Skip to main content
sharethis

 

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน


(www.ftawatch.org)


 


 


ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ การทำสัญญาผูกพันระหว่างไทยกับต่างประเทศ ทั้งในด้านการค้าการลงทุน และด้านอื่นๆ กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนในชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียอาชีพและหนี้สินที่พอกพูนขึ้นของพี่น้องเกษตรกร ความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพ ราคายาที่แพงเกินความจำเป็น ความไม่เท่าเทียมกันของระบบสุขภาพในประเทศ มาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ด้อยลง ตลอดจน ค่าครองชีพและราคาสินค้าบริการที่ถีบตัวสูงขึ้น และถูกผลักภาระให้ผู้บริโภคมากขึ้น ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้แม้จะดูแตกต่าง...แต่กลับเชื่อมโยงแนบแน่นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศเหมือนกัน หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ความตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำสัญญา "เขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไปแล้ว


 


แต่ทั้งๆ ที่ข้อตกลงเหล่านี้ สามารถส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวม ที่ผ่านมา กระบวนการในการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ กลับเป็นกระบวนการที่มีปัญหา และเต็มไปด้วยจุดบกพร่องมากมาย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เป็นการดำเนินการโดยขาดความโปร่งใส และข้อมูลที่รอบด้าน และยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจังมาตลอด


 


และท่ามกลางสภาวะที่จำกัด-ปิดกั้นนี้เอง ประชาชนและนักวิชาการในวงกว้าง จึงไม่มีโอกาสรับรู้ถึงเนื้อหาในสัญญาที่รัฐบาลแอบไปตกลงกับต่างชาติเอาไว้ การนำเสนอทางเลือก การแก้ไขหรืออุดช่องโหว่ในสัญญาจึงไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้การทำเอฟที สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนจำนวนมาก และนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมตามมา


 


ความพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นครั้งแรก ใน "รัฐธรรมนูญปี 2550" มาตรา 190 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า หนังสือสัญญาที่มีความสำคัญ "จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา" ร่างหนังสือสัญญาต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมถึงการที่รัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรการการรองรับเยียวยาผลกระทบที่รัดกุมไว้ด้วย


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก เพราะรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดได้เพียงหลักการและเนื้อหาบางส่วนเท่านั้น ขณะที่รายละเอียดทั้งหมดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ขึ้นอยู่กับการออกกฎหมายระดับรองลงมาเพื่อบังคับใช้ หรือการออก "กฎหมายลูก" นั่นเอง ดังนั้น กฎหมายลูกที่ว่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จนกล่าวได้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะมีความหมายหรือไม่ เพียงใด คำตอบอยู่ในกฎหมายที่จะออกมารองรับฉบับนี้


 


รัฐธรรมนูญเองได้กำหนดให้รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายนี้ภายในหนึ่งปี แต่จุดที่มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือการที่หน่วยงานของรัฐกลับร่างกฎหมายดังกล่าวกันอย่างรวบรัดและปิดลับ ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งมีแนวโน้มว่าเนื้อหาในกฎหมายยังมุ่งเน้นในการลดทอนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190


 


ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่ว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับที่มีธรรมาภิบาล และยืนอยู่บนการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ จึงถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของภาคประชาชนที่จะต้องร่วมคิด และร่วมกันทำร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยตัวเอง โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนหนึ่งหมื่นคนสามารถนำเสนอกฎหมายเข้าสภาได้


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) และเครือข่ายภาคประชาชนที่เฝ้าติดตามประเด็นนี้ จึงได้ร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมาย ยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ "พรบ การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ..." โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่


 


 


เวทีเจรจาต้องเปิดกว้างสำหรับหลายฝ่าย


 


- หาก พรบ.มีผลใช้บังคับ นับจากนี้คณะเจรจาโดยการแต่ตั้งของรัฐบาลจะต้องมีองค์ประกอบของ "ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่สำคัญ" และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการเจรจาร่วมอยู่ด้วย เพื่อความรอบคอบและมีประสิทธิภาพในการเจรจา


 


- ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจา ที่ผ่านมา รัฐมักจะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจบางส่วนเท่านั้น แต่ต่อไปนี้ เวทีนี้จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทั้งนี้ โดยผ่านขั้นตอนการเสนอชื่อของ "สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ"


 


- และเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมสามารถเข้าถึงและพิจารณาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศได้อย่างถ่องแท้และเที่ยงตรง สะท้อนความเท่าเทียมของคู่ภาคีตามรัฐธรรมนูญ พรบ.นี้ จึงกำหนดให้มีการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ "ภาคภาษาไทย" ที่ใช้ลงนามอย่างเป็นทางการ ควบคู่ไปกับฉบับภาษาต่างประเทศของคู่ภาคีด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นหลักปฏิบัติในหลายประเทศ


 


- นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ไม่กระทบท่าทีการเจรจา เอกสารทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างการเจรจาจะต้องจัดเก็บไว้ และสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ภายหลังจากที่หนังสือสัญญามีผลผูกพันไปแล้ว


 


 


การศึกษาวิจัยผลกระทบต้องเป็นกลางและรอบด้าน


 


- เพื่อความโปร่งใส อิสระ และเป็นกลางเท่าที่จะเป็นไปได้  พรบ. นี้จึงกำหนดข้อห้ามไม่ให้คณะเจรจาหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเจรจา เป็นผู้ว่าจ้างและเลือกนักวิจัยวิจัยได้เองโดยตรงดังเช่นที่มีการปฏิบัติมา แต่่ได้เสนอให้ "สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมกับรัฐบาลอยู่แล้ว เป็นผู้บริหารการวิจัย โดยจะเป็นผู้วิจัยเองหรือจะว่าจ้างผู้อื่นให้ทำการวิจัยก็ได้


 


- เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดท่าทีการเจรจาได้อย่างรอบคอบรัดกุม และสามารถประเมินผลที่เกิดขึ้นจริงหลังหนังสือสัญญามีผลบังคับใช้และพร้อมหาทางแก้ไข การศึกษาวิจัยผลกระทบจะต้องเกิดขึ้นใน 4 ขั้นตอน คือ (1) ก่อนการเสนอกรอบและวัตถุประสงค์การเจรจาของรัฐบาลต่อรัฐสภา (2) ระหว่างการเจรจา โดยศึกษาตามข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาล (3) ภายหลังการเจรจา ก่อนเสนอร่างหนังสือสัญญาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และ (4) ทำการศึกษาประเมินผลภายหลังจากที่หนังสือสัญญามีผลบังคับใช้ไปแล้ว


 


- ที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยผลกระทบซึ่งเน้นเพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ต่อไปนี้ การศึกษาวิจัยผลกระทบจะต้องกระทำแบบครอบคลุมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่จะมีต่อกฎหมายภายในรัฐ ตลอดจนผลกระทบต่อความผูกพันกับภาคีอื่นๆ


 


 


กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องเป็นอิสระและน่าเชื่อถือ


 


- เพื่อความเป็นอิสระ ลดกระแสความระแวงสงสัย อันจะก่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย การจัดทำและรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสมควรจะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรที่อิสระ เช่น "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ"


 


- การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ขั้นตอน คือ (1) ก่อนการเสนอกรอบและวัตถุประสงค์การเจรจาของรัฐบาลต่อรัฐสภา และ (2) ภายหลังการเจรจา ก่อนเสนอร่างหนังสือสัญญาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อวิตกกังวลของประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น นำไปสู่การกำหนดท่าทีที่สะท้อนความต้องการของสังคมได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้สมาชิกรัฐสภาได้ตัดสินใจด้วยความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความขัดแย้งดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้


 


และทั้งหมดนี้ ก็คือหลักการสำคัญของกฎหมายการทำสัญญาระหว่างประเทศ ที่จะยกระดับกระบวนการเจรจาเอฟทีเอ และการเจรจาอื่นๆ ที่สำคัญของไทยให้ก้าวหน้าและมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หมดสมัยแล้วกับข้ออ้างที่ว่า "เปิดเผยอะไรไม่ได้เลย เพราะจะเสียท่าทีการเจรจา" หมดยุคแล้วกับการเอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไปแลกกับผลประโยชน์ของคนไม่กี่ตระกูล


 


แม้ว่าปัญหาโลกาภิวัตน์ จะเป็นปัญหาใหม่ที่มีรายละเอียดซับซ้อนไร้พรมแดนมากแค่ไหน แต่ประชาชนทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกัน และแก้ปัญหาร่วมกันได้...ถ้าเพียงแต่เราได้เริ่มต้นที่ "กฎหมายที่เป็นของประชาชนจริงๆ" ฉบับนี้


 


(มีนาคม 2551)


 


13 เหตุผลที่จะต้องมีกฎหมาย


การทำสัญญาระหว่างประเทศของประชาชน


 


กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (www.ftawatch.org) มีนาคม 2551


 




























































 


ปัญหาที่ผ่านมาของกระบวนการเจรจา


หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ


ทางออกของปัญหาตามร่าง


พรบ. ของภาคประชาชน


 


1


 


มีการหลบเลี่ยงเพื่อไม่ให้ความตกลงระหว่างประเทศสำคัญๆ ต้องผ่านสภา แม้ รธน.2550 จะมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ผลจริงๆ กลับขึ้นอยู่กับการนิยามขอบเขตตาม พรบ.นี้ จุดน่าเป็นห่วงคือร่าง พรบ.ของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะนิยามแบบแคบ อันจะส่งผลให้ความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก(WTO) รวทั้ง เอฟทีเอ ฉบับสำคัญๆ ไม่ต้องผ่านสภาหรือกระบวนการมีส่วนร่วมตาม รธน เช่นเคย


 


 


มาตรา 3 นิยามชัดเจนว่าความตกลงที่มีผลกระทบอย่างสำคัญกับ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จะต้องผ่านรัฐสภา และกระบวนการต่างๆ ตาม พรบ.นี้ อย่างไรก็ตามมาตรานี้ได้คำนึงถึงความยืดหยุ่นในการบริหารนโยบายของรัฐบาล และภาระหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไว้ด้วย


 


2


 


ขาดการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เนื่องจากการเจรจาในปัจจุบันครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย ในหลายกรณีหน่วยงานที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาโดยตรงแต่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีการเจรจากลับไม่สามารถติดตามหรือให้ความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพได้


 


มาตรา 6 กำหนดให้มีการตั้ง "คณะกรรมกาประสานการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ" ที่มีองค์ประกอบจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ร่วมทั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ในด้านต่าง ๆเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนให้การเจรจาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล  นอกจากนี้


 


มาตรา 17 กำหนดว่า ในการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ คณะเจรจาจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารัตถะของหนังสือสัญญานั้นๆ ร่วมอยู่ด้วย


 


 


3


 


ขาดการวางแผนการเจรจาและการทำสัญญาระหว่างประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงขาดแผนงบประมาณที่จะใช้ในการเจรจา


 


มาตรา 14 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบโดยจัดทำเป็นแผนสี่ปี และในแต่ละปีงบประมาณ ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำแผนประจำปี โดยให้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการดำเนินการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ


 


เป้าหมายและผลที่คาดว่าจะได้รับของการดำเนินการ รวมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และเมื่อสิ้นปีงบประมาณให้คณะรัฐมนตรีจัดทำรายงานแสดงผลสัมฤทธิ์ของแผนการดำเนินการทำหนังสือสัญญาในปีนั้น


 


ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศซึ่งมิได้ระบุไว้ในแผนที่เสนอต่อรัฐสภา ให้คณะรัฐมนตรีเสนอแผนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าวให้รัฐสภาทราบในทันที


 


 


4


 


นักธุรกิจและกลุ่มทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งก่อนและระหว่างการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามสังเกตการณ์การเจรจา ขณะที่ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ไม่สามารถทำได้


 


 


เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสร้างความโปร่งใส ในการเจรจา มาตรา 17 วรรคสอง กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรประชาสังคม และผู้แทนภาคเอกชนโดยการเสนอชื่อของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเจรจา


 


 


5


 


ขาดแผนป้องกัน แก้ไข และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ แม้ใน รธน 2550 จะบัญญัติให้มีการดำเนินการเรื่องนี้ก็อาจยังมีปัญหาได้


 


 


มาตรา 21 ระบุให้คณะรัฐมนตรีจะต้องกำหนดมาตรการป้องกัน รองรับ และเยียวยาผลกระทบจากการบังคับใช้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม โดยระบุถึงกรอบเวลาและผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ก่อนเสนอขอความเห็นชอบการแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่อรัฐสภา 


 


นอกจากนี้ การพิจารณากำหนดมาตรการป้องกัน รองรับ และเยียวยา จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านลบได้เข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย


 


 


6


 


หนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่มีภาษาไทย เป็นผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม และประชาชนจำนวนมากไม่สามารถทำความเข้าใจในตัวพันธกรณีได้


 


มาตรา 23 กำหนดให้หนังสือสัญญาระหว่างประเทศจะต้องมีฉบับภาษาไทยที่ใช้ลงนามอย่างเป็นทางการควบคู่กับฉบับภาษาอังกฤษ หรือฉบับภาษาของคู่ภาคี หรือภาษาที่ยอมรับของทุกฝ่าย


 


 


7


 


กระบวนการตรวจสอบโดยฝ่ายสภายังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


เพื่อการตรวจสอบกระบวนการเจรจา มาตรา 24 ระบุให้มีนักวิชาการ ผู้แทนองค์กรประชาสังคม ผู้แทนภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาติดตามตรวจสอบการเจรจา การจัดรับฟังความคิดเห็น และการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


 


 


8


 


มีช่องโว่ทางกฎหมายจนทำให้เกิดการหลบเลี่ยงดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา แม้ประชาชนจะพบว่ารัฐดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสแต่กลับไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเอฟทีเอกับออสเตเลีย หรือ ญี่ปุ่น


 


มาตรา 25 ระบุว่าในกรณีที่กระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศใดมีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ประชาชนอาจยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณามีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ มิฉะนั้น ให้ถือว่ากระบวนการจัดทำการทำหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ


 


 


 


9


 


การศึกษาผลกระทบที่ผ่านมามักขาดความเป็นอิสระ และขาดการยอมรับจากฝ่ายต่างๆ เนื่องจากการเลือกผู้วิจัย กำหนดโจทย์ และว่าจ้าง กระทำโดยผู้รับผิดชอบการเจรจาโดยตรง


 


มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และวรรคหก กำหนด ให้รัฐบาลสนับสนุนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการบริหารการศึกษาวิจัยข้อมูลและผลกระทบอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ หรือพรรคการเมืองใดๆ ทั้งนี้สภาที่ปรึกษาฯ จะเป็นกลไกกลางในการบริหารการศึกษาผลกระทบ โดยจะดำเนินการเองหรือว่าจ้างผู้อื่นก็ได้


 


 


10


 


การศึกษาผลกระทบในอดีตมุ่งแต่ด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขาดความรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อม


 


มาตรา 26 วรรคเจ็ด กำหนดให้การจัดทำรายงานศึกษาวิจัยตามจะต้องครอบคลุมถึงรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะมีต่อประเทศและประชาชน ตลอดจนผลกระทบที่จะมีต่อกฎหมายภายในของรัฐ ผลกระทบต่อความผูกพันกับภาคีอื่นๆและความเพียงพอของกฎหมายที่จะป้องกันผลกระทบอันไม่พึงประสงค์


 


 


11


 


การจัดรับฟังความคิดเห็นไม่มีประสิทธิภาพ ขาดทักษะ ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง มีลักษณะเป็นเพียงพิธีกรรม


 


มาตรา 29 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกกลางทำหน้าที่บริหารการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง โดยยึดหลักความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูล โดยคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันของผู้แสดงความคิดเห็น รวมทั้ง


 


มาตรา 30 ได้กำหนดให้ก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะต้องจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ให้ผู้สนใจเข้าถึงข้อมูล เอกสาร รวมถึงร่างหนังสือสัญญาระหว่างประเทศล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวัน


 


 


12


 


ผู้รับผิดชอบการเจรจานอกจากจะเป็นผู้ว่าจ้างการศึกษาผลกระทบกับการรับฟังความคิดเห็นแล้วยังเป็นผู้สรุปและรายงานผลในโอกาสต่างๆ อีกด้วย ทั้งๆ ที่ตนเองมีส่วนได้เสียโดยตรงเป็นเหตุให้สาธารณะขาดความเชื่อถือ


 


มาตรา 27 วรรคสอง และมาตรา 31 กำหนดให้ทั้งหน่วยงานที่บริหารการศึกษาผลกระทบและบริหารการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จัดทำรายงานประมวลผลพร้อมทั้งเป็นผู้นำเสนอผลต่อรัฐสภาด้วยวาจา ในวาระที่คณะรัฐมนตรีนำร่างหนังสือสัญญาระหว่างประเทศขอความเห็นชอบจากรัฐสภา


 


 


13


 


เกิดข้อครหาถึงการแทรกแซงและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง และเป็นเหตุให้ข้าราชการประจำผู้รับผิดชอบการเจรจา ไม่สามารถเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริง


 


 


มาตรา34 ระบุว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เมื่อหนังสือสัญญาระหว่างประเทศใดมีผลผูกพันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วให้รัฐบาลโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบการเจรจาหนังสือสัญญาดังกล่าวจัดส่งเอกสารทางการที่ออกโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบการเจรจาและที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบการเจรจาได้รับจากคู่เจรจาทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือสัญญา ไปจัดเก็บและสามารถเปิดเผยเพื่อให้ผู้สนใจสามารถสืบค้นได้


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net