Skip to main content
sharethis


ที่มารูป http://www.flickr.com/photos/james_2005/2371941928/


 


มีการประท้วงยิบย่อยขณะวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกผ่านเมืองอายุกว่า 2500 ปี ของกรีซ


ในวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิ่งคบเพลิงกำลังทำหน้าที่วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกผ่านถนนคราคร่ำผู้คนจากกรุงเอเธนส์สู่อโครโปลิส ก็มีกลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มเล็ก ๆ ทำการประท้วงอยู่ระหว่างทางแม้ว่าจะมีการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาก็ตาม


 


กลุ่มผู้ประท้วงแสดงท่าทีโปรทิเบตด้วยการคลี่ผืนธงที่เขียนไว้ว่า "Free Tibet 2008" และจุดเทียนเป็นการประท้วงการที่จีนใช้กำลังปราบปรามการประท้วงในทิเบตเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ผู้ประท้วงคนหนึ่งชื่อคลาร่ากล่าวว่า "พวกเราไม่ต้องการให้มีการวิ่งคบเพลิงผ่านทิเบต"


 


ก่อนหน้านี้มีการต่อสู้ชุลมุนเล็กน้อยระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ ช่วงหลังจากที่นักวิ่งคบเพลิงเข้ามาสู่เมืองอโครโปลิสได้ไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม การวิ่งคบเพลิงดำเนินไปได้โดยไม่ถูกรบกวนจากผู้ประท้วง และไม่มีรายงานการจับกุมตัวผู้ประท้วงแต่อย่างใด


 


ด้านการรักษาความปลอดภัยนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 2,000 นาย ประจำการณ์อยู่ในเอเธนส์เพื่อดูแลการวิ่งคบเพลิง มีเฮลิคอปเตอร์หนึ่งลำบินตามและเจ้าหน้าที่ในชุดธรรมดาอีกประมาณสิบกว่านายคอยขี่รถจักรยานยนต์ติดตามนักวิ่งคบเพลิง


 


คบเพลิงได้ถูกจุดขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ในโอลิมเปียแหล่งกำเนิดของกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ และจะมอบคบเพลิงให้กับผู้จัดงานโอลิมปิกของกรุงปักกิ่งในวันที่ 30 มี.ค. หลังจากหยุดพักหนึ่งคืนในเมืองอโครโปลิส ซึ่งในพิธีจุดคบเพลิงก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดการประท้วงเรื่องทิเบตมาแล้ว


 


โดยเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานโอลิมปิกต่างไม่พอใจที่มีการประท้วง


 


หวัง เว่ย รองประธานบริหารงานของคณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่งแสดงความเห็นว่า "พวกเรามาที่นี่เพื่อที่จะเฉลิมฉลองจิตวิญญาณแห่งโอลิมปิก ไม่ได้มาโต้วาทีทางการเมือง"


 


ทางด้าน ไมนอส คิเรียโคว (Minos Kyriakou) ประธานการจัดงานโอลิมปิกกรีกโบราณ (เฮเลนนิก) บอกว่า การประท้วงนั้นมาจากกลุ่มที่เป็น "คนส่วนน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย" "พวกเรามาที่นี่เพื่อการกีฬา...ถ้าหากคนจำนวนน้อยบางกลุ่มต้องการอยากจะประท้วงมันก็เป็นปัญหาของเขาเอง"


 


ในช่วงเช้าของวันที่ 29 นักกิจกรรมชาวเดนมาร์กกลุ่มเล็ก ๆ พากันแต่งชุดสีส้ม ทำการประท้วงอย่างสงบ ณ ที่ทำการของคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกของกรีกโบราณ มาจา โกรน (Maja Groen) ผู้ประท้วงหนึ่งในนั้นกล่าวว่า "พวกเรามาอยู่ที่นี่เพื่อประท้วงในเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีนและเป็นปากเสียงกับผู้คนในจีนที่ไม่สามารถออกมาพูดด้วยตัวพวกเขาเองได้"


 


เอามั่ง! ทิเบตจุดคบเพลิงของตัวเอง ท้าทายจีน


วันที่ 30 มี.ค. ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ชาวทิเบตหลายสิบคนได้จุด "คบเพลิงอิสระ" ขึ้นมา โดยจะนำคบเพลิงนี้วิ่งไปรอบโลกเพื่อประท้วงจีนและงานโอลิมปิกที่จะมีในกรุงปักกิ่งช่วงฤดูร้อนนี้


 


คบเพลิงจะถูกนำออกมาจากเมืองตั้งต้นคือธรรมศาลา เมืองที่พำนักของดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต โดยมีที่หมายต่อไปคือเมือง ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับที่คบเพลิงโอลิมปิกของจริงมุ่งหมายจะมาถึงในวันที่ 9 เม.ษ.


 


เออเกียน โชเฟล (Urgyen Chophel) ประธานสภาเยาวชนทิเบตออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า "การวิ่งคบเพลิงครั้งนี้มีขึ้นเพื่อประท้วงการปกครองของจีนในทิเบต พวกเราไม่ต้องการให้คบเพลิงโอลิมปิกไปที่ทิเบตเพราะว่าทิเบตไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศจีน"


 


ตามกำหนดการ การวิ่งคบเพลิงในระดับนานาชาติจะวิ่งไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศจีนเป็นเวลา 3 เดือน และพื้นที่ดังกล่าวรวมเอาทิเบตเข้าไปด้วย


 


ทางสมาคมโอลิมปิกของอินเดียบอกว่าจะต้องรักษาความปลอดภัยที่ดีในระดับนึงเลยทีเดียวหากจะแสดงการวิ่งคบเพลิงให้เห็นในประเทศอินเดีย ทางด้าน โชเฟลกลับบอกว่า "ผู้ประท้วงที่นี่จะพยายามทำให้เห็นว่าไม่มีไฟอยู่บนคบเพลิงแล้ว" เมื่อคบเพลิงโอลิมปิกได้มาถึงกรุงนิวเดลีในวันที่ 17 เม.ย.


 


ทางผู้จัดการวิ่ง "คบเพลิงอิสระ" เผยว่า จะวิ่งคบเพลิงอิสระผ่านประเทศในยุโรปไม่กี่ประเทศก่อนจะไปสิ้นสุดที่ทิเบตภายในช่วงสามสัปดาห์ถัดจากนี้


 


จีนเปิดพิธีวิ่งคบเพลิงอย่างเป็นทางการ


หลังจากในวันที่ 24 มี.ค. พิธีจุดคบเพลิงในกรีซได้ถูกรบกวนจากการประท้วง คบเพลิงโอลิมปิกเก็บไว้ในตะเกียงเล็ก ๆ ส่งขึ้นเครื่องบินมาลงจอดที่ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง โดยมีนักเรียนที่ถูกเกณฑ์มากว่าร้อยคนคอยโบกธงต้อนรับ


 


สัปดาห์ถัดมาคือวันที่ 31 มี.ค. ประธานาธิบดีจีน หู จินเทา เป็นผู้นำในพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิกอีกครั้งในประเทศจีน เพื่อส่งสัญญาณเริ่มต้นวิ่งส่งทอดคบเพลิงรอบโลก การวิ่งคบเพลิงในครั้งนี้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเหล่าผู้ประท้วงไปเรียบร้อยแล้ว


 


ประธานาธิบดี หู ได้เข้าร่วมในพิธีที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางของเมืองหลวง การดำเนินการเป็นไปอย่างประณีต ซึ่งได้ถือเป็นตอกย้ำความสำคัญของการที่จีนเป็นเจ้าภาพ และหวังให้มันได้ฉายภาพว่าจีนเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ เมื่อมหกรรมได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม


 


หลังจากที่ประธานาธิบดีจีนได้ส่งมอบคบเพลิงให้กับหลิง เซียง นักกีฬาเหรียญทองวิ่งข้ามรั้วเขาก็ได้ประกาศว่า การวิ่งคบเพลิงของโอลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่งได้เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากที่คบเพลิงจะอยู่ที่ปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งวัน ในวันถัดจากนี้คือ 1 เม.ย. คบเพลิงจะได้เคลื่อนไปยัง อัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน เพื่อเริ่มต้นการวิ่งคบเพลิง 85,000 ไมล์กลับมายังกรุงปักกิ่ง


 


ทางการจีนจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยวางเพลิงในเหตุประท้วงเมื่อวันที่ 14 ได้แล้ว


สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค. มีผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางเพลิงร้านค้าในทิเบตในช่วงที่มีเหตุรุนแรงจากการประท้วงรัฐบาล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน  และได้กุมขังกลุ่มผู้ต้องสงสัยไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


หนังสือพิมพ์ทิเบตเดลี่รายงานว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางเพลิงร้านค้าสามร้านในกรุงลาซา หนึ่งในนั้นมีร้านค้าเสื้อผ้าที่มีหญิงสาวจำนวนห้าคนถูกไฟคลอกเสียชีวิต และอีกร้านหนึ่งใกล้ ๆ กับเขตดังเซอ (Dagze)


 


ทางรัฐบาลจีนมุ่งไปที่การมีศพผู้ถูกไฟคลอกเสียชีวิต เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวทิเบตเป็นผู้ที่มีส่วนในความรุนแรงครั้งนี้ และมีเป้าหมายเป็นคนจีนเชื้อสายฮั่น


 


จนถึงบัดนี้ทางการจีนได้รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจล 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนจีนชาวฮั่น ขณะที่ทางรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตบอกว่ามีชาวทิเบตกว่า 140 คนถูกสังหารในระหว่างการประท้วง


 


ทางการจีนได้จับกุมผู้ต้องสงสัยจากเหตุการณ์วันที่ 14 มี.ค. รวมได้ทั้งหมด 414 รายแล้ว และมีอีก 298 รายที่ยอมเข้ามอบตัว โดยในหนังสือพิมพ์ของจีนไม่ได้ระบุว่ามีผู้ต้องสงสัยจำนวนเท่าไหร่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีวางเพลิง ขณะเดียวกันก็ไม่มีรายงานรายละเอียดเพิ่มเติม ทางเจ้าหน้าที่รักษาความสงบของจีนเองก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล


 


สองทัศนะวิพากษ์ดาไล


ในหนังสือพิมพ์ซินหัวของจีน ตีพิมพ์คำวิพากษ์วิจารณ์ดาไล ลามะ ส่วนหนึ่งมีความว่า "หากเขาอยากจะเป็นเพียงพระที่มีชีวิตอย่างเรียบง่ายจริง ๆ มันก็ถึงเวลาแล้วที่เขาควรจะหยุดเล่นการเมือง และหยุดหลอกลวงผู้คนด้วยการอ้าง "อิสระในการปกครองตนเอง" อย่างเสแสร้งในที่นี้รวมถึงพวกตะวันตกทั้งหลายด้วย"


 


ขณะเดียวกันบทวิจารณ์นั้นก็บอกอีกว่า  "คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณผู้นี้ได้ลืมตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไปแล้ว เขาได้ทำให้ศาสนาของตัวเองเสื่อมเสีย และเล่นการเมืองมากเกินไป"


 


ในการสัมภาษณ์ล่าสุดโดยสถานีโทรทัศน์ฟีนิกส์แซทเทอร์ไลท์ของฮ่องกง นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า บอกว่า หากจะเปิดเจรจากับดาไล ลามะ อีกครั้ง ต้องมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะเลิกล้มกิจกรรม "กู้เอกราช" และยอมรับว่าทิเบตกับไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน นอกจากนี้เวิน ยังร้องผู้นำทิเบตอีกว่า อยากให้เขา "ใช้อิทธิพลของเขาเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงในทิเบต"


 


ทางด้านอเมริกา รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ออกมาปกป้องผู้นำทิเบตพลัดถิ่นว่าเขาเป็น "บุรุษแห่งสันติ" ทอม เคซี่ โฆษกต่างประเทศ กล่าวว่า "มันไม่ได้มีอะไรมาชี้วัดเลยว่า มีอย่างอื่นที่เขา (ดาไล ลามะ) ต้องการจะทำนอกเหนือไปจากการเจรจากับจีน เพื่อหาข้อตกลงในเหตุวิกฤตินี้"


 


หวั่นไฟวอดก่อนถึงลานกีฬา ทางการจีนกลัวผู้ประท้วงปล้นคบเพลิงกลางทาง


ในวันที่ 1 เม.ย. ทางการจีนได้ออกมาบอกว่า อาจมีผู้ประท้วงจ้องจะฉกคบเพลิงโอลิมปิกไป เพราะเมื่อได้เริ่มต้นวิ่งคบเพลิงไปตามที่ต่าง ๆ ในโลก มันก็จะสามารถจุดฉนวนการประท้วงขึ้นมาได้


 


นักเคลื่อนไหวฝ่ายสนับสนุนทิเบต , นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มยุติปัญหาในดาร์ฟูรร์ บอกว่าพวกเขาวางแผนจะประท้วงในขณะที่มีการวิ่งคบเพลิง


 


ทางการจีนยังคงบอกว่า กลุ่มผู้ประท้วงพยายามจะทำให้โอลิมปิกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้กลายเป็นเรื่องการเมือง และพวกเขาคงจะประสบกับความล้มเหลวอย่างแน่นอน ล้มเหลวในการที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกรู้สึกว่าความขัดแย้งกับงานแสดงอันยอดเยี่ยม


 


ขณะที่ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่บอกว่า  "การเรียกร้องเอาเรื่องการเมืองมาปนกับกีฬาโอลิมปิกนั้นเป็นการดูหมิ่นจิตวิญญาณของโอลิมปิก"


 


ขณะที่เจียง หยู โฆษกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า "ถ้าหากมีการขัดขวางการวิ่งคบเพลิงล่ะก็ จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎบัตรของกีฬาโอลิมปิกและท้าทายคนทุกคนที่รักในสันติภาพและจิตวิญญาณของโอลิมปิก" นอกจากนี้ยังได้เผยอีกว่า "พวกเราจะร่วมมือกับทุก ๆ ประเทศเพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าการวิ่งคบเพลิงทั่วโลกจะเป็นไปโดยสวัสดิภาพ"


 


กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่าพวกเขามุ่งหมายจะประท้วงในกรุงลอนดอนในวันอาทิตย์ ปารีสในวันจันทร์ และซาน ฟรานซิสโก ในวันพุธที่ 9 เม.ย.


 


จีนอ้าง ทิเบตมี "หน่วยพลีชีพ" ด้านนักวิชาการลอนดอนแย้ง "ไร้สาระโดยสิ้นเชิง"


หวู่ เฮปิง (Wu Heping) โฆษกหน่วยงานสันติบาลจีน อ้างว่าได้เข้าตรวจค้นวัดในกรุงลาซาเมืองหลวงของทิเบต และพบว่ามีอาวุธเก็บซ่อนเอาไว้มากมาย มีปืน 176 กระบอก กระสุน 13,013 นัด วัตถุระเบิด 7,725 ปอนด์ ไดนาไมต์อัดแท่ง 19,000 แท่ง และมีดอีก 350 เล่ม


 


หวู่ ได้บอกในการประชุมข่าวว่า "จากข้อมูลที่พวกเรามี แผนการต่อไปของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทิเบตคือการจัดตั้งหน่วยพลีชีพเพื่อโจมตีด้วยความรุนแรง พวกเขาคงจะบอกว่าพวกเขาไม่กลัวการนองเลือดหรือการสูญเสียอีกแล้ว"


 


อย่างไรก็ดี คำอ้างของหวู่ ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงหรือหลักฐานใด ๆ มาพิสูจน์ หวู่บอกอีกว่า ตำรวจได้ทำการจับกุมบุคคลหนึ่งซึ่งเข้าบอกว่าผู้ร่วมปฏิบัติการของ "ดาไลก๊ก" โดยมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร และเผยแพร่แผ่นพับเพื่อยุยงให้มีการลุกฮือประท้วง


 


หวู่อ้างว่า ผู้ต้องสงสัยรายนี้ยอมรับว่าได้ใช้รหัสลับในการสื่อสาร โดยใช้คำว่า "ลุง" แทนดาไล ลามะ และ "กระโปรง" แทนธงรูปสิงโตหิมะของทิเบตที่ถูกแบนไป


 


กรณีที่มีการอ้างถึงหน่วยพลีชีพ ซัมดง รินโปเช นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต ออกมาบอกว่า "ผู้อพยพชาวทิเบต 100% ไม่มีใครเลยที่จะใช้ความรุนแรง จึงไม่มีใครสั่งให้จู่โจมแบบพลีชีพ แต่ทางเราก็กลัวว่าทางการจีนคงจะแกล้งปลอมเป็นชาวทิเบตแล้ววางแผนโจมตีอย่างที่ว่ามา เพื่อทำภาพของชาวทิเบตดูเลวร้ายสำหรับคนข้างนอก"


 


แอนดรูว ฟิสเชอร์ ผู้ที่ศึกษาวิจัยเรื่องแนวนโยบายด้านการพัฒนาของจีนในพื้นที่ทิเบตจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน ให้ความเห็นว่าคำเตือนของหวู่นั้นเป็นเรื่อง "ไร้สาระโดยสิ้นเชิง" สิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามจะทำคือ "การให้ความชอบธรรมกับการวางกองกำลังจำนวนมากในพื้นที่ การปราบปรามจลาจลในทิเบต และพวกเขายังพยายามจะให้ความชอบธรรมกับการส่งเสริมนโยบายที่ยึดหลักการอย่างไม่ผ่อนปรน"


 


การใช้วาทกรรมเอ่ยอ้างถึงความเป็นไปได้ในการจู่โจมแบบพลีชีพนั้น ทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือเหตุไม่สงบในซินเจียง เขตทางตอนเหนือของทิเบตที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการวางกำลังรักษาความสงบอย่างแน่นหนาในพื้นที่นั้น


 


เมื่อเดือนที่แล้ว สื่อของรัฐรายงานว่ามีหญิงคนหนึ่งรับสารภาพว่าตั้งใจจะปล้นเครื่องบินผู้โดยสารของจีนจากมลฆลซินเจียง ซึ่งทางการจีนกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน คือกลุ่มมุสลิมเติร์กกีสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement) รายงานอ้างว่า หญิงผู้นั้นเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยชาวอุ่ยเก๋อ (Turkic Muslim Uighur)


 


ขณะที่สหรัฐฯ แขวนป้ายว่ากลุ่มมุสลิมเติร์กกีสถานตะวันออก เป็นองค์กรก่อการร้าย แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวหาว่าระบบการศึกษาและกฎหมายอันทารุณซึ่งได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยรัฐบาลคอมมิวนิสท์ได้กดขี่วัฒนธรรมและศาสนาของชาวอุ่ยเก๋อ (Uighur)


 


ฟิสเชอร์ บอกว่า จีนพยายามจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ "ปลอดความรุนแรง , น่าเห็นใจ" ของทิเบตให้กลายเป็นภาพของคนที่โหดร้ายป่าเถื่อนแบบเดียวกับที่ทำกับกลุ่มที่สนับสนุนการปกครองตนเองในซินเจียง


 


"ถ้าพวกเขาประสบความสำเร็จในการเสนอภาพของพวกเขาให้เป็นแบบที่ต้องการได้ล่ะก็ ถึงตอนนั้นพวกเขาจะสามารถปฏิบัติต่อชาวทิเบตแบบเดียวกับที่พวกเขาปฏิบัติกับชาวมุสลิมในซินเจียงได้"


 


 


ที่มา-แปลและเรียบเรียงจาก


 


Olympic torch reaches Acropolis , NICHOLAS PAPHITIS , AP , 29/3/2551


Tibetans light 'independence torch' in anti-China protest , AFP , 30/3/2551


Olympic torch re-lit in Beijing ceremony , STEPHEN WADE (Sport Writer), AP , 31/3/3551


China: Tibet arson suspects caught , AUDRA ANG , AP , 31/3/2551


China says torch relay protesters out to hijack Olympics , Charles Whelan , AFP , 1/4/2551


China alleges Tibetan 'suicide squads' , AUDRA ANG , AP , 2/4/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net