควรนำเอากระบวนการมาโชว์ให้เห็นว่าทำอะไร ทำอย่างไร แล้วผลที่ได้เป็นอย่างไร เมื่อทางฝ่ายกำกับดูแลยอมรับแล้วว่าพื้นที่มาบตาพุดมีปัญหาเรื่องมลพิษเกินจริง พื้นที่นี้เต็มศักยภาพการรองรับมลพิษแล้ว ก็ต้องเสนอไปยังส่วนนโยบายให้ระงับการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่ระยองไว้ก่อน แล้วจัดการปัญหาให้เสร็จสิ้นไป แล้วจึงค่อยมาดูกันว่า จะพัฒนาอะไรเพิ่มเติมได้อีกบ้าง


 


ในส่วนการดูแลฟื้นฟูทั้งสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน คนระยองเสียสละมามากแล้วให้กับความร่ำรวยของประเทศ จึงควรดูแลคนที่นี่เป็นพิเศษ และเห็นว่าการป้องกันปัญหาดีกว่าการแก้ไขปัญหา


 


นายสุธาและนายอิทธิพล มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยนายอิทธิพลกล่าวว่า เงินกองทุนที่ให้มานั้น 30 ล้านนั้น "ไม่พอยาไส้" เพราะเพียงแค่การจ่ายรายหัวให้คนในมาบตาพุดไปไว้ใช้ตรวจโรคคนละพันบาท ก็ต้องใช้งบประมาณไปแล้ว 80 ล้านบาท


 


อาจารย์เรณู เวชรัตน์พิมล เห็นว่าการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ดูจะไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่ระยอง เห็นกันอยู่อย่างชัดแจ้งว่า มีโรงงานหนึ่งทำกิจการที่ก่อผลต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล แต่ก็ยังทำโฆษณาออกมาว่า "เรารักระยองเหลือเกิน" โดยเห็นว่าต้องหยุดขยายอุตสาหกรรม แล้วหันมาสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนที่จะดูแลตนเองในภาวะที่ต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษแบบนี้ เพราะจากการทำวิจัย พบว่า ดีเอ็นเอของประชาชนและสิ่งมีชีวิตที่นี่ มีความผิดปกติของโครโมโซม จึงเห็นได้ว่า คนในระยองอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยต่อโรคภัยไข้เจ็บมาก รัฐต้องให้การดูแลคนในพื้นที่พิเศษนี้ให้มาก และต้องดูแลอย่างจริงจัง จริงใจด้วย หากแก้อะไรไม่ได้ ถึงที่สุดก็ต้องหาที่ดินที่ใหม่ไว้ให้ประชาชนอพยพด้วย


 


จากนั้น ในการเปิดเวทีอภิปรายทั่วไป โดยมีภาคประชาชนในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่น ชุมชนมาบข่า ชุมชนซอยร่วมพัฒนาฯ ได้เสนอแนะข้อคิดเห็นกลับไปยังคณะทำงานเฉพาะกิจ แก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด ว่าการแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องแก้ที่ต้นเหตุ


 


ประชาชนในเขตรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องมาคอยตรวจดูว่าในแม่น้ำมันมีสารปนเปื้อนอะไรบ้าง ถ้าหากว่าเราไม่ถ่ายอุจจาระ หรือทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำ ปัญหามันก็ไม่เกิด ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตามแผนการจัดการของเสียของโรงงานอุตสาหกรรมก็เปรียบได้ดังการถ่ายเทอุจจาระ และสิ่งปฏิกูลลงน้ำ เพราะฉะนั้น มันง่ายมาก แค่


 


1. ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ ไม่ถ่ายเรี่ยราดตามที่สาธารณะ มันก็จะไม่ก่อปัญหาสุขอนามัย ไม่ก่อให้เกิดกลิ่น ไม่ก่อให้เกิดโรค


บ้านใครบ้านมัน โรงงานใครโรงงานมัน ดูแลตัวเองให้ดี


 


 2. หากว่ายังคงฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎเกณฑ์ ไม่ทำตามตัวบทกฎหมาย ก็ต้องจัดการกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไป มาตรการต้องเข้มกว่านี้ เอาให้จริงจังกว่านี้ ไม่เช่นนั้น การแก้ปัญหามันก็จะเป็นการแก้เฉพาะกิจ เช่นคณะทำงานแก้ปัญหาเฉพาะกิจคณะนี้ เป็นเช่นนี้ตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net